ฟ้องแพทย์ฐาน“ใช้เครื่องมือทางการแพทย์(ผ่าตัด)ไม่เหมาะสม”
1136

ฟ้องแพทย์ฐาน“ใช้เครื่องมือทางการแพทย์(ผ่าตัด)ไม่เหมาะสม”

ที่ผ่านมา คำฟ้องร้องหรือคำกล่าวหาต่อแพทย์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมมักเป็นไปใน
เรื่องของการกล่าวหาในลักษณะดังต่อไปนี้
- ทอดทิ้ง ไม่ดูแลผู้ป่วย
- ละเลย ไม่สนใจไม่ใส่ใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการบอกกล่าวต่อแพทย์
- ประมาทหรือละเลยมาตรการที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้ป่วย
- การปฎิเสธการพูดคุย การให้คำอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นมักลงเอยด้วยการกล่าวหาแพทย์ในประเด็นจริยธรรม หรือฟ้องร้องต่อศาลในความผิดอาญา
ฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรือ ฟ้องความผิดฐานแพ่งในประเด็นละเมิดและเรียกค่าชดเชยในรูปของสินไหม
มีกรณีฟ้องร้องแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขในความผิดทางแพ่งว่าด้วยละเมิดคดีหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็น
อุทธาหรณ์ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงสังวรณ์ว่า แม้จะให้การรักษาเต็มที่ แต่ก็ยังสามารถถูกฟ้องร้องว่า “ใช้เครื่องมือ
ทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม” ทำให้เกิดความเสียหาย

คำฟ้องโดยย่อ

โจทก์ฟ้องแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
เป็นจำเลยในความผิดฐานละเมิด โดยมีใจความโดยย่อดังนี้

โจทก์คลอดก่อนกำหนด (ผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจฟ้องแทน) มีน้ำหนักแรกคลอด 1,030 กรัม ในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคู่สัญญาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเหตุที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย จึงต้องอยู่ในตู้อบ ระหว่างนั้นแพทย์ตรวจพบว่า จอประสาทตาของโจทก์มีปัญหาและแนะนำให้ย้ายไปที่โรงเรียนแพทย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ จักษุแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ตรวจพบว่ามีปัญหาของจอประสาทตาในระดับ 3 ต้องรักษาด้วยการยิงด้วยเลเซอร์ แต่เนื่องจากเครื่องเสีย จึงให้การรักษาด้วยเครื่องจี้เย็นแทน หลังการจี้เย็นทำให้โจทก์ตาบวมช้ำทั้งสองข้าง มีเลือดออกในตาดำและวุ้นลูกตา ปอดไม่ทำงานหายใจลำบากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานเดือนเศษ และแพทย์ให้ข้อมูลว่า จอประสาทตาทั้งสองข้างของโจทก์หลุดลอกหมด ต้องส่งไปผ่าตัดในกรุงเทพมหานคร แต่บิดาโจทก์ไม่พาโจทก์ไปรักษาต่อเพราะเห็นว่าบอบช้ำมากแล้ว แต่นำพาโจทก์กลับไปยังรพ.เดิมที่ทำคลอดให้ แพทย์แจ้งว่าตาบอดสนิทไม่มีทางรักษาได้อีกต่อไป

โจทก์เห็นว่าแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งสองแห่งประมาทไม่ใช้ความระมัดระวังในการรักษาตามควรทำให้ตาบอดสนิททั้งสองข้าง โดยบรรยายฟ้องเพิ่มเติมว่า เมื่อเครื่องเลเซอร์เสีย ก็ควรส่งไปรักษาต่อที่อื่น แต่กลับไปใช้เครื่องจี้เย็นซึ่งมีอันตรายและมีผลข้างเคียงมากกว่า อีกทั้งการรักษาก็ควรทำทีละข้าง ไม่สมควรทำทั้งสองข้างพร้อมกัน ทำให้ตาทั้งสองบอดสนิทโดยไม่มีโอกาสแก้ไขใดๆ จึงฟ้องร้อง แพทย์และหน่วยงานของ กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะตัวการ และฟ้องร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะตัวแทน (คู่สัญญาของหลักประกันสุขภาพ)ให้ชดใช้เงินทั้งหมด 13,000,000 บาท

ข้อน่าสังเกตในคำบรรยายฟ้องคือ โจทก์เพิ่งทราบตัวแพทย์ผู้รักษาเมื่อเกิน 4 ปีเศษผ่านไปนับจากวันเริ่มให้การรักษาจึงได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสไว้ด้วย

