สำหรับผู้ถือกรมธรรม์ ประมวลรัษฎากร หักค่าลดหย่อนภาษี
1034
สำหรับผู้ถือกรมธรรม์ ประมวลรัษฎากร หักค่าลดหย่อนภาษี
เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องแสลงสำหรับเราๆท่านๆที่เป็นราษฎรธรรมดา แค่อ่านให้เข้าใจก็ยากลำบากแล้ว ดังนั้น จึงปรากฏว่า หากมีเรื่องอันเกี่ยวข้องกับกฎหมาย จึงต้องพึ่งพาพวกผู้เชี่ยวชาญ ดังเช่นทนายความเป็นต้น
ในเรื่องการประกันชีวิตก็เช่นกัน ปรากฏบ่อยๆว่า ผู้ถือกรมธรรม์หรือผู้รับผลประโยชน์มักมีเรื่องขัดแย้งทางกฎหมายกับบริษัทประกันชีวิตอยู่บ่อยๆ ในเรื่องการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ จนต้องฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาล
กรมธรรม์ประกันชีวิต เกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ นั่นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติประกันชีวิต และประมวลรัษฎากร สาระสำคัญในกรมธรรม์ประกันชีวิต กำหนดขึ้นภายใต้เงื่อนไขข้อบังคับของกฎหมายทั้งสามฉบับนี้
ในเมื่อเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ก็ย่อมมีหลายประเด็น จึงอยากจะยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สู่กัน ดังต่อไปนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อบังคับของการประกันชีวิตกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ถึงมาตรา 897 กำหนดรายละเอียด ต่างๆในการทำสัญญาผูกพันระหว่างผู้รับประกันภัยคือบริษัทประกันชีวิตกับผู้เอาประกัน ซึ่งเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตพิมพ์ไว้นั้น ก็เกิดขึ้นภายใต้บทบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 ถึงมาตรา 897 นี้ด้วย
มีอะไรที่เราน่าจะรู้บ้าง ผมขอไล่เรียงไปตามลำดับมาตราเลยนะครับ เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเราผู้เอาประกันก็แล้วกัน
1. ผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ กำหนดไว้ใน มาตรา 891 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับผลประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิ์ที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้ว ว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”
หมายความว่า เราผู้ถือกรมธรรม์ จะให้ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ก็ได้ เอาชื่อใส่แล้วจะถอดออกแล้วให้คนอื่นอีกก็ได้ ไม่ผิดแต่ประการใด ตราบใดที่เราไม่ได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับผลประโยชน์ และผู้รับผลประโยชน์ยังไม่แจ้งแก่บริษัทประกันชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะรับประโยชน์ในกรมธรรม์นั้น
ผู้ถือกรมธรรม์อาจจะยังไม่รู้ว่า การกำหนดผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์นั้น เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพียงแค่มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ผู้รับประโยชน์ บริษัทฯก็จะดำเนินการให้ตามประสงค์
แต่ถ้ากรมธรรม์นั้นได้มอบให้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว เช่น ให้ภรรยาเป็นผู้รับผลประโยชน์ ทำเสร็จก็เอากรมธรรม์มอบให้ภรรยา หลังจากเธอรับไปแล้วจัดแจงส่งจดหมายแจ้งแก่บริษัทฯว่า เป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์นี้ บริษัทรับทราบ บันทึกไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาทะเลาะกับภรรยา จะเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นน้องหนู แต่ ไม่ได้แล้วจ้ะ
2. เหตุไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต แต่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเงื่อนไขที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยไว้ 2 ประการคือ ผู้เอาประกันภัยกระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในหนึ่งปี หรือ ถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 895 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ตามลำดับ สำหรับค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ในกรณีผู้เอาประกันถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา บริษัทจะต้องคืนให้ผู้เอาประกันภัยหรือทายาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 895 วรรคสอง
