ปัญหาฟ้องร้องทางการแพทย์และแนวทางแก้ไข (1)
1139
ปัญหาฟ้องร้องทางการแพทย์และแนวทางแก้ไข (1)
ปัญหาฟ้องร้องทางการแพทย์และแนวทางแก้ไข (1)
https://www.doctor.or.th/clinic/detail/7043
การร้องเรียนและฟ้องร้องเรื่องทางการแพทย์ ดูเหมือนว่ากำลังจะเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และเป็นข่าวอยู่เสมอ ข่าวอันน่าตกใจในระยะหลังก็คือ นอกจากฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในวงเงินจำนวนมากแล้ว บางกรณีถึงขั้นฟ้องกันเป็นคดีอาญา.
สาเหตุของการฟ้องร้อง มีดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยหรือญาติ กับแพทย์ถือว่ามีความสำคัญมาก งานวิจัยต่างๆ ยืนยันตรงกันว่า สาเหตุการร้องเรียนหรือฟ้องร้องเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดี. ยิ่งในทุกวันนี้วิชาชีพแพทย์ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการให้ช่วยเหลือกันในเชิงมนุษยธรรม สถานพยาบาลหลายแห่งได้ ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการทำกำไรในเชิงธุรกิจ ซึ่งแพทย์ส่วนหนึ่งมีความคิดเช่นนี้. และที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ นักธุรกิจส่วนหนึ่ง มองความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่าเป็นกิจการที่จะทำกำไรได้ จึงมีการลงทุนแสวงหากำไรจากสิ่งที่เรียกว่า ธุรกิจโรงพยาบาล โดยอาศัยแพทย์เป็นผู้มีบทบาทที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้บรรลุผล. เมื่อเป็นเช่นนี้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหรือญาติ จึงถูกเปลี่ยนไป โดยปริยาย ประชาชนที่เคยมาพบแพทย์ด้วยความรู้สึกที่นับถือไว้วางใจที่เรียกว่า "fiduciary relationship" ได้กลับกลายเป็นความรู้สึกที่ว่ามาโรงพยาบาลเพื่อมาใช้บริการ มิใช่มารับบริการ พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ เขาคิดว่าเขามาซื้อบริการ. ความสัมพันธ์จึงเป็นไปในเชิงสัญญามิใช่ความนับถือส่วนบุคคล เมื่อเขาไม่ได้รับบริการตามที่คาดหมาย หรือตามที่โรงพยาบาลโฆษณาไว้ การเรียกร้องจึงเกิดขึ้น.
เมื่อบริการทางการแพทย์ส่วนหนึ่งได้ถูกทำให้เป็นธุรกิจ บุคลากรทางการแพทย์จึงเหมือนถูกว่าจ้างให้ทำงาน เกิดการซื้อตัวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ต่างๆ หรือโรงพยาบาลในภาครัฐ มาไว้ในโรงพยาบาลของตนหรือจ้างเป็นช่วงเวลา ซึ่งจำนวนเงินนั้นดูเหมือนมากเมื่อเทียบกับภาครัฐ แต่ถ้าเทียบกับจำนวนเงินที่โรงพยาบาลนั้นๆเก็บจากผู้ป่วย ตัวเลขยังห่างกันมาก ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวิชาชีพแพทย์ถูกทำให้เป็นธุรกิจก็จะเกิดการแข่งขัน การใส่ความกันระหว่างสถานพยาบาลเพื่อดึงดูด ผู้ป่วยจึงเกิดขึ้น บางกรณีได้ลามไปจนถึงการใส่ ความหรือทับถมระหว่างแพทย์และแพทย์ด้วยกันเอง.
สำหรับโรงพยาบาลในภาครัฐ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในแต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้การตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรคและการสั่งยาต้องเป็นไปอย่างเร่งรีบ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ อีกทั้งบุคลากรที่มีฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล ได้ถูกซื้อตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหนึ่งไปดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นคนต่างชาติ ตามนโยบาย Medical hub คือ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์สุขภาพในเอเชีย. ปัญหาเช่นนี้ต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้รับผิดชอบในภาครัฐที่จะต้องหาทางแก้ไข การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ อีกทั้งต้องปรับปรุงค่าตอบแทนให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไหลออก. ในขณะเดียวกันการสร้างระบบและสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องสำคัญ การส่งเสริมให้มีการสร้างเสริมสุขภาพ จึงถือว่าสำคัญกว่าการซ่อมสุขภาพ เพราะจะทำให้จำนวนคนไข้ในลดลง ซึ่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่เน้นการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ จะมีส่วนช่วยให้เกิด ความเข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหานี้ได้.