คำแก้ฟ้องของจำเลย

จำเลยทั้งสามร่วมกันแก้ฟ้องโดยย่อดังนี้

- คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าใครกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร วันเวลาใด และคดีก็ขาดอายุความไปแล้ว

- การผ่าตัดคลอดมิใช่สาเหตุที่ทำให้ตาบอด แต่จอประสาทตาที่ผิดปกตินั้นเกิดจากภาวะคลอดก่อนกำหนด

- จำเลยที่หนึ่งซึ่งขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ให้การว่าโจทก์มีน้ำหนักแรกคลอดเพียง 990 กรัมและได้ทำหน้าที่รักษาเต็มที่แล้วตั้งแต่ภายหลังคลอด ก็นำเข้าตู้อบ รักษาโรคแทรกซ้อนของการคลอดก่อนกำหนดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการให้เลือด การช่วยการหายใจเมื่อตัวเขียว การรักษาภาวะติดเชื้อ อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งโจทก์ไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองปัญหาเรื่องจอประสาทตาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งพบได้เป็นประจำเมื่อตรวจพบและไม่สามารถรักษาได้ก็ทำการส่งต่อผู้ป่วยตามขั้นตอน

- จำเลยที่สองซึ่งขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การรักษาเต็มที่แล้ว การรักษาด้วยเลเซอร์หรือเครื่องจี้เย็นนั้นได้ผลเทียบเท่ากันตามเอกสารอ้างอิงที่ได้นำมาใช้เป็นพยาน

- ความรุนแรงของโรคในระดับ 3 โซน 2 360 องศาร่วมกับมีเส้นเลือดจอประสาทตาคดเคี้ยวทั้งสองข้างนั้น ถือเป็นภาวะเร่งรีบในการให้การรักษาภายใน 72 ชั่วโมง หากช้าไปตาอาจบอดได้ จึงได้อธิบายวิธีการรักษาด้วยเครื่องมือทั้งสอง รวมทั้งข้อดีข้อเสียแล้ว แม้ว่าเครื่องเลเซอร์จะเสีย แต่การใช้เครื่องจี้เย็นก็ถือเป็นมาตรฐานได้ อีกทั้งไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะต้องใช้แต่เครื่องเลเซอร์

- การรอรักษาทีละข้างนั้น จะทำให้โรคลุกลามและไม่ทันต่อการรักษา จนนำไปสู่อาการตาบอดได้

- ดังนั้นคำให้การของพยานโจทก์ (ซึ่งมิใช่จักษุแพทย์ และเป็นแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพด้วยการทำศัลยกรรมความงาม) ที่กล่าวว่าแพทย์รักษาผิดเพราะใช้เครื่องมือไม่เหมาะสม และให้การรักษาตาทั้งสองข้างพร้อมกัน จึงเป็นคำให้การที่ผิดไปจากความเป็นจริงตามมาตรฐานวิชาชีพ

- จำเลยร่วม อีกท่านซึ่งเป็น “แพทย์ประจำบ้าน” ในสาขาจักษุวิทยา อยู่ระหว่างการเรียน ไม่ได้รับผิดชอบในการรักษา
จึงขอให้ยกฟ้อง

- เมื่ออนุญาตให้กลับได้หลังการรักษานานเดือนเศษ แพทย์ก็ได้นัดตรวจตามปกติ ระหว่างการตรวจตามนัดก็พบว่าการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้ผล หากจะต้องผ่าตัดก็ขอให้ไปรับคำแนะนำในเรื่องการรักษาต่อที่กรุงเทพ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญกว่าอยู่

- จำเลยที่สามคือ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มิได้มีนิติสัมพันธ์โดยตรงในการรักษาโจทก์ มิได้เป็นผู้ก่อความเสียหาย เป็นเพียงผู้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปให้ จำเลยมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลหน่วยบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข หากพบว่าผู้รับบริการไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือตามสิทธิ หรือมีการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ จำเลยที่สามก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน ดังนั้นจำเลยที่สองจึงมิได้อยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่สาม จำเลยที่สามจึงไม่ต้องร่วมรับผิดใดๆ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องเอากับจำเลยที่สาม (ให้ไปเรียกร้องยังจำเลยทั้งสอง?)

