รับจ้างทำเคลม!!
สมาคมประกันวินาศภัยไทยเตรียมเสนอเพิ่มเงื่อนไขไว้ให้ชัดในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยกำหนดค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ในลักษณะเหมาจ่าย เพื่อให้ทุกบริษัทประกันภัยดำเนินการจ่ายทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพื่อปิดช่องโหว่ให้กลุ่มบุคคลเข้ามาฉวยโอกาสหาเศษหาเลยกับการรู้ตัวบทกฎหมายและเปิดทำธุรกิจรับจ้างทำเคลม โดยบริษัทประกันภัยจนปัญญา และไม่สามารถจะสกัดกั้นหรือทำอะไรได้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้
ก่อนหน้านี้ คปภ. เป็นผู้รับบทบาทผลักดันเรียกร้องสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ให้กับประชาชนที่เอาประกันหรือประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวงเงินความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกกรณีเสียชีวิตที่ประกันภาคสมัครใจเคยจ่ายกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหากเสียชีวิตจ่ายศพละแสนบาท คปภ.ก็บีบให้บริษัทประกันขยับเพิ่มมาเป็น 3 แสนบาทจนสำเร็จ หรือแม้แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คปภ.ก็เคยมีแนวความคิดจะปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของค่าพาหนะแท็กซี่หรือรถโดยสาร โดยเฉพาะรถยนต์สี่ล้อ แต่หลายบริษัทในปัจจุบันก็พยายามจะวางกรอบหรือบรรทัดฐานจ่ายขาดประโยชน์โดยอ้างอิงตัวเลขที่ตกลงกับคปภ.อยู่ที่ 300 บาท
ตอนนี้กลายเป็นว่า เปิดช่องให้แก๊งบุคคลที่รู้เส้นสนกลในกฎหมายประกันภัยหรือการเคลมประกันรถยนต์นี้ดี ฉวยช่องถือโอกาสนำเรื่องนี้มาใช้หากิน โดยรับซื้อเคลมตามสถานีตำรวจต่างๆ ทันทีที่ทราบว่า เจ้าหน้าที่บริษัทประกันรายไหนเจรจาตกลงค่าสินไหมกับผู้เสียหายไม่ได้ หรือถูกบริษัทประกันเอาเปรียบกดค่าสินไหม กลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะทำทีเข้าไปเกลี่ยกล่อมให้เจ้าทุกข์หรือทายาทผู้เอาประกันที่เสียชีวิตให้เซ็นต์หนังสือมอบอำนาจให้เป็นผู้เรียกร้องค่าสินไหมเอากับบริษัทประกันเอง ถ้าวงเงินค่าสินไหมไม่สูงมาก ก็จะจ่ายค่าสินไหมให้ทันที แต่หากค่าสินไหมในวงเงินสูงหลักล้าน ก็จะไปเรียกร้องเอากับบริษัทประกัน หากไม่ได้ ก็ตรงดิ่งไปร้องกล่าวโทษประวิงค่าสินไหมกับสำนักงานคปภ. กระทั่งบริษัทประกันภัยรถยนต์รายใหญ่น้อยโดนสองเด้งทั่วหน้ากันหมด ทั้งจะต้องจ่ายค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมที่เป็นเครื่องมือใช้หากินแล้ว แล้วยังต้องโดนโทษประวิงอีกเด้งหนึ่งด้วย ทำให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยต่างพยายามร่วมกันหาทุกวิถีทางต่อสู้ และแก้ไขปัญหานี้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาหนทางออกในเรื่องนี้ได้
นั่นเพราะ บริษัทประกันภัย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ทำให้มันยุติธรรมชัดเจนแต่แรกมิใช่หรือ? พอทีตัวเองเสียหายก็ออกมาเรียกร้อง ที่ผ่านมา ผู้เอาประกันถูกเอารัดเอาเปรียบ มีใครจะเรียกร้องให้เขาเหล่านั้นบ้าง ต้องโทษตัวเองแล้วล่ะ
เที่ยวนี้กลายเป็นภาคเอกชนกลับเป็นผู้สวมบทให้คปภ.ผลักดันแก้ไขเงื่อนไขกติกาเสียเอง
จึงเป็นที่มาของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่มีแนวคิดจะพลิกเกมสู้กับปัญหานี้ แทนที่จะไปสกัดกั้นหรือต่อกรกับกลุ่มคนรับจ้างทำเคลม ก็แก้เกมด้วยการปรับเพิ่มใส่เงื่อนไขกำหนดลงไปในกรมธรรม์ให้ชัดเจน แทนที่จะเขียนเงื่อนไขไว้กว้างๆ แล้วเปิดช่องให้มีการเรียกร้องค่าสินไหมได้อย่างไม่จำกัด
นายอานนท์ วังวสุ เลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กล่าว..
