ค่ายประกันภัยกลืนเลือดรักษาแชร์ (2012)
125
ค่ายประกันภัยกลืนเลือดรักษาแชร์ (2012)
ค่ายประกันภัยกลืนเลือดรักษาแชร์
เงินเฟ้อ-ขึ้นค่าแรง กระทบเบี้ยประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ขณะที่ประกันภัยค่ายกลาง ส่อแววหลังต้นทุนค่าแรง อะไหล่ขยับเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10-15% ไทยวิวัฒน์ มองเงินเฟ้ออีกหนึ่งแรงกระตุ้น มองตลาดรถแข่งแรง
รายกลางเล็กต้นทุนพุ่งยอมกรีดเลือด ไม่ปรับเบี้ยเพื่อรักษาลูกค้า ระบุรถรุ่นใหม่หนุนค่าเบี้ยโตตามคุณภาพ ขณะที่รายใหญ่งัดไม้เด็ดไม่ปรับเบี้ยรถยนต์ชั้น 1 สวนกระแส
นายพุทธิพงษ์ ด่านบุญสุต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจประกันภัยอยู่ในช่วงปรับฐาน เพื่อรอดูความเสี่ยงจากการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นค่าแรงที่จะส่งผลทันทีต่อต้นทุน ราคาอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งหากให้ประเมินอัตราเบี้ยประกันของปีนี้ มองว่าบริษัทประกันทั้งรายใหญ่ รายกลางและเล็ก ต่างต้องแข่งขันมากขึ้นเพื่อรักษาตลาด โดยเฉพาะการแข่งขันด้านอัตราเบี้ยประกันยังถือว่าสูง ดังนั้นทางออกที่จะรักษาฐานลูกค้าได้คือการยังไม่ปรับขึ้นเบี้ยประกัน แม้ต้นทุนการให้บริการจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ขณะที่นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยอดการส่งมอบรถยนต์กลับมาเป็นปกติแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาอัตราเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าแรง ค่าอะไหล่ ดอกเบี้ย ดังนั้นหากธุรกิจประกันภัยรถยนต์มีต้นทุนเพิ่มขึ้นก็มีผลต่อการปรับราคา อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นนั้น บริษัทจะพิจารณาตามความเหมาะสมเพราะลูกค้าหลักของธนชาต มาจากกลุ่มลูกค้าของธนาคาร คิดเป็นฐานลูกค้ารถยนต์ทุกประเภทประมาณ 6 ล้านกรมธรรม์ ดังนั้นการขึ้นเบี้ยประกันแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อฐานลูกค้าได้เช่นกัน
สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของธุรกิจประกันรถยนต์ หลังจากยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่หากมองในมุมของเบี้ยประกันเชื่อว่าหลายบริษัทมีโอกาสปรับขึ้น จากปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวหนุน แต่เหนือกว่านั้นคือการแข่งขันในตลาดรถยนต์ ที่ยังคงเน้นรักษาตลาดของตนเอง ซึ่งการปรับขึ้นเบี้ยอาจมีบ้างเป็นบางราย แต่หากมองทิศทางแล้ว ตลาดน่าจะยังไม่ปรับในครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังอาจมีผลเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประกันรายกลางและเล็ก
"ต้องยอมรับว่าด้วยเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่สูงขึ้น แน่นอนส่งผลต่อราคารถและเบี้ยประกันภัยที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว มองได้ว่าถึงไม่ปรับขึ้นเบี้ยแต่บริษัทประกันก็ต้องปรับขึ้นตามคุณภาพ อะไหล่ การซ่อมและโอกาสการเกิดภัยของรถยนต์แต่ละประเภท"
นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของธุรกิจประกันขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อด้วยกันเองที่แข่งขันเรื่องดอกเบี้ยที่ไม่สูงและค่อนข้างคงที่ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของประกันภัยรถยนต์ใกล้เคียง 15-20% ถือเป็นอัตราที่เติบโตสูง น่าจะเป็นปีทองของธุรกิจประกันอย่างแท้จริง
ด้าน นายอานนท์ วังวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทนยานยนต์ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI แสดงเหตุผลสนับสนุนว่า แนวโน้มการผลิตรถยนต์ปี 2555 เริ่มมองเห็นทิศทางการฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว โดยเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด พร้อมเดินสายการผลิตได้ 100% ในไตรมาสที่ 2 ด้วยปัจจัยดังกล่าว บริษัทมองแล้วว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัยในส่วนของรถยนต์ภาคสมัครใจ ชั้น1 อย่างมาก และด้วยนโยบายการบริหารแล้ว บริษัทยังไม่มีนโยบายปรับขึ้น ในปีนี้ เนื่องจากประเมินสถานการณ์หลังโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ไม่ขาดแคลน อัตราค่าซ่อมยังไม่มีการปรับเพิ่ม ที่สำคัญรถยนต์ได้รับผลกระทบน้อยมาก ความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นเพียง 7-10% จากปีก่อน"
สำหรับแผนการตลาดประกันภัยรถยนต์ ปี 2555 นายอานนท์ กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นทำตลาดประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เหมือนเดิม รวมถึงจะทำตลาดประกันภัยสำหรับตลาดรถยนต์ชั้น 2 และ3 แบบพิเศษ (2+ 3+) จากเดิมที่ไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วมก็ได้ขยายให้ครอบคลุมในอัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มจากเดิมอีก 500 บาทต่อปี หากคิดเป็นอัตราเบี้ยประกันรวม สำหรับชั้น 2+และ3+ จะต่ำกว่าประกันภัยชั้น 1 ประมาณ 50% รองรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
นายกฤษณ์ หิญชีระนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัยฯ กล่าวอย่างมั่นใจว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้น่าจะคึกคัก หากถ้ายอดขายรถในปีนี้ถึง 1 ล้านคันส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทจะอยู่ที่ 35% รวมยอดรถยนต์ป้ายแดง จะเข้าสู่ระบบการรับประกันภัยของวิริยะประมาณ 3.5 แสนคัน ซึ่งรถใหม่ป้ายแดงการทำประกันภัยต่อคันก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาททั้งหมด เมื่อคำนวณแล้วเบี้ยรับของเราก็น่าจะเพิ่มได้ตามที่คาดไว้ อีกทั้งตลาดประกันภัยรถยนต์ เชื่อว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นกันโดยประชาชนจะหันมาให้ความสนใจทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 มากขึ้น เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ในกรณีที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
"ในปีนี้ บริษัทยังไม่มีนโยบายการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถยนต์ขนาดเล็ก (ซิตีคาร์-อีโคคาร์) เนื่องจากเชื่อว่ายอดจ่ายเคลมสินไหมของบริษัทหลังน้ำท่วมยังสามารถบริหารความเสี่ยงได้และบริษัทยังมีแนวคิดว่าเบี้ยประกันภัยประเภทนี้จะต้องอยู่ในระดับที่ทุกคนสามารถทำประกันภัยได้ ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดว่าน่าจะทำเบี้ยรับรวมได้ถึง 25,000 ล้านบาท"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,731 15-18 เมษายน พ.ศ. 2555
INSURANCETHAI.NET