INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 2:33:07
Home » ข่าวประกันภัย » สมิติเวชแพ้คดี ทำคลอดตาย ฎีกาสั่งชดใช้ 8,300,000\"you

สมิติเวชแพ้คดี ทำคลอดตาย ฎีกาสั่งชดใช้ 8,300,000

2018/03/23 1061👁️‍🗨️

ศาลฎีกาสั่ง รพ.สมิติเวช จ่ายเงินชดใช้ 8.3 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่เสี่ยแห-อวน ทำคลอดเมียเสียชีวิตพร้อมลูก ระบุ หมอทำคลอดขาดความรับผิดชอบจนคนไข้หัวใจวาย ด้านโจทก์ชี้เป็นอุทาหรณ์ให้แพทย์ตระหนักถึงจริยธรรม-ความรับผิดชอบ

24 ม.ค.2555
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่นายบุรินทร์ เสรีโยธิน กับพวกรวม 7 คน ประกอบด้วย ด.ช.บดินทร์, ด.ญ.บุษรินทร์, ด.ช.ศุภโชค เสรีโยธิน บุตรของนายบุรินทร์ และ นายเขษม นางนารี กีรติธรรมคุณ บิดามารดาของ นางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน อายุ 36 ปี ผู้ตาย และบริษัท ขอนแก่นแห-อวน จำกัด ฟ้องบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สาขาสุขุมวิท พญ.สุภัค จันทร์จำปี วิสัญญีแพทย์ และ นพ.ชลัท ตู้จินดา แพทย์เจ้าของไข้ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่อง ละเมิดเรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 700 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.25 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ชดใช้เงินฐานละเมิดจำนวน 10 ล้านบาทเศษ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยยื่นฎีกา ส่วนโจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1, 3 และ 4 เท่านั้น กรณีนางจุรีรัตน์ ภรรยาโจทก์ไปคลอดแต่แพทย์กลับละเลยไม่ดูแลจนเสียชีวิตพร้อมบุตรในครรถ์เหตุเกิดปี 2538

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือโดยละเอียดแล้ว รับฟังได้ว่า …
โจทก์ที่ 1 สมรสกับนางจุรีรัตน์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของบริษัทโจทก์ที่ 7 ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือโจทก์ที่ 2-4 ต่อมา นางจุรีรัตน์ ได้ตั้งครรภ์ และโจทก์พาผู้ตายไปฝากครรภ์และคลอดที่ รพ.จำเลย เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2538 คณะแพทย์ได้ฉีดยาและให้นอนพักเพื่อดูอาการ วันรุ่งขึ้นผู้ตายมีอาการปวดท้องและน้ำคร่ำเดิน แพทย์ได้ฉีดยาอีก จนเช้าวันที่ 8 ก.ย. 2538 ผู้ตายส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด โจทก์ที่ 1 เข้าไปดู แต่ไม่พบแพทย์และพยาบาล จึงไปตามแพทย์ โดยมีจำเลยที่ 4 มาดูอาการ ซึ่ง นพ.ชลัท จำเลยที่ 4 มีอาการตกใจ ต่อมา นางจุรีรัตน์ ได้ถึงแก่ความตาย พร้อมบุตรในครรภ์ เนื่องจากน้ำคร่ำไหลย้อนเข้ากระแสโลหิต และปอด ทำให้เกิดภาวะหายใจติดขัด เลือดไม่สูบฉีด จนหัวใจวาย

การเสียชีวิตของผู้ตาย ทำให้โจทก์ขาดไร้ค่าอุปการะ ค่าจัดการงานศพ ค่าเลี้ยงดู ขาดค่าการงานในการประกอบอาชีพแห-อวนของบริษัท มีประเด็นต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 1, 3, 4 กระทำละเมิดหรือไม่ เห็นว่า ขณะทำคลอด โจทก์ที่ 1 อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ได้จ่ายยาชา จับชีพจร จากนั้นพากันออกไป แล้วให้พยาบาลดูแลแทน โดยที่จำเลยที่ 3, 4 ไม่ได้อยู่ดูแลตลอดเวลา ซึ่งตำราทางการแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ระบุว่า เมื่อคนไข้รับยา แพทย์ต้องอยู่ดูแลตลอดเวลา เพราะยามีอันตราย อาจทำให้คนไข้ตัวสั่นตาเขียว