แนวทางพิจารณาและคำพิพากษาของศาล

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นเรื่องขาดอายุความเป็นประเด็นหลักที่จำเลยทั้งสามต่างใช้สิทธิโต้แย้งว่า “คดีขาดอายุความ” จึงได้พิจารณาในประเด็นนี้ก่อน ซึ่งประเด็นนี้โจทก์อ้างว่าระหว่างสามสี่ปีที่ผ่านมาได้ไปพบแพทย์หลายคนจนในที่สุดได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และได้รับคำตอบว่าไม่มีทางหายขาด อีกทั้งโจทก์กล่าวอ้างว่าไม่แน่ใจว่าตาบอดเพราะการกระทำของหมอหรือไม่ จึงยังไม่ได้ฟ้องร้อง แต่ไปใช้สิทธิเรียกร้องตาม ม. 41 แห่งพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดก็ถูกยกว่าไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าโจทก์ได้รับทราบตั้งแต่นั้นแล้วว่าเกิดความเสียหาย

ประเด็นที่โจทก์ยกเอาอายุความอาญาซึ่งยาวกว่ามาใช้ฟ้องร้องทางแพ่งนั้น ต้องเป็นกรณีที่ใช้สิทธิเรียกร้อง
จากผู้กระทำผิดทางอาญาเท่านั้นจึงจะนำมาใช้ได้

ประเด็นที่โจทก์อ้างว่า การฟ้องร้องทำล่าช้าเพราะไม่ทราบชื่อผู้กระทำผิดนั้น ศาลเห็นว่า โจทก์รับทราบแล้วตั้งแต่ต้นว่าใครน่าจะเป็นผู้กระทำผิด เพราะไปรักษากับแพทย์ท่านนั้นมาตั้งแต่แรกและมีการพบปะกันหลายครั้ง การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า “ไม่ทราบชื่อ” นั้น หาฟังได้ไม่เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า “...นับแต่รู้ถึงการละเมิด และ รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม....” แสดงให้เห็นแล้วว่ากฎหมายไม่ได้มุ่งหมายว่าต้องรู้ชื่อด้วย ขอเพียงรู้ตัวก็พอ

ส่วนประเด็นที่โจทก์อ้างว่า แพทย์ท่านหนึ่ง(ทำงานแถวประตูน้ำ)ให้ข้อมูลว่า แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์รักษาผิดพลาดด้วยเหตุที่ไม่ยอมยิงเลเซอร์แต่ไปใช้เครื่องจี้เย็น อีกทั้งยังไม่ควรรักษาตาสองข้างพร้อมๆ กันนั้น ศาลเห็นว่าไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะคดีขาดอายุความแล้ว

พิพากษา “ยกฟ้อง”

บทเรียนจากคดีนี้

แม้ว่าที่สุดแล้วจำเลยทั้งสามจะอยู่รอดปลอดภัย แต่คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ดังนี้

- คดีนี้นับเป็นคดีแรก ๆ ที่มีการฟ้องร้องในฐานใช้เครื่องมือการรักษาไม่เหมาะสม (ในความเห็นของโจทก์) เพราะที่ผ่านมามักเป็นการฟ้องร้องว่า ไม่ได้รักษา ผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นที่น่าวิตกว่า หากศาลเชื่อตามพยานโจทก์ (ที่ทำงานคลินิก และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางปฏิบัติ เป็นแต่ทางตำรา) และพิพากษาให้โจทก์ชนะ จะเกิดอะไรขึ้นในวงการแพทย์ สถานีอนามัย รพ.ชุมชน รพ.จังหวัด และแม้แต่รพ.ศูนย์คงต้องหยุดการรักษาโรคซับซ้อนทั้งหมดไว้ก่อนทันที เพราะรพ.เหล่านี้ไม่มีทางที่จะมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเท่ากับโรงเรียนแพทย์ และแม้แต่โรงเรียนแพทย์เองก็คงต้องจัดประกวดว่าใครมีเครื่องมือที่ดีที่สุด และคอยรับผู้ป่วยที่จะถูกส่งต่อทันทีจากทุกสารทิศเพื่อให้ได้มาตรฐานตามคำพิพากษา(ถ้ามีคำพิพากษาในลักษณะนี้ออกมา)

