เรือ Hanjin ล้มละลาย
1084

เรือ Hanjin ล้มละลาย

สินค้ามากับเรือ Hanjin ในช่วงนี้ต้องทำอย่างไร?

สายเรือใหญ่ Hanjin ประกาศล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ทำให้ตู้สินค้าที่อยู่บนเรือทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ สถานการณ์เบื้องต้นในขณะนี้คือ เรือของ Hanjin ถูกปฏิเสธให้เทียบท่าในหลายท่าทั่วโลก และไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าได้ เพราะทางท่าเรือและเจ้าหนี้ทั้งหมดเกรงว่าจะไม่ได้รับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ

เรือยังไม่ออก
สินค้าที่ยังไม่ได้ส่งออกไปจะไม่มีการดำเนินการอะไรต่อทั้งสิ้น ผู้ส่งออกต้องไปทำการเคลียสินค้าออกมาจากท่าเรือเพื่อทำการบุ๊กกิ้งสายเรืออื่นต่อไป

เรือออกไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงท่า
ต้องติดตามสถานการณ์กับสายเรือต่อไป เมื่อตู้สินค้าถึงท่าที่จะทำการถ่ายลำหรือถึงท่าปลายทางแล้วถึงจะสามารถบอกได้ว่าต้องทำอย่างไร ให้ติดต่อและเช็คสถานะสินค้ากับทางสายเรืออยู่เรื่อยๆ

Tran-ship ต้องทำการเปลี่ยนสายเรือ
เมื่อสินค้าเต็มตู้ที่มากับเรือ Hanjin ได้ทำการถ่ายลำก็จะติดอยู่ที่ Port ที่จะทำการถ่ายลำเพราะเรือของฮันจินไม่สามารถเดินเรือได้อีกแล้ว และคงไม่มีเรือ Feeder ลำไหนจะรับตู้สินค้าของเราไปต่อได้ เราสามารถขอให้ถ่ายสินค้าไปยังสายเรืออื่นได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการถ่ายตู้สินค้าและต้องดำเนินการเปลี่ยน Port of Discharge เป็นท่าที่การถ่ายลำ และทำการส่งออกจากท่านั้นอีกครั้ง โดยทั้งหมดสามารถขอให้ Freight Forwarder ที่ใช้บริการช่วยเหลือได้

เรือถึงท่าเรือปลายทางแล้ว
เมื่อเรือถึงท่าปลายทางแล้วและทางท่ายอมยกตู้สินค้าลง ผู้นำเข้าสามารถติดต่อเข้าไปขอชำระค่าภาระแทน Hanjin ที่ท่าปลายทางเพื่อนำตู้สินค้าออกได้

LCL ต้องทำอย่างไร
ใน 4 กรณีข้างต้น ตู้สินค้านั้นเป็นของเราคนเดียว หากมาในกรณีมาแบบ LCL จะมีตัวแทนที่เป็นเจ้าของตู้สินค้าคอยจัดการให้แต่เราก็ต้องคอยสอบถามและประสานงาน รวมทั้งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน

ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องทำอย่างไร
Hanjin นั้นอยู่ในกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว ดังนั้นค่าใช้จ่ายอะไรก็ไม่สามารถจ่ายได้ ทางผู้นำเข้าส่งออกต้องรับผิดชอบเองไปก่อน และคอยติดตามกับทาง Hanjin หลังจากประกาศแผยฟื้นฟูกิจการต่อไป


Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย
1084

Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย

HANJIN SHIPPING บริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้และบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่อันดับ 7 ของโลก ยื่นขอความคุ้มครองล้มละลายต่อศาลหลังจากธนาคารต่างๆ นำโดยโคเรียดีเวลอปเมนต์แบงก์ ยุติการสนับสนุนบริษัทด้วยเหตุผลว่าแผนการด้านเงินทุนไม่ครอบคลุมพอแก้ปัญหาหนี้ซึ่งมีมูลค่า 5.6 ล้านล้านวอนเมื่อปลายปี 2558

HANJIN SHIPPING  จึงขอความคุ้มครองการล้มละลายจากศาลและขอให้ศาลอายัดทรัพย์ จากนั้นศาลสั่งให้เริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูกิจการฮานจิน และกำหนดให้ส่งแผนฟื้นฟูภายในวันที่ 25 พ.ย. พร้อมกับแต่งตั้งให้นายซุก ไต-ซู หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารฮานจินชิปปิ้ง เป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สิน