“โครงการอบรมหลักสูตรการจัดการสินไหมทดแทนรถยนต์ รุ่นที่ 1” ได้พยายามจูนให้พนักงานสินไหมบริษัทประกันภัยต่างๆที่เข้ามารับมอบวุฒิบัตรและโล่รางวัลได้ปรับทัศนคติตัวเองในการจ่ายสินไหมให้กับประชาชน ให้มีการจ่ายเคลมอย่างฉลาด โดยยึดหลักเคลมที่สมควรจ่ายน้อย ก็ควรจะจ่ายน้อย ไม่ใช่ไปจ่ายเคลมโง่ๆ อย่างไม่ฉลาดกัน หากมาตรฐานต้องเปลี่ยนอะไหล่ก็ควรเปลี่ยน ไม่ใช่ไปต่อรองและยื้อเรื่องการจ่ายเคลมกับชาวบ้านที่เรียกร้องสินไหม จนเจรจาขึ้นโรงพัก 5 รอบก็ยังไม่จบ จนทำให้ผู้เสียหายมีการนำเรื่องไปฟ้องร้องกับคปภ.หรืออนุญาโตตุลาการ และศาล กระทั่งในที่สุดเวลานี้ได้มีคนมาสร้างธรรมเนียมใหม่มาเรียกร้องค่าสินไหมกับบริษัทประกันภัย
“ใหม่ๆมีการเรียกค่าขาดประโยชน์กัน พนักงานเคลมก็ทำใจไม่ได้ มีคนรู้ทันเรา เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก สอนวิธีการเคลมประกัน บอกทุกอย่างหมด จนเดี๋ยวนี้มีคนมาหากินเรียกค่าขาดประโยชน์กันมาก ทำไมต้องมาให้คนอื่นมาบังคับเราล่ะ ตอนนี้คนเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ตรงนี้ยังไม่ถึง 30% นั่นแสดงว่า เราทำหน้าที่ไม่แฟร์ เราไม่ต้องไปหาทางลดหรอก พวกทนายรับจ้าง หรือพวกรับซื้อเคลม เพราะลดไม่ได้ ไม่มีปัญญาหรอก เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่สิ่งที่ผมจะทำก่อนหมดวาระการทำงานกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยไปในยุคนี้ ผมต้องผลักดันเรื่องนี้ก่อนผมจะหมดวาระ จะต้องจ่ายให้บริษัทประกันจ่ายค่าขาดประโยชน์ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในประกันภาคสมัครที่ทุกวันนี้จ่ายกัน 3 แสนบาท จ่ายเพิ่มขึ้นทุกเคลม รวมถึงการจ่ายค่าขาดประโยชน์กับค่าเสื่อมเหมาจ่ายเพิ่มขึ้น
#รับจ้างทำเคลม
ธุรกิจใหม่ สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การเคลมประกันภัยเดิมทีในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั้น ไม่ได้ระบุเงื่อนไขการจ่ายสินไหม กรณีที่มีการเรียกร้อง #ค่าเสื่อมราคารถ และ #ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ บริษัทประกันภัยเองก็ไม่บอกลูกค้าผู้เอาประกันถึงสิทธิที่จะทำได้ (ก็แน่ละ เรื่องอะไรจะบอกล่ะ!) คนที่รู้เรื่องก็เคลมกันไป คนที่ไม่รู้ก็ไม่ได้เรียกร้อง บริษัทประกันก็ได้ประโยชน์
และแล้วก็มีกลุ่มคน ที่เห็นโอกาสในปัญหานี้ จึง #รับจ้างเคลม ซะเลย โดยไป #รับซื้อเคลมจากผู้เอาประกัน แล้วก็ไปเรียกร้องเคลมกับบริษัทประกันแทน แถมได้เยอะซะด้วย
ช่องโหว่ที่ บรรดาบริษัทประกันภัย ใช้ในการ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง และเอารัดเอาเปรียบผู้เอาประกันภัยมาช้านาน บัดนี้ได้ถูกค้นพบและใช้เป็นศรย้อนแทงกลับไป ทำลายตัวบริษัทประกันเอง จนบริษัทประกันภัยต้องแก้เกมส์ด้วยการผลักดันให้แก้เงื่อนไขในกรมธรรม์ซะเอง ให้ระบุตัวเลขที่ชัดเจนลงไป
เลขาธิการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ..
