คปภ. ยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทประกันภัย
1213

คปภ. ยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทประกันภัย

คปภ. เร่งเครื่องยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทประกันภัย มุ่งสู่มาตรฐานสากลด้วยการบริหารความเสี่ยงโดยออกประกาศ ERM"

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันชีวิต และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย (ประกาศ ERM) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยลงนามก่อนประกาศใช้ต่อไป

ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ภายใต้บริบทการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงภัยคุกคามที่เติบโตขึ้นควบคู่กับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในส่วนของประกันภัยก็มีพัฒนาการในเรื่องเทคโนโลยี การประกันภัย (InsurTech) ซึ่งในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านประกันภัย สำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ และเข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่อองค์กรอย่างถ่องแท้รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถในการปรับกลยุทธ์ของภาคธุรกิจประกันภัยในการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ และการพัฒนาศักยภาพขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาให้องค์กรก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้

“เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสากลร่วมสมัย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ผมได้เข้าร่วมประชุม Asia General Insurance Executive Forum ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการนำประเด็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยมาเป็นหัวข้อสำคัญในการอภิปรายกัน ผมจึงเห็นว่าขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสม สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง (Enterprise Risk Management หรือ ERM) ของบริษัทประกันภัยหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2551 เพื่อเน้นถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการจัดให้องค์กรมีองค์ประกอบของการบริหารความเสี่ยงครบถ้วนตามแนว COSO ทั้งนี้สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวประกอบด้วย วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง โครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง นโยบายการบริหารความเสี่ยง ขอบเขตการบริหารความเสี่ยง กระบวนการบริหารความเสี่ยง ระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการบริหารความเสี่ยง การรายงานการทดสอบภาวะวิกฤตและการติดตามประเมินผล”

สำหรับการทดสอบภาวะวิกฤตเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มเติมจากประกาศฉบับปี 2551 ซึ่งเดิมไม่ได้บัญญัติไว้ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์ถึงผลกระทบจากความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง และเพื่อสนับสนุนให้บริษัทมีการบูรณาการแนวคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยงเข้ากับการดำเนินธุรกิจประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้บริษัทต้องจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรให้เป็นไปตาม Three Lines of Defense Model ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสถาบันการเงิน โดยแบ่งการบริหารความเสี่ยงออกเป็น 3 ด้าน 1) เจ้าของความเสี่ยง 2) ผู้กำกับดูแลความเสี่ยง และ 3) ผู้ตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยง  โดยบริษัทต้องจัดให้มีการรายงานสถานะความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงด้านการเงิน เช่น ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว และความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ความเสี่ยง  ด้านชื่อเสียง เป็นประจำทุกไตรมาสเพื่อให้มีการทบทวนเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้ เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

สำหรับการจัดทำประกาศฯดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2559 และได้ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการจัดสัมมนาภาคธุรกิจเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง  สำหรับประกาศ ERM ได้กำหนดระยะเวลาเตรียมความพร้อมโดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจมีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศที่กำหนดไว้


ธรรมาภิบาลของบริษัทประกันภัย สำคัญอย่างไร?

ธรรมาภิบาล ( Good Governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการการควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น

ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น (http://th.wikipedia.org)

สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดไว้โดยได้เสนอเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า หลักธรรมาภิบาลนั้นประกอบด้วย 6 หลักการคือ
1. หลักคุณธรรม
2. หลักนิติธรรม
3. หลักความโปร่งใส
4. หลักความมีส่วนร่วม
5. หลักความรับผิดชอบ
6. หลักความคุ้มค่า

แต่จะเป็นหลักการใดก็ตาม ก็จะเห็นว่าหลักการทั้งหลายล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษา “ความสมดุล” ในมิติต่างๆไว้ เช่น หลักคุณธรรมก็คือการรักษาสมดุลระหว่างตนเองกับผู้อื่น คือไม่เบียดเบียน ผู้อื่นหรือตัวเองจนเดือดร้อน ซึ่งการที่มีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ตรวจสอบ ก็เพื่อมุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสมดุลดังกล่าวว่าอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้ ส่วนหลักความรับผิดชอบ ก็ต้องสมดุลกับเสรีภาพที่เป็นสิ่งที่สำคัญของทุกคน และหลักความคุ้มค่า ก็ต้องสมดุลกับหลักอื่นๆ เช่น บางครั้งองค์การอาจมุ่งความคุ้มค่าจนละเลยเรื่องความเป็นธรรมหรือโปร่งใส หรือบางครั้งที่หน่วยงานโปร่งใสมากจนคู่แข่งขันล่วงรู้ความลับที่สำคัญในการประกอบกิจการ ความสมดุล หรือ ธรรม จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของธรรมาภิบาล

ดังนั้นถ้าบริษัทประกันภัยมีธรรมาภิบาล ทำงานตรงไปตรงมา ย่อมส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้บริการ



INSURANCETHAI.NET
Line+