กระทรวงพาณิชย์ จัดระเบียบร้านค้าออนไลน์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
1095
กระทรวงพาณิชย์ จัดระเบียบร้านค้าออนไลน์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้มี ประกาศแจ้งให้ผู้ที่ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือค้าขายของออนไลน์ ต้อง "จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์"
เนื่องจาก ทุกวันนี้มี เว็บไซต์ e-Commerce หลายแสนเว็บไซต์ แต่มีผู้มาขึ้นทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพียงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น ประกอบกับการที่มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกเอาเปรียบและฉ้อโกงผ่านการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับร้านค้าจะลดปัญหาเหล่านี้ หรือหากมีปัญหาก็สามารถติดตามสอบถามกับร้านค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากพบว่าเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ใดไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง จะถือว่าเป็นร้านค้าเถื่อน เพราะระบุตัวตนไม่ได้ และถ้าเกิดปัญหาฟ้องร้องกับผู้บริโภคก็จะถูกเสียค่าปรับ และดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไปด้วยค่ะ
(ที่มา : เดลินิวส์)
ร้านค้าของเราเข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่?
สำหรับร้านค้าที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์นั้น ข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ระบุไว้ว่า ธุรกิจของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบ เว็บไซต์, ร้านค้าใน Social Media, ร้านค้าใน e-Marketplace หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ และจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มประกอบพาณิชยกิจค่ะ
ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ เว็บไซต์ที่มีระบบตะกร้าสินค้า ให้ผู้ซื้อคลิกสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ได้เลย และยังครอบคลุมไปถึง เว็บไซต์ที่มีการระบุราคาสินค้า/บริการ แล้วมีการแจ้งชัดเจนเลยว่า ให้สั่งซื้อหรือติดต่อผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือกรอกแบบฟอร์มเพื่อสั่งซื้อ (มีเจตนาในการขายสินค้า/บริการ) เป็นต้นค่ะ
ส่วนของการซื้อขายทางออนไลน์ ที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
- การประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้า แต่ไม่ได้มีการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต (ทำการค้าในช่องทางปกติ) แม้จะมีข้อความแจ้งว่าให้ติดต่อได้ เช่น สนใจโทร.ติดต่อ… หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่…. เป็นต้น
- การโฆษณาสินค้าของตนเอง โดยลักษณะของการโฆษณานั้นไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักของกิจการ และไม่ใช่ช่องทางค้าปกติ แม้จะมี banner ของผู้อื่นมาติดและมีรายได้จาก banner ก็ตาม
- การประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือบริการ เช่น เพื่อการสอน, ประกาศรับสมัครงาน ฯลฯ
- การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้า
- เว็บไซต์ส่วนตัว (ส่วนบุคคล) ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว, การงาน, การศึกษา, หรือความสนใจส่วนตัว
- เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูล โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่มีการเสียค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายใดๆ
ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างในการจดทะเบียนพาณิชย์บ้าง?
หากจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา หลักๆ แล้วจะใช้ สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
แต่ถ้าเป็นในนามนิติบุคคล จะใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลเพิ่มขึ้นมาด้วยค่ะ นอกจากนี้ อาจมีหนังสือยินยอมการให้ใช้สถานที่ประกอบพาณิชยกิจ และแผนที่แสดงสถานที่ตั้งของร้านค้าโดยสังเขป
และเสียค่าธรรมเนียม 50 บาทต่อ 1 คำขอ ค่ะ
สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ไหน?
สำหรับร้านค้าที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นจดได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง หรือ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง และสำหรับในส่วนภูมิภาคสามารถติดต่อขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ใกล้เคียงพื้นที่ที่ธุรกิจตั้งอยู่ได้เลย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเขต, เทศบาล และ อบต. ใกล้เคียงพื้นที่ตั้งธุรกิจ
หรือ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 02-547-5959-61 อีเมล e-commerce@dbd.go.th หรือ dbd-verified@dbd.go.th และ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่ ค่ะ
:)
การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: Electronic commerce) หรือ อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) <1> หรือ พาณิชยกรรมออนไลน์ หมายถึง การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกๆ ช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อินเทอร์เน็ต และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถกระทำผ่าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ การโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การโฆษณาในอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งซื้อขายออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพื่มประสิทธิภาพขององค์กร โดยการลดบทบาทของความสำคัญขององค์ประกอบทางธุรกิจลง เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคารประกอบการ โกดังเก็บสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานต้อนรับลูกค้าเป็นต้น ดังนั้นจึงลดข้อจำกัดของระยะทางและเวลา ในการทำธุรกรรมลงได้
ในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ให้ความหมาย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าเป็น ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ตัวอย่างเช่น นายสมชายเปิดร้านขายสินค้าโอท็อป ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ สามารถเข้ามาดูตัวอย่างสินค้า และติดต่อซื้อขายกันได้ โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีสารสนเทศที่รุดหน้า ทั้งระบบโทรคมนาคม ระบบคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารกันเป็นไปได้โดยง่าย และสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้หลายระดับ อีกทั้งยังสามารถโต้ตอบกันได้ทันที ทำให้สามารถเสนอธุรกรรมที่หลากหลาย เช่น การชื้อขาย การบริการหลังการขาย การโอนเงินชำระค่าบริการสินค้า การขนส่ง เป็นต้น โดยมีกฏหมายที่ควบคุม
1.กฎหมายธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
2.กฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คุ้มครองเรื่องความปลอดภัย
3.กฎหมายการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ความคุ้มครองในเรื่องการเงิน
INSURANCETHAI.NET