36 กลยุทธ์ ธุรกิจ
1103
36 กลยุทธ์ ธุรกิจ
https://www.youtube.com/v/aFWZmoEHfTU
หลัก 36 กลยุทธ์ตำราพิชัยสงคราม ประยุกต์ใช้ได้กับทุกงาน
กลยุทธ์ที่ 1 ปิดฟ้าข้ามทะเล
สำหรับเรื่องที่มนุษย์เราเคยชิน เรามักจะปล่อยปละละเลยต่อการระมัดระวัง มิได้ป้องกันให้เข้มงวดกวดขัน
กลยุทธ์ที่ 2 ล้อมเว่ยช่วยเจ้า
อย่าใช้การปะทะกับข้าศึกซึ่งหน้า ควรใช้ยุทธวิธีวกวนที่มีประโยชน์ต่อฝ่ายตนเอง แบ่งแยกกำลังของข้าศึกให้กระจายเป็นหลายส่วนแล้วจึงพิชิตเสีย
กลยุทธ์ที่ 3 ยืมดาบฆ่าคน
เมื่อข้าศึกมีท่าทีแจ่มชัด แต่กำลังของฝ่ายเรายังมิกล้าแข็ง หาทางอาศัยกำลังของพันธมิตรไปโจมตีข้าศึก หลีกเลี่ยงการสูญเสียของฝ่ายเราด้วยวิธีทั้งปวง
กลยุทธ์ที่ 4 รอซ้ำยามเปลี้ย
หากทั้งสองฝ่ายมีกำลังกล้าแข็งเทียมกันยากที่จะเอาชนะ ไม่ควรจะเข้าปะทะด้วยกำลังทั้งหมด แต่ควรตั้งรับให้เหมือนหนึ่งอ่อนแอ รอเวลาที่ข้าศึกอ่อนเปลี้ยจึงค่อยบุกตี
กลยุทธ์ที่ 5 ตีชิงตายไฟ
เมื่อข้าศึกประสบกับความยากลำบากทั้งภายในและภายนอก ต้องรุกอย่างไม่ปราณี ฉวยโอกาสอันดีนี้กระหน่ำซ้ำเติมอย่าให้ตั้งตัวติดและพิชิตเอาชัยมา
กลยุทธ์ที่ 6 ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม
โดยภายนอกทำให้ดูเหมือนว่าเตรียมบุกทางนี้อย่างจริงจัง แต่ที่แท้กลับบุกอีกด้านหนึ่ง ทำให้ข้าศึกหลงผิด แล้วพิชิตเอาชัยบนความหลงผิดนั้น
ภาคที่ 2 กลยุทธ์เผด็จศึก
เป็นกลยุทธ์การหลอกล่อข้าศึก เพื่อเข้าหักโดยที่ช้าศึกไม่ทันเตรียมตัว หรือก็คือรอโอกาสเหมาะแล้วเข้าตีเพื่อนำชัยมาสู่ทัพทันทีซึ่งจะต่างกับภาคที่ 1 ที่กล่าวถึงขณะทำศึก แต่สำหรับภาคนี้จะกล่าวถึงก่อนสิ้นศึก โดยกลยุทธ์ในภาคนี้มักจะใช้เมื่อเห็นหรือคาดการณ์ทางชนะอย่างเด็ดขาดได้
กลยุทธ์ที่ 7 มีในไม่มี
เมื่อต้องการสั่นคลอนจิตใจของข้าศึกมิควรวู่วาม ควรใช้ยุทธวิธีจริงเท็จเท็จจริงกลับลวงกันไป ทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนวุ่นวาย พึงจับจุดอ่อนของข้าศึก ยืนหยัดจนถึงวาระสำคัญที่สุด ครั้นแล้วก็รุกโจมตีอย่างถึงแก่ชีวิต
กลยุทธ์ที่ 8 ลอบตีเฉินซัง
เมื่อคู่ศึกทั้ง 2 ฝ่ายตั้งประจันหน้ากัน จงใจสร้างเป้าหมายให้ฝ่ายตรงข้ามเพ่งเล็ง รอจนเมื่อฝ่ายตรงข้ามวางกำลังใหญ่ป้องกันไว้ ณ ที่นั้นแล้วจึงรุกรบโจมตีเอาเป้าหมายอื่น ซึ่งก็คือการใช้จุดอ่อนแห่งภาวะจิตมนุษย์ โจมตีจุดที่ฝ่ายตรงข้ามมิได้คาดคิดมาก่อนแล้วมิได้ระวังตัว จึงได้มาซึ่งชัยชนะในการรุกรบ
กลยุทธ์ที่ 9 ดูไฟชายฝั่ง
