บัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ ใครรับผิดชอบ?
1012

บัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ ใครรับผิดชอบ?

ปัจจุบัน บัตรเครดิต  ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เงินเดือนไปเสียแล้ว เพียงเงินเดือนของท่านถึง ๑๕,๐๐๐ บาท ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของธนาคารต่างๆ ได้  โดยการจูงใจให้สมัครผ่านของแถมมากมายจากเซลล์ซึ่งจัดโปรโมชั่นล่อลูกค้า และโดยช่องทางการสมัครที่มีหลากหลายไม่ว่าจะทางโทรศัพท์ หรือบูทสถาบันการเงินตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แม้กระทั่งตลาดนัดของพวกมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย

ความสะดวกสบายในการใช้บัตรเครดิต เพื่อซื้อสินค้า หรือเบิกถอนเงินสดมาใช้ล่วงหน้าในจำนวนที่มากกว่ารายได้จริงสองถึงสามเท่านั้น ทำให้มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายนิยมมีติดตัวไว้ บางคนมีหลายใบ นอกจากจำนวนบัตรเครดิตและวงเงินที่ได้รับอนุมัติยังโชว์ถึงศักยภาพในทางการเงินของผู้ถือบัตรที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินต่างๆแล้ว ยังเป็นเสมือนเงินสำรองติดตัวให้อุ่นใจหากจะต้องใช้เงินฉุกเฉิน

ท่ามกลางสถิติอาชญากรรมเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗/๑-๗ หมวดความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.๒๕๔๗ให้มีบทลงโทษการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงและหรือการนำบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเครดิต ซึ่งตามกฎหมายใช้คำว่า “บัตรอิเล็กทรอนิกส์”  ของบุคคลอื่นไปใช้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงสุดถึงสิบปี หรือปรับถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้กฎหมายอาญาจะกำหนดอัตราโทษรุนแรงแค่ไหน แต่ในความเป็นจริง พวกมิจฉาชีพก็มิได้เกรงกลัวยังคงสรรหาวิธีการต่างๆ นาๆ เพื่อนำบัตรของผู้อื่นไปใช้โดยที่ผู้ถือบัตรไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะด้วยวิธีลักขโมย ปลอมแปลงข้อมูลบัตรเพื่อนำไปสร้างบัตรใหม่ขึ้นมาเพื่อนำไปรูดซื้อสินค้า หรือกดเงินสด (ในกรณีรู้รหัสผู้ถือบัตร) บางครั้งกว่าผู้ถือบัตรจะทราบแล้วอายัด ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว โดยเฉพาะการปลอมแปลงข้อมูลในบัตรเครดิตเพื่อนำไปสร้างบัตรเครดิตขึ้นใหม่ ผู้ถือบัตรอาจแทบล้มทั้งยืนเมื่อเห็นรายการการใช้บัตร (STATEMENT) ของตนส่งมา

แม้ว่าผู้ถือบัตรจะรีบแจ้งธนาคารผู้ถือบัตรเรื่องบัตรถูกขโมยหรือถูกปลอมแปลงข้อมูล และธนาคารจะได้ทำการอายัดบัตรไว้แล้ว แต่ก็ยังอาจเกิดความเสียหายอยู่ดี ซึ่งความเสียหายนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แน่นอนครับ จะให้ฝั่งผู้ถือบัตรรับผิดชอบได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่ถูกผู้ร้ายกระทำให้เสียหาย ทั้งนี้มีคดีอุทาหรณ์เช่นนี้มากมายในต่างประเทศ และผู้ถือบัตรได้รับความคุ้มครองจากสถาบันการเงินเจ้าของบัตร โดยเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ถือบัตรว่ามีรายการใช้บัตร (TRANSACTION) โดยบุคคลอื่นที่เจ้าของบัตรไม่ทราบเรื่อง สถาบันการเงินจะเข้าตรวจสอบรายการต้องสงสัยดังกล่าวภายในระยะเวลาพอสมควร และหากพบว่ารายการนั้น มิได้เกิดจากการใช้จริงของผู้ถือบัตร ผู้ถือบัตรก็ไม่ต้องผูกพันรับผิดในหนี้ที่ไม้ได้เป็นผู้ก่อขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามส่วนฝั่งธนาคารเองก็ไม่รู้เรื่อง จะให้ธนาคารรับภาระหนี้ไปก็ไม่ยุติธรรมนัก แต่ถ้าจะให้ธนาคารไปไล่เบี้ยมิจฉาชีพให้มารับผิดชอบก็คงไม่ไหว  ดังนั้นธนาคารก็เล่นของตาย อาศัยสิทธิตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต (ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตร) ตามที่ผู้ถือบัตรทั้งหลายได้รับเมื่อบัตรธนาคารส่งบัตรเครดิตมาให้ (แม้ในความเป็นจริงจะไม่เคยอ่าน) เพื่อเรียกร้องหนี้ดังกล่าวเอาจากผู้ถือบัตร มีหลายคดีที่ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายเร่งรัดหนี้สินจัดการ  ทวงถามก็แล้ว เจรจาก็แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้

