ประกันภัย กับ ความเสี่ยงภัย
“ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ ทุกยุคสมัย
วันนี้ คือ ปัจจุบัน พรุ่งนี้และจากนั้นคือ อนาคต ที่ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้หรือคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อใด กับใคร อย่างไร มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงผลลัพธ์ ผลกระทบ อีกนานัปการที่จะติดตามมา
คงไม่ต้องห่วงกังวล หากเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องดีๆ ที่จะนำความสุขสมหวังมาให้แต่…เพราะเรื่องของอนาคตคือความไม่แน่นอน เราจึงอาจต้องประสบกับสิ่งที่ไม่คาดฝันกับเหตุการณ์ที่สร้างความเดือดร้อน เสียหาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง หรือขยายวงกว้างไปเป็นระดับประเทศ หรือทั่วทุกมุมโลก ก็เป็นได้
การประกันภัย คือเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทช่วยรองรับความเสี่ยงภัยในอนาคต ด้วยหลักวิชาการในการบริหารความเสี่ยง การคัดเลือกภัย การเฉลี่ยภัย การกระจายความเสี่ยงภัยอย่างรอบคอบ และเป็นระบบ บนพื้นฐานของความสุจริตและยุติธรรม ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย หลักการประกันภัยจึงก่อให้เกิดธุรกิจประกันภัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและสังคมโลก
การประกันภัย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้และสร้างความคุ้นเคยโดยไม่ต้องรอจนถึงวันที่ “ภัย” มา เพราะเมื่อถึงวันนั้น…..อาจสายเกินไป
เนื่องจากการประกันภัยคือรูปแบบหนึ่งในการจัดการกับความเสี่ยงภัยอันอาจเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะศึกษาเกี่ยวกับการประกันภัย เราควรจะได้ทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงภัยเสียก่อน ได้แก่ ความเสี่ยงภัย (Risk) ภัย (Peril) และสภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดความเสียหาย (Hazard)
การเสี่ยงภัย (Risk) หมายถึง โอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหาย เช่น รถยนต์มีโอกาสที่จะเกิดการเฉี่ยวชน การคว่ำ หรืออาจถูกลักขโมย บ้านที่เราอยู่อาศัยมีโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ หรือถูกโจรกรรม เป็นต้น การเสี่ยงภัยแบ่งออกได้ดังนี้
การเสี่ยงภัยแท้จริง (Pure Risk) คือ การเสี่ยงภัยต่อการสูญเสียหรือเสียหาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เช่น บ้านทุกหลังไม่ว่าจะราคาแพงสักเพียงใดย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดเพลิงไหม้ด้วยกันทั้งนั้น เป็นการเสี่ยงภัยตามความหมายของการประกันภัย และสามารถเอาประกันภัยได้
การเสี่ยงภัยแบบเสี่ยงโชค (Speculative Risk) คือ การเสี่ยงต่อเหตุการณ์ ซึ่งผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การเสี่ยง มีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุน เช่น การซื้อหุ้นหรือการลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคมากกว่าการเสี่ยงภัยและไม่สามารถเอาประกันภัยได้
ภัย (Peril) หมายถึง สาเหตุที่ก่อให้เกิดการสูญเสียหรือเสียหาย เช่น ไฟไหม้ ลมพายุ ฟ้าผ่า อุบัติเหตุรถยนต์ ภัยเป็นเรื่องไม่แน่นอนไม่สามารถรู้ล่วงหน้า โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
ภัยธรรมชาติ (Natural Perils) เป็นเหตุซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะควบคุมได้ เช่น ลมพายุ ฟ้าผ่า
ภัยจากมนุษย์ (Human Perils) เป็นภัยจากการกระทำของมนุษย์ เช่น วางเพลิง โจรกรรม
ภัยจากเศรษฐกิจ (Economic Perils) เป็นภัยที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม เช่น เงินเฟ้อ เงินฝืด
สภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดความเสียหาย (Hazard) หมายถึง สิ่งที่จะก่อให้เกิดภัยหรือการเพิ่มโอกาสให้เกิดการสูญเสียจากภัย มีอยู่ 3 ประการ คือ
สภาวะทางกายภาพ (Physical Hazard) คือ สภาพทางกายภาพของทรัพย์สินหรือวัตถุที่เพิ่มโอกาสให้เกิดความเสียหายจากเหตุต่างๆ เช่น บ้านที่สร้างด้วยไม้มีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้ง่ายกว่าบ้านคอนกรีต คนงานในโรงงานมีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูงกว่าคนทำงานในสำนักงาน
สภาวะด้านศีลธรรม (Moral Hazard) คือ เหตุแห่งภัยเกิดจากความไม่ซื่อตรง หรือความไม่สุจริตใจของผู้เอาประกันภัย เช่น การลอบวางเพลิงหวังเงินเอาประกันภัย การทุจริตเพื่อหวังค่าสินไหมทดแทน
สภาวะด้านจิตสำนึกในการป้องกันภัย (Morale Hazard) คือเหตุแห่งภัยที่เกิดจากการขาดความระมัดระวังในการป้องกันภัยตามสมควร เช่น การชอบลืมปิดเตาแก๊สเมื่อออกจากบ้าน การขับรถด้วยความคึกคะนองหรือเมาสุรา
การเสี่ยงภัยที่เอาประกันภัยได้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของความเสี่ยงภัย ดังนี้
จำนวนของการเสี่ยงภัยต้องมีลักษณะคล้ายคลึงกันจะต้องมีจำนวนมากพอ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเป็นอุบัติเหตุ และไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนาของผู้เอาประกันภัย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องสามารถหาสาเหตุและประเมินความเสียหายเป็นตัวเงินได้
ภัยที่เกิดขึ้นต้องไม่ใช่มหันตภัย (Catastrophic)
ความเสี่ยงภัยนั้นต้องเป็นความเสี่ยงภัยที่แท้จริง
ความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหายต้องสามารถคำนวณหรือคาดประมาณได้
ความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นต้องเป็นความเสี่ยงภัยจำเพาะ (Particular Risk) ไม่ใช่ความเสี่ยงภัยต่อส่วนรวม (Fundamental Risk)
ความเสี่ยงภัยที่ไม่อาจเอาประกันภัยได้ เป็นการเสี่ยงภัยดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงภัยที่ขาดสถิติ หรือไม่อาจคาดคะเนได้
ภัยที่ขัดต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน เช่น ไม่สามารถเอาประกันภัยเพื่อคุ้มครองการเสียค่าปรับในกรณีการทำผิดกฏจราจรได้
ความเสี่ยงภัยต่อส่วนรวมซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมได้ เช่น ภัยสงคราม
สัญญาประกันภัย มีลักษณะสำคัญ คือ
เป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ ทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน แต่มีค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดความเสียหายที่ผู้รับประกันภัยต้องจ่าย
เป็นสัญญาที่มีลักษณะคล้ายการเสี่ยงโชคหรือเสี่ยงภัย คือ ผู้เอาประกันภัยเสี่ยงโชคในการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยหากมีภัยเกิดขึ้น ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทน ขณะที่ผู้รับประกันภัยเสี่ยงโชคโดยหากมีความเสียหายอันเกิดจากภัยขึ้นจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามระบุในสัญญา ทั้งนี้โดยแต่ละฝ่ายไม่รู้ว่าจะมีภัยเกิดขึ้นเมื่อไร
เป็นสัญญาที่อาศัยความสุจริตใจอย่างยิ่งของคู่สัญญา เนื่องจากผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงในความเสี่ยงภัยของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว
เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงฟ้องร้องคดีได้ คือ การทำสัญญาประกันภัยจะกระทำเพียงการตกลงปากเปล่าระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยก็ถือว่าถูกต้องตามกฏหมายแล้ว แต่หากมีข้อพิพาทระหว่างกัน การจะฟ้องร้องคดีจะต้องมีหนังสือสัญญารับประกันภัยเป็นหลักฐานไว้อ้างอิงในศาล