เมื่อข้าศึกเกิดความปั่นป่วนภายในให้รอดูการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ ให้ข้าศึกเกิดความปั่นป่วน ก้าวไปสู่ความพินาศเอง ที่ว่า “ไฟ” ในกลยุทธ์นี้หมายถึง การบาดหมางภายในฝ่ายข้าศึก เช่นเกิดมีคนทรยศหรือไส้ศึก หรือความปั่นป่วนในช่วงเวลานี้เอง การคอยสังเกตอยู่ด้วยความสงบ แล้วค่อยตักตวงเอาในภายหลังจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด
กลยุทธ์ที่ 10 ซ่อนดาบบนรอยยิ้ม
พยายามทำให้ฝ่ายข้าศึกเข้าใจว่าฝ่ายเรามิได้มีการตระเตรียมแต่อย่างใด จึงสูญเสียความระมัดระวัง แต่ฝ่ายเรากลับวางแผนอย่างลับๆ เมื่อตระเตรียมพร้อมแล้วก็ให้รวบหัวรวบหางเอาชัยในทันที แต่ไม่ควรจะให้ข้าศึกรู้ตัวก่อนเป็นอันขาด อันอาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นขึ้น ที่ว่า “ซ่อนดาบในยิ้ม” ก็คือ “ปากหวานใจคด” ใบหน้านั้นยิ้มแย้มแจ่มใสแต่จิตใจนั้นแฝงด้วยความเหี้ยมเกรียมที่จะเอาชีวิตกัน
กลยุทธ์ที่ 11 หลี่ตายแทนถาว
ในขณะที่ 2 ฝ่ายประจันหน้ากันอยู่ ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องประสบกับความสูญเสีย จะไม่บาดเจ็บล้มตายเลยหาได้ไม่ ในขณะที่กำลังของทั้งสองฝ่ายทัดเทียมกัน ใครจะอยู่ใครจะไปยังมิอาจรู้ได้ ก็ควรยอมเสียค่าตอบแทนไปบ้างแต่น้อย เพื่อแลกผลประโยชน์ใหญ่ที่สุดจึงถูก
กลยุทธ์ที่ 12 จูงแพะติดมือ
โอกาสแม้จะน้อยแสนน้อยก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ชัยชนะแม้จะเล็กแสนเล็กก็ควรช่วงชิงมาให้ได้ “จูงแพะติดมือ” ก็คือ การใช้กลอุบายที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ตัวฉะนั้นจึงย่อมจะตกหลุมพรางถูกบั่นทอนหรือได้รับความสูญเสียอย่างยับเยินโดยมิได้คาดคิด
ภาคที่ 3 กลยุทธ์เข้าตี หลักของกลยุทธ์ในภาคนี้คือ การหลอกล่อเพื่อให้ข้าศึกเผยตัวและเข้าสู้ศึกกับเราโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ภาคนี้ไม่ได้หวังผมที่ชัยชนะจากการสู้ศึกครั้งแรก แต่หวังที่จะศึกษาข้าศึกให้ถ่องแท้ก่อนที่จะเข้าหักกันอีกครั้งเพื่อนำชัยชนะอย่างเด็ดขาด
กลยุทธ์ที่ 13 ตีหญ้าให้งูตื่น
เมื่อสภาพของข้าศึกยังไม่แจ้งชัดแก่เรา เราไม่ควรจะปฏิบัติการอย่างลวกๆ จะต้องหาทางสืบสภาพของข้าศึกให้ถ่องแท้ ครั้งเมื่อทราบเจตนาของฝ่ายตรงข้ามแล้วจึงออกโจมตี เยี่ยงเดียวกับงูที่ซ่อนอยู่ในพงหญ้า ควรจะใช้ไม้ตีพงหญ้าไปรอบๆ เพื่อให้งูปรากฏให้เห็น แล้วจึงจับเอาในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องเข้าไปจับให้ถึงรังงูให้เปลืองแรง
