หลักทรัพย์ที่ควรร้จัก
103
หลักทรัพย์ที่ควรร้จัก
หลักทรัพย์ที่ควรร้จัก
โลกของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ คนเราต้องแก่ลง และต้องมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ การลงทุนจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยไม่มีความเข้าใจที่มากพอ ก็อาจทำลายเงินออมทั้งก้อนที่เราเฝ้าอุตส่าห์เก็บมาตลอดชีวิตก็ได้
ในบทความชิ้นนี้ จะเป็นเพียงการแนะนำหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดต่างๆให้เรารู้จักแบบคร่าวๆ หากเราสนใจจะลงทุนสินค้าชนิดใดคงต้องไปศึกษาข้อมูลลึกลงไปในหลักทรัพย์นั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนจริงๆ
หลักทรัพย์ทางการเงินที่ควรรู้จัก
1. หุ้นสามัญ ( COMMON SHARE , STOCK ) คือ เอกสารที่แสดงสิทธิในความเป็นเจ้าของของบริษัท หรือ กิจการใดกิจการหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ออกขายหุ้น เพื่อระดมเงินทุนขยายกิจการ แต่ผู้ซื้อหุ้นหรือผู้ถือหุ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อหวังผลกำไรจากเงินปันผล และการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น
การเป็นผู้ถือหุ้น ยังทำให้เรามีสิทธิมีส่วนในการกำหนดแนวนโยบายของบริษัท แต่สิทธิดังกล่าวจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับว่า เราถือหุ้นบริษัทนั้นมากน้อยเพียงใดด้วย
2. หุ้นบุริมสิทธิ์ ( PREFERED SHARE ) คือหุ้นประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นมากกว่าหุ้นสามัญ อย่างน้อยสองประการ คือ
ประการแรก มีสิทธิรับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ เงินปันผลที่ไม่จ่ายในปีปัจจุบันก็ให้สะสมไปจ่ายในอนาคตได้ ขึ้นกับข้อกำหนดในการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ในครั้งนั้นๆ
ประการที่สอง หากบริษัทต้องเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิได้รับการแบ่งทรัพย์สินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ โดยทั่วไป บริษัทจะออกหุ้นบุริมสิทธิ์ในภาวะที่บริษัทเกิดวิกฤต ระดมเงินทุนไม่ได้ จึงต้องจูงใจผู้คน โดยให้สิทธิพิเศษมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิม แต่บริษัทมักกำหนดให้ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ ไม่มีสิทธิในการออกเสียงและไม่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท
3. หุ้นกู้ ( DEBENTURE , CORPORATE BOND ) คือ เอกสารที่แสดงสิทธิเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท หรือ กิจการใดกิจการหนึ่ง
บริษัทออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนขยายกิจการ แต่ทำในรูปของการกู้ยืมประชาชนโดยกำหนดระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน ( ว่าเป็นคงที่หรือลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ) โดยทั่วไปหุ้นกู้จะมีอายุ 3-7 ปี ดอกเบี้ยมักสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่เป็นการกู้ที่ไม่มีหลักประกัน การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายเป็นงวดๆ เมื่อครบกำหนดผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน
บริษัทเลือกจะกู้เงินจากประชาชนโดยตรง เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าการกู้เงินจากธนาคาร ระยะเวลากู้ยาวนานกว่า ทำให้บริหารเงินได้ง่าย หรือ อยู่ในภาวะที่ธนาคารอาจไม่ยอมปล่อยกู้เพิ่มเติมให้แล้ว จึงต้องหาช่องทางกู้เงินจากประชาชนแทน
ส่วนผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ เพราะ ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าฝากธนาคาร , มีผลตอบแทนคงที่ และยังสามารถทำกำไรได้จากการขายหุ้นกู้ ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง หุ้นกู้จะมีราคาสูงขึ้น
หุ้นกู้มีหลายประเภท เช่น
- หุ้นกู้แปลงสภาพ คือ หุ้นกู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษสามารถเลือกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ หรือจะถือเป็นหุ้นกู้ต่อเพื่อรับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ จนครบกำหนดก็ได้ ผู้ลงทุนจะใช้สิทธิแปลงสภาพก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญอยู่สูงกว่าราคาแปลงสภาพ
- หุ้นกู้มีหลักประกัน คือ หุ้นกู้ที่มีสถาบันการเงิน หรือ บริษัทอื่นที่มั่นคงกว่ามาค้ำประกันหนี้สินให้ หรือ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ อาจยินยอมให้เอาทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ,ตัวโรงงาน มาค้ำประกันหนี้สิน
