แพ้คดีฟ้องแพทย์ จ่ายยาผิด เร่งรัฐคลอด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
1137

แพ้คดีฟ้องแพทย์ จ่ายยาผิด เร่งรัฐคลอด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

11 นาฬิกา วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 นางบังอร แสงโชติ อายุ 50 ปี เดินลงบันไดหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี ด้วยสีหน้าผิดหวัง หลังจากเพิ่งรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องคดีที่ นายเสนาะ แสงโชติ สามีของเธอ ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด จากการที่แพทย์จ่ายยาจนตาเกือบบอดและไตวายเรื้อรัง โดยเรียกค่าเสียหาย,พ.ร.บ.ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นเงิน 3,742,000 บาท โดยนายเสนาะไม่มีโอกาสได้รับฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง เพราะเสียชีวิตไปก่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

“ ถึงแพ้คดี ฉันก็จะสู้ถึงศาลฎีกา” นางบังอร กล่าวขณะร่ำไห้ต่อหน้าสื่อมวลชน 

“คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นสรุปว่า “..แพทย์โรงพยาบาลพนัสนิคมดูแลรักษาโจทก์ได้มาตรฐาน ตามที่แพทย์ทั่วไปให้การรักษา อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ตั้งกรรมการสอบสวน ก็มีผลออกมาว่าแพทย์โรงพยาบาลพนัสนิคม ดูแลรักษาได้มาตรฐานไม่เป็นการประมาท เลินเล่อแต่อย่างใด ส่วนคำเบิกความของพยานแพทย์ฝ่ายโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังไม่ขึ้น เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ตรวจรักษานายเสนาะด้วยตัวเอง ” นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งไปให้กำลังใจนางบังอร กล่าวกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา

เมื่อปลายปีที่แล้ว บังอรกับเสนาะ เป็นข่าวทางสื่อมวลชน เมื่อเธอพาสามีเดินทางไปหน้ารัฐสภา ประกาศขายไตข้างหนึ่ง เพื่อหาเงินไปวางในศาลเป็นค่าธรรมเนียม 7 หมื่นบาท ในการสู้คดีขั้นอุทธรณ์ บังอร กล่าวกับผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวอิศรา” ในเวลานั้นว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เป็นวันที่จะต้องนำเงิน 7 หมื่นบาทไปวางเป็นค่าธรรมเนียมศาล แต่ไม่มีเงินจึงประกาศขายไตของตนเองข้างหนึ่งให้กับใครก็ได้ที่ต้องการ เพื่อแลกกับเงินไปวางค่าธรรมเนียมในศาล ต่อมา มีผู้บริจาคและได้รับความช่วยเหลือจากสำนักคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ได้เงินไปทันวางในศาล แต่ผลการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ สามีของเธอผู้ล่วงลับแพ้คดีอีก 

จากปากคำของนางบังอรซึ่งให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวอิศรา” ประกอบกับข้อมูลจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ก่อนการสู้คดีในศาลอุทธรณ์ เริ่มจาก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 นายเสนาะไปรักษาอาการปวดตึงที่มือ ขาและไหล่ ที่โรงพยาบาลพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แพทย์วินิจฉัยว่านายเสนาะเป็นโรคข้ออักเสบ แล้วเจาะเลือด เอ็กซเรย์ ให้ยาแก้ปวดและแก้อักเสบไปทานต่อที่บ้าน 1 สัปดาห์ต่อมา แพทย์แจ้งว่าผลเลือดว่ามีกรดยูริกสูง นายเสนาะ เป็นโรคเก๊าท์ สั่งจ่ายยาไปทานต่อที่บ้าน วันที่ 3 พฤษภาคม 2550 แพทย์นัด ให้ยารักษาโรคเก๊าท์ไปทานต่อที่บ้าน นัดตรวจอีกครั้งในอีก 1 เดือนถัดไป

