หลักสุจริตอย่างยิ่ง
หลักสุจริตอย่างยิ่ง
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือ ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็น ความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
เทียบกับ พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเล (ต่อไปจะเรียกว่า MIA) มาตรา 17 ซึ่งบอกว่า
MIA 17 Insurance is uberrimae fidei. –A contract of marine insurance is a contract based upon the utmost good faith, and, if the utmost good faith be not observed by either party, the contract may be avoided by the other party.
Uberrimae Fidei หมายถึง ความสุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith) หากไม่มีสิ่งนี้ ผลก็คือสัญญาอาจถูกบอกล้างได้โดยอีกฝ่าย (may be avoided) ก็คือเป็นโมฆียะ แปว่าถ้าฝ่ายหนึ่งไม่สุจริตอย่างยิ่ง อีกฝ่ายก็บอกล้างได้
Concept of Insurance
1. สัญญาประกันภัย เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีค่าตอบแทนไม่เท่าเทียมกัน คือผู้เอาประกันภัยจ่ายน้อย แต่ถ้าผู้รับประกันต้องจ่าย ก็จะจ่ายมาก
ความไม่เท่าเทียมกันนี้ ต้องมีหลักการบางอย่างดุลไว้ สัญญาจึงจะคงอยู่ได้ด้วยความเป็นธรรม สิ่งที่ดุลไว้นั่นคือ “ต้องแถลงข้อความจริง ไม่แถลงข้อความเท็จ”
2. สัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน
3. สัญญาเพื่อการโอนการเสี่ยงภัย และกระจายการเสี่ยงภัย การกระจายการเสี่ยงภัยนั้น ผู้รับประกันภัยต้องการข้อมูลที่ถูกต้องในการเสี่ยงภัย ภายใต้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่เป็นข้อสาระสำคัญในการเสี่ยงภัย
ตัวอย่างของการกระจายการเสี่ยงภัยเช่น การจะขนส่งสินค้าทางทะเล ถ้าขนสินค้าลงเรือลำเดียว แล้วเรือจำขึ้นมา สินค้าก็เสียหายหมด แต่ถ้ากระจายลงเรือหลายลำ แล้วเรือจมไปสัก 1-2 ลำ สินค้าที่บรรทุกลงเรือลำอื่นก็ยังไปถึงจุดหมายได้
หลักการทั่วไปของความสุจริตอย่างยิ่ง (The utmost good faith)
ใน MIA17 ท่อนที่ว่า “if the utmost good faith be not observed by either party” แปลว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย มีหน้าที่ๆ ต้องเปิดเผยข้อความจริง ซึ่งในส่วนนี้ต่างจากมาตรา 865 ของไทย ซึ่งกำหนดให้เฉพาะผู้เอาประกันภัยฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ต้องเปิดเผยความจริง ส่วนผู้รับประกันซึ่งรับโอนความเสี่ยงภัยไปนั้น ไม่มีหน้าที่ๆ ต้องเปิดเผยความจริง
ในปัจจุบัน ศาลอังกฤษได้แบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักสุจริตอย่างยิ่งของผู้เอาประกันภัยไว้ 2 ช่วงเวลาคือ
1. ช่วงเวลาก่อนเกิดสัญญาประกันภัยทางทะเล คือการเปิดเผยข้อความจริงและไม่แถลงข้อความเท็จ
2. ช่วงเวลาหลังเกิดสัญญาประกันภัยทางทะเล
ความสุจริตอย่างยิ่ง ตามมาตรา 865 นั้น ต่างกับความสุจริตตามมาตรา 5 เพราะนั่นคือสุจริตธรรมดา
ความสุจริตอย่างยิ่งตามมาตรา 865 นั้น มีหลักที่ตรงกับของอังกฤษคือ
1. การเปิดเผยข้อความจริง (Disclosure)
2. การไม่แถลงข้อความเท็จ (Non-misrepresentation) ใน MIA S.18-20
1. การเปิดเผยข้อความจริง
การเปิดเผยข้อความจริง เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย ต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องรอให้ถาม ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญในการตัดสินใจของผู้รับประกันภัย (หากนิ่งเฉยจะถือว่าปกปิด) โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องทราบข้อความจริงนั้นตามมาตรฐานของ The Reasonable Insured Test โดยการจะต้องเปิดเผยอะไรบ้างนั้น ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ๆ ต้องรู้เอง เขาไม่มีสิทธิบอกว่าไม่รู้ หากเขาเงียบเฉย แม้ได้กระทำลงไปโดยไม่เจตนา แต่ถ้ากระทำต่อข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ตนมีหน้าที่ต้องเปิดเผย ก็ถือว่าไม่ได้เปิดเผยข้อความจริง (Non-Disclosure)
เรื่องว่าเขาควรรู้หรือไม่รู้ว่าต้องเปิดเผยอะไรบ้างนั้น ให้ดูจากวิญญูชนทั่วไปที่อยู่ในภาวะเดียวกันว่ารู้รึเปล่า หากคนทั่วไปรู้ว่าต้องเปิดเผยเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วเขาเงียบเฉย ไม่พูดถึง ก็เท่ากับว่าเขาไม่ได้สุจริตอย่างยิ่ง
สรุปคือผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้รับประกันภัย ให้มากเท่าที่วิญญูชนทั่วไปคิดว่าควรต้องเปิดเผย หากเปิดเผยน้อยกว่านั้น แปลว่าเขาเปิดเผยข้อความจริงออกมาไม่ครบ นั่นก็คือเขาไม่ได้สุจริตอย่างนิ่ง
1.1 ข้อความจริงที่ต้องเปิดเผย คือข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญ (Material Fact)
ข้อความจริงที่ต้องเปิดเผย คือข้อความจริงที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัย ซึ่งวิญญูชนในฐานะผู้เอาประกันภัยทั้งหลายนั้นถือว่าเป็นสาระสำคัญ เพื่อให้ผู้รับประกันภัยผู้รอบคอบ นำไปพิจารณาตัดสินใจว่าจะรับภัยนั้นไว้หรือไม่ หากรับจะกำหนดเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงทั้งหมด ไม่ว่าข้อความนั้นจะทำให้เบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือลดลงก็ตาม
หลักนี้อยู่ใน MIA S.18 (2) ซึ่งกล่าวว่า Every Circumstance is material which would influence the judgment of a prudent insurer in fixing the premium, or determining whether he will take the risk.
แปลว่าข้อความจริงทั้งหมดที่มีอิทธิพลต่อผู้รับประกันภัยในการกำหนดเบี้ยประกันภัย หรือในการตัดสินใจว่าจะรับความเสี่ยงภัยนั้นมั้ย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผย
มีข้อสังเกตว่า ผู้รับประกันในไทยมักจะคิดก่อนว่าจะรับความเสี่ยงไว้มั้ย แล้วค่อยคิดว่าจะกำหนดเบี้ยประกันเท่าไหร่ แต่ในอังกฤษ เขาจะคิดจากว่าจะกำหนดเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ก่อน ถ้าหากเชื่อว่าถึงกำหนดเบี้ยประกันไว้สูงแล้วก็ยังไม่คุ้ม เขาค่อยพิจารณาว่าจะไม่รับความเสี่ยงภัยดีมั้ย…. หลักมันกลับกัน
อาจารย์ยกตัวอย่างว่า โรงงานแห่งหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็ไปเอาโรงงานนี้ไปทำประกันภัย โดยบอกข้อเท็จจริงไม่ครบ กล่าวคือไม่ได้บอกว่าโรงงานแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่องจักร ที่ไม่ได้บอกไปก็เพราะกลัวว่า หากเมื่อบอกไปแล้วจะโดนเรียกเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น (การทดลองเดินเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ มันอันตราย มีความเสี่ยง น่าจะทำให้เบี้ยประกันภัยสูงขึ้น) นี่ก็เป็นการไม่ได้เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญเหมือนกัน
มาตรฐานของวิญญูชน ในฐานะของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา (Common People) ได้แก่มาตรฐานของผู้เอาประกันภัยทั้งหลายที่มีเหตุผลตามปกติ (Reasonable Insured) ที่จะทราบว่าข้อความจริงใดเป็นสาระสำคัญที่จะต้องเปิดเผย ต่อผู้รับประกันภัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ
ระดับ 1 ข้อความจริงที่รู้เห็นโดยแท้ (Actual Knowledge)
ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่ตน “รู้อยู่แล้ว” ในขณะทำสัญญาประกันภัย รวมถึงข้อความจริงที่เคยรู้มาก่อนแต่ได้หลงลืมไปและไม่ได้เปิดเผยในขณะทำสัญญา ซึ่งถือว่าเป็นข้อความจริงที่ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้ว ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องรอให้ถาม เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น หลักนี้ตรงกับมาตรา 865 ที่ว่า “รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง” กล่าวคือต้องเปิดเผยข้อความจริงในส่วนที่ตนรู้อยู่แล้วให้หมด
ผู้เอาประกันภัยจะมาอ้างว่าเหตุที่เขาไม่ได้เปิดเผยข้อความจริงที่ตนรู้อยู่แล้วออกไป “เพราะไม่รู้ว่าต้องเปิดเผยอะไรบ้างนั้น” อ้างแบบนี้ไม่ได้ ครั้นจะอ้างว่าที่ไม่พูดเพราะอีกฝ่ายนั้นไม่ได้ถาม ก็ไม่ได้เช่นกัน
ดู MIA S.18 (1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า Disclosure by assured. –(1) Subject to the provisions of the section, the assured must disclose to the insurer, before the contract is conclude, every material circumstance which is known to the assured, and the assured is deemed to know every circumstance which, in the ordinary course of business, ought to be known by him. If the assured fails to make such disclosure, the insurer may avoid the contract.
