ตัวแทนย้ายค่าย (M10 2007)
129
ตัวแทนย้ายค่าย (M10 2007)
ตัวแทนย้ายค่าย (M10 2007)
“สยาม ธุรกิจ” นำเสนอสถิติการย้ายบริษัทของตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งระบุว่าในรอบ 9 เดือน ที่ผ่านมามีตัวแทนขายประกันชีวิตย้ายค่าย 3,399 คน ส่อเค้าจะทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปีที่สร้างไว้ในปี 49 ด้วยสถิติ 5,456 คน ส่วนบริษัทไหนจะสมองไหลออก บริษัท ไหนจะสมองไหลเข้า ผมถือว่าเป็นเรื่องในบ้าน ที่คนข้างบ้านอย่างผมไม่ควรเข้าไปยุ่มย่าม เพราะผมถือว่าเป็นเรื่องกิเลสของคนบ้านไหนอยู่ดีกินดีย่อมมีคนต้องการไปอยู่ บ้านไหนกินอย่างพอเพียงแต่อยู่กันเป็นสุขก็ยังร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไป บ้านไหนอยู่แล้วร้อนเป็นไฟ กฎกติกาของบ้านเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็ย่อมที่จะแสวงหาที่สงบสุขกว่าที่เดิม
ดังคำพระที่ว่า “ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถาง ถึงจะไม่ตาย ก็ต้องกลายเป็นไม้แคระแกร็น แต่ถ้านำไปปลูกในดินที่ดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็โตวันโตคืน กลายเป็น ต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งสาขาเต็มที่ เช่นกัน คนเราหากตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลว ถึงจะมีความรู้ความสามารถ ก็ยากที่จะเอาดีได้ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้”
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าไม่ควรยุ่มย่าม แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ต้องสอดส่องกันบ้าง ว่าการย้ายเข้าย้ายออกนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจหรือถูกหลอกลวงยันบีบบังคับให้จากไป และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการย้ายบริษัทนั้นย่อมกระเทือนไปถึงผู้เอาประกันภัยอีกด้วย
ดังนั้นการย้ายค่ายของเหล่าตัวแทนย่อมมีผลกระทบทางสังคม ผลกระทบที่จะทำให้กรมธรรม์ที่ตัวแทนคนนั้นๆ ขายไว้จะเป็น “กรมธรรม์กำพร้า” หรือไม่! และบริษัทต้นสังกัดมีมาตรการรองรับไว้อย่างไรและต้องตระหนักกันให้มากที่สุดนั้นก็คือนอกจากจะย้ายไปแต่ตัวแล้วยังลงคาถาร่ายเวทมนต์ปล่อยคุณไสให้ผู้เอาประกันภัยย้ายกรมธรรม์ตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียประโยชน์พึงได้เบี้ยประกันที่ผู้ซื้อจ่ายไปขาดทุนทันที ยิ่งถ้ามองไปถึงบทบาทหน้าที่ของผู้คุมกฎอย่าง “คปภ.” ผมว่าต้องเอ็กซเรย์กันเลยว่าการย้ายเข้านั้น อะไรคือแรงจุงใจ ซึ่งแน่นอนต้องฟันธง! กันไว้เลยว่ามันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทเสนอให้ ผลประโยชน์ที่เสนอให้นั้นให้กันเกินเลยเกินเถิดกันหรือไม่ เพราะถ้าให้กันเกินไปย่อมที่จะกระเทือนไปถึงฐานะการเงินของบริษัทนั้นๆในอนาคตอีกด้วย
แจกกันจนเจ๊งอะไรทำนองนั้น นัยว่าสถิติจ่ายจริงอย่างใจถึงเป็นของบริษัทต่างชาติรายหนึ่งซึ่งจ่ายให้ถึง 200% ว่าตามประสาชาวบ้าน เบี้ยประกันราคา 100 บาท ขายได้เมื่อไหร่ตัวแทนรับไปเลย 200 บาท ถ้าว่าตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย เบี้ยประกันปีแรก ราคา 100บาท ต้นทุนน่าจะอยู่ประมาณ 120 บาท แต่เล่นให้กันถึง 200บาทอย่างนั้น นอกจากจะทำให้มีผลไปถึงฐานะการเงินของบริษัทแล้วต้องยอมรับกันว่ามันเป็นต้นกำเนิดของความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่มีไปถึงผู้เอาประกันภัยและสังคม ที่เรามักพบเห็นอยู่เสมอๆ
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่คปภ.ต้องมาตั้งกฎกติกาให้เข้มงวดมากกว่าเดิม อย่าเพิกเฉยมองว่ามันเป็นแค่เกมธุรกิจ ในขณะเดียวกันเหล่าตัวแทนขายประกันชีวิตต้องธำรงไว้ในอาชีวะปฎิญาณของวิชาชีพตนเอง มิใช่ดำรงตนดังสุนัขได้ยินเสียงกะลา บ้านไหนจ่ายดีก็วิ่งกันหางสั่นไปขออยู่อาศัยบ้านนั้น จนไม่สำเหนียกว่ากับข้าวในกะลากินอิ่มได้มื้อเดียวเท่านั้นเอง มีเรื่องเล่าขานในวงการตัวแทนกันว่า มีแม่ทัพตัวแทนป้ายแดงท่านหนึ่งที่เติบโตมาจากทฤษฎี “ขายแล้วรวย” จึงทำให้วิถีชีวิตวิถีคิดของตนเองมีเงินตราเป็นที่ตั้ง ต่อเมื่อได้มีโอกาสเป็นใหญ่ขึ้นชั้นแม่ทัพตัวแทนวิธีการหาลูกน้องจึงย่อมไปตามกำพืดที่ตนเองได้เรียนรู้มาคือใช้เงินฟาดหัวให้เข้ามาสวามิภักดิ์ แหง่ๆ ล่ะครับ คนที่เข้ามาร่วมงามด้วยย่อมมาจากกำพืดวิถีคิดเดียวกัน มองอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเวทนาต่อบริษัทต้นสังกัดซึ่งเป็นนายฝรั่งยิ่งนัก
แต่มองอย่างผู้คุมกฎ การไหลรวมมาชุมนุมกันอยู่อย่างนี้ ควรอย่างยิ่งที่คปภ.ต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรายการขายประกันนอกลู่นอกทาง อันจะก่อให้เกิดความเสียหายและความเชื่อถือต่อธุรกิจประกันชีวิตในภาพรวมสังคมภายนอกป่วนและอนาถใจกันมาเยอะแล้วกับคำพูด “รู้ไหมกูลูกใคร” เฉกเช่นเดียวกันกับแวดวงตัวแทนน้ำดีที่กำลังระอาคำพูด “รู้ไหมกูเป็นใคร” แล้วมันเป็นใคร เอาไว้วันหน้าจะแย้มให้รู้ครับผม!
สยามธุรกิจ
INSURANCETHAI.NET