นายเสนาะกินยาตามแพทย์สั่งไปได้ 7 วัน ก็มีผื่นคันที่ผิวหนังและตามลำตัว ตาแฉะทั้งสองข้าง ปากเริ่มพองเป็นแผล และมีไข้หนาวสั่น จึงไปฉีดยาแก้แพ้ที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่ง แล้วไปพบหมอที่โรงพยาบาลพนัสนิคมก่อนกำหนดวันนัด แพทย์วินิจฉัยว่าแพ้ยาธรรมดา สั่งให้ยาแก้แพ้ให้ไปทานต่อที่บ้าน ให้ยาหยอดตา แก้คัน 1 ขวด จากนั้นให้กลับบ้านโดยมิได้นัดให้กลับไปตรวจอีก ก่อนกลับแพทย์ได้ยึดยาที่เคยกินแล้วแพ้เอาไว้ นายเสนาะกลับบ้านกินยาแก้แพ้ แต่ผื่นยังลามไปเรื่อย ๆ มีอาการแสบตา และตามัว มีอาการเจ็บปากจนรับประทานอาหารไม่ได้ มีไข้หนาวต้องนอนคลุมโปง มองสิ่งของไม่เห็นชัด ถึงขั้นเดินชนสิ่งของในบ้าน

วันที่ 12 พ.ค. 2550 นายเสนาะเปลี่ยนไปรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงที่ชื่อว่า สตีเว่นส์ จอห์นสัน ซินโดรม จึงรับตัวไว้รักษา

วันที่ 15 พ.ค. 2550 นายเสนาะย้ายออกจากโรงพยาบาลสมิติเวชไปพักรักษาตัวที่บ้านเนื่องจากค่าใช้ จ่ายสูง และไปรักษาต่อตามนัดในแผนกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลสมิติเวช ต่อเนื่องกันมา แต่นายเสนาะร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม เพราะตามัวมองไม่ชัด เคืองตาและแสบตา ต้องหยอดน้ำตาเทียม และมีปัญหาไตวายจากการแพ้ยา ต้องรักษาต่อเนื่อง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 นายเสนาะได้ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลจังหวัด นนทบุรี ต้นสังกัดโรงพยาบาลพนัสนิคม สรุปว่า

“การกระทำของแพทย์โรงพยาบาลพนัสนิคมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการรักษาโรคให้ แก่โจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ ของแพทย์ ซึ่งอาจใช้ความระมัดระวังได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้โจทก์แพ้ยาอาการทรุดหนักจนพิการทุพพลภาพ คือเมื่อโจทก์ได้รับยาจากแพทย์ในสังกัดของจำเลยไปกินต่อที่บ้านเกิดมีอาการ แพ้ยารุนแรง มีผื่นคัน ตาแฉะ ปากพองเป็นแผล และมีไข้ ครั้นโจทก์กลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลดังกล่าวก่อนกำหนดนัด อาการของโจทก์ดังกล่าวแพทย์ควรวินิจฉัยว่า โจทก์มีอาการแพ้ยารุนแรงที่เรียกว่า สตีเว่นส์ จอห์นสัน ซินโดรม เพราะชีพจรโจทก์เต้นเร็วผิดปกติ การหายใจเริ่มหอบเหนื่อย 