แปลว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงทั้งหมดที่รู้อยู่แล้ว ต่อผู้รับประกันภัย ก่อนที่สัญญาจะได้ข้อสรุป (ก่อนสัญญาเกิด)
ระดับ 2 ข้อความจริงที่ถูกสันนิษฐานว่าผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้ว (Presumed-Knowledge) เป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่มี มันคือหลักที่จะใช้ดูว่าผู้เอาประกันภัย ได้เปิดเผยข้อความจริงครบถ้วนแล้วหรือไม่
ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่ผู้เอาประกันภัยทั้งหลายที่อยู่ในภาวะการเสี่ยงภัยเดียวกันกับผู้เอาประกันภัยรู้ ว่าข้อความจริงใดเป็นสาระสำคัญและต้องเปิดเผยต่อผู้รับประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยงดเว้นการเปิดเผยข้อความจริงเหล่านั้นโดยอ้างว่าไม่รู้ข้อความจริงนั้น ก็จะถูกสันนิษฐาน (Presumed) ว่าเขารู้ข้อเท็จจริงนั้นเหมือนกับคนอื่นๆ แต่กลับปกปิดเอาไว้
กล่าวคือเรื่องใดๆ ที่วิญญูชนผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยกับผู้เอาประกันภัยรู้ รู้ว่าเป็นสาระสำคัญ และรู้ว่าต้องเปิดเผย หากผู้เอาประกันภัยไม่ยอมเปิดเผย ก็จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขารู้ แต่แกล้งปกปิดไว้ (ไม่สุจริต)
ตัวอย่างเช่น สมมติในเรื่องๆ นึง ข้อความจริงมี 10 ข้อ คนที่ฉลาดมากจะรู้และเปิดเผยมาหมดทั้ง 10 ข้อ ทว่าคนทั่วไปอาจจะรู้แค่ 8 ข้อ เมื่อเปิดเผยตามที่เขารู้ก็ได้แค่ 8 ข้อ ดังนั้นหากผู้เอาประกันภัยรู้แค่ 6 ข้อ แล้วก็เปิดเผยมาแค่ 6 ข้อ เขาก็จะถูกหาว่าปกปิดข้อความจริงอีก 2 ข้อ (ทั้งที่เขาไม่ได้ปกปิด แต่ว่าเขาไม่รู้ว่ามันมีข้อความจริงอีก 2 ข้อนั้นอยู่) เมื่อถูกหาว่าปกปิดสัญญาก็จะมีปัญหา แท้จริงแล้วเขาต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานของวิญญูชนทั่วไป คือต้องเปิดเผยให้ได้อย่างน้อย 8 ข้อเท่าคนทั่วไป ไม่งั้นจะถูกหาว่าปกปิด
คำว่า deemed to know every circumstance which, in the ordinary course of business หมายถึง ควรจะรู้ข้อความจริงทั้งหมดในส่วนของธุรกิจ แล้วก็ต้องเปิดเผยออกมา หากไม่เปิดเผย อีกฝ่ายก็จะบอกล้างสัญญาได้
ข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญนั้น ต้องเป็นข้อความจริงที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้รับประกันภัย ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย หรือการตัดสินใจว่าจะรับประกันภัยหรือไม่ ถ้าไม่มีข้อความจริงเช่นว่านั้น ผู้รับประกันภัยก็อาจจะไม่ตัดสินใจรับประกันภัย ทั้งนี้ข้อความจริงดังกล่าวจะต้องไม่ใช่ความคิดเห็น (Opinion) หรือความเชื่อ (Belief) แต่ต้องเป็นเรื่องที่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจ
เมื่อลองเทียบหลักเหล่านี้กับมาตรา 865 แล้วจะพบว่ามันไม่ตรงกันซะทีเดียว เพราะมาตรา 865 เขียนว่าต้องเปิดเผยข้อความจริงที่ “รู้อยู่แล้ว” แต่หลักจริงๆ ของมันตามกฎหมายอังกฤษนั้น ต้องรวมถึงข้อความจริงที่ “ควรจะรู้” (ถูกสันนิษฐานว่ารู้อยู่แล้ว) ด้วย
1.2 การเปิดเผยข้อความจริงของตัวแทน ตาม MIA S.19
ในกรณีที่ตัวแทนทำสัญญาประกันภัย ให้ตัวการซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ตัวแทนต้องเปิดเผยข้อความจริงต่อผู้รับประกันภัยดังนี้
(a) ตัวแทนต้องเปิดเผยข้อความจริงทุกอย่างที่ตัวแทนรู้มา และที่ถูกถือว่ารู้ เรื่องปกติธรรมดาในทางธุรกิจที่ควรจะรู้ หรือที่ตัวการได้บอกให้ทราบแล้ว
