เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง
113
เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง
เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง
นาทีที่คุณหมอ เอ่ยถึงผลการตรวจกับสุภาวดี ว่าเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ทุกลมหายใจเข้าออกของเธอคือการนับถอยหลัง
ถึงตอนนี้ย่างเข้าเดือนที่ 7 แล้ว เธอยังคงใช้ชีวิตแบบปกติ ยิ้มแย้มให้กับผู้คนรอบข้าง ซึ่งถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทหรือญาติ ไม่มีใครรูเลยว่า แม่บ้านวัย 40 ปี กำลังป่วยเป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง
คุณแม่ลูก 2 ชาวอำเภอมวกเหล็ก เล่าว่า เธอมาพบคุณหมอด้วยอาการไอมาก คล้ายกับคนแพ้อากาศ ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะอากาศเย็นช่วงเช้าที่บ้านสระบุรีทำให้ไอ แต่ไม่ถึงกับไอจนเจ็บหน้าอก แต่เธอก็ไม่ปล่อยปละ และตัดสินใจไปตรวจสุขภาพ คำตอบที่เธอได้รับไม่ใช่แค่คออักเสบ ความระบบทางเดินหายใจผิดปกติธรรมดา ผลตรวจชิ้นเนื้อบอกว่าเธอมีก้อนเนื้อร้ายในปอด
"หมอบอกให้ทำใจ เพราะป่วยเป็นมะเร็งปอดในขั้นที่ 4 มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน แต่ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนตายไปวินาทีแรกที่ได้ยินข่าวร้ายแล้ว คือไม่มีความหวังว่าจะอยู่ได้ เราก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะมีปาฏิหาริย์อยู่บ้าง"
ภาพแรกที่นึกถึงผู้ป่วยมะเร็ง คือ ร่างกายทรุดโทรม ผมร่วง เพราะได้รับการฉายรังสีรักษา ทำเคมีบำบัด ยิ่งทำให้เธอรู้สึกเครียดมากขึ้น แต่เธอไม่ยอมแพ้ พยายามหาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ไม่สว่าจะเป็นหนังสือ อินเทอร์เน็ต ข้อมูลทุกอย่างที่หาได้ จนวันหนึ่งได้พบกับคุณหมอที่โรงพยาบาลหนึ่ง หมอให้กำลังใจว่า ยังมีวิธีรักษามะเร็งที่ช่วยได้ หลังจากได้คุยกับคุณหมอก็รู้สึกว่ามีความหวังขึ้นมาก และตกลงที่จะรักษามะเร็งในทันที
กระบวนการรักษามะเร็งปอดของสุภาวดีเริ่มต้นใหม่หมด ตั้งแต่ตรวจชิ้นเนื้อเพื่อดูว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ หากเป็นมะเร็งเป็นชนิดที่เป็นเกิดจากความผิดปกติของยีนหรือไม่ และลุกลามจากปอดไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่นสมอง และกระดูก แล้วหรือยัง
ศ.ดร.นพ.ทองปลิว เปรมปรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จากศูนย์มะเร็งและพันธุกรรมบำบัด โรงพยาบาลปิยะเวท บอกว่า ผลจากห้องปฏิบัติการสามารถระบุความผิดปกติของก้อนเนื้อร้ายบริเวณปอดของสุภาวดีว่าเกิดจากความผิดปกติของยีน 2 ชนิด เป็นการกลายพันธุ์ ในตำแหน่งยีนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคมะเร็ง และเสนอแนวทางการรักษามะเร็งด้วยกระบวนการที่เรียกว่า พันธุกรรมบำบัด
"การรักษามะเร็งด้วยพันธุกรรมบำบัดยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่มีแนวโน้มเป็นการรักษามาตรฐานในอนาคต เพราะเอาเข้าจริง มะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ โดยมีต้นกำเนิดจากพันธุกรรม อาหารเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยง" คุณหมอกล่าว
วิวัฒนาการทางการแพทย์นำให้ทราบกลไกและบทบาทของยีนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย และยังตรวจสอบได้ว่ายีนตัวใดในเนื้อมะเร็งที่เกิดการกลายพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้องกับคนไข้
ปัจจุบัน ในวงการแพทย์ยอมรับว่ามียีนอย่างน้อย 3 ตัวที่เกี่ยวข้องกับกลไกการสร้างเส้นเลือด ประกอบด้วยยีน EGFR , KRAS และ VEGF สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยา Anti-Gene เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และเกิดการกลายพันธุ์ได้
เมื่อดูจากสถิติจะพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งราว 30-40% หรือ 2-3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด ซึ่งพบอัตรารอดชีวิตจากการรักษาเพียง 15% โดยเพศชายเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ ขณะที่เพศหญิงเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอดไม่แพ้เพศชาย
การรักษาโรคมะเร็งแนวทางมาตรฐาสยังคงใช้วิธีการผ่าตัด ให้รังสี และเคมีบำบัด แต่ก็ยังไม่ใช่การรักษาที่ดีที่สุด เพราะในผู้ป่วยบางรายมีอาการข้างเคียง ในขณะที่บางรายกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำในบริเวณอื่น ดังนั้นในทางการแพทย์จึงเชื่อว่าการรักษาด้วยเทคนิคพันธุกรรมบำบัดจะเป็นการ รักษาที่ต้นต่อของยีน ดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรม ที่ผิดปกติ จนก่อให้เกิดก้อนเนื้อร้ายตามมา
เทคนิคดังกล่าวถูกนำมาใช้คัดกรองผู้ป่วยในกรณีที่มีประวัติครอบครัวเป็น มะเร็ง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยสามารถเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอหาความผิดปกติของยีนได้ตั้งแต่ยัง ไม่เป็นมะเร็ง เพื่อช่วยป้องกัน และดูแลตัวเองในอนาคต ยิ่งรู้ล่วงหน้ารวดเร็วเท่าไรยิ่งช่วยให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น
"การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดต้องได้รับความร่วมมือจากคนไข้เป็นอย่างมาก คนไข้ควรที่จะมีความรู้รอบตัว เกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่บ้าง" คุณหมอกล่าวและว่า ในอนาคตการรักษาจะเป็นแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น มะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยวิธีปกติได้ผลดี เช่น มะเร็งปากมดลูก ไม่จะเป็นต้องรักษาด้วยเทคนิคทางพันธุกรรม
สุภาวดี บอกว่า การรักษาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น ถึงจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ท้องเสีย และมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า แต่ก็เป็นผลข้างเคียงที่เล็กน้อย คุณหมอบอกว่าหลังจากการรักษาแล้ว ผื่นแดงจะค่อยๆ หายไป แม้ตอนนี้จะเสียเงินค่ารักษาไปมากกว่า 4 ล้านบาท เพราะต้องฉีดยา 2 อาทิตย์ครั้ง เข็มละ 1.5 แสนบาท เนื่องจากยาที่ผลิตมามีราคาสูงมาก แต่สิ่งที่เธอได้รับคือ ปาฏิหาริย์ไม่ใช่ความหวังลมๆ แล้งๆ เธออาจกลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติได้อีกไม่ช้า
"เรายังไม่ตาย ชีวิตเรายังอยู่ได้ ไม่ได้เป็นอะไร ตอนนี้ไม่ได้รู้สึกว่าป่วยเลย โชคดีที่มีสามีคอยให้กำลังใจดีมาก เขาบอกให้เปลี่ยนมะเร็งให้เป็นพลัง และเราก็ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน" ผู้ป่ายโรคมะเร็งกล่าวด้วยกำลังใจเต็มเปี่ยม
แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
INSURANCETHAI.NET