60 บริษัทประกันวินาศภัย ทำ Insurance Bureau สู่ยุค Big Data
1290
60 บริษัทประกันวินาศภัย ทำ Insurance Bureau สู่ยุค Big Data
การแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System)
คปภ. นำ 60 บริษัทประกันวินาศภัย ทำคลอด Insurance Bureau เป็นผลสำเร็จ พลิกโฉมประกันวินาศภัยไทยสู่ยุค Big Data
"สุทธิพล”ย้ำประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัย เสริมเขี้ยวเล็บ การกำกับดูแลและป้องกันการฉ้อฉลจากธุรกิจประกันภัย"
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ตนได้เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System) ระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 60 บริษัท โดยมีนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นผู้กล่าวรายงานและร่วมแถลงข่าว จึงนับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่เข้าสู่ยุคการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภายใต้บริบท Thailand 4.0
โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีนโยบายในการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัยมาตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 (2549-2554) ต่อมาจึงได้มีการออกคำสั่ง สำนักงาน คปภ. ที่ 223/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันวินาศภัย โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการสายบริหารเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนของสมาคมวินาศภัยไทยร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งต่อมาสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย โดยทางสำนักงาน คปภ. สนับสนุนด้านผลการศึกษาวิเคราะห์และการวิจัย ตลอดจนการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ฯ และทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาทำการออกแบบและพัฒนาระบบฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. จนแล้วเสร็จและมีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ทั้งนี้การพัฒนาตามโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการระบบฐานข้อมูลการประกันวินาศภัยให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศของอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งช่วยยกระดับการพัฒนาธุรกิจและการกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัย
การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านประกันวินาศภัยระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยกับบริษัทประกันวินาศภัยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัทประกันวินาศภัย โดยมีบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมลงนามถึง 60 บริษัท และทาง สำนักงาน คปภ. ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งในแง่ของหน่วยงานกำกับดูแล ที่ริเริ่มในการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันภัย หรือ Insurance Bureau ถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่จะต่อยอดการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันภัยให้ขยายไปถึงข้อมูลด้านการประกันชีวิตด้วย โดยจะได้ขยายผลดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หลังจากที่ระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัยมีเสถียรภาพและเริ่มขับเคลื่อนไปได้ระยะหนึ่ง
“ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย หรือ Insurance Bureau ด้านประกันวินาศภัยจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลระบบประกันภัย ตลอดจนการเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัยได้ง่ายขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลจาก Insurance Bureau นั้น ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงและพัฒนาประสิทธิภาพ การบริหารจัดการในการรับประกันภัย การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของการรับประกันภัยได้อย่างแท้จริง อันช่วยลดความเสี่ยงในปัจจุบันลงได้ ซึ่งในอดีตอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยขาดข้อมูลสถิติอ้างอิงในเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้แต่ละบริษัทต้องบริหารจัดการตามความแตกต่างของประสบการณ์ของแต่ละบริษัท”
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญในการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัยระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันวินาศภัย มีสาระสำคัญคือ บริษัทประกันวินาศภัย จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการรับประกันวินาศภัยและค่าสินไหมทดแทนให้กับ สำนักงาน คปภ. ตามคำสั่ง คปภ. และประกาศนายทะเบียนที่เกี่ยวข้อง โดย สำนักงาน คปภ. จะพิจารณาส่งข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้กับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งข้อมูลที่จะจัดส่งจะต้องไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์และผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน
ทั้งนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยจะต้องส่ง Source Code ให้กับ สำนักงาน คปภ. ตลอดจนดูแลรักษาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตลอดการดำเนินการ โดยต้องประสานให้การดำเนินงานของระบบฐานข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยเป็นไปตามกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. ตลอดเวลา และต้องนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย และเผยแพร่ให้บริษัทประกันวินาศภัยใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม ตลอดจนต้องจัดส่งข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ บริหารจัดการให้กับ สำนักงาน คปภ. ตามระเบียบที่ สำนักงาน คปภ.กำหนด เงื่อนไขที่ระบุใน MOU ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยต้องปฏิบัติตาม คือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จะต้องไม่นำข้อมูลทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน บุคคลที่สาม หรือไม่นำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์ไม่ว่าทางหนึ่งทางใดในเชิงพาณิชย์ รวมตลอดถึงจะไม่นำข้อมูลที่ได้ไปกระทำการใดๆ อันเป็นทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทประกันวินาศภัย หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าว สมาคมประกันวินาศภัยไทยจะต้องยุติการรับข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัยและแจ้งให้สำนักงาน คปภ. ทราบในทันที และสำนักงาน คปภ. จะหยุดส่งข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไข
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ฐานข้อมูลกลาง หรือ Insurance Bureau จะส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมด้านการประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถติดตามการทุจริตฉ้อฉลจากธุรกิจประกันภัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยได้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านพฤติกรรมทางการตลาดในการรับประกันภัย และการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งเป็นการยกระดับการดำเนินกิจการของธุรกิจประกันภัย มีฐานข้อมูลอ้างอิงอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่แท้จริง สนับสนุนการพิจารณาอัตราเบี้ยประกันภัย การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้ประโยชน์ที่ประชาชนและสาธารณชนจะได้รับ คือ สามารถเข้าถึงข้อมูลการประกันภัยและสินไหมทดแทนของตนเอง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวม และในอนาคตจะมีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) และพัฒนาการเชื่อมต่อเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในลักษณะ Open API (Automatic Programming Interface) เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์และค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความโปร่งใส ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ด้านการประกันภัย
นอกจากการขับเคลื่อนเรื่อง Insurance Bureau แล้ว สำนักงาน คปภ. ยังเดินหน้าเรื่องการทบทวนและยกเลิกกฎระเบียบต่างๆที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้ และได้เดินหน้าการดำเนินงานไปแล้ว โดยในเบื้องต้นจะได้ยกเลิกประกาศและคำสั่งนายทะเบียนเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยตามรูปแบบเดิม เพื่อรองรับการจัดทำระบบฐานข้อมูลการประกันภัยในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นการลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของบริษัทฯได้ในระดับหนึ่งด้วย
INSURANCETHAI.NET