บริษัทที่ปรึกษาอัลฟาไลเนอร์กล่าวว่าการล้มละลายของฮานจินชิปปิ้งนับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในแง่ศักยภาพสำหรับบริษัทชิปปิ้งที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ แซงหน้าการล้มละลายของบริษัทยูไนเตดสเตทไลนส์เมื่อปี 2529

บริษัทชิปปิ้งทั่วโลกกำลังเผชิญศักยภาพการผลิตที่ล้นเกินและความต้องการที่ซบเซา โดยฮานจินขาดทุนสุทธิ 473,000 ล้านวอนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทต่อเรือและชิปปิ้งของเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้าง การที่ธนาคารโคเรียดีเวลอปเมนต์แบงก์ตัดสินใจเลิกสนับสนุนฮานจินชิปปิ้งสะท้อนว่ารัฐบาลเอาจริงมากขึ้นกับกลุ่มธุรกิจที่มีปัญหา

ลูกค้าเร่งระงับตู้ขนส่ง-หันใช้บริการค่ายอื่น

นายพิเชษฐ์ ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมเด็จ โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่าลูกค้าหลายรายที่ใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านสายส่ง“HANJIN SHIPPING”ต้องรีบระงับการขนส่งตู้สินค้า หรือเปลี่ยนไปใช้บริการผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ทางเรือรายอื่นแทน โดยให้ทางบริษัทฯเจรจาหาสายส่งรายใหม่ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าตู้สินค้าจะส่งถึงปลายทางหรือไม่

ทั้งยังมีลูกค้าบางรายสั่งระงับเรียกตู้สินค้ากลับระหว่างทางที่กำลังขนส่ง ส่วนตู้สินค้าของลูกค้าบางรายที่อยู่ระหว่างการขนส่ง (Ongoing) ที่ไม่สามารถสั่งระงับได้ทันก็ถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก

ชี้ผลจากธุรกิจเดินเรือแข่งเดือด

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่ากรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างสถานการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางธุรกิจของโลจิสติกส์ทางเรือ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของผู้ให้บริการในตลาดที่รุนแรง การตัดราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้า โดยผู้ให้บริการรายใหญ่บางรายก็เสนออัตราค่าบริการที่ต่ำมาก ทำให้มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจน้อย จนบางรายก็เกิดการขาดทุนสะสม

“ผู้ประกอบการรวมถึงลูกค้าหลายรายก็แทบจะไม่เชื่อว่าฮานจินจะล้มลาย เพราะเป็นบริษัทขนส่งทางเรือรายใหญ่ และมีประวัติการเดินเรือขนส่งมายาวนาน โดยลูกค้าของไทยสมเด็จฯที่ใช้บริการกับค่ายนี้ เดิมมีจำนวนกว่า 20 ราย ได้สั่งระงับตู้ขนส่งกับการบริการของฮานจินแล้ว”

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่าไทยสมเด็จฯมีพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางเรือกว่า 10 ราย ที่รองรับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในกรณีที่ลูกค้าต้องการเปลี่ยนสายส่งรายอื่น จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ท่าเรือหลายแห่งห้ามเทียบท่า

นายยู อิลโฮ รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ กล่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจมากขึ้น ตามกฎที่ว่าภาคธุรกิจต้องหาทางอยู่รอดและเพิ่มขีดแข่งขัน ด้านคณะกรรมการบริการเงินกล่าวว่าบริษัทฮุนไดเมอร์แชนต์มารีน ซึ่งเป็นชิปปิ้งรายใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ จะหาลู่ทางเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ดีของฮานจิน รวมถึงเรือที่ทำกำไรได้ เครือข่ายธุรกิจในต่างแดน และบุคลากรสำคัญๆ

การเคลื่อนไหวเพื่อยุติการสนับสนุนทางการเงินของธนาคารต่างๆ ทำให้ท่าเรือต่างๆ ไม่ให้เรือของฮานจินเข้าเทียบท่าเพราะวิตกว่าจะไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้