สรุปว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยฆ่าตัวตายโดยสมัครใจภายในหนึ่งปี บริษัทฯไม่จ่ายเงินชดเชย หรือถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา ก็จะไม่จ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับประโยชน์คนนั้น สำหรับเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ คือมูลค่าของเงินในกรมธรรม์ ถ้าหากมีก็จะจ่ายให้ทายาทของผู้เอาประกันภัย
ถ้าจะทำประกันแบบหวังรวยด้วยการฆ่าตัวตาย ก็ต้องรอให้พ้นหนึ่งปีก่อน โดยนับจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ นับไป 365 วัน หรือถ้าจะให้แน่ก็ซัก 370 วันขึ้นไป
สำหรับผู้รับผลประโยชน์ ก็อย่าริรวยทางลัดด้วยการฆ่าผู้เอาประกัน แบบนี้ บาป ติดคุก และอดใช้เงินเงิน มีตัวอย่างให้เห็นหลายรายแล้ว
3. เงินจากกรมธรรม์กับเจ้าหนี้ เงินที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเอาไปชำระหนี้ได้ เว้นแต่เบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันจ่ายไปเท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 897 วรรคสองว่า “ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”
สมมติว่า ทำประกันชีวิตไว้ 1 ล้านบาท กำหนดให้ภรรยารับประโยชน์ เมื่อทำไปได้สามปี ชำระเบี้ยสามครั้ง รวมเป็นเงิน 50,000 บาท เมื่อเห็นว่าต้องรออีก 6 ปีจึงจะรวยตามนโยบาลรัฐบาล นายธนกฤตทนความจนไม่ไหวตายไป บริษัทประกันจ่ายเงินให้ภรรยาตามจำนวน พอเจ้าหนี้รู้ก็หลั่งไหลหวังจะมาเอาเงินจำนวนนี้ใช้หนี้ กฎหมายกระโดดออกมาขวาง บอกว่า เอาไปแค่เบี้ยที่ชำระแล้วคือ 50,000 บาท มีกี่คนก็แบ่งกันไป นอกเหนือจากนี้อย่าแหยม!
การได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 897 วรรคสอง จะต้องระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้เรียบร้อย ถ้าไม่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ เงินก็ตกเป็นของกองมรดก เจ้าหนี้สามารถเรียกชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 897 วรรคหนึ่ง
http://www.tlaa.org/2012/enews_publ_de.php?publish_id=6&publish_detail_id=15&Page=2#.V1Ta75F97IU
Re: สำหรับผู้ถือกรมธรรม์ ประมวลรัษฎากร หักค่าลดหย่อนภาษี
1034
Re: สำหรับผู้ถือกรมธรรม์ ประมวลรัษฎากร หักค่าลดหย่อนภาษี
ฉบับที่แล้วเขียนถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่เกี่ยวกับการประกันชีวิต คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่น้อยนะครับ
ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิตอีก 2 ฉบับ คือ ประมวลรัษฎากร กับ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 ฉบับแรกคือประมวลรัษฎากรนั้น เกี่ยวข้องกับสิทธิทางภาษีของผู้ถือกรมธรรม์ ส่วนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 นั้น เกี่ยวข้องทางด้านการควบคุมบริษัทฯและตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือกรมธรรม์โดยตรง
ฉบับนี้อยากพูดถึง ประมวลรัษฎากร ก่อน เพราะมีประเด็นสิทธิทางภาษีเพียงอย่างเดียว ส่วนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มีเรื่องสนใจหลายเรื่อง จึงของยกไปฉบับต่อๆไปจะได้ว่ากันอย่างสะดวก
ประมวลรัษฎากร กำหนดสิทธิด้านภาษีของผู้ถือกรมธรรม์ ไว้ 2 ประเภทคือ ค่าลดหย่อนและ ยกเว้นภาษี
1. สิทธิหักค่าลดหย่อน โดยให้นำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปในแต่ละปีมาหักค่าลดหย่อนได้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 47(ง) โดยให้นำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนได้ตามจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ต่อมาได้กำหนดเพิ่มเติมไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 240 (พ.ศ.2545) ให้นำเบี้ยประกันชีวิตส่วนที่เกิน 10,000 บาท ในมาตรา 47(ง) ไปหักค่าลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท เป็นอันว่า รวมแล้วหักค่าลดหย่อนได้เบ็ดเสร็จ ตามจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนมากโขอยู่ (ปัจจุบัน 2551 เพิ่มเป็นไม่เกิน 100,000 บาท ตามมติ ครม.)
การนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักค่าลดหย่อนตามที่กล่าวมานี้ รวมมาจากหลายๆกรมธรรม์ก็ได้นะครับ จะต่างบริษัทก็ได้ อย่างเช่น เรามีกรมธรรม์อยู่ 6 ฉบับ แต่ละฉบับก็ต่างบริษัท เพราะรู้จักตัวแทนมากเหลือเกิน จ่ายเบี้ยฉบับละ หมื่นบ้าง หมื่นกว่าๆบ้าง ไม่ถึงหมื่นก็มี พอถึงตอนยื่นชำระภาษี ก็เอาใบเสร็จมารวมกันแล้วหักค่าลดหย่อนออกตามที่กฎหมายให้สิทธิ์ไว้ แบบนี้ดีใช่ไหมครับ
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ด้วย อย่างเช่น นายธนกฤต คนเดิมกับที่ยกตัวอย่างในฉบับที่แล้ว เป็นนักเขียนไส้เปียกเพราะดื่มแต่น้ำเนื่องจากเขียนคอลัมน์ที่ไหนก็ไม่ค่อยได้สตางค์พอซื้อข้าว ฮิฮิ ภรรยาต้องเลี้ยงดูและชำระเบี้ยประกันชีวิตให้ ภรรยาก็นำเบี้ยประกันชีวิตของนายธนกฤตมาหักลดหย่อนได้ด้วย หักได้ทั้งของตัวเองและของสามี แต่มีข้อแม้ว่า ความเป็นสามีภรรยากันต้องอยู่ครบปีภาษี คือ เมื่อยื่นชำระภาษีปี 2546 ซึ่งต้องยื่นภายใน 31 มีนาคม 2547 จะต้องเป็นสามีภรรยากันตลอดปี 2546 นะเจ๊ ไม่อย่างนั้นก็อด
เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งก็คือ การนำเบี้ยประกันไปหักค่าลดหย่อนได้ ต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องเป็นกรมธรรม์ที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
2. สิทธิรับยกเว้นภาษี เงินได้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกประเภท ได้รับการยกเว้นภาษี โดยกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับเงินได้ที่ไม่ต้องนำมาคิดคำนวณเพื่อเสียภาษี มาตรา 42(13) ประกอบไปด้วย ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัย หรือฌาปกิจสงเคราะห์
เงินที่ได้จากกรมธรรม์ชีวิตซึ่งเป็นเงินได้จากการประกันภัยตามนัยแห่งมาตรานี้ ประกอบไปด้วย เงินปันผล เงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนเมื่อครบสัญญา ค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาสุขภาพ เงินชดเชยจากสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ เงินชดเชยกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต เงินทั้งหลายเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีตามที่ได้รับยกเว้นในมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว
รวมเบ็ดเสร็จเรื่องสิทธิที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆนั้น นับรวมแล้วอย่างน้อยก็สามเด้ง คือ เด้งแรก ได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัยจากเจ้าหนี้ ตามมาตรา 897 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เด้งที่สอง ได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท ตามมาตรา 47(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 240 (พ.ศ.2545) เด้งที่สาม ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42(13)แห่งประมวลรัษฎากร
นี่ยังไม่นับผลประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ เช่น ไปเจ็บป่วยที่ไหน โรงพยาบาลทุกแห่งก็ยินดีต้อนรับ เพราะมั่นใจว่าได้เงินแน่ๆ คนที่เป็นสามีก็ไม่กังวลว่าตายไปแล้วภรรยาจะมีสามีใหม่มาช่วยเลี้ยงลูก เพราะมีเงินประกันชีวิตให้ใช้จ่ายเลี้ยงดูกันไปได้อยู่แล้ว แต่คนที่เป็นภรรยาอาจจะกังวลอยู่บ้างว่าพอข้าตายไปไอ้…เอ๊ย คุณแก่ที่บ้านจะเอาเงินไปเลี้ยงอีหนูไหมนี่ ถ้าเขาทำอย่างนั้นก็ช่างเขาเถอะคุณนาย เราสบายอยู่บนสวรรค์แล้ว หรือคนโสดที่ดูแลพ่อแม่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเผื่อท่านยมบาลเรียกตัวไปกะทันหัน บริษัทประกันชีวิตก็ดูแลพ่อแม่แทนเราเท่าที่เราสั่งไว้ในกรมธรรม์
สิทธิทุกอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือกรมธรรม์ทั้งสิ้น ฉะนั้น หากมีกรมธรรม์อยู่ก็เอามาพลิกๆอ่านดูบ้างนะครับ ไม่เข้าใจสงสัยอะไรก็ถามตัวแทนได้ หรือหาตัวแทนไม่เจอก็โทรไปถามฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัทที่เราถือกรมธรรม์เขาอยู่ ทุกบริษัทเขามีแผนกบริการนี้อยู่ และยินดีที่จะไขข้อข้องใจแก่ลูกค้าของเขา
http://www.tlaa.org/2012/enews_publ_de.php?publish_id=6&publish_detail_id=16&Page=2#.V1TekZF97IV
INSURANCETHAI.NET