แจ้งจับได้ส่วนแบ่ง50% "ชีวิตจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด" คนแจ้งจับได้ค่าปรับกึ่งหนึ่ง
1165
แจ้งจับได้ส่วนแบ่ง50% "ชีวิตจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด" คนแจ้งจับได้ค่าปรับกึ่งหนึ่ง
แจ้งจับได้ส่วนแบ่ง 50 เปอร์เซนต์
เมื่อเร็วๆนี้สังคมออนไลน์พากันแชร์ ข้อกฎหมายเรื่อง “การนำค่าปรับมาแบ่งให้ผู้แจ้งกึ่งหนึ่ง” ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยระบุถึง การกระทำความผิดต่างๆ ที่ประชาชนมีโอกาสพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไล่ตั้งแต่ การพ่นสีบนกำแพงในที่สาธารณะ, จอดรถหรือขับรถบนทางเท้า, เปลี่ยนแบตเตอรี่บนถนน, วางของกั๊กที่จอด เป็นต้น
หลายคนพากันพูดว่า จากนี้ไปจะเดินตามหาความผิดพลาดบนท้องถนนเพื่อหารายได้จากการกระทำความผิด คดีไหนมีโทษปรับ 5,000 บาท ก็สามารถได้รับส่วนแบ่งถึง 2,500 บาท
เราจะได้เงินง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ ?
ปรับเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ
หลายคนหวังส่วนแบ่งจากค่าปรับกึ่งหนึ่ง โดยลืมคิดไปว่า โทษปรับนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจ องค์ประกอบของพฤติการณ์และความรุนแรงด้วย
พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า กฎหมายระบุโทษชัดปรับ "ไม่เกิน" 5,000 บาท ไม่ได้เขียนว่าปรับ 5,000 บาท ฉะนั้นครึ่งหนึ่งของค่าปรับใช่ว่าจะเท่ากับ 2,500 บาทเสมอไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงเหตุผลและปัจจัยอื่นๆ ทั้งในแง่นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ประกอบด้วย
“ถ้าตำรวจปรับ 200 บาท กึ่งหนึ่งก็เท่ากับ 100 บาทเท่านั้น ตามหลักกฎหมายจะปรับเต็มอัตราต้องมีเหตุผล ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทิ้งซากรถขวางทางจราจร หรือวางของกั๊กที่จอดรถ ต้องดูปัจจัยความเสียหายประกอบด้วย พฤติกรรมต้องเหมาะสมกับค่าปรับ ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นไปจอดบนทางเท้า เนื่องจากมีธุระเร่งด่วน กับแม่ค้าใช้ทางเท้าทำมาหากิน เจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนแล้ว จับครั้งหนึ่งก็แล้ว ครั้งที่สองก็แล้ว ยังทำอีกและรบกวนชาวบ้านในภาพรวม แบบนี้ค่าปรับแตกต่างกัน”
เรื่องส่วนแบ่งค่าปรับที่ประชาชนจะได้รับนั้น ต้องผ่านกระบวนการเบิก-จ่ายตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วย ไม่ใช่แบมือรับทันทีภายหลังผู้ต้องหาจ่ายค่าปรับ
“ผู้ต้องหาจ่ายเงินค่าปรับแล้ว ใช่ว่าผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งทันที ตำรวจต้องนำเงินเข้าหน่วยงานท้องถิ่นก่อน จากนั้นค่อยทำเรื่องเบิกมาให้ ขั้นตอนคล้ายกับกรมศุลกากร หากจับรถหนีภาษีได้ กฎหมายบอก ให้แบ่งสายลับ 30 เปอร์เซนต์ รางวัลนำจับ 25 เปอร์เซนต์ และต้องรอให้เสร็จสิ้นการประมูลรถ มีการนำเงินเข้ากรมศุลลากรเสียก่อน ผู้แจ้งจึงค่อยเขียนคำร้องเบิกรับเงินรางวัลสินบน”
กฎหมายมี แต่ชีวิตจริงยาก
พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
มาตรา 48 ระบุว่า บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งและพนักงาน สอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวัน แล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป
“ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งตามมาตรา 51 กึ่งหนึ่งและพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง”
ส่วน มาตรา 49 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคสาม ค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่เปรียบเทียบตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่น
