INSURANCETHAI.NET
Sun 22/12/2024 11:00:48
Home » อัพเดทประกันภัย » ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และ ค่าเสื่อมราคา\"you

ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และ ค่าเสื่อมราคา

2018/03/02 1646👁️‍🗨️

สมาคมประกันวินาศภัยไทย จะขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
กำหนดวงเงิน ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และค่าเสื่อมราคาไว้บนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
เพื่อให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายให้กับผู้เสียหายจากรถที่มีประกันภัยชน

หากบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจ่ายสินไหมและเกิดความรวดเร็วแก่ประชาชนผู้เสียหาย
แม้ว่าทั้งสองเรื่องผู้เสียหายจากรถที่มีประกันภัยมาชนจะได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว
แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้จ่าย หรือจ่ายในราคาที่ไม่เป็นจริง ทำให้ผู้เสียหายมีการไปฟ้องร้องต่อศาลและ คปภ.

ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนเจ้าของรถที่ถูกรถที่มีประกันภัยละเมิด จนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถคันนั้น เพราะ …
– ต้องนำรถเข้าซ่อม ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
– หากรถมีไว้เพื่อค้าขาย ก็ทำให้นำรถคันนั้นออกไปทำธุรกิจไม่ได้ ทำให้สูญเสียรายได้
ค่าเสื่อมราคาเกิดจากรถที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อซ่อมแล้ว ราคาตลาดจะลดลงเมื่อเทียบกับรถรุ่นเดียวกันที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ

ปี 2559 ประกันภัยภาคสมัครใจทุกประเภท ประมาณ 8,500,000 คัน เบี้ย ประมาณ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเบี้ยรับรวมทั้งระบบ 200,000 ล้านบาท

กว่า 2ทศวรรษ ที่ผ่านมา ผู้เสียหายจากรถที่มีประกันภัยชนและเป็นฝ่ายถูก แทบไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว
นั่นเพราะบริษัทประกันภัยไม่ได้บอกลูกค้าว่าสามารถเรียกร้องได้ และคนส่วนใหญ่ไม่ทราบ

มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่ทราบ และต้องใช้เวลานานในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินดังกล่าว บ้างก็พึ่งทนายความให้ดำเนินการฟ้องร้อง ขณะที่ คปภ.ไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิดังกล่าวให้กับประชาชนทราบ เพราะมองว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องรู้อยู่แล้วว่ามีสิทธินี้อยู่ โดยอยู่ในหมวดความคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก …
ที่ระบุว่าบริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบการขาดประโยชน์จากการใช้รถตามกฎหมายและความรับผิดของบริษัทตามจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ยังระบุไว้ว่า ผู้ที่ถูกละเมิดมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกินวงเงินเอาประกันภัย

ตามสิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายได้3 กรณี

1. ประวิงการซ่อม โดยบริษัทประกันภัย

เจ้าของรถยนต์ที่เป็นฝ่ายถูก ถูกรถคันมีประกันภัยภาคสมัครใจชน เกิดความเสียหาย เมื่อนำรถเข้าซ่อมแล้วถูกบริษัทประกันประวิงการซ่อม หรือมีการซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุผลสมควร เช่น ระบุว่าจะซ่อมเสร็จภายในวันที่ 1มกราคม แต่ซ่อมล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร สามารถเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถได้ตั้งแต่วันที่ 2มกราคม เป็นต้นไป จนกว่าจะซ่อมเสร็จ

2. ค่าขาดประโยชน์ จากการใช้รถ

นับตั้งแต่วันที่นำรถเข้าซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ ต้องเช่ารถใช้ หรือนั่งแท็กซี่ไปทำงาน ซึ่งเป็นส่วนที่มีการเรียกร้องมากที่สุด และบางรายค่าเสียหายส่วนนี้มากกว่าค่าซ่อม

3. ค่าขาดประโยชน์ในกรณีใช้รถเพื่อการพาณิชย์

เช่น รถเช่า หรือรถรับจ้าง จะมีค่าเสียหายที่แตกต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคล ในกรณีที่มีหลักฐานการขาดประโยชน์จากการใช้รถชัดเจน รถ อาชีพของผู้เรียกร้อง สมเหตุสมผลจะไม่มีปัญหา มักตกลงกันได้

หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมออนไลน์ มีการแบ่งปันประสบการณ์ วิธีการเรียกร้อง เอกสารที่ต้องใช้ และข้อกฎหมาย ออกมาเผยแพร่ ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเรียกร้อง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมแทบจะเป็น 0 ขึ้นมาใกล้ระดับ 30% ของค่าสินไหมทดแทนรวม และเกิดการนำเรื่องฟ้องร้องศาลกันจำนวนมาก เนื่องจากยังมีบริษัทประกันภัยบางส่วนที่ยังคงใช้แนวคิดการจ่ายสินไหมแบบเก่าๆ ที่จะพยายามจ่ายให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยรวม

จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะให้ คปภ.ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ด้วยการระบุวงเงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถบนกรมธรรม์ให้ชัดเจน จะได้ตัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับบริษัทประกันภัย และใช้เป็นบทลงโทษบริษัทประกันภัยแนวคิดเก่าๆ เหล่านั้น พร้อมทั้งสามารถยกระดับภาพพจน์ของวงการประกันภัยได้อีกด้วย และ รวมถึงยังจะใช้อัตราเดียวกันนี้ไปเป็นราคาอ้างอิงในการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ อันเนื่องจากถูกรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยมาชนรถที่มีประกันภัย ซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทุกคนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรถที่มีประกันภัย และเรียกร้องค่าเสียหายจากรถที่ไม่มีประกันภัยได้ ซึ่งกลุ่มหลังมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการมีสถิติการจ่ายค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ นำไปเป็นหนึ่งในต้นทุนของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจโดยรวม และใช้ในการปรับขึ้นเบี้ยประชาชนที่มีพฤติกรรมการขับขี่ไม่ระมัดระวังก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย เพื่อไม่ให้กระทบและเป็นธรรมกับประชาชนที่ขับขี่ดีอย่างไรก็ตาม การกำหนดวงเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่ม

1.ผู้เสียหายจากรถที่มีประกันชน หรือบุคคลภายนอก จะต้องได้รับการชดใช้ หรือเยียวยา อย่างเหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งบริษัทประกันภัย และ คปภ. จะต้องรวบรวมค่าเสียหายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จากบริษัทประกันภัยด้วยกันเอง จากคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินในกรณีนี้ไว้ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อให้ใกล้เคียงกับความเสียหายจริงที่สุด

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อขอรับชดเชยตามความเป็นจริงได้

2.ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ซื้อประกันภัยรถยนต์จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยในอัตราที่เหมาะสม ไม่กระทบความสามารถในการชำระเบี้ย จนเป็นเหตุให้ไม่ทำประกันภัย อันจะกระทบต่อสังคมโดยรวมได้

3.บริษัทประกันวินาศภัยต้องอยู่ได้ โดยมีรายได้ในการพัฒนาธุรกิจและบริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว

ก็คือ เป็นราคาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับได้





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow