ธุรกิจประกัน มีโอกาสเติบโตในอาเซียน (3/2558)
1116

ธุรกิจประกัน มีโอกาสเติบโตในอาเซียน (3/2558)

เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวดีสร้างโอกาสให้’ธุรกิจประกัน’เติบโตได้ในภูมิภาค
คปภ. แนะผู้ประกอบการปรับตัวรองรับการแข่งขัน ชี้ ธุรกิจประกัน ในประเทศสามารถอาศัยความได้เปรียบจากการตัดสินใจวางแผนทิศทางธุรกิจที่รวดเร็ว ด้านสมาคมประกันชีวิตไทยเสนอให้ผลักดันผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์

โอกาสเติบโตในภูมิภาค
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในโลกคิดเป็นมูลค่า 75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยแบ่งสัดส่วนเป็น
มูลค่าจากประเทศสหรัฐฯ % 22
สหภาพยุโรป % 25
จีน % 12
เอเชีย % 10
ญี่ปุ่น % 6.5
อินเดีย % 2.5
ส่วนที่เหลือคือประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกัน

สะท้อนถึงความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลก เมื่อเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น มีสัดส่วนสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในโลกคิดเป็นเพียง% 25 เท่านั้น แต่มีจำนวนประชากรครอบคลุมกว่า% 50 ของประชากรโลก

เอเชียที่ไม่นับรวมญี่ปุ่น จัดเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนเศรษฐกิจโลกจะประกอบด้วย

จีน % 24
อินเดีย % 10
เอเชีย % 13
สหภาพยุโรป % 14
สหรัฐฯ % 12
ญี่ปุ่น % 3
และประเทศอื่น ๆ % 24

จะเห็นว่า แนวโน้มการเติบโตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีเอเชียเป็นศูนย์กลางสำคัญ และช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่สมดุลมากขึ้น ขณะที่มูลค่าขนาดเศรษฐกิจโลกก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึงระดับ 308 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตขึ้นอีก 4 เท่าตัว

ผลจากสภาพเศรษฐกิจดังกล่าว นายประเวช เห็นว่า ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตได้เฉลี่ย% 7.9 ต่อปี ในตลอด 10 ปีข้างหน้า
การประกันภัยจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่% 6.4

เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตได้ถึง% 8.5 ต่อปี และธุรกิจประกันภัยเติบโต% 8.3 เมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยในอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจประกันทั่วโลกจะเติบโตเพียง% 3.9 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นต้องออกมาแข่งขันสร้างการเติบโตมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

สาเหตุที่ตลาดเกิดใหม่มีการเติบโตสูง มาจากโครงสร้างประชากร โดยประชากรในเอเชียมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ทำให้มีจำนวนคนวัยทำงานมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นในโลก และส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่มาก รวมถึงสามารถเร่งพัฒนาด้วยการก่อสร้าง การเคลื่อนย้ายแรงงาน การใช้จ่ายและบริโภคที่ยังปรับเพิ่มขึ้นได้อีกตามฐานรายได้ปานกลางที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมให้สูงขึ้น

ในส่วนของอัตราเบี้ยประกันที่มีสะสมอยู่เทียบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม ทั่วทั้งโลกอยู่ที่% 6.3 และอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันจะเริ่มช้าลง เมื่อก้าวข้ามอัตราส่วนที่% 4 ไปแล้ว สำหรับประเทศไทยมีอัตราเบี้ยประกันรวมอยู่ที่% 5.8 จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สูงกว่าในอาเซียนหลายประเทศที่มีอัตราเบี้ยประกันเทียบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่า อาเซียนจึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของธุรกิจประกันชีวิตที่สามารถเข้าไปพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต

“เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลให้เกิดการซื้อขายในรูปแบบข้ามผลิตภัณฑ์และข้ามพรมแดน ซึ่งอยู่กับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างทางการที่จะต้องก่อให้เกิดความร่วมมือและต่อรองกันระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างผลประโยชน์และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ”

สำหรับภาคธุรกิจประกันภัยไทย นายประเวช กล่าวว่า ต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันที่จะเข้าร่วมในการทำธุรกิจที่ไร้พรมแดนกับประเทศอื่นได้ด้วย เพื่อไม่ให้กลายเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์ โดย คปภ. มีนโยบายเพิ่มฐานะความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการนำอัตราต้นทุนแบบขั้นบันไดมาใช้ ภายใน 5 ปี รวมถึงแนวทางกำกับดูแลที่วางกฎเกณฑ์ให้ธุรกิจมีระบบงานและบุคลากรที่ชัดเจน

