การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)
การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)
การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) สำคัญมากโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากแต่ละปีจะมีผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมา จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงความรับผิดฯ ดังกล่าว แต่แนวโน้มคงจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ (Demand) ของ Product Liability Insurance ในประเทศไทย
ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ของ Product Liability ในประเทศไทย มี 3 ประการ
1. ประชาชนให้ความสำคัญกับ “(มูล)ค่าของชีวิต” มากขึ้น
2. ประชาชนตระหนักว่าการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสามารถได้รับการชดใช้และ
3. กฎหมายและค่านิยมของสังคมให้ความสำคัญกับการมีประกันภัยเพื่อชดใช้ความรับผิดทางกฎหมายมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ (Product) ในที่นี้หมายถึงอะไร
ผลิตภัณฑ์ (Product) หมายถึง อะไรก็ตาม ที่ ถูกผลิต (manufactured) ยกตั้ง (erected) ติดตั้ง (installed) ซ่อมแซม (repaired) ให้บริการ (serviced) ดูแลรักษา (treated) ขาย (sold) หรือกระจายการจำหน่าย (distributed) โดยผู้เอาประกันภัย (รวมถึงหีบห่อของสิ่งเหล่านั้นด้วย) ภายหลังจากที่ละจากสถานประกอบการและไม่อยู่ในการครอบครองหรือควบคุมของผู้เอาประกันภัยแล้ว
ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ของเล่นเด็ก ชิ้นส่วนของเครื่องบิน เครื่องมือทางการแพทย์ ยา สารเคมี เฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าที่มีอายุใช้งานนาน และตัวอย่างของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า / ส่งออก ผู้ขาย ฯลฯ
Product Liability Insurance ต่างจาก Public Liability Insurance อย่างไร?
Public Liability Insurance เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดที่เกิดขึ้น ภายใน สถาน ที่ประกอบการหรือเนื่องจากการดำเนินงานของผู้เอาประกันภัย แต่ Product Liability Insurance เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดเนื่องจากตัวผลิตภัณฑ์ หลังจาก ที่ผลิตภัณฑ์ได้ละจากสถานประกอบการไปแล้วและอยู่ภายใต้การควบคุมหรือการใช้ของบุคคลอื่น (ที่มิใช่ผู้เอาประกันภัย)
Product Liability Insurance “ไม่ใช่ “Product Guarantee Insurance
Product Guarantee Insurance ให้ความคุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการที่ตัวผลิตภัณฑ์ไม่สามารถใช้งานตาม หน้าที่ที่ระบุไว้ แต่ Product Liability Insurance ให้ความคุ้มครองความรับผิดที่ผู้เอาประกันภันภัยมีต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ หากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือเกิดความสูญเสียหรือเสียหาย แก่ทรัพย์สินอันเนื่องมาจากตัวผลิตภัณฑ์นั้น
แบบของ Product Liability Insurance
ปัจจุบัน ที่ใช้อยู่ทั่วไปมี 2 แบบ แบบแรกเป็นฉบับของ Insurance Service Office, Inc. (ISO) ซึ่งมีภาษาและรูปแบบเป็นมาตรฐาน อีกแบบหนึ่งเรียกว่า Interational Broadform ซึ่งไม่มีภาษาและรูปแบบเป็นมาตรฐาน
ความคุ้มครองของ Product Liability Insurance
Product Liability Insurance ให้ความคุ้มครองสำหรับการบาดเจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Property Damage) ที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยการบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินนั้นต้องเป็นอุบัติเหตุ ที่เกิดจากภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์และเกิดขึ้นภายในอาณาเขตความ คุ้มครองของกรมธรรม์
การให้ความคุ้มครองของ Product Liability Insurance เขียนได้ 2 ลักษณะ คือ
1) ให้ความคุ้มครองการบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ภายในระยะเวลาเอาประกันภัยนั้น (Occurrence Coverage Trigger) แม้การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอาจเกิดขึ้นหลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยนั้น ๆ หมดอายุแล้ว
2) ให้ความคุ้มครองการบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่การ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกิดขึ้นครั้งแรกภายในระยะเวลาเอาประกันภัยนั้น (Claim-made Trigger) แม้การบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นสาเหตุของการ เรียกร้องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นก่อนระยะเวลาเอาประกันภัยนั้น ๆ ก็ตาม
ในการพิสูจน์ความคุ้มครอง ผู้ที่บาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย (Injured Party) ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ได้ว่า การบาดเจ็บหรือเสียหายดังกล่าวเกิดจากหรือเป็นผลมาจากความบกพร่องในตัว ผลิตภัณฑ์ของผู้เอาประกันภัย (Burden of proof falls on the injred party.)