2. ความรู้และการรับรู้สิทธิของประชาชน ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ประชาชนได้รับความรู้และรับรู้สิทธิของตนมากขึ้น การให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วยหรือญาติจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการรักษาหรือแม้เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็ต้องอธิบายด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การใช้คำรวมๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะแพ้ยา ดูเหมือนจะไม่เหมาะสมในสังคมทุกวันนี้ การบันทึกขั้นตอนการรักษาในเวชระเบียนจึงถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและถือเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะขอดูได้.
3. ความเข้าใจในบทบาทขององค์กรวิชาชีพ โดยที่วิชาชีพกฎหมายก็ดี วิชาชีพแพทย์ก็ดี เป็นศาสตร์ที่เป็นความรู้เฉพาะ. ในหลายๆกรณี ประชาชนทั่วไปมิอาจจะรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกธรรมดาว่า สิ่งที่แพทย์ทำอยู่ ถูกต้องตามหลักวิชาหรือถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ผู้ที่จะรู้และควบคุมให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้องก็คือ บุคคลในวิชาชีพเดียวกัน. ดังนั้นองค์กรวิชาชีพ คือ แพทยสภา จึงมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลความประพฤติของเพื่อนร่วมวิชาชีพ เป็นองค์กรที่มีขึ้นเพื่อดูแลกันเอง ความคิดและแนวปฏิบัติ เช่นนี้ถือเป็นหลักสากลที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปในนานาประเทศ. แต่ความคิดนี้ในประเทศไทยยังเข้าใจไม่ตรงกันนัก แพทย์ส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่า แพทยสภาจะต้องทำหน้าที่คอยปกป้องแพทย์มากกว่าจะทำหน้าที่สอดส่องควบคุมความประพฤติ ยิ่งเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาด้วยแล้ว มีการนำเสนอนโยบายที่จะช่วยแพทย์เหมือนการเลือกตั้งพรรคการเมือง.
หากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมแพทย์ส่วนหนึ่ง จึงมองบทบาทของแพทยสภาต่างไปจากบทบาทที่ควรจะเป็น คำตอบก็คงเป็นเพราะว่า สังคมไทยมีรากฐานมาจากสังคมในระบบอุปถัมภ์ ความรู้สึกว่าพรรคพวกเดียวกันต้องช่วยกันจึงมีอยู่ในใจ ประกอบกับความไม่เข้าใจในบทบาทขององค์กรวิชาชีพ จึงมองว่าแพทยสภาควรจะช่วยเหลือและปกป้องสมาชิกมากกว่าจะคอยสอดส่องจับผิด โดยมองแพทยสภา ว่ามีบทบาทแบบสมาคมหรือชมรมทางวิชาชีพ ซึ่งแท้จริงแล้ว แพทยสภาเป็นสภาวิชาชีพ ถ้าทำหน้าที่แบบแพทยสมาคมก็จะผิดหลักสากลทั่วไปและถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนก็จะขาดความเชื่อถือในสภาวิชาชีพ เมื่อมีปัญหา แทนที่จะไปร้องเรียนที่แพทยสภา กลับจะใช้วิธีร้องเรียนผ่านสื่อหรือฟ้องศาลแทน หรือร้องเรียนแพทยสภาด้วยฟ้องศาลด้วยคู่ขนานกันไป.
การฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งและการฟ้องคดีอาญา
1. การฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงจัดเป็นกฎหมายเอกชน (private law) เพราะกำหนดสิทธิหน้าที่ที่บุคคลพึงมีต่อกัน. ในกรณีของแพทย์กับผู้ป่วยนั้น แต่เดิมแทบไม่พูดถึงประเด็นทางด้านกฎหมายนี้เลย เพราะแพทย์ก็คือ ผู้ให้ความเมตตากรุณารักษาผู้เจ็บป่วยให้พ้นทุกข์ อยู่ในฐานะผู้ให้ แพทย์จึงได้รับความนับถือจากผู้คนในชุมชน. แต่ปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายเข้ามาแทนที่ สำหรับความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายแพ่งนั้นสามารถวิเคราะห์ว่าเป็นความสัมพันธ์ใน 2 ส่วนคือ
(1) ความสัมพันธ์ในทางสัญญา (contractual relationship).