นอกจากนี้ คปภ. จะกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจเกิดการบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินธุรกิจที่มีวินัย เพื่อให้ในที่สุด คปภ. จะมีความจำเป็นน้อยลงในการเสนอกฎหมายออกมาบังคับใช้ เมื่อธุรกิจดำเนินงานด้วยความมีวินัยและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทประกันในประเทศ ยังมีปัญหาในเรื่องของผลการดำเนินงานที่มีงบประมาณไม่สมดุลเมื่อเทียบกับบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ต้องหาทางปรับปรุงกันต่อไป โดยในส่วนของทางเลือกการออกกฎหมายมาบังคับใช้ จะพยายามให้มีน้อยที่สุด ไม่ให้เป็นภาระต่อต้นทุนที่เกินจำเป็นของผู้ประกอบการในการดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป
“ธุรกิจประกันชีวิตซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม บริษัทจากต่างประเทศ บริษัทในเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันที่ไม่อยู่ภายใต้เครือข่ายสถาบันการเงินและบริษัทจากต่างประเทศ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กลุ่มที่ไม่ขึ้นกับเครือข่ายการเงินและต่างประเทศ จะปรับตัวรุกรับได้รวดเร็วและดำเนินงานได้คล่องตัวที่สุด เพราะผู้บริหารตัดสินใจได้เอง ไม่ต้องรอคำสั่งจากบริษัทแม่ที่มีเครือข่ายใหญ่โต ตัดสินใจได้ช้ากว่า โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มประเทศลุ่มนํ้าโขง หรือ CLMV เชื่อมั่นว่า บริษัทประกันไทยสามารถอาศัยโอกาสจากการเติบโตในแถบประเทศเพื่อนบ้านและนำไปสู่การลงทุนในภูมิภาคได้อย่างเต็มที่”

ผลักดันประกันควบการลงทุน

นายสาระ ลํ่าซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมทำเรื่องเสนอทางการเพื่อขอสิทธิลดหย่อนทางภาษีให้กับผู้ลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (unit link) เนื่องจากแบบประกัน unit link จะนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในกองทุนรวม แต่ที่ผ่านมา ตัวผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร และมีผู้ลงทุนน้อยมาก โดยการลงทุนผ่าน unit link ยังไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งที่เป็นการลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี นักลงทุนจึงหันไปลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงแทน

“ในอนาคต หากทางการจะลดสิทธิในการลดหย่อนภาษีของกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่จะครบกำหนดในปี 2559 ก็ควรให้สิทธิลดหย่อนภาษีกับผู้ลงทุนในยูนิตลิงค์ จะช่วยให้เป็นแรงกระตุ้นตลาดประกันต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา ลูกค้าในประเทศมีการทำประกันยูนิตลิงค์กันน้อยมาก และบริษัทประกันเองมีรูปแบบยูนิตลิงค์ที่ไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับบริษัทประกันต่างประเทศที่มีการทำประกันประเภทยูนิตลิงค์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย ขณะที่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านประกัน unit link มากขึ้นด้วย”

‘จีน’ ตลาดที่มีศักยภาพสูง

ดร. ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่แตกต่างเหลื่อมลํ้ากันอยู่ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์ ประเมินว่า อินเดียและไทยจะมีอัตราเร่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ขณะที่จีนและมาเลเซีย มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ยังคงสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยได้ในระดับ% 6 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเติบโต% 3 อย่างไรก็ตาม ภาวะดอกเบี้ยตํ่าในสหรัฐฯ ที่ผ่านมาหลายปี ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่า และทำให้มีอัตราการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินของต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเสี่ยงที่ตลาดการเงินในเอเชียจะมีความผันผวน เมื่อนักลงทุนต่างชาติเร่งถอนเงินทุนออกจากตลาดพันธบัตร หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาตรการการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปีนี้

นอกจากนี้ จีนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ ได้แก่ การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ การชะลอตัวในการลงทุนและการให้สินเชื่อ ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลง ทำให้รัฐบาลจีน ต้องใช้นโยบายทางการคลังรับมือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินทิศทางเศรษฐกิจจีนที่สามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางที่ % 7 ต่อปี

“ในส่วนของธุรกิจประกันภัย ลักษณะประชากรที่มีอัตราการพึ่งพาของคนสูงวัยที่เพิ่มสูงขึ้น เอื้อต่อระบบบำนาญและตลาดประกันภัยในเอเชีย โดยความเคลื่อนไหวของตลาดประกันภัยในจีนที่มีการเติบโตสูงสุดแห่งหนึ่งในเอเชีย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโต ในส่วนของไทย เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดประกัน โดยการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวม ลดลงมาอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยระยะยาว แม้เบี้ยประกันต่อหัว ไม่รวมเบี้ยประกันสุขภาพ จะยังคงสูงกว่าเบี้ยประกันต่อหัวโดยเฉลี่ยของคนจีน”

คอลัมน์ประกัน หนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์ ปีที 26 ฉบับ 573 ประจำเดือนมีนาคม 2558 หน้า 35



INSURANCETHAI.NET
Line+