การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญา
1142
การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญา
การนับระยะเวลา อายุความ คดีอาญา เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้นไม่นับวันแรกรวมด้วย
กฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดการนับระยะเวลา อายุความ ไว้โดยเฉพาะ จึงบังคับตามหลักทั่วไป ป.พ.พ. มาตรา 193/3 ไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมด้วย เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีเช็คฟ้องก่อน 3 เดือนวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 920/2550
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การนับอายุความคดีอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะนำการนับอายุความตามกฎหมายทั่วไปมาใช้เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยไม่ได้ คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 3 เดือน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงขาดอายุความ เห็นว่า กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรก จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรก แห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่ เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตาม กฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงิน ตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้ มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงิน ตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
__________________________
คำพิพากษาฎีกาที่ 920/2550 กฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดการนับระยะเวลา อายุความ ไว้โดยเฉพาะ จึงบังคับตามหลักทั่วไป ป.พ.พ. มาตรา 193/3 ไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมด้วย เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีเช็คฟ้องก่อน 3 เดือนวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีไม่ขาดอายุความ
peesirilaw.com/คำพิพากษาศาลฎีกา/นับระยะเวลาอายุความคดีอาญา.html
INSURANCETHAI.NET