- คดีนี้โจทก์ไม่โทษตนเอง หรือ บุญกรรมที่ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด และแม้ว่าแพทย์จะเป็นผู้ค้นพบ(คัดกรอง)โรคดังกล่าวและเป็นฝ่ายเริ่มให้การรักษา แต่ดูเหมือนบุญคุณตรงนี้จะไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ป่วย(โจทก์)แม้แต่น้อยเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากว่าศีลธรรม ความละอายต่อบาป ความกตัญญู นั้นไม่สามารถต่อสู้กับ พระเจ้าเงินตรา ได้เลยทำให้โจทก์ไม่เห็น บุญคุณความดีของทีมแพทย์ที่พยายามทุกอย่างเพื่อรักษาโรคให้กับผู้ป่วยแล้ว

- คดีนี้แพทย์ประจำบ้าน ตกเป็นจำเลยร่วมด้วย ซึ่งในคำแก้ฟ้องนั้น นับว่าอาจารย์แพทย์ และหน่วยงานยังปราณีที่ให้การในลักษณะตัดแพทย์ประจำบ้านออกจากคดีไปเลย โดยระบุว่าไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นเพียงนักเรียนที่มาเรียนรู้งานรักษาทางจักษุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีบัญญัติเรื่อง ตัวการตัวแทนหรือความรับผิดร่วมกันในฐานะอาจารย์ลูกศิษย์ หรือนายจ้างกับลูกจ้างไว้ น่าสนใจว่าหากไม่ยกฟ้องเพราะเรื่องอายุความ คดีนี้ศาลจะตัดแพทย์ประจำบ้านออกจากคดีด้วยหรือไม่

- คดีนี้ทำให้เห็นชัดว่า “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” อธิบายตัวตนไว้ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า “รับแต่ชอบไม่รับผิด” มีหน้าที่เพียงให้เงินหน่วยบริการและคอยกวดขันให้ทำการรักษาตามมาตรฐานสถานบริการที่ตกลงกันไว้ (ไม่ทราบว่าตกลงไว้อย่างไร จึงรับแต่ชอบได้ ไม่ต้องรับผิด ทั้งๆ ที่เป็นคนกุมเงินไว้ทั้งหมด และเงินก้อนนี้เป็นตัวตัดสินมาตรฐานของหน่วยบริการและมาตรฐานวิชาชีพ) และประเด็นเรื่องมาตรฐานที่สปสช.พยายามใช้อำนาจตามมาตรา 18 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาควบคุมเลยเถิดไปถึงมาตรฐานวิชาชีพนั้น ถูกต้องหรือไม่ ที่แน่ๆ คือ หากเกิดปัญหาในการรักษาพยาบาล บุคลากรไม่ต้องหวังให้สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติช่วยเหลือใดๆ ...ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

- ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าสนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำเกินอำนาจหน้าที่ เพราะมีการออกข้อบังคับที่คาบเกี่ยวกับ “มาตรฐานวิชาชีพ” ซึ่งเป็นอำนาจของสภาวิชาชีพ ไม่ใช่ของสนง.แต่อย่างใด เป็นต้นว่า การออกกฎว่าให้รักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ โรคนี้หากรักษาไปจะไม่จ่ายค่ารักษาให้ หรือจ่ายให้ไม่เต็มตามความเป็นจริง การออกกฎบังคับให้ใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ที่ตนเห็นชอบเท่านั้น เหล่านี้น่าจะเป็นการก้าวก่ายมาตรฐานวิชาชีพซึ่งหากเกิดปัญหาในการรักษา ความรับผิดชอบอยู่ที่ใครกันแน่ ระหว่างแพทย์ผู้รักษา(และต้องทำตามกฎของสปสช.) หรือ หน่วยงาน หรือ สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

- คดีนี้ศาลยกฟ้องเพราะอายุความเป็นหลัก แต่บอกใบ้ว่าหากต้องการฟ้องแพ่งในกรณีอายุความเกินกำหนดต้องฟ้องอาญาแพทย์ด้วย จึงจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความ 10 ปีมาใช้ฟ้องทางแพ่งได้ ..... ดังนั้นแพทย์พยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้งหลาย โปรดเตรียมตัวเตรียมใจโดนฟ้องอาญาควบแพ่งไว้ทุกรายและต้องทำใจเพราะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในกรณีคดีอาญา (คดีอาญาไม่สามารถฟ้องหน่วยงานให้เป็นจำเลยแทนตัวเราได้)?

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (พ.บ., ประสาทศัลยศาสตร์, น.บ.)
Medical Progress June 2011



INSURANCETHAI.NET
Line+