ป.วิ.อ. มาตรา 51 อายุความ ฟ้องละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทน ในความผิดทางอาญา
1000

ป.วิ.อ. มาตรา 51 อายุความ ฟ้องละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทน ในความผิดทางอาญา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556 ญาติของผู้เสียชีวิต และผู้เสียหาย ที่เคยบาดเจ็บสาหัส จากสะพาน 200 ปี ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์และ e-mail มาสอบถาม Thai Law Consult ว่า จะฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนเอง หรือต้องคอยอัยการฟ้องคดีอาญา แล้วยื่นคำร้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

              วันนี้ 27 สิงหาคม 2556 พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร ได้หารือกับ น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์, ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ, ทนายอู๋ อุดมศักดิ์ ศักดิ์ธงชัย แล้ว เห็นพ้องกันว่า ทีมทนาย Thai Law Consult ควรนำเรื่อง การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ฉบับเต็ม มานำเสนอเป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน ในโอกาสต่อไป สำหรับวันนี้ พี่ตุ๊กตาขอตอบคำถามนี้ในเบื้องต้นก่อนนะคะ

มีหลักกฎหมายเกี่ยวข้องดังนี้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.)

ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตามมาตรา 44/1

          ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

          การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหานอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหาย และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้อง แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้

          คำร้องตามวรรคหนึ่ง จะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังตับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอัน เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดขืนหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงงานอัยการได้ดำเนินการตามความใน มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจำยื่นคำรืองตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์อีกไม่ได้

อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามมาตรา 51

          ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตใน มาตรา 193/20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม

          ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาดอายุความซึ่งผู้เสีย หายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม มาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

          ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญา และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่งสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมี ตามกำหนดอายุความใน มาตรา 193/32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาล พิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อายุความละเมิด ที่ผิดและไม่ผิดอาญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448

          สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

          แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

ค่าเสียหายจากละเมิดซึ่งเป็นความผิดอาญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรค 2 ที่ว่า

          "แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ"

          - เป็นเรื่องของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือคดีอาญาสินไหม ในกรณีเป็นอาญาสินไหมนี้

          - ถ้าอายุความทางอาญายาวกว่า จึงให้เอาอายุความทางอาญามาใช้บังคับแก่คดีเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง แต่ถ้าอายุความทางอาญาไม่ยาวกว่า ต้องใช้อายุความทางแพ่ง คือ ตามมาตรา 448 วรรค 1

        - อายุความทางอาญาที่ยาวกว่านี้ ใช้เฉพาะกับผู้ที่กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาต่อโจทก์ ไม่ใช้กับบุคคลอื่นที่มิได้ร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย จึงไม่ใช้กับบุคคลที่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น หรือรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์ตามมาตรา 425 ถึงมาตรา 437


          ฎีกาที่ 321/2550      การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ

          - เมื่อผู้เสียหายมีสิทธิใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่า ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับช่วงสิทธิในการใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่าด้วย

          ฎีกาที่ 1818/2541      ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดในการที่จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2ผู้เอาประกันภัยเสียหาย โจทก์ที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่มีอยู่ดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกัน



          การแยกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51

ซึ่งแยกเป็น 2 กรณี คือ

1.    กรณียังไม่มีการฟ้องคดีอาญา
2.    กรณีมีการฟ้องคดีอาญาแล้ว

กรณียังไม่มีการฟ้องคดีอาญา อายุความทางแพ่ง ถือตามคดีอาญา คือ คดีแพ่งมีอายุความตามคดีอาญา คือ มีอายุความดังที่ ปอ. มาตรา 95 บัญญัติไว้ แม้จะเป็นผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตที่ถูกทำละเมิดก็ไม่ได้รับการขยายอายุความตามมาตรา 193/20 อีก

          ฎ.326/2524 "สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาแทนเด็กจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)(เดิม) เมื่อบิดาโจทก์ทำสัญญาแทนโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ"

กรณีมีการฟ้องคดีอาญา ก่อนฟ้องคดีแพ่ง

(ก)    ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรค 2 "ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาดอายุความซึ่งผู้เสีย หายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม มาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา"

          เป็นกรณีได้ฟ้องคดีอาญาและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีแล้ว หากคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความทางแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง แม้ฟ้องแพ่งเกิน 1 ปี แต่ขณะนั้นคดีอาญายังไม่ถึงที่สุดหรือไม่เด็ดขาด โจทก์ก็ฟ้องแพ่งได้

(ข)    ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรค 3 "ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญา และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่งสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมี ตามกำหนดอายุความใน มาตรา 193/32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"