(2) ความรับผิดจากการละเมิด (liability for malpractice).
(1) ความสัมพันธ์ในทางสัญญา เกิดจากการรับผู้ป่วยเข้ารักษา โดยผู้ป่วยก็ได้แสดงเจตนา เข้ารักษากับแพทย์หรือสถานพยาบาลนั้นๆ ในกรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาเกิดแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร. ประเด็นที่น่าพิจารณาในอีกจุดหนึ่งก็คือ หากมีการแสดงเจตนาเข้ารักษา แพทย์หรือสถานพยาบาลจะปฏิเสธการรักษาได้หรือไม่ หากพิจารณาเฉพาะในแง่มุมของกฎหมายโดยไม่กล่าวถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพ. ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติที่มิใช่ความจำเป็นรีบด่วน แพทย์มีสิทธิที่จะรับรักษาหรือไม่ก็ได้ ถือว่ายังไม่มีสัญญาเกิดขึ้น แต่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐโดยหลักไม่ สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ เพราะถือว่า เป็นบริการสาธารณะซึ่งจะต้องให้กับประชาชน ทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร แม้จะไม่สามารถรับตัวไว้รักษาได้เนื่องจากเตียงเต็ม ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ขาดเครื่องมือหรือเหตุผลอื่นใดก็ตามก็จะต้องรับผิดชอบในการปฐมพยาบาล และดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลแห่งอื่น.
(2) ความรับผิดจากการละเมิด คำว่า "ละเมิด" เป็นศัพท์ในทางกฎหมายแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้บัญญัติว่า
"ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึง แก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านว่าผู้นั้นทำ ละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"
จากบทบัญญัติดังกล่าว การละเมิดนั้นเกิดขึ้นได้โดย
- ผู้กระทำ กระทำโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
- การกระทำนั้นผิดกฎหมาย หมายถึงทำโดยไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้
- การกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนนั้น กฎหมายไม่สามารถระบุตัวเลขไว้ตายตัวสำหรับการละเมิดในแต่ละเรื่อง แต่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ความเสียหายแล้วแต่กรณี เช่น กรณีที่เกิดอันตรายแก่ร่างกาย การเรียกค่าเสียหายโดยทั่วไป ก็คือ ค่ารักษาพยาบาล และค่าขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ รวมทั้งค่าเสียหายอื่นๆ ที่สามารถนำสืบได้. สำหรับกรณีที่ต้องเสียชีวิต ญาติของบุคคลนั้นสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ โดยคำนวณจากค่าปลงศพ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพ ทางสังคมของบุคคลนั้นและค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการขาดอุปการะจากบุคคลที่เสียชีวิตนั้น รวมทั้งรายได้ซึ่งบุคคลนั้นจะพึงหาได้ถ้าไม่เสียชีวิตเสียก่อน ค่าสินไหมทดแทนที่กล่าวนี้จะได้รับมากน้อยเพียงใด ศาลจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี.
2. การฟ้องคดีอาญา กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ ซึ่งอาจเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติอื่นๆ โดยกฎหมายจะบัญญัติไว้ว่าการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิด ส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญานั้นได้กำหนดไว้ 5 สถานคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน.
สำหรับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ได้แบ่งเป็นภาคทั่วไปอันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา ภาคความผิดคือส่วนที่บัญญัติฐานความผิดต่างๆ และส่วนสุดท้ายคือภาคลหุโทษ ซึ่งได้แก่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่กฎหมาย กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
ในประมวลกฎหมายอาญาภาคทั่วไป ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญา ไว้ โดยวางเป็นหลักกฎหมายในมาตรา 59 วรรคแรกว่า
"บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท"
หลักกฎหมายที่ว่านี้เป็นหลักสำคัญในการวินิจฉัยความรับผิดของบุคคล กล่าวคือ นอกจากเจตนาแล้ว การกระทำโดยประมาทก็อาจก่อให้เกิดความผิดอาญาขึ้นได้. ถ้าการกระทำโดยประมาทในกรณีนั้นมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เช่น การทำให้คนตายโดยประมาท กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้อื่น ประมาทเป็นเหตุให้เกิดผลต่อเสรีภาพของบุคคลเหล่านี้เป็นต้น.
