กระทรวงการคลัง ขู่เลิกยกเว้นภาษีเงินฝากหักณที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์
1345
กระทรวงการคลัง ขู่เลิกยกเว้นภาษีเงินฝากหักณที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์
คลังขู่ เลิกยกเว้นภาษีเงินฝากหักณที่จ่าย 15% คนละไม่เกิน 20,000 บาท หลังพบพฤติกรรมแบงก์-เศรษฐี ตุกติกเปิดบัญชีโยกไปโยกมาเพื่อเลี่ยงภาษี อธิบดีสรรพากรเจอด้วยตัวเอง “วิสุทธิ์” ยันไม่ยืดภาษีที่ดิน
คนฝากเงินกินดอกเบี้ยสุจริตส่อแววเดือดร้อน จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝาก ในอัตรา 15% ทุกบัญชี หลังกระทรวงการคลังเตรียมล้อมคอก ปิดช่องโหว่ของคนฝากเงินบางกลุ่มโดยความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรไปพิจารณาเกณฑ์รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท จะได้รับการยกเว้น ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ว่าจะยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ หลังจากพบว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้เมื่อดอกเบี้ยใกล้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ธนาคารพาณิชย์ใช้วิธีการปิดบัญชีเก่าแล้วไปเปิดบัญชีใหม่แทน
“1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีธนาคารขนาดเล็ก เลือกที่จะใช้วิธีการดังกล่าว จึงอยากให้หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยว่า จะควบคุมดูแลอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะถือเป็นธรรมาภิบาลอย่างหนึ่งของสถาบันการเงินด้วย” นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับให้กรมสรรพากรไปหาทางป้องกัน ได้แก่
แนวทางที่ 1
เลิกการยกเว้นเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 20,000 บาท
คือ ทุกคนต้องเสียหมดและพอสิ้นปีถึงจะให้มาขอคืนภาษีภายหลัง ซึ่งทำให้กระทบกับผู้ฝากเงินที่สุจริต เพราะธนาคารพาณิชย์บางแห่งไม่มีธรรมาภิบาล
แนวทางที่ 2
ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเข้าไปกำชับ และตักเตือนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดี กรมสรรพากร กล่าวว่า กำลังพิจารณารายละเอียดในส่วนของการยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเงินฝากเผื่อเรียกเป็นเงินฝากออมทรัพย์ประเภทหนึ่ง แต่จะมีลักษณะกำหนดอายุ เช่น 5 เดือน 10 เดือน และจะได้ดอกเบี้ยพิเศษกว่าออมทรัพย์ทั่วไป แต่ในระบบรายได้ของกรมสรรพากรไม่ได้แยกย่อยว่า มีรายได้ภาษีจากดอกเบี้ยออมทรัพย์เป็นเงินเท่าใด เพื่อประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
“เรื่องนี้ผมเจอกับตัวเองว่า มีพนักงานธนาคารโทรศัพท์มาสอบถามว่า จะปิดบัญชีที่รายได้ดอกเบี้ยส่วนที่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วมาเปิดบัญชีใหม่แทน แต่ผมบอกว่า หักภาษี ไปเลย ก็เลยรู้ว่ามีการทำในลักษณะนี้ ท่านรัฐมนตรีเองก็รู้ ก็เลยให้มาดูว่าจะทำไรได้บ้าง ทำอะไรได้บ้างหรือปิดช่องโหว่ตรงนี้ได้อย่างไร” นายประสงค์ กล่าว
ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานบัญชีเงินฝากของทั้งระบบล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวน92,253,428 บัญชี วงเงินรวม 11.848 ล้านล้านบาท โดยบัญชีออมทรัพย์มากที่สุด 81.98 ล้านบัญชี วงเงิน 6.78 ล้านล้านบาท และบัญจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเผื่อเรียก 2,391,190 บัญชี วงเงิน 5.12 แสนล้านบาท
++ไม่ยืดภาษีที่ดิน
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากรรมาธิการ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจาก สนช. มีมติรับร่างกฎหมายดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 และได้ขยายระยะเวลาการพิจารณาของกรรมาธิการ ออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 กันยายนนี้ แต่การประชุม สนช. เมื่อวันที่ 21 กันยายน มีมติเอกฉันท์ 169 เสียง เห็นชอบให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นกรณีพิเศษ ออกไปอีก 60 วัน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จะไม่มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมคือบังคับใช้ในปี 2562 เพราะเป็นเพียงการพิจารณารายละเอียดที่ยังไม่ได้ข้อสรุปใน 3 เรื่องคือ การพิจารณาคำแปรญัตติของสมาชิกสนช. การพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายประเภทมาก และการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ที่เคยเสียภาษีเดิม คือภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทั้งกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งด้วย
“เราต้องการข้อมูลให้เพียงพอ เพราะระบบการจัดเก็บภาษีคนละฐาน เรายกเลิกฐานภาษีเดิมที่มีเพดานสูงถึง 12.5% มาจัดเก็บในฐานใหม่จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นมาตรฐานสากล ลดการใช้ดุลพินิจเพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน” นายวิสุทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งประเภทการจัดเก็บออกเป็น 4 กลุ่มคือที่ดินเพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัยอื่นๆ และสุดท้ายคือ ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งคาดว่า รายได้จากกลุ่มเกษตรและที่อยู่อาศัยนั้นจะไม่เกิน 10% ของรายได้ภาษีที่จะจัดเก็บได้ ส่วนใหญ่ถึง 90% จะเป็นภาษีจากกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรวมที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ดังนั้นหากกำหนดมูลค่าบ้านหลังแรกที่จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีไว้ 20-50 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีได้ไม่ถึง 20 ล้านครัวเรือน หรือไม่เกิน 1% ของประชากรในฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
“ยิ่งกำหนดฐานภาษีที่จะได้รับการยกเว้นสูง จำนวนประชากรที่จะเข้ามาอยู่ในฐานภาษีก็ยิ่งลดลง ซึ่งดังนั้นสิ่งสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือ ความสมดุล ระหว่างองค์กรท้องถิ่นต้องมีรายได้พอสมควร ขณะเดียวกันประชาชนผู้เสียภาษีเองก็ต้องชำระภาษีได้ด้วยความเต็มใจ ดังนั้นจึงยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ รวมถึงกลุ่มที่จะได้รับการบรรเทาภาระภาษี เพราะมีบางกลุ่มที่ใช้พื้นที่มาก เช่น สนามกีฬา ก็ต้องมาดูรายละเอียดเพราะถ้าเพื่อสาธารณประโยชน์จะได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว” นายวิสุทธิ์กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
วิธีการที่ใช้กันคือ .. ปิดบัญชีก่อนที่ ภาษีดอกเบี้ย 15% จะครบถึง 20,000
INSURANCETHAI.NET