INSURANCETHAI.NET
Thu 23/01/2025 4:58:12
Home » อัพเดทประกันภัย » ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?\"you

ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

2016/03/10 1472👁️‍🗨️

การหักลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

1. การหักลดหย่อนบุคคลธรรมดา

(1)ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน หรือไม่ก็ตาม)

(2) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(2.1) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมาย การสมรสไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
(2.2) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อนจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี ตัวอย่าง สามีภริยาแต่งงานครบปีภาษีและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทที่ 1 กรณีดังกล่าว ภริยาสามารถแยกคำนวณภาษีต่างหากจากสามีได้โดยชอบ ทั้งสามีภริยาจึงไม่มีสิทธินำคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ แต่หากสามีหรือภริยาเลือกนำเงินได้ทั้งหมดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง มารวมคำนวณ สามีหรือภริยาย่อมมีสิทธินำคู่สมรสนั้นมาหักลดหย่อนได้

(3) บุตรให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย
โดยมีเงื่อนไขว่า
(ก) บุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ. 2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรม ก่อน พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท (หักลดหย่อนได้ โดยไม่จำกัดจำนวน)
(ข) บุตรที่เกิดหลัง พ.ศ. 2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมในหรือหลัง พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท กรณีบุตรตาม (ก) ไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรตาม (ข) มาหักได้อีก แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตร ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศให้ลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท หรือเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้ในฐานะเดียว

(4) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และหักลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีรายได้ในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้และบิดามารดาของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจะต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)

(5) ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยคนพิการหรือคนทุพพลภาพนั้นต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท และเงินได้ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
(5.1) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ หรือ
(5.2) ผู้มีเงินได้ต้องมีเอกสารมาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ คือ ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

(6) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท บิดามารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป

(7) ค่าเบี้ยประกันชีวิต
(7.1) ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (ค่าเบี้ยประกันชีวิตต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ค่าเบี้ยประกันความคุ้มครองอื่น เช่น คุ้มครองสุขภาพ หรือคุ้มครองอุบัติเหตุไม่สามารถหักลดหย่อนได้)
(7.2) ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (เป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

(8) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ให้หักจากเงินได้)

(9) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สมาชิกที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (ให้นำไปหักจากเงินได้)

(10) ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น (และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ + เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

(11) ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

(12) ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ให้ได้รับลดหย่อนและยกเว้นได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

(13) เงินสมทบกองทุนประกันสังคม หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

(14) เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ + เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท) หมายเหตุ กฎหมายยังไม่ออก

(15) ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับค่าบริการหรือค่าที่พัก ในการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้
(15.1) ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์) ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(15.2) ค่าที่พักในโรงแรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรม กระทรวงมหาดไทย

(16) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ โดยผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปเป็นหลักฐาน โดย
(16.1) ต้องชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้
(16.2) ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในประเทศ เฉพาะที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 7 เท่านั้น
(16.3) กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 แล้ว ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธินำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามใบกำกับภาษีนั้นมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 263) )
(16.4) กรณีผู้มีเงินได้นำใบกำกับภาษีที่เกิดจากการจ่ายเงินได้เป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไปใช้สิทธิตามข้อ (15) แล้ว ใบกำกับภาษีนั้นไม่สามารถนำมาใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ได้อีก

(17) เงินได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จ ในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยหักลดหย่อนตั้งแต่ปีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และให้หักลดหย่อนต่อเนื่องกัน 5 ปี ๆ ละเท่า ๆ กัน ซึ่งต้องปฏิบัติ ดังนี้
(17.1) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีชื่อเป็นคู่สัญญากับสถาบันการเงินที่ให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรือกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย
(17.2) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน และต้องไม่เคยเป็น
– ผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท)
– ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ (ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่)
– ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย (ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 300,000 บาท)
– ผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด (มาตรการบ้านหลังแรกที่ยกเว้นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี ให้เป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี)

(18) เงินบริจาค เป็นรายการลดหย่อนสุดท้ายก่อนนำเงินได้ไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า โดยสามารถหักเงินบริจาคได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (หักลดหย่อนได้เฉพาะที่บริจาคเป็นเงินเท่านั้น) ได้แก่ การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ต้องเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)
(18.1) เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
การบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(ดูพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558) พ.ศ. 2556)
(18.2) เงินสนับสนุนการกีฬา ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
เงินที่บริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬา จังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดหรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬา การฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา หรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา
(ดูพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 559) พ.ศ. 2556)
(18.3) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว ทั้งนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 217)
(18.4) เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของเงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 214)
(18.5) เงินได้ที่จ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่ได้จ่าย แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 209)
(18.6) เงินได้ที่จ่ายให้แก่โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ดังนี้
สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 222)
(18.7) เงินได้ที่จ่ายให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 200)
(18.8) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้หักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้ว
(ดูพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 594) พ.ศ. 2558

2. การหักลดหย่อนในกรณีผู้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

3. การหักลดหย่อนในกรณีกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 30,000 บาท

4. การหักลดหย่อนห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลแต่ละคนที่อยู่ในประเทศไทยคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

5. การหักลดหย่อนวิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ให้หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow