ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ
1277

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12365
วันที่: 20 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัท ก. หารือปัญหาภาษีอากร กรณีการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ มีข้อเท็จจริงโดยสรุป ดังนี้
          1. บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับธนาคาร ข. (ธนาคารฯ) ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารฯ ในรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารฯ ในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทต่าง ๆ (บริษัทผู้กู้) ธนาคารฯ จะกำหนดเงื่อนไขว่า กรรมการของบริษัทผู้กู้จะต้องทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิตทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ ในการคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารฯ
          2. บริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบกิจการประกันชีวิตรายหนึ่ง ได้ออกแบบกรมธรรม์รูปแบบพิเศษ เพื่อสนับสนุน วัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารตาม 1. และกรมการประกันภัยอนุมัติให้บริษัทผู้กู้ ซึ่งมีฐานะเป็น นิติบุคคล สามารถเป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียวได้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าว ผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนเหตุแห่งการมรณกรรมของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทผู้กู้ (กรรมการ)
          3. บริษัทผู้กู้ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการ อนุมัติให้บริษัทผู้กู้เป็นผู้เอาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ และ ชำระเบี้ยประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารฯ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
              3.1 ธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อธนาคารฯ ได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรม ของกรรมการแล้ว บริษัทฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงิน ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทผู้กู้ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
              3.2 บริษัทผู้กู้จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันให้แก่บริษัทฯ และบริษัทฯ จะออกใบเสร็จในนามบริษัทผู้กู้ เนื่องจาก บริษัทผู้กู้มีฐานะเป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์ และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

          บริษัทฯ ขอหารือว่า
          1. บริษัทฯ สามารถนำเงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทฯ จ่ายตามกรมธรรม์ มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
          2. กรณีกรรมการของบริษัทผู้กู้ ที่มีชื่อเป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตแทนบริษัทผู้กู้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อบริษัทผู้กู้จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันตามกรมธรรม์ให้แก่บริษัทฯ เงินค่าเบี้ยประกันดังกล่าว จะถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการ และบริษัทผู้กู้มีหน้าที่ในการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันตามกรมธรรม์หรือไม่ อย่างไร
          3. หากกรรมการถึงแก่กรรม และบริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้กับธนาคารฯ เพื่อชำระหนี้ตาม สัญญาเงินกู้ และหากมีเงินเหลือ บริษัทฯ ได้จ่ายเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวให้กับบริษัทผู้กู้ เงินส่วนที่เหลือดังกล่าว จะถือเป็น เงินได้พึงประเมินที่บริษัทผู้กู้จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่

แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. และ 2. เนื่องจากการทำประกันชีวิตดังกล่าว เป็นการทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทผู้กู้ โดยกรมธรรม์ระบุชื่อบริษัทผู้กู้เป็นผู้เอาประกัน อีกทั้งผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ ได้แก่ ธนาคารฯ และบริษัทผู้กู้ กรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้น เบี้ยประกันที่บริษัทผู้กู้จ่ายให้กับ บริษัทฯ จึงเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทผู้กู้ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด

2. กรณีตาม 3. เงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ที่บริษัทผู้กู้อาจได้รับจากบริษัทฯ ภายหลังจากที่บริษัทฯ ชำระเงินกู้ให้กับธนาคารฯ เนื่องจากกรรมการเสียชีวิต บริษัทผู้กู้ต้องนำค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 70/35527



INSURANCETHAI.NET
Line+