ต่างชาติยึดเบ็ดเสร็จ เกมเทกโอเวอร์ ประกันภัย [2555]
1288

ต่างชาติยึดเบ็ดเสร็จ เกมเทกโอเวอร์ ประกันภัย [2555]

ต่างชาติยึดเบ็ดเสร็จ เกมเทกโอเวอร์ ประกันภัย
10 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึง 2555
ค่ายประกันภัย ต่างชาติรุกเข้ามาในตลาดไทยมาก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดค่ายประกันภัย ต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 30%

บริษัท ประกันภัย ต่างชาติขยับกินส่วนแบ่งตลาด ประกันภัย ไทยเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในฟากประกันวินาศภัย ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง จำนวนบริษัทมีมากส่วนใหญ่เป็นไซส์กลางและเล็ก ทำให้ถูกต่างชาติเทกโอเวอร์ และควบรวมกิจการไปไม่น้อย จากในอดีตที่มีอยู่กว่า 70 บริษัทเหลือแค่ 64 บริษัท โดยบริษัทจำนวนหนึ่งถูกรัฐปิดกิจการ

22 วินาศภัยต่างชาติยึดแชร์ 30% / "ออสซี่-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ" นำขบวน
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ระบุ ณ สิ้นปี 2555 บริษัท ประกันภัย ต่างชาติ 22 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดในไทยรวมกัน 30.2% โดย 10 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด (ท็อปเทน) ได้แก่

ประกันคุ้มภัย ในเครือเอไอจี ยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย
หลังควบรวมกับเอไอจี ประกันภัย เมื่อกลางปีก่อน ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 4.43% เบี้ย ประกันภัย 7,946.86 ล้านบาท อยู่อันดับ 5 ของอุตสาหกรรม

โตเกียวมารีน ประกันภัย ของญี่ปุ่น
ส่วนแบ่งตลาด 4.01% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 7,190.76 ล้านบาท อยู่อันดับ 6 ของอุตสาหกรรม

แอลเอ็มจี ประกันภัย ของสหรัฐฯ
ส่วนแบ่งตลาด 2.94% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 5,280.13 ล้านบาท อยู่อันดับ 9 ของอุตสาหกรรม

มิตซุย สุมิโตโม ของญี่ปุ่น
ส่วนแบ่งตลาด 2.67% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 4,785.54 ล้านบาท อยู่อันดับ 10 ของตลาด

นิวแฮมพ์เชอร์ และเอไอจี ประกันภัย ในเครือเอไอจีของสหรัฐฯ เช่นกัน
มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 1.90% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 3,406.61 ล้านบาท

เอ็มเอสไอจี ค่าย ประกันภัย ร่วมทุนในเครือมิตซุย สุมิโตโม ของญี่ปุ่นเช่นกัน
ส่วนแบ่งตลาด 1.72% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 3,083.54 ล้านบาท

เอซไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ ของสหรัฐฯ
ส่วนแบ่งตลาด 1.64% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 2,938.74 ล้านบาท

ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย ค่าย ประกันภัย ร่วมทุนในเครือไอโออิของญี่ปุ่น
ส่วนแบ่งตลาด 1.63% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 2,921.89 ล้านบาท

ศรีอยุธา เจนเนอรัล ค่าย ประกันภัย ร่วมทุนของอลิอันซ์จากเยอรมนี
ส่วนแบ่งตลาด 1.51% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 2,717.65 ล้านบาท

อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย ส่วนแบ่งตลาด 1.51% เบี้ย ประกันภัย รับรวม 2,705.12 ล้านบาท

ส่วนบริษัทต่างชาติที่เหลือ อาทิ

แอกซ่าของฝรั่งเศส
ซิกน่าของสหรัฐฯ
สมโพธิ์ เจแปนของญี่ปุ่น
ฟอลคอนในเครือแฟร์แฟ็กซ์ของแคนาดา
คิวบีอีของออสเตรเลีย เป็นต้น