คดีความที่เกิดขึ้นจากการร้องเรียนหรือฟ้องร้องแพทย์ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการกล่าวหาว่าแพทย์กระทำโดยประมาท เป็นผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลแล้วแต่กรณีและข้อที่จะต้องวินิจฉัยในแต่ละคดีก็คือการกระทำของแพทย์ในกรณีนั้นๆ เป็นการประกอบวิชาชีพโดยประมาทหรือไม่.
ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 4 ได้วางเป็นหลักทั่วไปไว้ว่า
"กระทำโดยประมาทได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"
จากบทบัญญัติดังกล่าว การจะวินิจฉัยว่าการกระทำในแต่ละกรณีจะเป็นการกระทำโดยประมาท หรือไม่ จะเปรียบเทียบกับบุคคลซึ่งอยู่ในภาวะเช่นนั้น และดูตามวิสัยและพฤติการณ์นั้นด้วย ซึ่งในประเด็นนี้จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของวิชาชีพในแต่ละกรณี แต่ละสาขาซึ่งผู้เสียหายอาจจะนำสืบผู้เชี่ยวชาญมาเบิก ความต่อศาลแล้วแต่กรณี.
แนวทางแก้ไขและป้องกันการฟ้องร้อง
ดังกล่าวมาแล้วว่า ความผิดพลาดจากการประกอบวิชาชีพซึ่งเกิดจากประมาทเลินเล่อ อาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย และถ้ายังคงปล่อยให้เป็น ไปเหมือนสภาพที่เป็นอยู่ ย่อมไม่เกิดผลดีแก่ฝ่ายใดเลย เพราะทางหนึ่งคือความสูญเสียของประชาชน. อีกทางหนึ่งก็คือความเดือดร้อนของแพทย์และไม่ใช่เฉพาะแพทย์ที่ถูกฟ้องเท่านั้น แต่คือภาพพจน์ที่เสียไปของวิชาชีพแพทย์โดยส่วนรวม รวมทั้งกำลังใจ ของผู้ตั้งใจประกอบวิชาชีพด้วย. การหาแนวทางทางแก้ไขและป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งคงจะต้องพิจารณาจากสาเหตุของการฟ้องร้องดังกล่าวมาแล้ว และมาหาคำตอบแก้ไขเป็นกรณีไปดังนี้
1. ความเข้าใจในลักษณะงานทางการแพทย์และสาธารณสุข การทำความเข้าใจในความหมายของวิชาชีพแพทย์ให้ถูกต้อง จะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา และจะทำให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรม. ในสังคมไทยแต่เดิม ก็มีความคิดเช่นนี้มาตลอด แต่ในระยะหลังนี้เองที่มีผู้ทำให้ภาพพจน์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นกระแสทางธุรกิจ มีการใช้คำว่าธุรกิจโรงพยาบาล มีการโฆษณาและนำโรงพยาบาลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มีการเรียกค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก และขยายไปรักษาคนต่างชาติตามนโยบาย Medical hub ทำให้ผู้ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลในราคาแพง มีความรู้สึกว่ามาโรงพยาบาลมาพบแพทย์เพื่อมาใช้บริการหรือ มาซื้อบริการมิใช่มารับความช่วยเหลือเหมือนมาโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อบริการไม่ดีหรือผิดพลาดก็จะต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย. ถ้าจะว่าไปก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ผู้ใช้บริการย่อมมีความคาดหวังมาก เมื่อไม่ได้เป็นไปตามที่หวังหรือไม่เป็นไปตามที่สถานพยาบาลโฆษณาไว้ ก็ย่อมจะต้องเรียกร้อง ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์เชิงสัญญาในทางกฎหมาย.
2. ความรับผิดชอบของแพทย์ ความรับผิดชอบของแพทย์นั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะลักษณะงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย และชีวิตของมนุษย์ คดีที่ร้องเรียนต่อแพทยสภาและฟ้องร้องต่อศาล ส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดความรับผิดชอบของแพทย์ การขาดความรับผิดชอบส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะหรือนิสัยส่วนตัวของแพทย์โดยเฉพาะ. แต่ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากระบบ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐที่มีคนไข้จำนวนมากในแต่ละวัน ในขณะที่บุคลากรผู้ชำนาญถูกดูดไปอยู่ในภาคเอกชน ส่วนหนึ่งไปบริการและรักษาคนต่างชาติ เป็นธุรกิจการแพทย์.