กลยุทธ์ที่ 14 ยืมซากคืนชีพ สรุปได้ว่า ยืมซากคืนชีพหมายถึง ใช้สิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้วในทางเป็นจริง หรือฉวยโอกาสทุกอย่างเท่าที่สามรถหยิบฉวยได้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายบางประการของตน ให้รอดพ้นจากความหายนะ เพื่อที่จะได้ยืนผงาดขึ้นมาใหม่ในวันข้างหน้า หรือไม่วันใดก็วันหนึ่ง
กลยุทธ์ที่ 15 ล่อเสือออกจากถ้ำ สรุปได้ว่า เมื่อใคร่ทำลายหรือจับตัวข้าศึกต้องรอโอกาสที่เหมาะสม ประกอบด้วยเงื่อนไขธรรมชาติบวกด้วยมาตรการที่คนเราสร้างขึ้น ถ้าแม้นบุ่มบ่ามเข้าไปในอาณาเขตของข้าศึกอย่างผลีผลาม ก็มิอาจเห็นตัวข้าศึก ซ้ำยังอาจจะถูกลอบตีในที่ลับอีกด้วย ได้ไม่เท่าเสีย ดังนั้นการใช้อุบายให้ข้าศึกออกมาจากเขตของตนแล้วบดขยี้เสียจึงควร
กลยุทธ์ที่ 16 แสร้งปล่อยเพื่อจับ สรุปได้ว่า จุดประสงค์อยู่ที่การ “จับ” “ปล่อย” เป็นวิธีการ “จับ” คือจับทาง “ใจ” ให้ยินยอมอ่อนน้อมทั้งกายและใจ ผู้ถูกจับ “ใจ “ก็จะกลายเป็นข้าทาสบริวารของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนกว่าจะเกิดความสำนึกใน “ศักดิ์ศรี” ของตนเอง กลยุทธ์นี้จึงเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดในการบั่นทอนจิตใจสู้รบและขวัญของข้าศึก ด้วยวิธีการทั้งแจ้งและลับอย่างหนึ่ง อันได้ผลเกินความคาดหมาย
กลยุทธ์ที่ 17 โยนกระเบื้องล่อหยก สรุปได้ว่า วิธีหลอกลวงข้าศึกมีมากมาย วิธีแยบคายที่สุดมิมีใดเกิน “ความละม้าย” หรือ “ความเหมือน” ที่เรียกว่า “กระเบื้อง” หมายถึงสิ่งที่ไม่มีค่างวด ส่วน “หยก” นั้นเป็นจินดาสูงค่าอันเป็นที่พึงปรารถนาของคนทั้งหลาย ที่ว่า “ใช้กระเบื้องล่อหยก” นี้คือ ใช้สิ่งของที่มีค่าน้อยไปล่อสิ่งของที่มีค่าสูง กระเบื้องกับหยกนั้นมองผ่านๆ ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่ นักการทหารผู้มีความชำนาญในกลศึกก็สามารถใช้ “ความคล้าย” ของทั้งสองสิ่งสร้างความสับสนฉงนใจให้แก่ข้าศึก ฉวยโอกาสที่ข้าศึกกำลังวุ่นวายหรือหลงกลจู่โจมเอาชัยโดยพลัน
กลยุทธ์ที่ 18 จับโจรเอาหัวโจก สรุปได้ว่า ความหมายของกลยุทธ์นี้ คือให้โจมตีส่วนที่สำคัญของข้าศึก เพื่อให้ได้รับชัยชนะอย่างสิ้นเชิง ในการบัญชาการรบ จะต้องสันทัดในการขยายผลของการรบให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น อย่าได้ปล่อยโอกาสที่จะได้รับชัยชนะให้หลุดลอยไปเป็นอันขาด หากคิดง่ายๆ แต่เพียงว่า ขอให้โจมตีข้าศึกถอยไปได้เท่านั้นก็พอใจแล้ว แต่ไม่ทำลายกำลังหลักของข้าศึก จับตัวผู้บัญชาการหรือทลายกองบัญชาการของข้าศึกให้ย่อยยับไปแล้ว ก็จะเหมือนดั่งปล่อยเสือเข้าป่า