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ คือหุ้นกู้ที่กำหนดให้มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเป็นลำดับท้ายๆในกลุ่มหุ้นกู้ด้วยกันในกรณีที่บริษัทปิดกิจการลง แต่มักให้ดอกเบี้ยสูงมาก
หมายเหตุ ลำดับสิทธิ์ในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งปิดกิจการ คือ รัฐบาล ( กรมสรรพากร ) , พนักงาน ลูกจ้าง , เจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นกู้มีหลักประกัน , เจ้าหนี้การค้า , เจ้าหนี้ทั่วไป , ผู้ถือหุ้นกู้ , หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ , หุ้นบุริมสิทธิ์ และหุ้นสามัญ
4. สลิปส์ - แคปส์ ( SLIPS , CAPS ) คือ หุ้นบุริมสิทธิ์ควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ ที่สถาบันการเงินนำออกมาขายระดมทุนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มทุนในรูปของหุ้นสามัญได้ จึงระดมทุนในรูปหุ้นบุริมสิทธิ์ ที่มีหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ดอกเบี้ยสูงถึง 22 % มาจูงใจ โดยคาดการณ์ว่า ในช่วง 5 ปีแรก บริษัทคงยังไม่มีกำไรมาจ่ายเงินปันผลให้หุ้นบุริมสิทธิ์ ดอกเบี้ยรับเฉลี่ยจึงตกปีละ 11 % เมื่อครบ 5 ปีสถาบันการเงินเหล่านี้มีสิทธิไถ่ถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้
5. พันธบัตร ( GOVERNMENT BOND ) คือ หุ้นกู้ที่ออกโดยรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ความเสี่ยงจากการไม่ได้เงินลงทุนคืนจึงแทบไม่มี ดอกเบี้ยมักจะต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ยังคงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เนื่องจากระยะถือครองยาวนานกว่า
6. วอร์แรนท์ ( WARRANT ) คือ เอกสารแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญในอนาคตในจำนวนและราคาที่กำหนดไว้ บริษัทมักออกวอร์แรนท์เพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นในกรณีต้องการเพิ่มทุนโดยอาจจะให้ฟรี หรือ จำหน่ายในราคาถูก ผู้ถือวอร์แรนท์จะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญสูงกว่าราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ โดยที่ต้นทุนในการถือวอรํแรนท์ต่ำกว่าหุ้นสามัญ แต่ การเปลี่ยนแปลงของราคาใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ จึงถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูงมาก
7. สัญญาสิทธิ์ ( OPTION ) คือ เอกสารแสดงสิทธิที่จะซื้อ หรือ ขายทรัพย์สินที่ระบุไว้ โดยไม่บังคับว่าต้องซื้อ หรือขายตามที่ระบุไว้นั้น โดยทั่วไปตราสารนี้จะระบุเงื่อนไขต่างๆ เช่น วันที่ใช้สิทธิ์ ราคาหรือจำนวนของตราสาร ที่ผู้ถือสามารถใช้สิทธิ์ซื้อหรือขายให้
สิทธิ์ในการซื้อหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ เรียกว่า CALL OPTION สิทธิ์ในการขายเรียกว่า PUT OPTION วอร์แรนท์จัดเป็นสัญญาสิทธิ์ชนิด CALL OPTION
8. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ( FORWARD หรือ FUTURE ) คือ สัญญา หรือข้อตกลงที่ผู้ถือหุ้น และผู้ออกตราสารต้องดำเนินการซื้อหรือขาย และส่งมอบทรัพย์สินตามราคาและจำนวนที่ระบุไว้ ณ วันสิ้นสัญญา เป็นการเก็งกำไรภาวะการณ์ในอนาคตที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากถูกบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
9. บัตรเงินฝาก ( NEGOTIABLE CERTIFICATE OF DEPOSIT / NCD ) คือตราสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายการฝากเงินแบบประจำ ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ฝากเงิน ต่างจากการฝากประจำตรงที่สามารถเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ และจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝากเงินอยู่ที่ 5 แสนบาท โดยระยะเวลาที่ฝากจะอยู่ระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ปี แล้วแต่จะกำหนด ผู้ถือจะได้รับเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งหมดก็ต่อเมื่อถือจนครบกำหนด ดังนั้นผลตอบแทนจึงมักมากกว่าการฝากประจำ
10. ตั๋วสัญญาใช้เงิน ( PROMISSORY NOTE / P/N ) เป็นหนังสือซึ่งผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง ให้แก่บุคคลหนึ่ง คล้ายๆการเขียนเช็คล่วงหน้าเพียงแต่ผู้ออกตั๋วต้องอยู่ในรูปของบริษัท และตั๋วเงินนี้ต้องติดอากรแสตมป์ให้เรียบร้อย
