สั่งถอนใบอนุญาตประกันภัย'ลิเบอร์ตี้-วิคตอรี' (2011)
141
สั่งถอนใบอนุญาตประกันภัย'ลิเบอร์ตี้-วิคตอรี' (2011)
คลังสั่งถอนใบอนุญาตธุรกิจประกันวินาศภัย "ลิเบอร์ตี้ประกันภัย-วิคตอรี" เงินกองทุนต่ำกว่ามาตรฐาน 19 บริษัทจ่อเรียกค่าเสียหาย
ตามที่กระทรวงการคลังได้มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และคำสั่ง ที่ 708 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้วนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
1. กรณีบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด
1.1 บริษัทมีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท
1.2 สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัยได้ให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินแต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 ซึ่งต่อมาบริษัทได้ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 บริษัทมีเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย แต่บริษัทยังคงขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่สามารถชำระหนี้สิน และค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนตามสัญญาประกันภัยได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ให้โอกาสบริษัทในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ค้างคาเป็นระยะเวลานานพอสมควร หากแต่บริษัทก็ไม่มีความคืบหน้า กลับมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนสูงถึง 232.05 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด ยังคงดำเนินกิจการต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อาศัยอำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 6.มิถุนายน 2554
2. กรณีบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด
2.1 บริษัทมีการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิชอบ และทำธุรกรรมทางการเงินที่ตามปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจไม่พึงกระทำ บริษัทจึงมีการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ คปภ. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้ บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554
2.2 สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัยได้ให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินแต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ บริษัทยังคงดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จัดสรรทรัพย์สินไม่เพียงพอกับหนี้สินและภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ซึ่งมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 จำนวน 24.61 ล้านบาท ทั้งได้พบว่า ผู้บริหารหรือผู้บริหารร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการอันมิชอบ เป็นเหตุให้สินทรัพย์ของบริษัทสูญหายเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นผู้บริหารของบริษัท รับว่าจะนำสินทรัพย์มูลค่าจำนวน 116.86 ล้านบาทคืนกลับมาเป็นของบริษัท โดยนำฝากประจำไว้กับสถาบันการเงิน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 และบริษัทรับทราบว่า คณะกรรมการ คปภ. มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 เห็นชอบให้สำนักงาน คปภ. เสนอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทันที หากบริษัทไม่ดำเนินการตามคำมั่นที่ให้ไว้ และเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาบริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ บริษัทยังคงมีฐานะการเงินหรือการดำเนินงานในลักษณะอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อาศัยอำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด จำกัด ตั้งแต่วันที่ 6.มิถุนายน 2554
3. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ
4. สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ในกรณีกรมธรรม์ที่ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ ให้ทำประกันภัยกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือ
โดยสามารถซื้อความคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม หรือบริษัทประกันภัยอาจให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาคุ้มครองที่เหลืออยู่ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี กองทรัพย์สินของบริษัทในคดีล้มละลาย หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับประกันภัยใหม่ สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th ) หรือสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
5. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด หรือบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
5.1 ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนน บางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
5.2 ต่างจังหวัด ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ
6. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี
ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาตามข้อ 5 พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
7. ปัจจุบันมีกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจะต้องไปขอรับชำระหนี้จากผู้รับชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อนหากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทฯ (ผู้ชำระบัญชี และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทุนฯ แต่รวมกันทุกสัญญาแล้วไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อราย
รายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ลำดับที่
ชื่อบริษัท เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
1 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 0-2285-8888
2 บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด 0-2651-5500
3 บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด 0-2100-9191
4 บริษัท โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย จำกัด 0-2686-8888
5 บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด(มหาชน) 0-2670-4444
6 บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 0-2555-9100
7 บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด 0-2878-7111
8 บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด 0-2661-7999
9 บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) 0-2636-7900
10 บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย 0-2649-1000
11 บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) 0-2644-6400
12 บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด (สาขาประเทศไทย) 0-2679-6165
13 บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด 0-2640-7777
14 บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) 0-2290-3333
15 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด 0-2641-3500
16 บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) 0-2263-0335
17 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 0-2378-7000
18 บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด 0-2631-1311
19 บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด 0-2661-6000
Re: สั่งถอนใบอนุญาตประกันภัย'ลิเบอร์ตี้-วิคตอรี' (2011)
141
Re: สั่งถอนใบอนุญาตประกันภัย'ลิเบอร์ตี้-วิคตอรี' (2011)
สั่งให้บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
ตามที่นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้มีคำสั่งที่ 5/2554 เรื่อง ให้บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 28 มกราคม 2554 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้เปิดเผยว่า
บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย จัดสรรสินทรัพย์ไว้ไม่เพียงพอกับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทแก่บุคคลภายนอกโดยมิชอบ มีการทำธุรกรรมทางการเงินในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 สั่งให้บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างที่บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ประชาชน ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ หากไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วน ก็สามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลการดำเนินการของบริษัท และเร่งรัดให้บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด สามารถแก้ไขฐานะและการดำเนินการให้มีความมั่นคงอยู่ในสถานะที่จะประกอบธุรกิจได้ต่อไป
สำหรับการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินคดีต่อบริษัท วิคเตอรี ประกันภัย(ประเทศไทย) จำกัด แล้ว
INSURANCETHAI.NET