ภาคที่ 4 กลยุทธ์ติดพัน หลักกลยุทธ์ในภาคนี้เป็นหลักที่ใช้ในการศึกที่ติดพันยาวนานเหมือนชื่อหัวข้อ เมื่อทำการศึกบางครั้งก็ไม่อาจเข้าหักได้โดยง่าย จำต้องทำศึกยืดเยื้อเพื่อลดทอนกำลังของข้าศึก แต่หากยืดเยื้อติดพันนานเกินไปก็ไม่เป็นผลดี จึงต้องหาวิธีที่จะยุติศึกนั้นๆ โดยเร็ว ไม่ว่าจะด้วยชัยชนะหรือความปราชัยก็ตาม ข้อมูลส่วนภาคนี้มาจาก “www.thaisamkok.com หัวข้อ 36 กลยุทธ์” ดังจำแนกได้ต่อไปนี้
กลยุทธ์ที่ 19 ถอนฟืนใต้กระทะ สรุปได้ว่า ในสถานการณ์ศึกที่ชุลมุนติดพันเป็นอย่างยิ่งนั้น การรบด้วยภาวะจิตเป็นยุทธวิธีที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสที่จะรบให้ชนะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อใคร่ประสงค์จะทำลายกำลังของข้าศึก ก็ต้องทำลายกำลังหลัก ทำลายหัวใจของข้าศึกเป็นเบื้องแรก ในเวลาเช่นนี้จิตใจของแม่ทัพนายกองก็คือ “ฟืน” เมื่อถอน “ฟืน” ออกแล้วน้ำในกระทะก็จะเดือดมิได้
กลยุทธ์ที่ 20 กวนน้ำจับปลา สรุปได้ว่า ปลาไม่เห็นทิศทางเมื่อน้ำขุ่นคนแยกจริงเท็จไม่ออกยามชุลมุน จึงเกิดช่องว่างมากหลายที่จะเอาประโยชน์ได้ “กวนน้ำจับปลา” ย่อมหมายถึงในสงครามชุลมุนแห่งการแก่งแย่งอำนาจกันนั้น ควรฉวยโอกาสใช้กำลังที่อ่อนแอโลเลให้คล้อยตามความประสงค์ของตน ที่สำคัญคือเอาเท็จพรางจริง กวนน้ำให้ขุ่นโดยเจตนา แล้วรีบซ้ำเติมเอาชัยแก่ศึกเสีย
กลยุทธ์ที่ 21 จักจั่นลอกคราบ สรุปได้ว่า จักจั่นลอกคราบเป็นวิธีสลัดให้หลุดพ้นจากการเผชิญหน้ากับข้าศึก ด้วยการเคลื่อนย้ายหรือถอยทัพ ที่ว่า “ลอก” มิใช่อย่างตื่นตระหนก อย่างขวัญหนีดีฝ่อ แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปโฉมภายนอก ทว่าได้ถอดเนื้อหาออกไปหมดสิ้นแล้ว หนีแสดงว่าไม่หนี ปกปิดข้าศึกเพื่อให้หลุดพ้นจากห่วงอันตราย วิธีการ “ลอกคราบ” มีหลายแบบหลายอย่าง เนื้อแท้ก็คือการใช้เล่ห์กลหลอกลวงข้าศึก เป็นพฤติกรรมที่ใช้การพรางตา ปลอมปนความจริงเอาตัวรอดนั่นเอง
กลยุทธ์ที่ 22 ปิดประตูจับโจร สรุปได้ว่า เมื่อต้องการจับโจร พึงตัดทางหนี โอบล้อมให้แน่นหนา หากโจรเข้าในเมือง จงปิดประตูเมืองให้สนิท มิให้มีทางเล็ดรอดออกไปได้ จึงถูกจับได้โดยละม่อม กลับกัน พบโจรก็ไล่ไม่ปิดประตูเมือง ไล่เหนือไปได้ โจรก็พ้นไป โจรที่หนีพ้นย่อมเกิดความย่ามใจ ย้อนกลับมาอีกพร้อมด้วยพรรคพวก หากปิดทางหนีโจรจะมิกล้า อู๋จื่อกล่าวว่า “โจรที่ไม่คำนึงถึงความตาย หากซ่อนตัวตามสุมทุมพุ่มไม้ในป่ากว้าง ก็พอจะทำให้กำลังซึ่งติดตามมาเป็นพันคนอกสั่นขวัญแขวน ลมพัดใบไม้ไหวก็แตกตื่น เพราะมิรู้ว่าโจรจะปรากฏตัวออกมาจู่โจมเอาชีวิตเมื่อใด จับโจรจึงควรระวัง มิให้เป็นปลาลอดร่างแห