การทำธุรกิจประกันภัยในบ้านเราต้องเปลี่ยน ต้องเลิกแข่งขันคิดเบี้ยราคาถูก โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่แท้จริง หรือการลดวงเงินความคุ้มครองเหลือต่ำๆ เหลือ 3 แสนบาท เพื่อจะทำให้เบี้ยถูกลง พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาลูกค้าจะต้องควักกระเป๋าจ่ายชดเชย เพราะความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยไม่เพียงพอ ควรจะกำหนดวงเงินจ่ายความคุ้มครองเวลารถชนคนตายสูงขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้คดีชนคนตาย จ่ายค่าสินไหมกันสูงถึง 2 ล้าน ในใจคิดว่า น่าจะออกประกันมาขายเลย ตั้งวงเงินความคุ้มครองสินไหมจ่ายตรงจุดนี้ให้สูงไปเลยสัก 5 ล้านบาท ไม่ต้องมาเจรจากันอีกต่อไปแล้ว
โดยบริษัทประกันไม่ต้องกลัวเจ๊ง เพราะยิ่งจ่ายสูง กลับเป็นผลดีต่อธุรกิจ รถที่ไม่มีประกัน ก็จะเข้ามาสู่ระบบประกันกัน เช่นเดียวกับค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมสภาพ ถ้าหากเรากำหนดสมมุติเขียนระบุให้เหมาจ่ายรวมกันไปเลยวันละ1,000บาทสำหรับรถสี่ล้อ ก็สามารถทำได้ โดยนำค่าสินไหมที่จ่ายเพิ่มนี้ไปโห้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยโหลดเข้าไปในเบี้ยประกันรถยนต์ โดยคปภ.จำเป็นต้องคำนึงถึงประชาชนส่วนรวม ไม่ควรจะคัดค้านเพราะเกรงว่า กลุ่มคนมีฐานะหรือนั่งรถเบนซ์รถหรุจะเสียประโยชน์ เนื่องจากไม่จำกัดหรือลดสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสื่อมสภาพรถ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่ขับรถแท็กซี่ หรือหาเช้ากินค่ำ อาทิเช่น รถวิ่งขายของหรือขายกับข้าวตามซอย เวลาเกิดเหตุ พวกเขาได้รับความเดือดร้อนมากกว่ากลุ่มคนขับรถหรูเสียอีก
นายอานนท์ กล่าวว่า …
ในอนาคตยังไม่รู้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายกำลังพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ใช้ในรถยนต์ และจะมีการรับประกันคุณภาพในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะทำให้การซ่อมรถยนต์ลดลง และทำให้การทำประกันภัยรถยนต์ลดลงด้วย เช่น กำลังมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจะใช้แบตเตอรี่แทนเครื่องยนต์ หรือมีการนำ Robot เข้ามาทำงานแทนคน ค่าซ่อมรถที่เป็น Main หลัก 70% อาจจะหายไปก็ได้ และจะเหลือแต่เคลมคนเจ็บคนตายก็อาจเป็นไปได้สูง เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างเริ่มเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด ดังนั้นอะไรก็ได้ที่แรงงานทำ หรือสมองคนทำ ก็จะค่อยๆลดบทบาทลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ถ้าเราไม่ควบคุม เราก็จะไปไม่รอด
ข้อเรียกร้องของสมาคมประกันวินาศภัยไทยในการเสนอให้กำหนดค่าเสื่อมรถและค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถที่เสนอไป จะได้รับการตอบรับหรือไม่
Ref. หนังสือพิมพ์เส้นทางนักขาย ฉบับที่ 358 ปักษ์หลัง ประจำวันที่ 16-31 ตุลาคม 2560