การนับอายุความละเมิดเรียกค่าเสียหาย
1141

การนับอายุความละเมิดเรียกค่าเสียหาย

การนับอายุความละเมิดเรียกค่าเสียหาย

ในการนับอายุความละเมิดเรียกค่าเสียหายนั้นจะเริ่มนับเมื่อรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นนิติบุคคลมีผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้อนุมัติให้ฟ้องคดีกับจำเลยซึ่งถือว่านิติบุคคลรู้ถึงการละเมิดและผู้ต้องชดใช้สินไหมในวันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2550

โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ว่าการ ส. จึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่ น. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะ น. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมายนั้น เป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น การที่ น. มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ส. ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาตามลำดับชั้นและลงนามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 175,237.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 154,060 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
                                  โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 175,237.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 154,060 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
                    จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายฤทธิ์รงค์ บุญจำนง ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 71-7300 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนเสาไฟฟ้าแรงสูงของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 154,060 บาท วันที่ 19 เมษายน 1542 นางกรรณิกา กระบวนรัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหาย วันที่ 8 กรกฎาคม 2542 นางกรรณิกามีหนังสือเตือนและยืนยันให้จำเลยชำระค่าเสียหาย วันที่ 6 สิงหาคม 2542 นางกรรณิกาทำบันทึกถึงผู้อำนวยการฝ่ายธุรการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความเสียหายที่โจทก์ได้รับและขอดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ฝ่ายธุรการเสนอเรื่องดังกล่าวไปตามลำดับและผู้ว่าการลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะในปัญหาเรื่องอายุความว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมาย กำหนดไว้ชัดเจนว่ากองอำนวยการและกองกฎหมายมีอำนาจทวงถามและเร่งรัดหนี้ที่กองการเงินหรือหน่วยงานอื่นๆ ขอให้ดำเนินการ รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องสำหรับหนี้ที่มีปัญหา การที่นางกรรณิกาในฐานะผู้อำนวยการกองกฎหมายมีหนังสือทวงถามและยืนยันให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำในนามของโจทก์ถึงบุคคลภายนอกคือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำสั่งของโจทก์เท่ากับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการและแทนผู้ว่าการ ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันทวงถาม เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2543 จึงเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้มีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการ นายสุนทรจึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่นางกรรณิกาซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะนางกรรณิกาไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมายให้ผู้อำนวยการกองกฎหมายมีอำนาจทวงถามหรือเร่งรัดหนี้นั้นเป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น การที่นางกรรณิกามีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียนที่วางไว้ตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายสุนทร ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอตามลำดับชั้นและลงนามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
                                          พิพากษายืน
( วิเชียร มงคล - กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ - เอกชัย ชินณพงศ์ )
                                  หมายเหตุ
นิติบุคคลเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจเพื่อให้มีผลในทางกฎหมายเสมือนเป็นบุคคลในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ใช่บุคคลธรรมดา จึงไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ต้องมีบุคคลธรรมดาดำเนินการแทน แต่เนื่องจากนิติบุคคลบางแห่งมีขนาดใหญ่มาก ลำพังผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพียงบุคคลเดียวไม่สามารถจะดูแลได้ทั่วถึงต้องมอบอำนาจให้บุคลากรในหน่วยงานช่วยดำเนินการแทนในแต่ละเรื่องหรือในส่วนต่างๆ เช่น ธนาคารมักจะมอบอำนาจให้บุคลากรคนหนึ่งมีอำนาจในการฟ้องคดี และสามารถมอบอำนาจช่วงได้ เป็นต้น การมอบอำนาจดังกล่าวผู้รับมอบอำนาจกระทำการไปถือว่ากระทำในฐานะธนาคาร ธนาคารต้องรับผลในการกระทำนั้น

หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลก็มักจะมอบหมายหน้าที่ด้านใดด้านหนึ่งให้บุคลากรคนใดคนหนึ่งดำเนินการแทนเช่นกัน เช่น อธิบดีมอบหมายงานต่างๆ ให้รองอธิบดีปฏิบัติหน้าที่แทน กรณีเช่นนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าหากรองอธิบดีกระทำการใดๆ ไปถือว่ากระทำแทนกรม ซึ่งเป็นนิติบุคคล แต่หากมอบหมายให้บุคลากรในหน่วยงานซึ่งมีตำแหน่งต่ำลงไป เช่น อธิบดีมอบหมายให้ผู้อำนวยการกองกระทำการแทน กรณีนี้ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าจะเป็นการมอบหมายโดยเด็ดขาดถือเป็นการกระทำแทนกรม ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือไม่ เดิมศาลเองก็ไม่ยอมรับว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล แต่ต่อมาจึงยอมรับ เช่นกรุงเทพมหานครมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบูรณะมีอำนาจเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายได้ โดยถือเป็นการกระทำของกรุงเทพมหานคร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8122/2548 ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดฯ ข้อ 9 เป็นการมอบหมายการปฏิบัติราชการให้ผู้อำนวยการกองกองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ เป็นผู้มีอำนาจในการเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดแก่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายกรณีความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกกระทำละเมิดไม่เกินห้าหมื่นบาทโดยเบ็ดเสร็จได้ด้วยตนเอง ดังนั้น เมื่อผู้อำนวยการกองกองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นเงิน 37,060.60 บาท ซึ่งอยู่ภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ มิใช่ในฐานะเป็นส่วนราชการของโจทก์เพียงอย่างเดียว และการที่ต่อมาพันตำรวจโท ธ. มีหนังสือแจ้งผลคดีให้ผู้อำนวยการกองกองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันเกิดเหตุ โดยผู้อำนวยการกองลงชื่อรับทราบและมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 นั้น มีผลผูกพันโจทก์เสมือนโจทก์เป็นผู้ทราบเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยทั้งสองอย่างช้าที่สุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 นั้นแล้ว ส่วนการที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการของโจทก์ทราบเพื่ออนุมัติให้ฟ้องคดีและลงนามในใบแต่งทนายความเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 เป็นเพียงการวางระเบียบบริหารภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น จะอ้างมาเป็นเหตุขยายอายุความไม่ได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2537 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คดีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ผู้ว่าการของโจทก์มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการกองกฎหมายมีอำนาจทวงถามและเร่งรัดหนี้ที่กองการเงินหรือหน่วยงานอื่นๆ ขอให้ดำเนินการ รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องสำหรับหนี้ที่มีปัญหาได้ ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการกองกฎหมายของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ น่าจะถือได้ว่าเป็นการกระทำการแทนโจทก์แล้ว หากไม่ถือว่าเป็นการกระทำแทนก็จะเกิดข้อคิดว่าการที่ผู้อำนวยการกองกฎหมายกระทำไปไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ เลยหรือ ทั้งๆ ที่หากจำลยไม่ชำระค่าเสียหาย ผู้อำนวยการกองกฎหมายมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามคำสั่งของผู้ว่าการของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการกองกฎหมายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนน่าจะต้องถือว่าโจทก์รู้เช่นกัน เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น
                          ศิริชัย วัฒนโยธิน

                  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
            มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับ แต่วันทำละเมิด
            แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมา นั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
                    มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดั่งนั้น
                    อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัด หรือโดย ปริยายก็ย่อมได้
อายุความละเมิด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตัวการตัวแทน รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด ไม่พ้นกำหนด 1 ปี ไม่ขาดอายุความ

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538704393&Ntype=5



INSURANCETHAI.NET
Line+