กลยุทธ์ที่ 23 คบไกลตีใกล้ สรุปได้ว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแยกสลายหรือป้องกันการร่วมมือกันของฝ่ายตรงข้าม เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในการตีให้แตกทีละส่วน คำโบราณจีนกล่าวไว้ว่า “ญาติไกลมิสู้มิตรใกล้” นั้นตรงข้ามกับกลยุทธ์นี้ แท้ที่จริงแล้วในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ความขัดแย้งในประเทศไกลมักจะเกิดน้อย กับประเทศใกล้กลับจะมากกว่า เพราะอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องผลประโยชน์ และอื่นๆ อีกนานาประการ กลยุทธ์นี้จึงเป็นหลักปรัชญาในการแสวงหาประโยชน์พร้อมทั้งป้องกันตัวไปด้วยในขณะเดียวกัน สุดแต่ผู้ใดจะใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน
กลยุทธ์ที่ 24 ยืมทางพรางกล สรุปได้ว่า ปัญหาของกลยุทธ์นี้อยู่ที่คำว่า “ยืมทาง” ถ้ายืมทางได้ทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใช้กลยุทธ์ยืมทางต้องอ้างเหตุผลในการยืมทางให้ดี เพื่อปกปิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของตน ความจริงคำว่า “ศัตรูบังคับให้สยบ เราพึงแสดงท่าที” นั้น คือฉวยโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ เรายื่นมือเข้าไปช่วยแล้วเอาประโยชน์จากนี้ อันที่จริงการกระทำดังนี้เป็นพฤติกรรมที่ไร้คุณธรรมอย่างยิ่ง แต่ในสงครามหรือการต่อสู้ใดๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามักจะเป็นเป็นเช่นนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในชีวิตจริง เพราะเหตุว่า แต่ละฝ่ายย่อมจะเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของตนเองเป็นใหญ่ หากปราศจากเสียซึ่งการร่วมมืออันถาวร ก็จะไม่มีการช่วยเหลือที่แท้จริง มิตรและศัตรู คำมั่นสัญญากับการปฏิบัติจึงพึงจำแนกให้ชัด พิจารณาให้ถ่องแท้ มิฉะนั้นแล้ว หากเห็นแก่ได้ถ้อยเดียวก็จะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตของตน
ภาคที่ 5 กลยุทธ์ร่วมรบ กลยุทธ์ในภาคนี้ไม่ใช่กลยุทธ์เพื่อการศึกอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ร่วมกับกลยุทธ์อื่นในศึกสงคราม เช่น กลยุทธ์ที่เน้นการหลอกล่อให้เข้าแผน เป็นต้น โดยผู้ที่สามารถวางกลยุทธ์เช่นนี้ได้ต้องมีความคิดปราดเปรื่อง รอบคอบ และรู้เท่าทันการณ์ของข้าศึก