จากเนื้อความข้างต้น เกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ ขยายความให้เข้าใจง่ายว่า ไม่ว่าค่าปรับจะมากน้อยแค่ไหน จะต้องถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อมอบให้กับ ผู้แจ้ง ผู้จับ และแผ่นดินอย่างภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น โดยผู้แจ้ง และผู้จับได้รับเงินตามมาตรา 48 วรรคสาม ส่วนรัฐได้ค่าปรับตามมาตรา 49 นั่นเอง
“สมมติปรับ 1,000 บาท ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน หน่วยงานอาจจะได้ 500 บาท เหลืออีก 500 บาทผู้แจ้งอย่างประชาชน และผู้จับอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเทศกิจแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่งคือ 250 บาท เป็นลักษณะเช่นนี้ โดยสัดส่วนการแบ่งสรรตัวเงินที่แน่ชัดขึ้นอยู่กับกฎหมายท้องถิ่นประกอบด้วย”
แม้ข้อความจะเขียนไว้ชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง แต่ในสภาพความเป็นจริง ทนายความรายนี้บอกว่า เป็นเรื่องยาก แทบไม่มีใครไปแจ้งความเพื่อหวังเงินส่วนนี้
“โทษปรับสูงสุด 5,000 บาท สถานการณ์จริง เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจมองสถานการณ์แล้วปรับแค่ 200 หักเข้าหลวง 100 แบ่งให้คนจับและคนแจ้ง คนละ 50 บาท แต่ไม่ได้เงินทันที ต้องนำเงินเข้าท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐก่อน จากนั้นค่อยทำเรื่องเบิกมามอบให้กับเรา หรือเลวร้ายสุดๆ ผู้ต้องหาไม่ยอมชดใช้ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บอกว่า ให้เป็นไปตามวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องชำระภายใน 15 วัน หากไม่ชำระให้ส่งฟ้องศาลหรือถ้าผู้ต้องหาปฎิเสธก็ส่งฟ้องศาลเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ศาลอาจสั่งปรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าเดิมอีกก็เป็นได้ อาจปรับแค่ 100 บาท สุดท้ายเหลือแบ่งกันคนละ 25 บาท ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่กับระยะเวลาที่ฟ้องร้อง นอกจากนั้นกฎหมายยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่คุณจะได้รับเงินอีกด้วย”
ทนายเกิดผล บอกว่า ความมุ่งหมายของกฎหมาย มีไว้เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่ได้หวังให้เป็นแรงจูงใจ ชี้ช่องให้ตำรวจดำเนินคดีเพื่อแลกกับเงิน คล้ายเป็นกุศโลบาย ถ้ามีเงินรางวัล ประชาชนจะเป็นหูเป็นตามากขึ้น แต่ระเบียบปฎิบัติจริงๆ นั้น ไม่ง่ายเลย
ตัวอย่างคดีใกล้ตัว แจ้งจับได้กึ่งหนึ่ง
ตัวอย่างความผิดใกล้ตัว
ที่กฎหมายกำหนดให้เอาค่าปรับมาแบ่งให้ผู้แจ้งกึ่งหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
ปรับไม่เกิน 500
- ปล่อยให้สัตว์ถ่ายมูลบนถนนและไม่จัดการมูลดังกล่าวให้หมดไป
ปรับไม่เกิน 5,000
- พ่นสี/เขียนกำแพง จะต้องเป็นกําแพงที่ติดกับถนน บนถนนที่ต้นไม้หรือส่วน หนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ
- ประดับยนต์/เปลี่ยนแบตเตอรี่บนถนน กฎหมายห้ามมิให้ใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของถนนเป็นที่ซ่อม เปลี่ยนแปลง ต่อเติม หรือติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์
- จอดรถบนทางเท้า ขับขี่จักรยานยนต์ บนทางเท้า
- ทิ้งซากรถ วาง หรือกองซากยานยนต์บนถนนหรือสถานสาธารณะ
ปรับไม่เกิน 10000
- วางของกั๊กที่จอด ห้ามตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน
ปรับไม่เกิน 3000
- รถบรรทุกหิน/ทราย/ดิน ร่วงบนถนน ต้องจัดให้รถนั้นอยู่ในสภาพที่ป้องกันมิให้มูลสัตวหรือสิ่งดังกลาวตกหลน รั่วไหล ปลิว ฟุ้งกระจายลงบนถนนในระหว่างที่ใช้รถนั้น รวมทั้งต้องป้องกันมิให้น้ำมันจากรถ รั่วไหลลงบนถนน
พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ฉบับเต็ม
http://www.koratnreo.org/Filedownload/swro2553/2554/11.pdf
INSURANCETHAI.NET