พ.ร.บ.ประกันชีวิต-วินาศภัย กับการขายประกันทางโทรศัพท์,ขายประกันพ่วงเงินกู้
1109

พ.ร.บ.ประกันชีวิต-วินาศภัย กับการขายประกันทางโทรศัพท์,ขายประกันพ่วงเงินกู้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันชีวิต(ฉบับที่…)พ.ศ..และร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย(ฉบับที่..)พ.ศ.. สรุปสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกันชีวิตพ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติธุรกิจเหมาะสมกับสภาวะการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และมีบทบัญญัติที่จะช่วยคุ้มครองประชาชนจากการฉ้อฉลประกันภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่ครั้งนี้ควรจะครอบคลุมถึงการดูแล พฤติกรรมการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ และให้ดูแลการบังคับขายประกันผ่านธนาคาร เมื่อลูกค้ามีการกู้เงินด้วย เพราะที่ผ่านมา นายกฯ เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งในขั้นตอนต่อไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไปพิจารณาตรวจแก้ไข โดยนำข้อเสนอของนายกฯ เพิ่มเติมเข้าไปได้

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกันชีวิต(ฉบับที่..)พ.ศ… เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจและแก้ไขคุณสมบัติของตัวแทนประกันชีวิตบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งจะขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำของบุคคลธรรมดาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าที่ได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นนายหน้าของนิติบุคคลนั้น และห้ามนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตไปชี้ช่อง หรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท นอกจากนั้น กำหนดข้อห้ามไม่ให้ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าจะทำการไม่เหมาะสม และต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและกำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัยเป็นความผิดตามกฎหมายนี้รวมทั้งมีบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดต่างๆเพิ่มเติมด้วย

ส่วนการร่างพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย(ฉบับที่..)พ.ศ…เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้รองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้บุคคลธรรมดาซึ่งประสงค์จะขอรับเป็นผู้ประเมินวินาศภัยต้องยื่นคำขอใบอนุญาต เป็นผู้ประเมินวินาศภัย อีกทั้งเพิ่มเติมคุณสมบัตินิติบุคคล และแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลธรรมดาที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประมูลวินาศภัยตัวแทนประกันวินาศภัย ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งกำหนดให้ผู้ประเมินวินาศภัยประเภทนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินวินาศภัยที่บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยต้องจัดให้มีผู้ประเมินวินาศภัยประเภทบุคคลธรรมดาเป็นผู้ทำการตรวจสอบและประเมิน

สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่ผ่านการเห็นชอบครม.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการปฏิรูปการประกันภัยของประเทศ มีสาระสำคัญ 4 เรื่อง เริ่มจากการป้องกันการฉ้อฉลด้านประกันภัยใน 3 กรณี คือ การหลอกลวงค่าประกันโดยที่ตัวแทนหรือนายหน้าที่ชักชวนประชาชนเข้าทำประกัน เมื่อได้รับเงินไปแล้วกลับไม่ส่งเงินประกันให้กับบริษัทประกัน ทำให้ผู้จ่ายเงินไม่ได้รับการคุ้มครอง ด้านการกำกับคนกลางในการทำธุรกิจประกันภัยและวินาศภัย โดยที่ผ่านมาในภาพรวมของบริษัทประกันมีตัวแทน และนายหน้าประกันภัยมากถึง 3 แสนคน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทประกันจะมีหน้าที่กำกับดูแล และออกกฎเกณฑ์เป็นของตัวเอง แต่กฎหมายฉบับนี้จะออกหลักเกณฑ์มากำกับตัวแทน และนายหน้าโดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม โดยผู้ที่เป็นตัวแทนต้องไม่มีประวัติเสียหาย หรือขาดความรับผิดชอบ

ขณะเดียวกัน ยังมีการออกจรรยาบรรณมาควบคุมตัวแทนและนายหน้า ซึ่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จะไปวางหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุม ทั้ง การโฆษณา การเปิดเผยข้อมูล การเสนอขายผลิตภัณฑ์ และการส่งเบี้ยประกันภัย รวมทั้งการปรับปรุงมาตรการลงโทษให้เหมาะสมมากขึ้น อย่างไรก็ตม ยังมีเรื่องการประเมินวินาศภัยให้กับประชาชนที่ทำประกันวินาศภัย โดยที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุ เช่น กรณีไฟไหม้ หรืเกิดอุบัติเหตุ จะมีผู้ประเมินวินาศภัยที่จะไปดูแลประเมินความเสียหาย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา แต่ในอนาคตจะกำหนดให้ผู้ประเมินดังกล่าวจากที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องเป็นบุคคลที่มีสังกัดอยู่ในบริษัทที่เป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ประเมินวินาศภัย โดยจากนี้จะมีการตั้งบริษัทขึ้นมากำกับดูแลด้านนี้เฉพาะ เพื่อพัฒนาบุคลากรในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต และปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

http://www.matichon.co.th/news/393425



INSURANCETHAI.NET
Line+