กลยุทธ์ที่ 25 ลักชื่อเปลี่ยนเสา สรุปได้ว่า กลยุทธ์นี้มีความหมาย 2 นัย หนึ่งหมายถึงการสับเปลี่ยนกำลังหลักของพันธมิตรชั่วคราวที่เป็นศัตรูโดยเนื้อแท้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำลายหรือกลืนกินพันธมิตรนั้นเสีย ซึ่งในสมัยศักดินาโบราณมักชอบกระทำกันเป็นนิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงสัจวาจาหรือศีลธรรมแต่ประการใด อีกนัยหนึ่งหมายถึง เป็นกลยุทธ์ในการโยกย้ายกำลังหลักของฝ่ายข้าศึกโดยใช้กลลวงต่างๆ นานา ทำให้ข้าศึกต้องเปลี่ยนแนวรบหรือเคลื่อนย้ายกำลังไปตามความประสงค์ของเรา ครั้นแล้วจึงเข้าตีจุดอ่อนข้าศึกเพื่อให้ได้รับชัยชนะ ดังนั้นผู้บัญชาการที่ชาญฉลาดจึงมิใช่จะสันทัดในการใช้กำลังพลของฝ่ายตนเท่านั้น หากจะยังต้องสันทัดในการเคลื่อนย้ายหรือกระจายกำลังของฝ่ายข้าศึกด้วยกลยุทธ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนอีกด้วย
กลยุทธ์ที่ 26 ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว สรุปได้ว่า เพื่อที่จะดำเนินตามแผนการที่วางไว้จำต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดจึงจะได้รับผลตามที่ได้กำหนด แต่ความเด็ดขาดนั้นใช่ว่าจะต้องอาศัยกำลังความรุนแรงเสมอไป อาจดำเนินด้วยวิธีการหนึ่งใด ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามตระหนักในเจตนายอมสยบแต่โดยดี เพราะจนปัญญาที่จะต่อตีด้วยเรานั่นเองกลยุทธ์ที่ 27 แสร้างทำบอแต่ไม่บ้า สรุปได้ว่า ยามเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นผลดีควรจะสะกดกลั้นตัวเองไว้ แสร้างทำเป็นโง่เง่า อวดฉลาดยิ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ตน นี่เป็นวิธีรู้รักษาตัวรอดอย่างหนึ่งในยามปั่นป่วน คนฉลาดมักใช้วิธีนี้ป้องกันตัวและวางแผนวิธีเอาชนะศัตรู คนที่ดูโง่เขลานั้นโดยภายนอกก็อาจจะเห็นเป้นเต่าตุ่น แต่ที่แท้แล้วภายในนั้นคมกริบ รู้เขารู้เรา พึงถอยก็รู้จักถอย มิดันทุรังไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ดังนั้นจึงสามารถเป็นฝ่ายริเริ่มกระทำในการทั้งปวง เพราะเข้าใจในเหตุการณ์อย่างรู้แจ้งตลอด และรอจังหวะที่จะบุกกระหน่ำมิให้ศัตรูตั้งตัวติดตลอดเวลา กลยุทธ์นี้มักจะพบเห็นอยู่บ่อยๆ โดยทั่วไปผู้ใดใช้เป็นด้วยความสันทัดจัดเจนผู้นั้นย่อมจะได้รับผลสำเร็จและเป็นที่น่ากลัวสำหรับฝ่ายตรงข้ามที่มิรู้แจ้งในกล
กลยุทธ์ที่ 28 ขึ้นบ้านชักบันใด สรุปได้ว่า “ขึ้นบ้านชักบันใด” มีความหมายค่อนข้างกว้าง หนึ่งในนั้นก็คือ ใช้ผลประโยชน์เล็กน้อยล่อให้ข้าศึกเข้าปิ้งแล้วทำลายเสียให้สิ้น ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อข้าศึกบุกเข้าไปในอาณาเขตของเรา เราจงใจจะเปิดทางตันให้กับเขา เมื่อข้าศึกหลงกลตกอยู่ในวงล้อมก็จะตื่นตระหนกเดินไปตามหนทางที่เราเปิดไว้ให้ เมื่อเราตัดทางรุกและทางถอย ข้าศึกก็จนด้วยเกล้า ถ้าไม่ยอมจำนนก็เหลือแต่ทางตายทางเดียว ในกลยุทธ์นี้ที่สำคัญคือ “บันใด” จงใจให้ข้าศึกเห็นจุดอ่อนและมุ่งมั่นจะใช้จุดอ่อนให้เป็นประโยชน์แก่ตน ถ้าไม่มี “บันใด” ดังกล่าวกลยุทธ์นี้ก็ยากที่จะได้รับผล
กลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก สรุปได้ว่า ที่ว่าต้นไม้ผลิดอกก็คือ ทำให้ต้นไม้ที่ไม่มีดอกสามารถผลิดอกออกสะพรั่งให้เห็นโดยใช้วิธีเอาดอกไม้ปลอมไปติดไว้ที่ต้นนั้น ซึ่งหากไม่พินิจพิจารณาให้ดีก็จะไม่รู้ว่าเป็นของปลอม และอาศัยสิ่งนี้หมุนเปลี่ยนสภาพการณ์ให้เป็นผลดีแก่เรา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยืมสิ่งอื่นมาบังหน้า ให้ข้าศึกเกิดความเข้าใจผิดแล้วฉวยโอกาสเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามความประสงค์นั่นเอง
กลยุทธ์ที่ 30 สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน สรุปได้ว่า “สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน” ก็คือแขกแย่งเป็นเจ้าบ้านเสียเองเปลี่ยนฐานะจากฝ่ายถูกกระทำเป็นฝ่ายกุมอำนาจการกระทำ และบงการให้สถานการณ์เป็นไปตามความประสงค์ ในขณะที่ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบจะต้องยอมเป็น “แขก” ชั่วคราว เพื่อช่วงชิงเวลาและสะสมกำลัง อาศัยชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จน “เจ้าบ้าน” จำยอมต้องกลับกลายเป็น “แขก” เพราะมิมีปัญญาจะต้านทานได้เลย
ภาคที่ 6 กลยุทธ์ยามพ่าย ใช่ว่าจะต้องมีแต่เพียงกลยุทธ์ที่ใช้ในการสงครามเท่านั้น นักวางแผนที่ชาญฉลาดต้องมีลู่ทางในการศึกเมื่อยามเข้าตาจนด้วย กลยุทธ์ในภาคที่ 6 นี้จึงเป็นกลยุทธ์สำหรับการเอาตัวรอดในยามศึกสงคราม การเอาตัวรอดจากกลยุทธ์ในภาคนี้มิใช่ทำตัวเป็นลูกเต่าหัวหด หากแต่เป็นการวางเชิงเพื่อการเอาชนะในภายหลัง อาจถูกมองเป็นวิธีที่ขลาดเขลา
กลยุทธ์ที่ 31 กลสาวงาม
เมื่อข้าศึกมีกำลังเข้มแข็งดุจกำแพงเหล็กมิมีจุดอ่อนที่จะทะลวงเข้าไปได้ วิธีเอาชนะอย่างเดียวก็คือ จะต้องแทรกซึมเข้าไปภายในของข้าศึกดุจดังหนอนกินลูกแอปเปิ้ล เจาะชอนใชจากภายในสู่ภายนอกจนเน่าไปทั้งลูก และขุนทัพย่อมเป็นหัวใจของกองทัพ เป็นประมุขของไพร่พล ถ้าขุนทัพถูกทะลวงจุดอ่อนจนหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียงแล้วไซร้ ก็จะมีอันเป็นไป ไร้สมรรถภาพ จึงมิพ่ายแพ้หาได้ไม่
กลยุทธ์ที่ 32 กลปิดเมือง
เท็จเท็จจริงจริง ย่อมมีอยู่ในการศึก ข้าศึกฉวยโอกาสยามเราอ่อนกำลังเราก็จงใจแสร้งทำให้อ่อนปวกเปียกลงไปอีก จนข้าศึกฉุกใจชวนสงสัย เข้าใจผิดคิดว่าเราพร้อมรบแต่แสร้งลวง เพื่อหลอกล่อให้ตกหลุมพราง ก็ถือเป็นสงครามจิตวิทยา โดยมิได้ใช้กำลังที่แท้เอาชนะข้าศึก แต่ด้วยการพินิจพิจารณาภาวะจิตของแม่ทัพข้าศึก เอาชนะด้วยอุบายอันแยบยลจนข้าศึกหวั่นเกรงถอยทัพกลับไป โดยที่เราไม่ต้องพ่ายแพ้เสียทหารแม่สักคนในยามคับขัน