โฆษกบริษัทฮานจินชิปปิ้งเปิดเผยเมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) ว่า เรือขนส่งสินค้าจำนวน 44 ลำจากทั้งหมด 98 ลำ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเทียบท่าในนครเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน นครซิดนีย์ในออสเตรเลีย เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนี และเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ และมีเรือหนึ่งลำถูกยึดในสิงคโปร์

ธุรกิจงดให้บริการ“ฮานจิน”

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำนวนมากปฏิเสธไม่ให้บริการแก่ฮานจิน รวมทั้งการท่าเรือของหลายประเทศที่ห้ามเรือของฮานจินเทียบท่า แต่ที่ท่าเรือปูซานและอินชอนของเกาหลีใต้ เรือของฮานจินได้กลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อวานนี้ หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าการท่าเรือจะรับประกันการจ่ายเงินให้กับท่าเรือปูซานและอินชอนเอง

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 03 ก.ย.59

Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย
1084

Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย

ข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของสายเรือ HANJIN SHIPPING

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่าจากสถานการณ์ของสายเรือ Hanjin Shipping ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของการขนส่งตู้สินค้าเป็นจำนวนมาก

ทั้งในเส้นทาง Intra-Asia, เส้นทางยุโรป และเส้นทางอเมริกาเหนือ โดยมีเรือขนส่งสินค้าจอดทิ้งสมอรอนอกท่าเรือ รวมถึงมีตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือปลายทางและท่าเรือถ่ายลำเป็นจำนวนมาก ทาให้ผู้ส่งสินค้าประสบปัญหาในการส่งมอบและการนาสินค้าไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ และมีต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ส่งสินค้าบางรายต้องมีการขนส่งทางอากาศเพื่อส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนดเวลา หรือต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือค่าวางประกันการนำตู้สินค้าออกจากท่าเรือ ให้กับทางท่าเรือตามอัตราที่แต่ละท่าเรือประกาศ

อย่างไรก็ตาม สานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะช่วยเหลือผู้ส่งสินค้า โดยการประสานงานกับท่าเรือและสำนักงานสาขาของ Hanjin Shipping ในต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเจ้าของสินค้าในการนำตู้สินค้าออกจากท่าเรือ และตรวจสอบความถูกต้องของค่าใช้จ่ายที่แต่ละท่าเรือเรียกเก็บ เพราะท่าเรือแต่ละแห่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกัน ตลอดจนมีการปรับปรุงอัตราค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เกี่ยวกับเรือและตู้สินค้าในแต่ละท่าเรือมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน โดยผู้ส่งสินค้าที่ต้องการติดต่อกับสานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สามารถตรวจสอบข้อมูลการติดต่อของสานักงานแต่ละแห่งได้ที่ www.ditp.go.th หรือ Call Center 1169 หรือสอบถามเข้ามายังสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อประสานงานกับพันธมิตรในกลุ่มโกลบอลชิปเปอร์อัลลายแอนซ์ ทั้งในเอเชีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สาหรับการแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับในประเทศไทย ท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าในระบบคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกของไทยในการนำตู้สินค้าออกจากเขตท่าเรือเพื่อไปบรรจุสินค้า และขนส่งผ่านสายการเดินเรืออื่น โดยให้ผู้ส่งออกแจ้งตัวแทนของบริษัท Hanjin Shipping ในประเทศไทยทราบ และติดต่อมายังท่าเรือเพื่อนาตู้สินค้าออก พร้อมชำระค่าบริการยกขนตู้สินค้าจากลานตู้ไปวางบนรถบรรทุก หรือเรียกว่า Lift-on charge ซึ่งเรียกเก็บในอัตราปกติของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ก็จะสามารถนำหัวลากออกมาเคลื่อนย้ายตู้สินค้าออกไป เพื่อนำสินค้าออก และบรรจุตู้สินค้าของสายเรืออื่น แล้วจึงนำตู้เปล่ากลับไปคืนยังสถานที่ซึ่ง Hanjin Shipping กำหนด ในกรณีของตู้สินค้านำเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ให้ผู้นำเข้าติดต่อกับตัวแทนของสายเรือ Hanjin Shipping ในประเทศไทย เพื่อแลกรับเอกสาร Delivery Order หรือใบ D/O และดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าให้แล้วเสร็จ ก็
สามารถติดต่อไปยังท่าเรือเพื่อนำตู้สินค้าออกไปได้ โดยจ่ายเพียงค่า Lift-on charge ตามอัตราปกติ และเมื่อนำสินค้าออกจากตู้แล้ว ให้นำตู้สินค้าส่งกลับคืนไปยังสถานที่ซึ่ง Hanjin Shipping กำหนด