          กรณีคดีอาญาลงโทษเด็ดขาดและมาฟ้องแพ่งภายหลัง คดีแพ่งย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/32

          ฎีกาที่ 2615/2523 "โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เบิกความเท็จ นำสืบและแสดงหลักฐานเท็จในคดีแพ่งซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องแล้วโจทก์ได้อาศัยมูลคดีอาญาดังกล่าวฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดฟ้องโจทก์คดีหลังนี้จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาไว้ในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และอายุความฟ้องร้องต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ซึ่งให้ถือตามอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168"

จำไว้ว่า ..... หากฟ้องคดีแพ่ง ขณะคดีอาญายังไม่เด็ดขาด และได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีด้วยแล้ว อายุความทางแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 51 วรรค 2 คดีทางแพ่งขณะฟ้องจึงยังไม่ขาดอายุความดังกล่าวใน (ก) เมื่อต่อมาคดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย คดีแพ่งนั้นจึงเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องบังคับตามวรรค 3 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/32


(ค)    ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรค 4 "ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"

          กรณีคดีอาญายกฟ้องเด็ดขาด คดีนั้นย่อมไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีแพ่งที่ฟ้องก่อนคดีอาญาถูกยกฟ้องเด็ดขาด หรือฟ้องหลังคดีอาญายกฟ้องเด็ดขาด ย่อมมีอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรค 1 คือ 1 ปี นับจากวันรู้ หรือ 10 ปี นับจากวันกระทำความผิด แล้วแต่กรณี

        การยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรค 4 นี้ หมายถึง ยกฟ้องเพราะศาลได้วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความทั้งตาม ปอ. มาตรา 95 และ 96 โดยยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 จึงไม่หมายถึง ยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166



คำถามว่า "จะฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนเอง หรือต้องคอยอัยการฟ้องคดีอาญา แล้วยื่นคำร้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1"

พี่ตุ๊กตาขอตอบดังนี้

1.    กรณีผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการกระทำความผิดอาญา แยกฟ้องแพ่งเอง โดยที่ยังไม่มีการฟ้องคดีอาญา - อายุความฟ้องคดีแพ่ง ละเมิด จากการกระทำความผิดอาญา ปอ. มาตรา 300 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส

"ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ใน ปอ. จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตาม ปอ. มาตรา 300 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความจึงมีกำหนด 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุ ตาม ปอ. มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ"

2.    การฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าสินไหมทดแทนทันที โดยไม่ต้องคอยผลคดีอาญาของอัยการโจทก์ มีข้อดีคือ หลีกเลี่ยงปัญหา อายุความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรค 4 "ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"

ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรค 1 "สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด"

จึงต้องระวังว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมูลละเมิด มีอายุความแค่ 1 ปี และอาจขาดอายุความแล้ว ถ้ามัวแต่คอยคดีอาญาของอัยการโจทก์ ซึ่งอาจถูกยกฟ้องได้


3.    คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ข้อเท็จจริงคดีอาญาผูกพันคดีแพ่งจะต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้

3.1    ประเด็นในคดีอาญาและคดีแพ่งเป็นเรื่องเดียวกัน

3.2    ประเด็นในคดีอาญาต้องยุติแล้ว

3.3    คู่ความในคดีอาญาและคดีแพ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน

          ถ้าคู่ความในคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นบุคคลต่างกัน คำพิพากษาในคดีอาญา ไม่ผูกพันคดีแพ่ง เช่น ฟ้องลูกจ้างประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ตาม ปอ. มาตรา 300ไม่ผูกพันนายจ้าง ดังนั้น ถ้าจะฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรค 1

ดังนั้น กรณีสะพาน 200 ปี ถล่ม ที่จังหวัดอยุธยา ถ้าจะฟ้องบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหรือซ่อมแซมสะพาน จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ


4.    กรณีฟ้องเทศบาลตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้รับผิดชอบ ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็ต้องระวังเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ด้วย

5.    การฟ้องเทศบาลตำบล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลสะพาน 200 ปี ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพราะเป็นกรณีที่เทศบาลซึ่งใช้อำนาจทางการปกครองละเลยต่อหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

6.    การฟ้องผู้รับเหมาซึ่งก่อสร้างหรือปรับปรุงสะพาน เป็นคดีละเมิดอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด

7.    การฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากการถูกกระทำละเมิดซึ่งเป็นความผิดทางอาญาด้วยนั้น จะต้องฟ้องภายในอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ถ้าในขณะที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งนั้น คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด โดยอาจอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีในคดีแพ่ง ศาลอาจจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแพ่งไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคำพิพากษาในคดีอาญาก่อน เมื่อคดีอาญายุติแล้ว ให้คู่ความแถลงขอให้ศาลหยิบยกคดีแพ่งมาพิจารณาต่อไป เมื่อศาลหยิบยกคดีแพ่งขึ้นพิจารณาต่อไปแล้ว โจทก์และจำเลยก็ต้องนำพยานเข้าสืบในประเด็นเรื่องค่าเสียหายต่อไปด้วย ยกเว้นกรณีที่จำเลยในคดีอาญานั้นศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดหรือจะไม่จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยให้คู่ความสืบพยานในประเด็นค่าเสียหายไปก่อนก็ได้

8.    ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2548 เพื่อให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเทศที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีแพ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อลดภาระให้กับผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253

        ดังนั้น การร้องขอค่าสินไหมทดแทนในคดีของอัยการโจทก์ ผู้เสียหายได้รับการยกเว้นค่าขึ้นศาล ในขณะที่ถ้าแยกฟ้องคดีแพ่งเอง ต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าทนายความ

9.    การมีทนายความฟ้องคดีให้ผู้เสียหาย เป็นที่ยอมรับกันว่า ทนายความมีเวลาเตรียมคดี หาข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอต่อศาลได้ทั้งประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่ามีเพียงใด และนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยได้ด้วย

ขอตอบโดยสรุปดังนี้
- พี่ตุ๊กตาเห็นว่า ถ้าผู้เสียหายมีญาติเป็นทนายความ หรือพอจะมีเงินค่าทนายความอยู่บ้าง หรือมีความอัดอั้นตันใจอยู่มาก หรือคิดจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในอัตราที่สูงเกินกว่าเกณฑ์ของผู้รับผิดชอบในการทำละเมิด ควรฟ้องคดีแพ่งเอง
- อย่าลืมว่า ค่าขึ้นศาล ร้อยละ 2 ถ้าผู้เสียหายเรียกร้องในอัตราที่สูงเกินควร ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเงินที่มาก
- แต่ทนายความอาจช่วยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หรือขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้

10. ตัวอย่าง คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา - พี่ตุ๊กตา Thai Law Consult โทร.081-759-8181 เห็นว่าข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา สนามเล็ก สอบวันที่ 25 กรกฎาคม 2547 ข้อ 2 มีประโยชน์ต่อการศึกษากฎหมายของประชาชน จึงนำมาลงไว้ค่ะ



Re: ป.วิ.อ. มาตรา 51 อายุความ ฟ้องละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทน ในความผิดทางอาญา
1000

Re: ป.วิ.อ. มาตรา 51 อายุความ ฟ้องละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทน ในความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2539
ป.อ. มาตรา 291
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 5(2), 14, 15, 32, 46
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157

          กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลผู้ตายค่าปลงศพผู้ตายรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆและค่าขาดไร้อุปการะเนื่องจากเหตุที่ผู้ตายได้รับอันตรายแก่ร่างกายและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมานั้นเป็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายหรือไม่อันเป็นประเด็นในคดีอาญาที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา2(4),5(2)ในส่วนนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46แม้โจทก์จะมิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีอาญาด้วยโจทก์ก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีอาญานั้น โจทก์ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการที่ศาลอาญาสั่งยกคำร้องโดยพิจารณาตามคำฟ้องที่ได้บรรยายว่าผู้ตายได้กระทำผิดด้วยโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เป็นการวินิจฉัยว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องนั้นได้หรือไม่มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่จะถือเป็นยุติว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหายดังนั้นในข้อหาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นประเด็นโดยตรงที่จำเลยถูกฟ้องยังต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นการที่โจทก์มิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่เกิดผลที่จะให้ศาลในคดีส่วนแพ่งไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ส่วนในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเงิน20,113บาทกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของโจทก์เพื่อติดต่อสอบถามดำเนินการอันเนื่องมาจากเหตุรถชนกันเป็นเงิน5,000บาทนั้นเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำละเมิดต่อตัวทรัพย์ของโจทก์หรือไม่ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา291ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยโดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับข้อหาที่จำเลยถูกฟ้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา43,157ที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายดังนั้นในส่วนนี้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่เป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่จากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอำนวย ยิ่งรุ่งเรือง อันเกิดแต่นางประทุม ยิ่งรุ่งเรืองและโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์หมายเลยทะเบียนกรุงเทพมหานคร 5 ช - 6905 จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 2 ง - 2275 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่11 ตุลาคม 2531 เวลาประมาณ 7.30 นาฬิกา จำเลยได้ขับรถยนต์ของจำเลยโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ของนายอำนวยเป็นเหตุให้นายอำนวยได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา และทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการ รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 294,453 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 294,453บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 364 วันโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 22,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 316,453 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 316,453บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น294,453 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอำนวย ยิ่งรุ่งเรือง ผู้ตาย และโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกับนางประทุม ยิ่งรุ่งเรือง ทั้งนายอำนวยไม่ได้เป็นบุตรที่เกิดจากโจทก์กับนางประทุม จำเลยขอปฎิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับ เนื่องจากเป็นเพียงสำเนาเท่านั้นและเป็นเอกสารเท็จที่โจทก์ได้ทำปลอมขึ้นมาทั้งหมดโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 5 ช - 6905 ในขณะเกิดเหตุ หากแต่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายอำนวยผู้ตายแต่เพียงฝ่ายเดียวค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนายอำนวยก่อนตายนั้นหากจะมีก็ไม่เกิน 500 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการงานศพตามฐานานุรูปของผู้ตายสมควรไม่เกิน 15,000 บาท นายอำนวย ก่อนตายมีรายได้ไม่แน่นอน ค่าขาดไร้อุปการะจะมีบ้างก็ไม่เกิน 10,000 บาท รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 5 ช - 6905 เสียหายเพียงเล็กน้อยสามารถซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ในจำนวนไม่เกิน 1,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง

          โจทก์ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

          โจทก์ ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอำนวย ยิ่งรุ่งเรือง ผู้ตายและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 5 ช - 6905 คดีได้ความต่อไปว่า ในมูลกรณีที่รถชนกันตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นคดีอาญาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9129/2533 ของศาลอาญา ศาลในคดีอาญาดังกล่าวได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อในการขับรถยนต์ คดีถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยมิได้กระทำโดยประมาทมาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ เพราะโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวเนื่องจากเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยในคดีนั้นต่างก็คัดค้านว่าโจทก์คดีนี้มิใช่ผู้เสียหาย ศาลอาญาจึงสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เมื่อยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลอาญา ศาลอาญาก็สั่งไม่รับอุทธรณ์อ้างว่ามิใช่คู่ความศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย ค่าปลงศพผู้ตายรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ และค่าขาดไร้อุปการะ เนื่องจากเหตุที่ผู้ตายได้รับอันตรายแก่ร่างกายและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมานั้นเป็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายหรือไม่อันเป็นประเด็นในคดีอาญาดังกล่าวที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4), 5 (2) ในส่วนนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 แม้โจทก์จะมิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีอาญาด้วย โจทก์ก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีอาญานั้น การที่ศาลในคดีอาญามีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าผู้ตายได้กระทำผิดด้วยกันกับจำเลยโดยต่างฝ่ายต่างขับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ด้วยความประมาทจนเกิดเหตุชนกัน ตามคำฟ้องจึงมิใช่ผู้เสียหายโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ จึงให้ยกคำร้องนั้น เห็นว่า โจทก์ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ ที่ศาลอาญาสั่งยกคำร้องโดยพิจารณาตามคำฟ้องที่ได้บรรยายว่าผู้ตายได้กระทำผิดด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการวินิจฉัยว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องนั้นได้หรือไม่ มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่จะถือเป็นยุติว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ดังนั้นในข้อหาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นประเด็นโดยตรงที่จำเลยถูกฟ้อง ยังต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นการที่โจทก์มิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่เกิดผลที่จะให้ศาลในคดีส่วนแพ่งไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ศาลล่างทั้งสองถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในส่วนนี้จึงชอบแล้ว

          ส่วนในกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเงิน 20,113 บาท กับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของโจทก์เพื่อติดต่อสอบถามดำเนินการอันเนื่องมาจากเหตุรถชนกันเป็นเงิน 5,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำละเมิดต่อตัวทรัพย์ของโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลย โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับข้อหาที่จำเลยถูกฟ้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 ที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ในส่วนนี้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่เป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่จากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษา คดีส่วนอาญาในส่วนนี้ด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เนื่องจากในส่วนนี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความได้นำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้และเพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาลประกอบกับผลคำพิพากษาของศาลล่างอาจเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิของคู่ความในการอุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริงได้ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีในส่วนนี้ใหม่

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ยกฟ้องโจทก์ในข้อที่ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์เสียหายและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานจากสำนวนตามที่คู่ความนำสืบและพิพากษาใหม่เฉพาะส่วนดังกล่าวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

( ปรีชา บูรณะไทย - บุญธรรม อยู่พุก - ณรงค์ ตันติเตมิท )

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 17-08-56)

http://www.thailawconsult.com/ptukta28.html



INSURANCETHAI.NET
Line+