(b) ตัวแทนต้องเปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญทุกชนิด ซึ่งผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องเปิดเผย เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยทราบข้อความจริงนั้นล่าช้าเกินกว่าที่จะแจ้งให้ตัวแทนทราบได้
1.3 เวลาที่จะต้องเปิดเผยความจริง
มาตรา 865 เขียนว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย… รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง…”
ส่วน MIA S.18 (1) กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงกับผู้รับประกันภัย ก่อนที่สัญญาจะเกิดขึ้น (is concluded)
หน้าที่ในการเปิดเผยข้อความจริงตาม S.18 นี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อสัญญาเกิดเป็นผลสำเร็จ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไปด้วยความสุจริตอย่างยิ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน S.17
1.4 ผลของการไม่เปิดเผยข้อความจริง
มาตรา 865 บอกว่าถ้าไม่เปิดเผยข้อความจริงแล้ว สัญญานั้นก็เป็นโมฆียะ
ส่วนกฎหมายอังกฤษใช้คำว่า อาจถูกอีกฝ่ายบอกล้างได้ ซึ่งมันก็เหมือนโมฆียะนั่นแหละ
แต่เดิมแล้ว สมัยก่อนอังกฤษนั้นได้ยึดถือเรื่องความสุจริตอย่างยิ่งมาก จนวางหลักไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริงอันต้องเปิดเผย สัญญานั้นก็จะเป็นโมฆะเลยทีเดียว (Void) โดย Lord Mansfield เป็นคนวางหลักไว้ จากนั้น Lord ท่านอื่นๆ ก็ยืนยันตามกันมา มีการอ้างคำพิพากษาของ Lord Mansfield อยู่เรื่อยๆ และบอกให้สุจริตอย่างยิ่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย
กระทั่ง Lord Blackburn ได้ตัดสินในคดี Brownlie V Campbell (1880) ว่าเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยสิ่งที่ตนรู้ การปกปิดข้อความจริงที่ตนรู้ ทำให้สัญญาเป็น “โมฆียะ” ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะคิดว่าข้อความจริงนั้นเป็นสาระสำคัญหรือไม่
2. การไม่แถลงข้อความเท็จ (Non-misrepresentation)
การแถลงข้อความจริง และ การไม่แถลงข้อความเท็จ นั้น คือการกล่าวแถลง (Statement) เป็นวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจเป็นข้อความจริง (Fact) ความเชื่อ (Belief) หรือความคาดหมาย (Expectation) ก็ได้
การเปิดเผยข้อความจริง แตกต่างจาก การไม่แถลงข้อความเท็จ เพราะการเปิดเผยข้อความจริงนั้นคือการเปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ผู้รับประกันภัยใช้ในการคิดว่าจะรับประกันภัยนั้นดีมั้ย? และจะคิดเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่? โดยเรื่องที่ต้องเปิดเผยออกมานั้น คือเฉพาะสาระสำคัญที่เป็นข้อความจริงเท่านั้น ไม่รวมถึงความเชื่อ ไม่รวมถึงความคิดเห็น ทว่าในการไม่แถลงข้อความเท็จนั้น จะรวมถึงการไม่แถลงเท็จในความเชื่อและความคิดเห็นด้วย
จุดที่น่าสังเกตมีดังนี้
1. ความเป็นสาระสำคัญ – ข้อความจริงในเรื่องการแถลงข้อความจริงและการไม่แถลงข้อความเท็จนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญที่ผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยตามหน้าที่ (ต่างจากข้อความจริงในเรื่องการเปิดเผยข้อความจริง ที่ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องเปิดเผย) แต่ก็เป็นข้อความที่ผู้รับประกันภัย ถือว่าเป็นสาระสำคัญ
