อายุความ
1063

อายุความ

มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

(๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

(๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

(๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา ๙๗ ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุ
ความ

มาตรา ๙๘ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษจะลงโทษผู้นั้นมิได้

(๑) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี

(๒) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(๓) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(๔) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น

มาตรา ๙๙ การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือการกักขังแทนค่าปรับ ถ้ามิได้ทำภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะยึดทรัพย์สินหรือกักขังไม่ได้
ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับในกรณีการกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งทำต่อเนื่องกับการลงโทษจำคุก

มาตรา ๑๐๐ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กักกันผู้ใด ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับการกักกันก็ดี ได้รับการกักกันแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้าพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่พ้นโทษ โดยได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้วหรือโดยล่วงเลยการลงโทษ หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนีระหว่างเวลาที่ต้องกักกัน เป็นอันล่วงเลยการกักกัน จะกักกันผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๑๐๑ การบังคับตามคำสั่งของศาลตามความในมาตรา ๔๖ หรือการร้องขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินเมื่อผู้ทำทัณฑ์บนประพฤติผิดทัณฑ์บนตามความในมาตรา ๔๗ นั้น ถ้ามิได้บังคับหรือร้องขอภายในกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หรือนับแต่วันที่ผู้ทำทัณฑ์บนประพฤติผิดทัณฑ์บน จะบังคับหรือร้องขอมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552
โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 46 ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับ แนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวัน ที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2552
ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 เพื่อให้ได้ค่าปรับและค่าภาษีอากรที่ขาดอันเนื่องมาจากการสำแดงราคาเท็จ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 10 วรรคสาม ให้มีอายุความ 10 ปี จึงต้องถือเอาอายุความตามนั้น จะเทียบเคียงใช้อายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) มิได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายดัง กล่าวมาแล้ว และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยเดิม ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551
แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้ เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550
คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550
อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางอาญา ต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตาม มาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่อายุความฟ้องร้องคดีอาญาไม่ เมื่อความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 147 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ จำคุกตลอดชีวิต และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ 10 ปี อายุความการฟ้องคดีอาญาในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) และ (2) คือ 20 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2549 ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 นั้นต้องถือเอาตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียว กันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลย เองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากัน อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2548
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยก ขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2548
ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่ได้รับ อนุญาต ย่อมมีขึ้น ตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง ที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2545 แจ้งแก้ไขข้อมูล พระ ราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 มุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดสำเร็จตามบทมาตราที่ระบุไว้ทั้งสองวรรคไป ในคราวเดียวกันกล่าวคือนอกจากผู้กระทำความผิดสำเร็จจะต้องรับโทษทั้งจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งแล้ว ยังจะต้องรับโทษปรับเป็นรายวันตามมาตรา 65 วรรคสองพร้อมกันไปในคราวเดียวกันด้วย การนับอายุความสำหรับความผิดตามมาตรา 65 จึงต้องใช้ระวางโทษในวรรคหนึ่งซึ่งมีโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์ หาใช่นับอายุความในแต่ละวรรคแยกต่างหากจากกันไม่ ส่วนโทษปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีจะมีอำนาจเปรียบเทียบตามมาตรา 74 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการนับอายุความ เมื่อมาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษขั้นสูงให้จำคุกไม่เกิน3 เดือน จึงมีอายุความฟ้องร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามเริ่มกระทำความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2521 โทษปรับนิติบุคคลถูกกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การขอผ่อนชำระค่าปรับถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับไม่ได้ ศาลผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด แล้วแต่ดุลพินิจตามความยุติธรรมและเหมาะสมการยึดทรัพย์อาจทำได้ภายใน 5 ปีตาม มาตรา 99 ไม่เป็นการขยายเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งใช้สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณา นำมาใช้กับกฎหมายสารบัญญัติไม่ได้ ศาลกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับเป็นงวดๆ แต่เมื่อครบงวดปีที่ 4 ให้จำเลยหาธนาคารมาค้ำประกันโดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2510 แจ้งแก้ไขข้อมูล ฟ้อง ขอให้กักกันหาใช่ฟ้องเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเพื่อให้ศาลลงโทษตามความ ผิดไม่ จึงไม่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ และแม้จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน วันเดือนปีใด ไม่อาจทราบว่าภายในอายุความหรือไม่ก็ตาม เมื่อคดีนั้นเป็นคดีของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะเอาสำนวนคดีนั้นมา ตรวจดูได้

เขียนโดย VAKIN YOUNGCHOAY
http://thai-crime-code.blogspot.com/2010/03/blog-post_1984.html



INSURANCETHAI.NET
Line+