แต่ความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงินในท้องตลาดหมายถึง ตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะออกให้กับผู้ฝากเงิน ซึ่งมักให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากธนาคาร การฝากเงินสามารถฝากได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ
11. ตั๋วแลกเงิน ( BILL OF EXCHANGE / B/E ) เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งที่ออกโดยบริษัทจำกัด ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนระยะสั้น 3 - 12 เดือนมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและตั๋วสัญญาใช้เงิน ( P/ N ) ของบริษัทเงินทุน
บริษัทเอกชนนิยมออกตั๋วแลกเงินแทนหุ้นกู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณชน และไม่ต้องการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทจัดอันดับเครดิตมาจัดทำอันดับความน่าเชื่อถือให้เหมือนการจำหน่ายหุ้นกู้
ตามปกติ บริษัทจะออกตั๋วแลกเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจการค้า มากกว่าใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนระยะยาว แต่ระยะหลังเริ่มมีบริษัทบางแห่งใช้ตั๋วแลกเงินในการระดมทุนระยะยาว โดยขยายเวลาเป็น 3 ปี เพื่อทดแทนการออกหุ้นกู้
ตั๋วแลกเงิน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ มีระยะเวลาไถ่ถอนสั้นกว่าตราสารอื่น ทำให้เกิดความคล่องตัว บริหารได้ง่าย และบริษัทที่ออกตั๋วแลกเงินมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จึงได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตั๋วแลกเงิน จะมีธนาคารพาณิชย์ค้ำประกัน ( อาวัล ) ให้หรือไม่ก็ได้ หากผู้ออกตั๋วต้องการให้ตั๋วแลกเงินของตนดูน่าเชื่อถือและได้รับความนิยม ก็ให้ธนาคารค้ำประกัน โดยในการนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ธนาคาร
12. ตั๋วเงินคลัง ( TREASURY BILL ) คือ ตราสารทางการเงิน ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี จากสถาบันการเงินในประเทศ จำหน่ายโดยวิธีประมูล ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดการประมูลแทน ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลได้แก่ สถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร , บริษัทเงินทุน , บริษัทหลักทรัพย์ , บริษัทประกันภัย , บริษัทประกันชีวิต , กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ที่เสนอผลตอบแทนต่ำสุดก่อน แล้วจึงจัดสรรให้ผู้ประมูลที่เสนอผลตอบแทนสูงขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะครบวงเงิน
13. กองทุนรวมตราสารหนี้ ( FIXED INCOME FUND / BOND FUND ) คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นกู้ , พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินฝากเป็นหลัก เหมาะกับผู้ออมเงินรายย่อยที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ และต้องการสภาพคล่องในการขายหน่วยลงทุน แต่ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนของเราส่วนหนึ่งจะถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร คิดแล้วประมาณ 1 % ของเงินลงทุน
14. กองทุนรวมตราสารทุน ( EQUITY FUND ) คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นเป็นหลัก ( บางกองทุนอาจลงทุนในวอร์แรนท์ด้วย ) เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน แต่ต้องการผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงด้วย
15. กองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ( FOREIGN INVESTMENT FUND /FIF ) เป็นกองทุนที่ได้รับอนุญาตให้ไปลงทุนในต่างประเทศได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า เป็นการกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยทางการได้เปิดให้เริ่มลงทุนได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 นี้ เฉพาะกองทุนรวมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
16. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ( PROPERTY FUND )คือ กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้ออาคารสำนักงาน หรืออาคารที่พักอาศัย ที่อยู่ในทำเลที่ดีใจกลางเมือง และมีผู้เช่าตั้งแต่ 80 % ขึ้นไป มีรายได้จากการเช่าสม่ำเสมอ สามารถสร้างผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 8-10 % ต่อปี ซึ่งกำไรสุทธินี้จะถูกนำไปจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนในรูปของเงินปันผลและยังมีโอกาสทำกำไรเพิ่มได้จากการขายอาคารต่อ หากมีผู้สนใจจะซื้ออาคารนี้ในอนาคต