2. ข้อสงสัย – เมื่อผู้รับประกันภัยมีเรื่องสงสัยจะสอบถาม หรือมีรายละเอียดบางอย่างที่ยังไม่เข้าใจ หรือต้องการให้ผู้เอาประกันภัยตอบข้อความจริงที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม ก็ต้องไม่แถลงความเท็จ
3. การเจรจา – ในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง (Negotiation) ทำสัญญาประกันภัย ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย ข้อความจริงใดๆ ที่ใช้ในการเจรจาต่อรอง และไม่ใช่ถ้อยคำที่ผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยตามหน้าที่ ก็จะเป็นข้อความจริงในเรื่องการแถลงข้อความจริง ซึ่งต้องไม่แถลงเท็จ (ถ้อยคำที่ผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยตามหน้าที่ จะเป็นข้อความจริงในเรื่องของการเปิดเผยข้อความจริง)
4. การกรอกข้อความ – ข้อความที่กรอกลงในแบบคำขอเอาประกันภัย ก็คือการแถลงข้อความจริง ซึ่งห้ามแถลงข้อความเท็จ
5. การต่อสัญญา – ในการต่ออายุสัญญาแต่ละครั้ง ผู้เอาประกันภัยต้องแถลงข้อความจริงใหม่ให้กับผู้รับประกันภัยทราบ ข้อความที่ผู้เอาประกันภัยแจ้งต่อผู้รับประกันภัยในการต่อสัญญา ก็คือการแถลงข้อความจริง ซึ่งห้ามแถลงข้อความเท็จ
การแถลงข้อความจริงนั้น สามารถแถลงเรื่องที่ “คาดหวัง” หรือเรื่องที่ “เชื่อถือ” ว่าเป็นความจริงได้ หากกระทำโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยของศาล และการแถลงข้อความจริงนั้น อาจแก้ไขหรือถอนเสียได้ก่อนที่สัญญามีผลสำเร็จ
สรุปแล้ว การเปิดเผยข้อความจริง คือการที่ผู้เอาประกันภัยเปิดเผยในเรื่องที่มีหน้าที่ต้องเปิดเผย ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเป็น Fact ไม่ใช่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความเชื่อ / แต่ในการแถลงข้อความจริง ไม่แถลงข้อความเท็จนั้น หมายความรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยเองด้วย และยังรวมถึงเรื่องที่เป็นความคิดเห็น และเป็นความเชื่อด้วย เมื่อใครถามมา ผู้เอาประกันภัยก็ต้องแถลงไปตามจริง ไม่แถลงข้อความเท็จ
ตำราภาษาไทยส่วนใหญ่มักบอกว่า การเปิดเผยข้อความจริง มีความหมายเดียวกับการไม่แถลงข้อความเท็จ แต่แท้จริงแล้วมันแตกต่างกัน ดังที่สรุปไว้ในย่อหน้าที่แล้ว
หลักสุจริตอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย หลังเกิดสัญญาประกันภัย (หลักสุจริตในการปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย)
ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยฉ้อฉล ถือเป็นหน้าที่ๆ ผู้เอาประกันภัยจะต้องปฏิบัติตามหลักสุจริตอย่างยิ่งในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ศาลอังกฤษจะถือว่าหลักสุจริตอย่างยิ่งนี้เป็นข้อสัญญาโดยปริยาย (Implied Terms) ที่มีอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล
แต่เดิมก็มีคดี The Litsion Pride ระหว่าง Black King Snipping Corporation V. Mark Rorerd Massie (1985) ที่ท่านผู้พิพากษา Hirst วินิจฉัยว่า การฉ้อฉลในสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักสุจริตอย่างยิ่งตาม MIA S.17
นอกจากนี้ก็มีคดี The Star Sea – ที่วินิจฉัยว่าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสุจริตอย่างในใน MIA S.17 นั้น ยังคงบังคับใช้แม้ภายหลังสัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ขอบเขตหน้าที่ก่อนทำสัญญา และภายหลังทำสัญญานั้นย่อมไม่เหมือนกัน ขณะที่หน้าที่ตาม S.18-20 ของ MIA นั้นจะใช้เฉพาะช่วงก่อนทำสัญญาเท่านั้น