สำหรับผู้ส่งสินค้าที่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจากผู้ให้บริการขนส่งสินค้า สามารถดำเนินการได้ตาม พระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 โดยผู้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องต้องเป็นคู่สัญญาในเอกสารสัญญาการขนส่ง หรือ Bill of Lading (B/L) ซึ่งหากเป็นการติดต่อใช้บริการโดยตรงกับสายเรือ ให้เรียกร้องไปยังสายเรือ แต่หากเป็นการใช้บริการผ่านผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหรือ Freight Forwarder ให้ท่านผู้ส่งสินค้าติดต่อเรียกร้องความเสียหายจากบริษัทที่ท่านใช้บริการ เนื่องจากเป็นคู่สัญญาที่แท้จริง และเนื้อความในพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534

ระบุไว้ว่า “แม้ว่าผู้ขนส่งจะได้มอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขน ผู้ขนส่งก็ยังคงต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของนั้น และจะต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่นรวมทั้งลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งอื่น ซึ่งได้กระทำไปภายในทางการที่จ้าง หรือภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนนั้นด้วย”

สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ ผู้ส่งของต้องรวบรวมหลักฐานอ้างอิง ใบเสร็จ, Container List, B/L, ใบจองเรือ, ภาพถ่ายจาก Surveyor เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองกับผู้ขนส่ง และหากถ้าเจรจาไม่สาเร็จก็ต้องฟ้องร้องผ่านศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ส่งสินค้าต้องแจ้งแก่ผู้ขนส่งทราบภายในหกสิบวันว่าจะเรียกร้องค่าเสียหาย และต้องฟ้องร้องต่อศาลภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม “ในกรณีที่มีการส่งมอบของชักช้า ให้จากัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล”

แต่การจำกัดความรับผิดไม่คุ้มครองผู้ขนส่งกรณีที่ผู้ขนส่งผิดสัญญารับขน เช่น กรณีไม่ยอมขนส่ง เป็นต้น และการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณี
(1) การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้
(2) ผู้ส่งของและผู้ขนส่งตกลงกัน กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้มากกว่าข้อจำกัดความรับผิด โดยระบุไว้ในใบตราส่ง
(3) ผู้ขนส่งได้จดแจ้งรายการใดๆ ไว้ในใบตราส่งตามที่ผู้ส่งของแจ้ง หรือจัดให้โดยไม่บันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับรายการนั้นไว้ในใบตราส่ง ทั้งนี้ โดยมีเจตนาที่จะฉ้อฉลผู้รับตรา
ส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งกระทำการโดยเชื่อรายการในใบตราส่งนั้น
(4) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับ โดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง

ทั้งนี้ ในกรณีที่สายเรือหรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยสินค้าได้ถูกขนถ่ายลงเรือก่อนที่จะมีประกาศหยุดให้บริการของสายเรือ Hanjin Shipping และผู้ส่งสินค้าได้ทาประกันภัยการขนส่งแบบ Institute Cargo Clause A ไว้ ให้ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันติดต่อกับบริษัทประกันภัยของท่านเพื่อสอบถามรายละเอียด และขั้นตอนในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากความชักช้า และค่าใช้จ่ายสาหรับความพยายามในการนาส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ตามกรมธรรม์

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จะจัดการสัมมนาเพื่อสรุปแนวทางการดาเนินงานโดยละเอียดเพื่อให้ผู้ส่งสินค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงรายละเอียดการแนวทางการดำเนินงานตามข้อกฎหมาย รวมถึงจะหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทาหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก (Focal Point) ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นในอนาคต ตลอดจนวางแนวทางป้องกันปัญหาและความเสี่ยงด้านการเงินของผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกรณีของบริษัท Hanjin Shipping ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนต่อผู้ส่งสินค้า และกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ที่บทบาทสาคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลและบริการที่เกี่ยวเนื่อง