แพทย์ควรที่จะซักถามประวัติเรื่องเป็นไข้ และวัดปรอทแก่โจทก์ ทั้งต้องรับตัวโจทก์ไว้โรงพยาบาลเพื่อรักษา ให้น้ำเกลือ ดูแลรักษาตาและให้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เพราะยาสเตียรอยด์ชนิดกินที่ชื่อเพรดนิโซโลนที่แพทย์สั่งให้โจทก์กินขนาดวัน ละ 15 มิลลิกรัม นั้นน้อยไป (ต้องกินวันละ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผู้ป่วย1 กิโลกรัม) แพทย์ย่อมต้องรู้ตามหลักวิชาว่าลำไส้ของโจทก์ควรมีอาการบวมอักเสบซึ่งทำให้การดูดซึมยาไม่ได้ดีตามปกติ จึงควรฉีดยาเข้าเส้นเลือดจึงจะได้ผลแน่นอน แต่แพทย์ของจำเลยกลับสั่งยาไม่ถูกขนาด ไม่รับโจทก์ไว้รักษาต่อในโรงพยาบาล ไม่ส่งปรึกษาจักษุแพทย์ หรือส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัดซึ่งมีแพทย์พร้อมกว่า ทั้งไม่นัดโจทก์ให้มาตรวจอีกในวันรุ่งขึ้นจึงเป็นเหตุให้อาการโจทก์ทรุดหนัก โจทก์ต้องไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 ซึ่งล่าช้าเกินไปแล้ว สายตาของโจทก์ต้องเสียหาย ร่างกายอ่อนแอ และเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งนับว่าเป็นคนพิการทุพพลภาพ ประกอบอาชีพการงานไม่ได้ดังเดิมจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์”

การยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นการฟ้องอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้สู้คดีอย่างคนอนาถา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ต่อมา ศาลพิพากษายกคำฟ้องของนายเสนาะ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า

“..ที่โจทก์อ้างว่าอาการแพ้ของโจทก์ตามฟ้องน่าจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นแบบสตี เว่นส์ จอห์นสัน ซินโดรม แต่คำเบิกความของบรรดาแพทย์ส่วนใหญ่ที่ตรวจอาการของโจทก์ต่างไม่ยืนยันอาการ แพ้ดังกล่าวของโจทก์ว่าเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของแพทย์ในสังกัด จำเลยโดยแจ้งชัด เช่นนี้ จะให้ศาลฟังตามยังไม่ถนัด ส่วนการที่ไม่รับตัวโจทก์เข้ารักษาในโรงพยาบาลก็เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากสภาพอาการป่วยของโจทก์เป็นสำคัญซึ่งนับว่ามีเหตุผล คดีโจทก์ไม่พอฟังว่า แพทย์ของจำเลยประมาทเลินเล่อ ส่วนความเสียหายของโจทก์ตามฟ้องหากจะมีจริงก็มีผลสืบเนื่องมาจากสภาพโรค พยาธิของตัวโจทก์เอง หาให้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของแพทย์ฝ่ายจำเลยไม่ พิพากษายกฟ้อง”

ต่อมา วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดนนทบุรี)นางปรียนันท์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยซึ่งได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์แพ้คดีในศาลแทบทุกราย โดยรายของนายเสนาะ เป็นรายล่าสุดซึ่งคาดไว้ตั้งแต่ต้นว่าคงแพ้คดีอีก เพราะผู้ป่วยไม่ได้ต่อสู้กับแพทย์แต่ต่อสู้กับระบบ ต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยสรุปสาเหตุ 5 ประการ ไว้อย่างน่าสนใจ คือ

“ 1.คนไข้ต้องสู้กับอำนาจรัฐ และอำนาจความรู้

2. เวชระเบียน ( ประวัติคนไข้) หลักฐานเดียวในที่เกิดเหตุอยู่ในมือรพ.แก้ไขได้, ดึงส่วนสำคัญออกได้ หรือเขียนใหม่ได้ ขณะเดียวกันแพทยสภาก็มีทีมหมอที่จบกฎหมาย คอยตรวจสอบเวชระเบียน ก่อนอนุญาตให้คนไข้ถ่ายสำเนา

3.แพทย์ฝ่ายโรงพยายาลมักมาเบิกความไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่มักสอดคล้องกับเวชระเบียนที่ถูกแก้ไข

4.ฝ่ายฝ่ายโรงพยาบาลมักมีพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยมาเบิกความช่วย

5.พยานแพทย์ฝ่ายคนไข้หาแทบไม่ได้ เท่าที่มีอยู่ก็ไม่กี่ท่าน และมักถูกมองว่าไม่ได้เป็นคนตรวจรักษา”