โดยทั่วไปหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายทำกำไร หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ขณะที่นักลงทุนอื่นที่ยังไม่ได้ซื้อหน่วยลงทุนนี้ตั้งแต่แรก ก็สามารถไปซื้อหน่วยลงทุนนี้ได้ในตลาดหลักทรัพย์
17. กองทุนส่วนบุคคล ( PRIVATE FUND ) คือ กองทุนที่สถาบันการเงินผู้ได้
รับอนุญาต จัดการการลงทุนให้กับบุคคล หรือ คณะบุคคลไม่เกิน 10 ราย โดยมีจำนวนเงินต่อกองทุนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของเงินทุนสามารถมีส่วนในการกำหนดนโยบายการลงทุนของตนเองได้
18. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ( PROVIDENT FUND / PVD ) คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ เงินกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ทุกเดือน เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุหรือ ออกจากงาน ลูกจ้างจะถูกกำหนดให้จ่ายเงินสะสมตั้งแต่ร้อยละ 2-15 ของเงินเดือนและนายจ้างจะต้องสมทบเงินไม่น้อยกว่าเงินสะสมของลูกจ้างแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือนลูกจ้าง เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายสามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 290,000 บาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี
19. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( GOVERNMENT PENSION FUND /GPF / กบข. ) คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินเกษียณอายุให้ข้าราชการแทนระบบบำเหน็จบำนาญเดิม ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของประเทศ ข้าราชการจะถูกกำหนดให้จ่ายเงินสะสมร้อยละ 3 ของเงินเดือน ส่วนรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ร้อยละ 3 เช่นกัน
เมื่อสมาชิกเกษียณอายุ หากอายุราชการไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากทำงาน 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลจากกบข. พร้อมมีเงินบำเหน็จให้อีกก้อนหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการ หากทำงาน 25 ปีขึ้นไป สมาชิกกองทุนจะได้รับเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลจากกบข. พร้อมบำเหน็จหรือบำนาญ หากเป็นบำเหน็จจะเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ ถ้าเป็นบำนาญจะเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณอายุราชการหารด้วยห้าสิบ รับป็นรายได้ต่อเดือน ไปตลอดชีวิต
20. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( RETIREMENT MUTUAL FUND / RMF )เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินเกษียณอายุให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่ทำงานอิสระ ไม่ได้ทำงานบริษัทหรือรับราชการ เพื่อให้สามารถเตรียมเงินเกษียณอายุได้อย่างเป็นระบบเหมือนสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามบริษัทต่างๆ
กองทุนนี้ ผู้ลงทุนต้องออกเงินออมแต่เพียงฝ่ายเดียวและมีข้อกำหนดให้ ต้องลงทุนสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ในปีภาษีนั้นหรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ ต้องไม่ขาดการลงทุนในแต่ละกองทุนรวมเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน โดยกองทุนรวมนี้จะไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือ เงินตอบแทนใดๆให้แก่ผู้ลงทุนจะจ่ายเงินทั้งหมดก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนแจ้งไถ่ถอน
ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ผลตอบแทนการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี และ เงินลงทุนที่เติมเข้าไปในแต่ละปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ ตามที่จ่ายจริง โดยเมื่อรวมเงินลงทุนนี้เข้ากับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข.แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี
เงินที่ลงทุนไปทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนจะไถ่ถอนได้ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ ไถ่ถอนได้ในกรณีผู้ลงทุนทุพลภาพหรือตาย โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเริ่มในปีเงินได้ 2544 เป็นต้นไป
