หลักสาเหตุใกล้ชิด (Principle of Proximate Cause)
หลักสาเหตุใกล้ชิด เป็นหลักซึ่งกำหนดให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุใกล้ชิดกับภัยที่ทำประกันภัยไว้
สาเหตุใกล้ชิด คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (Unbroken chain of events) และเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ได้รับไว้ในสัญญาประกันภัยเป็นหลักการประกันภัย
หลักการสำคัญประการหนึ่งของสาเหตุใกล้ชิด คือ ความเสียหาย หรือสูญเสียที่เกิดขึ้นจากวินาศภัยใดๆ จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ หรือสัญญาประกันภัยก็ต่อเมื่อ สาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายนั้นเป็นสาเหตุที่ใกล้ชิด หรือใกล้เคียงที่สุดกับภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ความเสียหายหรือวินาศภัยที่เกิดกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ในทางปฏิบัติจะมีปัญหาการตีความค่อนข้างมาก เนื่องจากความเสียหาย หรือสูญเสียของทรัพย์สินจากวินาศภัยต่างๆ นั้น บ่อยครั้งที่ไม่เกิดเหตุการณ์หรือสาเหตุเดียวแต่มักจะมีเหตุการณ์หรือสาเหตุอื่นมาแทรกซ้อน หรือบรรจบกันหลายประการ
กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยได้ประกันภัยอุบัติเหตุพร้อมทั้งประกันภัยรถยนต์ไว้ ต่อมาเกิดอุบัติเหตุรถตกข้างทางทำให้รถเสียหาย และผู้เอาประกันภัยบาดเจ็บไม่สามารถเดินได้ จึงต้องนอนอยู่ที่เกิดเหตุ เพื่อรอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าที่เกิดเหตุอยู่ห่างไกลชุมชน ไม่มีผู้มาพบเห็นประกอบกับเป็นเวลากลางคืนที่อากาศหนาวเย็นมาก ผู้เอาประกันภัยทนความหนาวไม่ได้ถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เดียวต่อเนื่องโดยตลอด โดยไม่มีเหตุการณ์อื่นเข้ามาแทรก
ฉะนั้น กรมธรรม์ประกันประกันอุบัติเหตุให้ความคุ้มครองความเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตเพราะความหนาวก็ตาม แต่ก็มีสาเหตุโดยตรงมาจากอุบัติเหตุรถตกข้างทาง ในขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ยังให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตอีกเช่นกัน
กรณีที่ 2. ผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุในทำนองเดียวกันคือรถตกถนน ได้รับบาดเจ็บ แต่มีคนผ่านมาพบเข้าจึงนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้หมอทำการรักษา แต่ปรากฏว่าหมอให้ยาผิดพลาดหรืออาจจะติดเชื้อหวัดมรณะจากคนไข้ในโรงพยาบาล ทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ในกรณีนี้กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุหรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จะไม่คุ้มครองการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย
เนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตกถนน แต่เสียชีวิตจากความบกพร่องของแพทย์ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดต่อเนื่องกัน โดยมีปัจจัยหรือสาเหตุอื่นมากแทรกแซงก่อน คือการทำงานบกพร่องของแพทย์ หรือการติดเชื้อไข้หวัดนั่นเอง
กรณีที่ 3 เกิดเพลิงไหม้บ้านหนังหนึ่งพนักงานดับเพลิงต้องฉีดน้ำสกัดไฟยังบ้านที่อยู่ข้างเคียงซึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยไว้ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามมาไหม้ทำให้ทรัพย์สินในบ้านนั้นได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าความเสียหายเกิดจากการฉีดน้ำเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนและเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากเพลิงไหม้
ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัย
กรณีที่ 4 บ้านหลังหนึ่งเกิดเพลิงไหม้และซากกำแพงถูกทิ้งไว้ต่อจากนั้น 7 วันหลังจากเพลิงไหม้ ได้เกิดพายุที่รุนแรงเป็นเหตุให้กำแพงล้มลงทับทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย
บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้อันเนื่องมาจากการเกิดเหตุนั้นมาจากเหตุที่ใกล้ชิดคือเกิดจากเพลิงไหม้มิใช้เกิดจากลมพายุ
สาระสำคัญของหลักสาเหตุใกล้ชิด ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีดังนี้
1. ภัยที่รับประกันไว้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
2. ความเสียหายอื่นใดที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย นอกจากภัยที่ประกันไว้แล้ว หากเกิดจากความพยายามปกป้องความเสียหายก็ย่อมจะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เกิดไฟไหม้ขึ้น แต่สินค้าที่เอาประกันภัยเสียหายจากน้ำที่ใช้ในการฉีดดับเพลิงก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมด้วยเช่นกัน เนื่องจากการฉีดน้ำดับเพลิงนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดจากไฟไหม้ และเป็นความพยายามที่จะป้องกันความเสียหายจากไฟไหม้นั้น
3. เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอนและไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเข้ามาแทรก ทำให้ขาดตอนหรือสะดุดลง ดังเช่นตัวอย่างข้างต้น หากระหว่างเกิดเหตุไฟไหม้ปรากฏว่าทรัพย์สินบางอย่างถูกขโมยไป ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากไม่ใช่สาเหตุใกล้ชิด คือ ไฟไหม้แต่เป็นเหตุการณ์อื่น คือ เกิดจากคนมาลักทรัพย์
4. ในกรณีที่มีภัยหลายชนิดเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ภัยชนิดแรกไม่ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมากหรือน้อยจะต้องเป็นสาเหตุใกล้ชิด แม้ว่าภัยที่มาทีหลักจะทำให้เกิดความเสียหายกับวัตถุที่เอาประกันมากกว่าก็ตาม