นายปรียนันท์ ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา คนไข้ชาวไทยผู้รับบริหารทางสาธาณสุขมี 4 ประเภทคือ ผู้มีบัตรทอง ผู้มีประกันสังคม ผู้มีสวัสดิการข้าราชการ และจ่ายเองกับโรงพยาบาลเอกชน เมื่อได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ไม่มีระบบชดเชยความเสียหายมารองรับ มีเพียงคนไข้บัตรทองที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ที่มีเพดานสูงสุด 2 แสนบาท (ปัจจุบันปรับเป็น 4 แสนบาท) ในกรณีตายหรือพิการถาวร แต่ไม่ใช่เงินชดเชยและไม่สามารถบรรเทาความเสียหายระยะยาวได้ อีกทั้งไม่ครอบคลุมคนไข้สิทธิอื่น โดยคนไข้ได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องหาความเป็นธรรม เมื่อคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ สรุปได้คือ

“แพทยสภาใช้เวลาพิจารณา 3-8 ปี เมื่อมีมติก็มักเป็น “คดีไม่มีมูล” แพทย์รักษาได้มาตรฐานดีแล้ว เมื่อนำคดีเข้าสู่ศาลก็ไปพบกับการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน เวชระเบียนซึ่งเป็นหลักฐานเดียวในที่เกิดเหตุมักถูกแต่งเติม แก้ไขหรือเขียนขึ้นใหม่ได้ พยานแพทย์ของฝ่ายโรงพยาบาลล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยซึ่งเกื้อกูลกันเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่พยานแพทย์ฝ่ายคนไข้หาแทบไม่ได้ โดยแทบทุกคดีใช้เวลาในการต่อสู้นานนับ 10 ปี คนไข้มีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีจำนวนมาก ค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ ค่าเดินทาง หลายคดีที่คนไข้แพ้ถูกปรับใ ห้จ่ายค่าทนายฝ่ายโรงพยาบาลนับแสนบาท หลายคดีถูกสั่งให้นำค่าธรรมเนียมไปวางศาลนับแสนบาท ในการไกล่เกลี่ยโดยปกติมักกำหนดค่าชีวิตของพวกเราไว้ที่หลักแสนบาทโดยเฉลี่ย ซึ่งไม่เพียงพอกับความเสียหายระยะยาว”

ในปี 2545 คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย ให้ครอบคลุมคนไข้ทุกสิทธิ แทนการฟ้องร้องซึ่งคนไข้แทบไม่ชนะคดีเลย ระหว่างนั้นเกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ขึ้นอย่างหนัก มีคดีความฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงปลายปี 2549 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเวลานั้น มีบัญชาให้ยก ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... โดยมีเจตนารมณ์เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ หลักการสำคัญ คือมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้กับคนไข้ไทยทุกสิทธิ

มีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่พิจารณาการชดเชยที่รวดเร็วเป็นธรรม และมีการนำความผิดพลาดไปพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย

“ข้อดีของพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยลดจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล จะไม่มีการเสียเวลาร้องเรียนและต่อสู้คดีนานหลายปีอีกต่อไป จะไม่มีการพบกับการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป จะไม่มีการสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้อีกต่อไปความเสียหายทางจิตใจ และการดูแลรักษาระยะยาว จะได้รับการดูแลเร็วขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้กับบุคลาการทางการแพทย์จะกลับคืนมา มาตรฐานการรักษาและความปลอดภัยของคนไข้จะมีมากขึ้น เนื่องจากมีการนำความผิดพลาดไปพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย ลดการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เป็นวาระรอการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ได้แต่หวังว่า การต่อสู้เรียกร้องผ่านความเจ็บ ความตาย ความพิการ และความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสของคนไข้ไทยมานานกว่า 10 ปี จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ในการเร่งพิจารณาให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อประโยชน์และความสงบสุขของสังคมไทยต่อไป” นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศรา



INSURANCETHAI.NET
Line+