หลายค่ายเล็งซื้อบริษัทไทยเพิ่ม / ไซส์เล็กพันธุ์ไทยอยู่ยากต้นทุนสูง
ข่าวจากวงการประกันภัยรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่าย ประกันภัย ต่างชาติรุกเข้ามาในตลาดไทยมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ภาครัฐให้ใบอนุญาตใหม่ 25 บริษัท แบ่งเป็นประระกันชีวิต 12 บริษัท และประกันวินาศภัย 13 บริษัท เมื่อปี 2540 มี ประกันภัย ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับคนไทย เปิดบริษัทใหม่ขึ้นอาทิ อลิอันซ์, เจนเนอราลี่, แอกซ่า, อวีว่า ที่ตอนหลังขายกิจการให้กับมิตซุย สุมิโตโม ทำให้ส่วนแบ่งตลาดค่ายประกันภัย ต่างชาติเพิ่มขึ้น จากไม่ถึง 20% ในตอนนั้นเป็น 30% ในปัจจุบัน

"เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีนี้ ส่วนแบ่งของต่างชาติอาจจะเพิ่มเป็น 40-50% หากเข้าซื้อบริษัท ประกันภัย ไทยเพิ่มอีก เพราะหลายบริษัทมีแผนชัดเจน จะซื้อบริษัท ประกันภัย ไทยเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมิตซุย, โตเกียวมารีนของญี่ปุ่น, แอกซ่า, อลิอันซ์, แอลเอ็มจี และอีกหลายบริษัท เพราะตลาดไทยมีศักยภาพที่จะโตได้อีกเยอะ ทั้งอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และการเปิดเออีซี ที่ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ทำให้ทุนต่างชาติอยากใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนอยู่แล้ว ที่สนใจจะเข้ามา เช่นค่าย ประกันภัย ของสิงคโปร์ ของญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีธุรกิจในบ้านเรา รวมถึงจีนเริ่มเข้ามาดูลู่ทางและพูดคุยแล้ว"

อีกปัจจัยที่ทำให้บริษัท ประกันภัย ขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยอยู่ยากคือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่ขนาดของเบี้ย ประกันภัย ต่างกันมาก เฉลี่ยบริษัทวินาศภัยในกลุ่มท็อป เทน มีเบี้ย ประกันภัย เฉลี่ย 5,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่ถึง 15% ขณะที่บริษัทเล็กมีเบี้ย ประกันภัย เฉลี่ยไม่ถึง 2,000 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 25-30% และค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จากต้นทุนการ ประกันภัย ต่อ ทำให้แข่งขันลำบากหากเทียบบริษัท ประกันภัย ในต่างประเทศ อาทิญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 20% ยังต้องควบรวมกันของไทยหนีไม่พ้น ขณะที่บริษัท ประกันภัย ในยุโรปมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่ถึง 10% ยิ่งกว่านั้น ระยะหลังกลุ่มบริษัทวินาศภัย "ท็อปเทน" ในไทยเองขยายธุรกิจมากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 70% เทียบกับ 10 ปีก่อน มีส่วนแบ่งเพียง 30% โดยวิริยะยังคงมีส่วนแบ่งสูงสุด 15.59% ตามมาด้วยทิพย 11.59% และกรุงเทพ 6.93%

"จากนี้ไป บริษัทประกันวินาศภัยไทยมีแนวโน้มถูกเทกโอเวอร์ และควบรวมมากขึ้น และเร็วกว่าเดิม ยิ่งมีเรื่องผู้รับประกันภัยต่อบางราย ขอจ่ายสินไหมน้ำท่วมแค่ครึ่งเดียว จะกดดันเงินกองทุนมากขึ้นหากเจ้าของไม่ใส่เพิ่ม เพราะผลตอบแทนธุรกิจ ประกันภัย ต่ำมาก แค่ 1-2% โอกาสทำกำไรยาก และยังเจอกฎใหม่ๆ ของรัฐอีก"