ข้อยกเว้น (Exclusions) ข้อยกเว้นที่สำคัญของ Product Liability Insurance ได้แก่
1. ความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดแก่ตัวผลิตภัณฑ์ (Physical Damage to The Product)
ข้อยกเว้นข้อนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประกันภัยต้องมาชดใช้ค่าเสีย หายในการซ่อมแซมหรือจัดหามาทดแทนซึ่งผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากการออกแบบหรือการผลิต หรือการทำงานที่ผิดพลาดของผู้เอาประกันภัยเอง
2. ค่าใช้จ่ายในการเรียกผลิตภัณฑ์คืน (Recall expenses)
หลายครั้งที่ปรากฎในภายหลังว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จำหน่ายออกไปแล้วนั้นมีข้อ บกพร่องอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ ผู้ผลิตมักเรียกผลิตภัณฑ์เหล่านั้นคืนเพื่อแก้ไขหรือซ่อมแซมข้อบกพร่องดัง กล่าว โดยการเรียกคืนนั้นอาจกระทำโดยความสมัครใจของผู้ผลิตเอง หรือโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาจสูงมาก เนื่องจาก Product Liability Insurance ไม่ได้มีความตั้งใจจะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายชนิดนี้ จึงได้ระบุยกเว้นไว้ชัดเจนในกรมธรรม์
3. การรับประกันคุณภาพหรือสัญญาณที่ผู้เอาประกันภัยได้ให้ไว้กับผู้บริโภค รวมถึงการที่ผลิตภัณฑ์ไม่สามารถใช้งานได้ถึงระดับหรือในแบบที่ผู้เอาประกัน ภัยอ้าง
4. ความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของผลิตภัณฑ์ที่ผู้เอาประกันภัยทราบอยู่ก่อนจะมีการเอาประกันภัยขึ้น
ข้อยกเว้นนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริตของผู้เอาประกันภัย เพราะหากผู้เอาประกันภัยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่จะเอาประกันภัยมี ข้อบกพร่องที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียหายแก่ผู้บริโภคจึงตัดสินใจทำ ประกันภัย การบาดเจ็บหรือเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ ไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้
จำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Limit of Insurance)
จำนวน เงินจำกัดความรับผิดของ Product Liability Insurance มี 2 จำนวนคือ
(1) จำนวนเงินจำกัดความรับผิดต่อครั้ง (Per Occurrence Limit)
(2) จำนวนเงินจำกัดความรับผิดต่อหนึ่งช่วงระยะเวลาเอาประกันภัย (Aggregate Limit) ซึ่งจะลดลงเท่ากับค่าสินไหมทดแทนที่ได้จ่ายไปแล้วในช่วงระยะเวลาเอาประกันภัยนั้น
สาเหตุที่ต้องมี Aggregate Limit
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง อาจมีความบกพร่องเดียวกันในผลิตภัณฑ์หลายชิ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ใช้หลายรายสำหรับความบกพร่องเดียวกัน ดังนั้นผู้รับประกันภัยจึงต้องจำกัดจำนวนความรับผิดรวมต่อหนึ่งช่วงระยะเวลา เอาประกันภัยไว้
การวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย (Exposure Analysis)
การวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยในด้านความรับผิดจากผลิตภัณฑ์พิจารณาจาก 4 ด้านสำคัญ ดังนี้
1) ตัวผลิตภัณฑ์ (Product)
วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีรูปร่าง หน้าตา และลักษณะเป็นอย่างไร
2) การใช้งานของผู้บริโภค (End Use)
วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร มีคุณสมบัติอะไรบ้าง นอกจากใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตแล้วยังใช้ทำอย่างอื่นได้อีกหรือไม่ และมีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์มากน้องแค่ไหน ฉลาด คำเตือน วิธีใช้ หรือคู่มือการใช้เป็นอย่างไร ชัดเจนหรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นต้น
3) การควบคุมคุณภาพและการผลิต (Controls)
วิเคราะห์ขั้นตอนและกระบวนการควบคุมคุณภาพ การทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนการนำไปใช้หรือจำหน่ายและการเก็บข้อมูลการทดสอบของผู้ผลิต
4) ประสบการณ์หรือสถิติความเสียหายในอดีต (Experience)
วิเคราะห์จำนวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในอดีต จำนวนการตรวจพบข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ และประสบการณ์ของผู้ผลิตในตัวสินค้านั้น
ประโยชน์ของ Product Liability Insurance
ประโยชน์ทางตรงได้แก่ การที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและการชดใช้ที่สมควร เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือประสบความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคน
ประโยชน์ทางอ้อมได้แก่ การที่ผู้ผลิตต้องเพิ่มความใส่ใจและระมัดระวังในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้ามาก ยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การออกแบบ วัสดุที่จะนำมาใช้ กระบวนการควบคุมคุณภาพ และการทดสอบสินค้าก่อนนำออกจำหน่าย อันจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพดีขึ้น
การแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ
การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์จะช่วยให้ผู้บริโภคต่างประเทศมีความมั่น ใจในการใช้สินค้าไทยมากขึ้น ลดโอกาสที่จะถูกกีดกันทางการค้าลง ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้นด้วย