ทำประกันสุขภาพ หักลดหย่อนภาษีได้ 15000 สรรพากรไฟเขียวหลักการ
1254
ทำประกันสุขภาพ หักลดหย่อนภาษีได้ 15000 สรรพากรไฟเขียวหลักการ
คลังหนุนซื้อเบี้ยสุขภาพ หักภาษี 15,000 บาท ทันใช้ปีนี้
กรมสรรพากรเปิดทาง “ซื้อประกันสุขภาพ” ลดหย่อนภาษีได้วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ลุ้นคลังตัดสินใจเดินหน้าชงเข้า ครม. คาดทันปลายปีนี้ นายก ส.ประกันชีวิตฯ กระตุ้นคนไทยทำประกันเพิ่มขึ้น ลดภาระรัฐใช้งบฯค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล มั่นใจครึ่งปีหลัง แรงซื้อช่วงเทศกาลลดหย่อนภาษี ดันเบี้ยประกันทั้งอุตสาหกรรมในปีนี้แตะเป้าหมาย 6 แสนล้านบาท
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต และในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพสามารถไปหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี ได้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท
เพราะถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำประกันสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยภาครัฐลดภาระงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อีกมากด้วย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นจะต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
“รายละเอียดของการหักลดหย่อนภาษี ว่าจะเป็นวงเงินใด เบี้ยประกันได้เท่าไร ก็คงต้องรอดู อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับหลักการเหล่านี้ ก็น่าจะทันมีผลบังคับใช้สำหรับการซื้อเบี้ยในปลายปีนี้ได้ ซึ่งจะมีผลสำคัญกับทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นอกเหนือจากได้หักลดหย่อนกับประชาชนแล้ว ยังให้ประกันทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงได้อีกด้วย” นางนุสรากล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สมาคมประกันชีวิตไทยเคยมีการเสนอเรื่องให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาแนวทางการปฏิรูประบบประกันสุขภาพมาหลายครั้ง
นางนุสรากล่าวถึงการเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตมียอดเบี้ยประกันสุขภาพจำนวนกว่า 61,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 14.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการถือครองกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ที่ 37-38% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าประกันสุขภาพยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
“ปัจจุบันคนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เห็นได้จากบริษัทประกันเริ่มพัฒนาขายผลิตภัณฑ์สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังตื่นตัวในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากอัตราโตของเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” นางนุสรากล่าว
ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560
มียอดเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 297,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยแยกเป็น
เบี้ยประกันชีวิตปีแรกจำนวน 50,416 ล้านบาท ลดลง 12.1%
เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว 32,545 ล้านบาท ขยายตัว 39.4%
เบี้ยปีต่อไป 214,663 ล้านบาท โตราว 8.5%
อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 84%
ช่องทางการขายที่เติบโตมาก ได้แก่
ขายผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) มียอดเบี้ย 1.42 แสนล้านบาท ขยายตัวสูงสุด 9.3%
ช่องทางตัวแทน ทำยอดเบี้ยได้ประมาณ 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4%
ช่องทางอื่น ๆ 1.10 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 8.2%
ช่องทางขายตรงมีเบี้ยอยู่ที่ 7.84 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8%
ประกันชีวิตมียอดเบี้ยที่มาจากแบงก์แอสชัวรันซ์ สัดส่วน 47.9% ของเบี้ยรับรวม และตามด้วยเบี้ยจากตัวแทนสัดส่วนอยู่ที่ 45.8% ของเบี้ยรับรวม และที่เหลือเป็นเบี้ยจากช่องทางอื่น ๆ และช่องทางขายตรง
นางนุสรากล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตในครึ่งปีหลังว่า สมาคมยังคงคาดการณ์ว่าเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท เติบโต 6% ซึ่งจะมาจากปัจจัยต่าง ๆ สนับสนุน อาทิ สภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ นโยบายภาครัฐ เรื่องกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต รองรับสู่การเป็น “Digital Insurance” มาตรการทางด้านภาษีส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อน ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญให้หันมาทำประกันชีวิตมากขึ้น
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า
การลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จะช่วยเหลือประชาชน โดยถือเป็นสวัสดิการของภาครัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเบี้ยประกันสุขภาพจะเป็นเบี้ยแบบปีต่อปี ซึ่งต่างกับเบี้ยประกันชีวิตที่ลดหย่อนภาษีให้ก่อนหน้านี้
“ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเสนอ รมว.คลัง เห็นชอบ ที่เราทำก็เพราะเป็นการช่วยประชาชน เพราะสวัสดิการของรัฐมีหลายอย่าง บางอย่างประชาชนก็ต้องจ่ายเพิ่ม” นายประสงค์กล่าว
INSURANCETHAI.NET