ดังนั้นธนาคารจึงฟ้องคดีให้ผู้ถือรับผิดชอบชำระหนี้ดังกล่าว โดยผู้เขียนเห็นว่ามีคำตัดสินของศาลฎีกาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ถือบัตรเครดิตทั้งหลาย คือคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๔๐/๒๕๕๐ ที่ตัดสินให้ผู้ถือบัตรซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ไม่ต้องรับผิดชดใช้หนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของธนาคารไปใช้ โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ยุติลงโดยจำเลยชนะติดต่อกันทั้งสามศาล

จากคำพิพากษาดังกล่าวมีข้อควรพิจารณาที่สำคัญว่า “จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้  การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้”

ผู้เขียนเข้าใจว่า ในทางการพิจารณาคดี จำเลยได้นำสืบพยานหลักฐานให้ศาลได้เห็นประจักษ์ว่า บัตรเครดิตจำเลยหายไปจริง จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรตามจำนวนหนี้ที่ถูกเรียกร้อง โดยศาลมิได้คำนึงถึงว่าจำเลยได้แจ้งให้ธนาคารทราบทันทีเมื่อบัตรเครดิตสูญหาย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ตามฎีกานี้ ท่านผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ หากบัตรเครดิตของท่านถูกขโมย หรือข้อมูลในบัตรถูกนำไปปลอมแปลงเพื่อทำบัตรเครดิตขึ้นใหม่

ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าวกับท่านผู้อ่าน ผู้เขียนใคร่ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านรีบไปดำเนินการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานทันที รวมทั้งติดต่อสถาบันการเงินเจ้าของบัตร และธนาคารแห่งประเทศไทย (ถ้าทำได้) เพื่อแจ้งให้ทราบและแสดงความสุจริตของท่านผู้อ่านว่า  บัตรเครดิตของท่านสูญหายไปจริง

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแก้ไขปรับปรุงสัญญาการใช้บัตรเครดิตกำหนดให้ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบในบรรดาหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากกรณีใดๆก็ตาม ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพียงใดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวน่าจะถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื่องจากกำหนดให้ผู้ถือบัตรรับผิดเกินสมควร ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาข้อนั้นบังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

แม้จะมีคำพิพากษาฎีกาบัญญัติไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วก็ตาม แต่หากปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้ เชื่อว่า ธนาคารก็คงจะต้องเรียกร้องเอาจากผู้ถือบัตรให้รับผิดชอบอยู่ดี ผู้ถือบัตรที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย หรือคิดว่าสู้กับธนาคารก็มีแต่แพ้  อีกทั้งยังจะมีค่าจ้างทนาย  ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล หรืออาจเกรงว่าจะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ของธนาคาร ก็คงจะชดใช้ (ผ่อน) หนี้ให้กับธนาคารไป  แต่ถ้าผู้ถือบัตรต้องการความยุติธรรม ผู้เขียนก็เชื่อว่า หากผู้ถือบัตรสุจริต กฎหมายก็มีช่องทางออกให้ เพียงแต่ขอให้ท่านตั้งสติให้ดี และปรึกษานักกฎหมายก่อน ก็จะมีทางออกให้กับปัญหานี้ได้ครับ

https://www.dlo.co.th/node/372



INSURANCETHAI.NET
Line+