ที่มา : สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย
1084

Re: เรือ Hanjin ล้มละลาย

รายงานความคืบหน้า กรณี "การล้มละลายของบริษัทฮันจินชิปปิ้ง"
    สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สายเดินเรือ Hanjin สายเดินเรือประเทศสัญชาติเกาหลี อันดับ 7 ของโลก ได้ประกาศยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล และมีสถานะล้มละลาย เนื่องมาจากบริษัทฯ มีผลการประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องมากว่าระยะเวลา 4 ปี แต่ธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งจะงดให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงธนาคารพัฒนาเกาหลี (เคดีบี) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ เนื่องจากแผนการรักษากิจการไม่ตรงตามเงื่อนไข โดยสาเหตุหลักของการขาดทุนประกอบการอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เนื่องมาจากเศรษฐกิจและภาคการส่งออกที่ซบเซา ความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือลดลง ทำให้หลายบริษัทแบกรับต้นทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

    จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้กับสินค้าที่ใช้บริการขนส่งของสายเดินเรือ Hanjin Shipping ที่ออกจากประเทศไทยและยังตกค้างไม่ถึงท่าเรือปลายทางกว่า 2,000-3,000 ตู้ อันส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการขนส่งสินค้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้า รวมทั้งเกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการ

    ทางสภาผู้ส่งออกขอชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของสภาผู้ส่งออกและแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับท่านสมาชิก ดังนี้

กรณีสินค้าถึงท่าเรือปลายทางเรียบร้อยแล้ว ณ ตอนนี้ท่านสามารถให้ทาง Consignee ดำเนินการเคลียร์สินค้าออกจากท่าเรือได้ตามปกติ แต่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าภาระในท่า (Tariff) ที่เดิม Hanjin เป็นผู้จ่ายให้กับทางท่าเรือ และค่ามัดจำตู้สินค้า (Deposit) เพื่อเป็นหลักประกันว่าทางท่าเรือจะได้ตู้สินค้าคืน
กรณีสินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือ Transshipment Port ความคืบหน้าล่าสุดแต่ละท่าเรือยังไม่ยอมให้ทำการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า เนื่องจากต้องการหลักประกันหนี้สินและค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระของ Hanjin แต่ก็มีแนวโน้มที่บางท่าเรือจะยอมเริ่มให้ตู้สินค้า Hanjin ยกขึ้นเรือของสายเดินเรืออื่นเพื่อออกจากท่าเรือได้บ้างแล้ว เช่น Port of Singapore เป็นต้น
กรณีเรือสินค้าที่ยังไม่ถึงท่าเรือและกำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางในทะเล ณ ปัจจุบันท่าเรือแต่ละท่าทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่ยอมรับที่จะให้เรือของ Hanjin เข้าเทียบท่า ดังนั้นทางรัฐบาลของเกาหลีใต้ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ให้เรือสินค้าต่างๆ ที่ยังค้างอยู่กลางทะเลกลับไป unload ตู้สินค้าลงที่ท่าเรือ Pusan, South Korea และท่าเรือ Offshore Ports หรือ Base Ports ที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือ Singapore, ท่าเรือ Hamburg, Germany และท่าเรือ Los Angeles, USA
ที่ผ่านมาทางสภาผู้ส่งออกได้ประสานงานไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อทำการช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยในการประสานงานกับท่าเรือ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในท้องถิ่น สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สภาผู้ส่งออกได้ทำหนังสือไปยัง Korean Shippers’ Council (KSC) ที่เป็นหน่วยงานตัวแทนผู้ส่งออกในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อขอแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยังทำหนังสือโดยตรงไปยัง Hanjin Shipping (Head Quarter) ในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อประสานงานขอความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว ทางสภาผู้ส่งออกจะทำการชี้แจงให้กับสมาชิกได้รับทราบต่อไป
ท่านสามารถติดตามสถานะและความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวของสภาผู้ส่งออกได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้

https://drive.google.com/folderview?id=0B_0p5l1D2fRaS0xNYlNFVk5mZTA&usp=sharing



INSURANCETHAI.NET
Line+