กรณีผู้ลงทุนทำผิดเงื่อนไข ไถ่ถอนก่อนข้อกำหนด สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากการลงทุน ในส่วนของ 5 ปีสุดท้ายจะต้องถูกเรียกคืนและผลตอบแทนการลงทุนของ 5 ปีท้ายสุดจะต้องถือเป็นรายได้นำมารวมคำนวณภาษีด้วย
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนี้ สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท เช่น หุ้นสามัญ , หุ้นกู้ , พันธบัตร , เงินฝาก หรือ วอร์แรนท์ แต่ผู้ลงทุนสามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทใด และผู้ลงทุนสามารถโอนย้ายกองทุนจาก RMF หนึ่งไปยังอีก RMF หนึ่งได้ เพื่อเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับอายุและภาวะตลาดในตอนนั้น
21. กรมธรรม์ประกันชีวิต ( LIFE INSURANCE POLICY ) เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเรื่องการออมทรัพย์และการคุ้มครองในเวลาเดียวกัน ผลตอบแทนของกรมธรรม์ประกันชีวิต มักกำหนดไว้คงที่ที่ 5-6 % ต่อปี จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยง หรือผู้ที่เก็บเงินไม่ค่อยได้ เนื่องจากการเก็บออมโดยการทำประกันชีวิตเป็นวิธีเก็บเงินที่เป็นระบบระเบียบมากที่สุดวิธีหนึ่ง ผู้ลงทุนต้องเจียดเงินมาเก็บทุกปีเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี หรือจนครบอายุสัญญา
สำหรับผู้ลงทุน ที่ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียณอายุ มีรูปแบบที่น่าสนใจ 2 แบบคือ แบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นการเก็บออมเงินแล้วไปรับเงินก้อน ไว้ใช้เป็นเงินบำเหน็จเมื่อตอนครบสัญญา หรือแบบมีเงินได้ประจำ เป็นแบบเก็บเงินระยะเวลาหนึ่ง ( ประมาณ 20 ปี ) หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกแล้ว แต่จะได้รับเงินบำนาญไว้ใช้ทุกปี ไปตลอดชีวิต ซึ่งแบบหลังนี้ยังสามารถป้องกันญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก มาหยิบยืมเงินก้อนสุดท้ายที่จะเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตได้
เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักเก็บออมเงิน เพื่อจะได้ดูแลรับผิดชอบตนเองเมื่อตอนแก่ จึงสนับสนุนให้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปีละ 100,000 บาท ดอกผลที่เกิดจากการทำประกันชีวิตทุกบาททุกสตางค์ไม่ต้องเสียภาษี และยังมีกฎหมายคุ้มครองพิเศษ ให้เงินสินไหมประกันชีวิตเป็นเงินปลอดหนี้สิน เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้เกินกว่าเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไปซึ่งจะแตกต่างจากสินทรัพย์อื่นๆที่จะถูกยึดจากเจ้าหนี้ได้ เมื่อผู้ลงทุนเสียชีวิตไป
22. อินเวสต์เมนต์ลิงค์ / ยูนิตลิงค์ ( INVESTMENT LINKED / UNIT LINK )คือ แบบประกันชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมของประกันแบบชั่วระยะเวลา และ กองทุนรวมอยู่ในฉบับเดียวกัน เบี้ยประกันที่จ่ายทุกปี ได้รวมเบี้ยประกันปกติและเงินลงทุนเข้าไว้ด้วยกันแล้ว แต่ผู้เอาประกันสามารถเพิ่มเงินลงทุนได้ตลอดเวลา และในเวลาเดียวกันก็สามารถขายหน่วยลงทุนที่ซื้อเพิ่มนี้ได้ทุกเวลาเช่นกัน
บริษัทประกันจะนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์เหมือนกองทุนรวมทั่วไป และให้สิทธิลูกค้าเลือกได้ว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทใด ในสัดส่วนเท่าไร หรือ จะโอนย้ายประเภทของกองทุนก็ได้เช่นกัน
เนื่องจาก อินเวสต์เมนต์ ลิงค์ นับเป็นประกันชีวิตชนิดหนึ่ง จึงต้องมีขั้นตอนพิจารณา อายุ , สุขภาพ ,ฐานะทางการเงิน เหมือนประกันชีวิตทั่วไป แต่ก็ได้สิทธิรับความคุ้มครองเงินลงทุนจากเจ้าหนี้ และได้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษีเหมือนประกันชีวิตทุกประการ
เราได้รู้จักหลักทรัพย์ หรือช่องทางการลงทุนข้างต้นแบบคร่าวๆแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ว่าเราสนใจแนวทางการลงทุนแบบไหน เรามีความชำนาญมากน้อยเพียงใด หรือ จะมอบหมายให้นักลงทุนมืออาชีพจากสถาบันการเงินช่วยลงทุนให้เรา
แต่ที่แน่ๆ เราต้องจัดพอร์ตการลงทุนให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะการลงทุนใดๆล้วนมีความเสี่ยง ขนาดเงินคงคลังของประเทศที่มีอยู่เป็นแสนล้านยังหายวับไปในชั่วพริบตา บริษัทเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศยังล้มละลายในชั่วข้ามคืน แล้วเราคิดว่า ในโลกนี้ ยังมีอะไรที่แน่นอนอีกล่ะ
INSURANCETHAI.NET