นอกจากความรับผิดชอบต่องานแล้ว บทบาทของแพทย์อีกส่วนหนึ่งก็คือการสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้ป่วยหรือญาติว่าสิ่งที่แพทย์กำลังดำเนินการอยู่คืออะไรตามหลัก Informed consent ซึ่งแพทย์ส่วนหนึ่งมักไม่มีเวลาในจุดนี้. การชี้แจงถึงอาการของโรค ขั้นตอนการรักษา ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจง จะชี้แจงต่อผู้ป่วยโดยตรงหรือเพียงแต่ให้ญาติผู้ป่วยได้ทราบเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม การไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย ไม่ว่าต่อผู้ป่วยหรือญาติ แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ค่อยมาชี้แจง คำชี้แจงนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นคำแก้ตัวไป.
อนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทุกวันนี้เป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีความรู้มากขึ้น การให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วยหรือญาติโดยหลักวิทยาศาสตร์จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็น. ขั้นตอนในการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและจะไม่เป็นปัญหาตามมาก็คือ การสร้างความเข้าใจหรือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยหรือญาติที่เรียกว่า Personalize-Based Medicine. ในขณะเดียวกัน วิธีการรักษา ขั้นตอนการรักษา ผลดี ผลเสีย ที่เกิดขึ้น ก็จะต้องอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Evidence-Based Medicine ถ้าทำได้ทั้ง 2 ส่วน การฟ้องร้องก็คงจะไม่เกิดขึ้น.
นอกจากความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยแล้ว ความรับผิดชอบอีกประการหนึ่งก็คือ ความรับผิดชอบในคำพูดที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และนำมาซึ่งความเดือดร้อนต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ คดีฟ้องร้องส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากผู้ป่วยหรือญาติได้รับความเห็นมาจากแพทย์ท่านอื่นว่าการรักษานั้นเกิดความผิดพลาดทำให้เกิดความเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดจริง การให้ความเห็นโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง การกล้าพูดความจริงให้ปรากฏถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่การด่วนสรุปอะไรไปโดยไม่ทราบรายละเอียดและยึดถือความเห็นของตน เป็นใหญ่ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง.
3. ความเข้าใจในบทบาทของแพทยสภา ดังกล่าวมาแล้วว่าความเข้าใจที่เป็นสากลในการตั้งสภาวิชาชีพคือ แพทยสภา ก็เพื่อสอดส่องดูแลให้การปฏิบัติงานของแพทย์อยู่ในกรอบที่ถูกต้องของวิชาชีพและจริยธรรม เมื่อดูแลกันเองได้ ประชาชนก็จะเกิดศรัทธา เมื่อมีปัญหาก็จะมาร้องเรียนที่แพทยสภา ถ้าแพทยสภาดำเนินการให้ได้โดยรวดเร็ว และอธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุและผลที่รับฟังได้ ปัญหาก็คงยุติได้ที่แพทยสภา.
แพทย์ทั้งหลายจึงควรจะทำเข้าใจในบทบาทของแพทยสภาให้ถูกต้อง และให้ความสำคัญกับองค์กร วิชาชีพ เมื่อบุคคลในวิชาชีพเดียวกันดูแลกันเองได้ และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนผู้เสียหายได้ การร้องเรียนกับสื่อหรือฟ้องร้องกันที่ศาลจะลดลงเอง. ผู้เขียนคิดว่า วิธีนี้คือหนทางหนึ่งที่พอจะช่วยลดการฟ้องร้องได้ วิธีการอื่น เช่น การทำประกันของแพทย์ก็ยังคงไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ระบบประกันเพียงแต่ช่วยชดใช้ค่าเสียหายในคดีแพ่งเท่านั้น แต่ไม่สามารถยุติการฟ้องร้องคดีอาญาได้ การจะทำให้ผู้เสียหายเกิดความรู้สึกว่าไม่ไปฟ้องร้อง ก็ต่อเมื่อเขาคิดว่าเขาได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น.
แสวง บุญเฉลิมวิภาส
ศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
INSURANCETHAI.NET