กฎหมายละเมิด
1355

กฎหมายละเมิด

กฎหมายละเมิด (Violate Law) เป็นกฎหมายประเภทหนึ่งของกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
เพื่อใช้เรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างกัน

ละเมิด = การกระทำใดๆของบุคคล หรือการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ผู้ได้รับความเสียหายนั้นชอบที่จะได้รับการเยียวยาได้ โดยการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือเรียกร้องให้ผู้ละเมิดปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติในลักษณะอื่นๆแล้วแต่กรณี

ลักษณะของการกระทำละเมิด

1. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
การกระทำ = การเคลื่อนไหวอิริยาบถ โดยรู้สำนึกในการเคลื่อนไหวนั้น
การเคลื่อนไหวอิริยาบถนั้นมีผลมาจากความคิด ตกลงใจ และการกระทำตามที่ตกลงใจนั้น หากบุคคลเคลื่อนไหวโดยไม่รู้สำนึก เช่น สะดุ้ง ละเมอ หรือถูกจับมือให้กระทำ ดังนี้ไม่ถือว่ามีการกระทำ เพราะการเคลื่อนไหวต่างๆนั้นไม่ใช่มีผลมาจากการคิด ตกลงใจ และกระทำตามที่ตกลงใจ

การกระทำต่อบุคคลอื่นต้องเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฏหมาย อีกนัยหนี่งคือ เป็นการกระทำที่ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำตามกฏหมาย เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ขับรถโดยประมาท หรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เป็นต้น

2. เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
กระทำโดยจงใจ = กระทำโดยรู้สำนึกถึงผลหรือความเสียหายที่่่จะเกิดจากการกระทำของตน (ผลจะเสียหายเท่าไรไม่สำคัญ)
กระทำโดยประมาทเลินเล่อ = กระทำโดยไม่จงใจ แต่ไม่ได้ความระมัดระวังตามสมควร (ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป)

3. การกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
          การกระทำละเมิดนั้น นอกจากจะต้องเข้าตามข้อ 1 และข้อ 2  แล้วยังต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายด้วย หากการกระทำนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด
          ส่วนแค่ไหนเพียงใดจึงจะถือว่าเป็นความเสียหายนั้น ต้องอาศัยการวินิจฉัยของบุคคลธรรมดาหรือปกติชน (วิญญูชน)ที่คิดเห็นในสังคมโดยชอบเป็นมาตรฐาน เช่น ก. ยืนพิงรถยนต์ของ ข. ว่ากันตามกฏหมายไทยคงไม่ถือว่าเป็นความเสียหาย

วิญญูชน = บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ

การกระทำที่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้ง 3 ประการจะเป็นความรับผิดฐานละเมิด ซึ่งผู้ทำละเมิดมีหน้าที่หรือความรับผิดตามกฏหมายในอันที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกทำละเมิดนั้น

4. ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลของการกระทำ
สิ่งนี้ถือป็นหลักเกณฑ์ความรับผิดฐานละเมิดที่สำคัญประการหนึ่ง แม้ถ้อยคำในตัวบทจะไม่ได้ระบุให้ชัดเจนเหมือนหลักเกณฑ์ข้ออื่นๆก็ตาม ในการวินิจฉัยว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลตามหลักเกณฑ์ข้อนี้หรือไม่นั้นจะต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน
1. เป็นความสัมพันธ์ที่่เป็นและผลระหว่างการกระทำโดยไม่ชอบของจำเลย กับความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่จริงหรือไม่
2. ความเสียหายที่เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยนั้นไกลเกินกว่าเหตุที่จะให้จำเลยรับผิดหรือไม่

ความเห็นของนักนิติศาสตร์ในเรื่องนี้มีอยู่หลายประการ เช่น
              1. ความเสียหายนั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง
              2. ความเสียหายนั้นจะต้องเป็นผลที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิด หรือ
              3. ความเสียหายนั้นต้องเป็นความเสียหายที่ตามธรรมดาย่อมเกิดจากการกระทำนั้นๆไม่ใช่ความเสียหาย

นักนิติศาสตร์เยอรมันได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ขึ้นเป็นทฤษฎีสำคัญรวม 2 ทฤษฎี คือ
            1. ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไข
            2. ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสม
         
หลักเกณฑ์ใน 2 ทฤษฎีส่งผลในทางกฎหมายแตกต่างกันไป โดยทฤษฎีที่ใช้ในกฎหมายไทยจึงมีการนำหลักจาก 2 ทฤษฎีนี้มาร่วมกัน โดยนำทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไขมาใช้เป็นหลักเบื้องต้น แล้วนำทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมมาเป็นข้อยกเว้น

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด
ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิด ซึ่งที่ได้รับความเสียหายจะพึงได้รับนั้นถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลศาลจะเป็นองค์กรกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด (ป.พ.พ.ม. 438)

หลักทั่วไปโดยปกติค่าสินไหมทดแทนได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินรวมทั้งค่าเสียหายอันพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ตัวอย่าง
นาย ก. ลักเอารถจักรยานยนต์รับจ้าง ราคา 50,000 บาท ของนายข.ไปรถคันนี้ นาย ข. นำออกวิ่งรับจ้างได้วันละ 500 บาท
ดังนี้
นายก. ต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นาย ข. ถ้าคืนไม่ได้ต้องใช้ราคารถ 50,000 บาทแก่นายข. และนาย ข. ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หรือ วันละ 500 บาท เป็น ค่าสินไหมทดแทน  ตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องพร้อมทั้งค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันชำระหนี้ได้ด้วย

บางกรณีกฎหมายกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้โดยเฉพาะดังนี้
1. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ทำให้เขาถึงตายผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังนี้
(1) ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น เช่นค่ารถบรรทุกศพ ค่าโลงศพค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้วัด ค่าดอกไม้ค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศล
(2) ค่าขาดไร้อุปการะต้องเป็นกรณีค่าขาดอุปการะตามกฎหมายเช่นบิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น
(3) ค่าขาดแรงงานถ้าผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกแก่ครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าขาดแรงงานให้แก่บุคคลภายนอกด้วย
(4) ถ้ายังไม่ตายทันที เรียกค่ารักษาพยาบาล และค่าประโยชน์ทำมาหากินได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้

2. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
(1) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็น
(2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วย
(3) ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน ทั้งเวลาปัจจุบันและอนาคต เช่นผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนพิการไม่สามารถประกอบการงานได้
(4) ค่าเสียหายที่ขาดแรงงานในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของคนภายนอก
(5) ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น ค่าสินไหมที่ต้องตัดขาหน้าเสียโฉมติดตัว ขาพิการ ค่าเสียอนามัยที่ต้องนอนทรมาน เป็นต้น

ปพพ มาตรา 420-437

อ่านเพิ่ม
https://www.lawphin.com/result/law?law_origin_type=ประมวลกฎหมาย&law_category=ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์&law_buff=2-5-1&page=1



INSURANCETHAI.NET
Line+