กลยุทธ์ที่ 33 กลไส้ศึก
เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีความระแวงสงสัย พึงทำให้เกิดความระแวงสงสัยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซื้อคนขายตัวหรือใช้ไส้ศึกให้เป็นประโยชน์แก่เรา ซุนจื่อเคยแนะนำว่า พึงเอาชนะโดยไม่ต้องรบ ที่สำคัญคือใช้วิธีทางการทูต การใช้อุบายบวกกับกลยุทธ์ไส้ศึก ให้ข้าศึกเกิดความปวดร้าวปั่นป่วนภายในเองจึงจะชนะได้โดยง่าย
กลยุทธ์ที่ 34 กลทุกข์กาย
คำโบราณของจีนมีกล่าวไว้ว่า “ร่างกาย เส้นผม และผิวหนังได้มาจากบิดามารดา มิควรทำลาย นี้คืออันดับแรกแห่งกตัญญู” คำคำนี้เป็นทัศนคติที่ฝังลึกอยู่ในมโนธรรมของชาวจีนมาช้านาน ดังนั้นการจะทำร้ายร่างกายตนเอง ยอมสวามิภักดิ์แก่ศัตรูด้วยอุบายจึงมักจะได้รับความเห็นใจให้ความเชื่อถือ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ล้ำลึกกว่า “กลไส้ศึก” ซึ่งเคยได้รับความสำเร็จอย่างงดงามมามากหลายตั้งแต่โบราณกาล
กลยุทธ์ที่ 35 กลลูกโซ่
การใช้กลยุทธ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเอาชนะศัตรู ซุนจื่อกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ใช้กลอุบายมิควรใช้เพียงหนึ่งเดียว หากควรประกอบด้วยอุบายนานา ถือหลายอุบายเป็นหนึ่งกลยุทธ์ หรือร้อยพันอุบายเป็นหนึ่งกลยุทธ์ นี่คือกลยุทธ์ที่ดีที่สุด” และดังนั้นจึงเป็นดุจดั่งคำว่า “แม่ทัพผู้ปรีชาจักได้ฟ้าอนุเคราะห์” นั่นเอง
กลยุทธ์ที่ 36 หนีคือยอดกลยุทธ์
ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดี จะต้องหลีกเลี่ยงกับการสู้รบขั้นแตกหักกับข้าศึก ทางออกจึงมี 3 ทาง
ยอมจำนน เจรจาสงบศึก ถอยหนี เมื่อเทียบกันแล้ว การยอมจำนนคือการพ่ายแพ้อย่างถึงที่สุด การขอเจรจาสงบศึกคือการพ่ายแพ้ครึ่งหนึ่ง การถอยหนีกลับอาจจะแปรเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะได้ ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อกลยุทธ์นี้เป็น “หนีคือยอดกลยุทธ์” ถอยหนีพึงถอยเลี่ยงอย่างมีแผนเป็นฝ่ายกระทำ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นคุณ มิใช่ถอยหนีอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อทัพอ่อนเผชิญทัพแข็ง มักจะใช้วิธีหนีเพื่อกระจายกำลังข้าศึก เพื่อสร้างโอกาสกลับมาสู่ชัยชนะนั่นเอง
https://www.youtube.com/v/aFWZmoEHfTU
INSURANCETHAI.NET