ต่างชาติยึดตลาดประกันชีวิต / ส่วนแบ่งเกิน 50% จับตา "ญี่ปุ่น" แรง
ประกันชีวิต ปัจจุบันมีค่ายประกันภัย ต่างชาติ 14 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 50.96% ส่วนใหญ่อยู่ในมือท็อปเทน โดยมีค่ายประกันชีวิตต่างชาติพันธุ์แท้ อย่างเอไอเอ ประเทศไทย ครองแชมป์ยาวนาน แม้มาร์เก็ตแชร์จะหดลงเหลือแค่ 25% จากเดิมกว่า 30% เนื่องจากการไล่บี้ของเบอร์ 2-3 ในตลาดก็ตาม ซึ่งหากไล่เรียงจริงๆ ค่ายประกันชีวิตไทยในเวลานี้ ส่วนใหญ่ถือเป็นพันธุ์ผสม โดยมีต่างชาติถือหุ้นส่วนน้อยแทบทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นโอกาสในธุรกิจ แม้ว่าจะมีบางกลุ่มทุนที่ถอยฉากออกไป แต่โดยเนื้อแท้ไม่ได้เกิดจากการขาดทุนในตลาดไทย แต่เป็นเพราะบริษัทแม่ประสบปัญหา ทำให้ต้องยุติการลงทุน จำใจขายกิจการให้กลุ่มทุนอื่น เช่น กรณีของกลุ่มไอเอ็นจี ที่ต้องขายธุรกิจประกันชีวิตในไทยให้กับกลุ่มพีซีจี และเปลี่ยนชื่อเป็น เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต ขณะที่กลุ่มทุนที่ลงหลักปักฐานอยู่แล้ว ก็หวังจะเพิ่มศักยภาพในตลาดไทยมากขึ้น เช่นกลุ่มพรูเด็นเชียล ที่ทุ่มซื้อธนชาตประกันชีวิต

ที่น่าจับตา คือ กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มรุกตลาดไทยมากขึ้น เช่น 2 ค่ายยักษ์ประกันชีวิตญี่ปุ่น ที่ถือหุ้นในบริษัทประกันชีวิตไทยมานาน อย่างนิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันส์ ที่ขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต และไดอิจิ มิวชวล ไลฟ์ อินชัวรันส์ ที่เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในไทยสมุทรประกันชีวิตเช่นกัน

หรือกรณีล่าสุดเบอร์ 2 อย่าง เมจิยาสึดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ ที่ทุ่มเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เข้ามาถือหุ้น 15% ในบมจ.ไทยประกันชีวิต

คปภ.ชี้ ทั่วโลกจ้องขุดทองไทย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า มีบริษัท ประกันภัย ต่างชาติรายใหม่หลายราย สนใจจะเข้ามาขยายธุรกิจในไทย มาจากหลายภูมิภาคทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย มีทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งนอกจากรายใหม่ๆ แล้ว ยังมีรายเก่าที่มีธุรกิจ ประกันภัย ในไทยอยู่แล้ว ก็สนใจจะขยายเพิ่ม อย่างบริษัท ประกันภัย ของญี่ปุ่นทั้งรายที่มีธุรกิจประกันชีวิตอยู่ แต่ไม่มีธุรกิจประกันวินาศภัย อยากได้ธุรกิจประกันวินาศภัยเพิ่ม ส่วนรายที่ไม่มีธุรกิจประกันชีวิต อยากได้ธุรกิจประกันชีวิตเพิ่ม

"กฎหมายเรา ให้ต่างชาติถือหุ้นโดยตรงในบริษัท ประกันภัย ได้ถึง 49% อยู่แล้ว เราอยากให้เกิดการควบรวมของบริษัท ประกันภัย ขนาดเล็กๆ หลายบริษัทเข้าด้วยกัน ถ้าเล็กเกินไปต่างชาติไม่สนใจ แต่ถ้าเขารวมกันใหญ่ขึ้น มูลค่าจะมากกว่าบริษัทเดิม 1+1 มี ค่ามากกว่า 2 จะทำให้คนสนใจมากขึ้น"

ปีนี้ คปภ.ตั้งเป้าธุรกิจ ประกันภัย ไทยเติบโต 16% เบี้ย ประกันภัย รวม 6.6 แสนล้านบาท



INSURANCETHAI.NET
Line+