โดยโจทก์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีแพทย์ เบิกความว่า …
พยาบาลที่ไม่เคยให้ยาด้านวิสัญญีแพทย์ จะกระทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์ไม่ได้ และคนไข้ต้องอยู่ในความดูแลของวิสัญญีแพทย์ เพราะระหว่างให้ยาอาจเกิดอาการแทรกซ้อน แพทย์ต้องไม่ละทิ้งผู้ป่วย และต้องรับผิดชอบ คดีนี้ไม่ใช่เสียชีวิต 1 คน แต่เป็น 2 คน แพทย์ยิ่งต้องรับผิดชอบเป็นทวีคูณ ถือว่าจำเลยที่ 3, 4 ไม่รับผิดชอบ ละเลยต่อหลักวิชาชีพ ทั้งที่ต้องคอยดูชีพจร ซึ่งคดีนี้ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หากจำเลยที่ 3, 4 อยู่ดูอาการ ก็จะพบอาการที่เกิดขึ้น ลำพังพยาบาลไม่อาจแก้ไขได้ทัน นอกจากนี้ จำเลยที่ 3, 4 ยังทำผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแพทยสภาก็รับรองไว้ ว่า แพทย์ต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของคนไข้ แต่จำเลยที่ 3, 4 ไม่บันทึกอาการของผู้ป่วยแสดงให้เห็นถึงความชุ่ย นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูตินรีศาสตร์ ยังเบิกความว่า การที่โจทก์พาผู้ตายไปคลอดที่ รพ.จำเลย ที่เป็นเอกชน ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจะได้รับการบริการที่ดีกว่าของรัฐ แม้จะเสียค่าบริการสูง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ดูแลให้ดีที่สุด แม้อ้างว่าห้องคลอดมีระบบตรวจชีพจรแบบอัตโนมัติ แต่จากคำเบิกความพยาน พบว่า เครื่องดังกล่าวไม่มีจอแสดงผลตลอดเวลา ซึ่งหากจำเลยอยู่ดูแลในห้องคลอด ก็จะสามารถเยียวยาแก้ไขดูแลคนไข้ได้ทัน ความตายของคนทั้งสองจึงเกิดจากความละเลยของจำเลย

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ที่ 1-6 สร้างเรื่องขึ้นมานั้น ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์ที่ 1 อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา สามารถเบิกความถึงช่วงเวลาต่างๆ อย่างละเอียด และนำพยานมาสืบจำนวนมาก จึงไม่มีเหตุกลั่นแกล้งจำเลย โจทก์เองก็ใช้บริการ รพ.จำเลยนานนับสิบปี ปกติก็ไม่มีใครอยากฟ้องร้องแพทย์ การที่จำเลยที่ 3, 4 ไม่อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง จนเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงต้องรับผิดฐานละเมิด แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการฟ้องให้แพทย์มีความรับผิดชอบและระมัดระวังในการดูแลรักษาคนไข้มาก ขึ้น แต่จำเลยยังต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาจำเลยที่ 3, 4 เมื่อจำเลยที่ 3 ทำละเมิด จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2.8 ล้านบาท แก่โจทก์ที่สองเป็นเงิน 1 ล้านบาท แก่โจทก์ที่สามเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 2 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 5 และ 6 คนละ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 ก.ย. 2538 และให้จำเลยจ่ายค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์รวม 150,000 บาท

นายบุรินทร์ เปิดเผยภายหลังว่า คดีนี้จะเป็นเทียนไขให้แสงสว่างให้กับผู้ป่วย และคนไข้ได้รับรู้สิทธิ์ของตนเอง ทำให้วงการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ จะต้องตระหนักระวังในการรักษาคนไข้ให้ได้มาตรฐาน มีจริยธรรมความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คดีนี้ตอนไกล่เกลี่ยตนต้องการแค่คำขอโทษจากจำเลยที่ต้องสำนึกในการรักษาคนไข้ ไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทองแต่อย่างใด ส่วนทรัพย์สินที่ได้จะนำไปบริจาคทำคุณประโยชน์แก่วงการแพทย์ หรือสาธารณชนด้านอื่นๆ ทั้งหมด ต้องขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมคดีแพ่งถึงที่สุดแล้ว ส่วนอาญาต้องรอปรึกษากับคนในครอบครัวก่อน.





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow