ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
1443
ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
กำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
กฎกระทรวง
กำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
พ.ศ. ๒๕๕๓
-------------------------------------------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ในกฎกระทรวงนี้
"ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
"ทุน” หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ทุนชำระแล้วของบริษัท มหาชนจำกัด ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในนิติบุคคลอื่น
"รายได้” หมายความว่า รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการให้บริการ ด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
"สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
ข้อ ๒ ในวันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามประเภทหนึ่งประเภทใด รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี
การเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างรอบปีบัญชี ไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จัดให้มีแล้วในรอบปีบัญชีนั้น
ข้อ ๓ ประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ได้แก่
(๑) เงินฝากสถาบันการเงินในประเทศประเภทฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
(๒) บัตรเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินในประเทศออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานการฝากเงินของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น
(๓) พันธบัตรรัฐบาลไทยที่จำหน่ายในราชอาณาจักร
(๔) พันธบัตรองค์การหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติหรือ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
(๕) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
หลักประกันตามวรรคหนึ่งต้องปราศจากภาระผูกพัน
ข้อ ๔ จำนวนของหลักประกันตามข้อ ๓ (๒) (๓) และ (๔) ให้ถือตามจำนวนเงิน ที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ ๓ (๕) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ข้อ ๕ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิด ต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ
ข้อ ๖ ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี จัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๗ การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันหรือการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด
ข้อ ๘ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ต้องจัดให้มีหลักประกันประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวน ไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีตามวรรคหนึ่งประกอบกิจการไม่ถึงหนึ่งรอบปีบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันที่แจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
พรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติ ให้นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจัดให้มีหลักประกัน เพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
Re: ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
1443
Re: ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
สนง.บัญชี 4 พันรายป่วน พาณิชย์ออกกฎใหม่ตั้งหลักประกัน3% บังคับใช้26ก.ค.2553
สำนักงานบัญชีมึนถ้วนหน้า กระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไล่บี้บังคับต้องมีเงินหลักประกัน อ้างเพื่อความมั่นคงธุรกิจ ขีดเส้นตาย 26 ก.ค.นี้บังคับใช้ ระบุฝ่าฝืนปรับทันทีไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่แก้ปรับเพิ่มอีกวันละหมื่นบาท ฟันธงกระเทือน 4 พันบริษัทเล็ก วิ่งโร่หาหลักประกัน ธุรกิจโวยกระทันหันไป
@สนง.บัญชีกว่า 4 พันรายอ่วม
นายสิทธิพล สิทธิสาตร์ ประธานสหกรณ์บริการพัฒนานักบัญชีไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีที่เป็นนิติบุคคลทุกราย (ทั้งด้านการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี) จะต้องมีหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินทุนจดทะเบียน หรือรายได้ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน เพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 66 นิติบุคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
"การเร่งออกกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้อย่างกะทันหันดังกล่าวทำให้บริษัทบัญชีจำนวนมากไม่ทราบเรื่องนี้และไม่ได้เตรียมความพร้อมหลักประกันไว้ก่อน โดยเฉพาะสำนักงานบัญชีขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนหรือรายได้ประมาณไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนสำรองมากนัก หากต้องถูกปรับมากถึงตามเกณฑ์ดังกล่าว บางบริษัทอาจต้องปิดสำนักงานก็ได้"
@วอนเลื่อนบังคับใช้ต้นปีี54
นายสิทธิพลกล่าวอีกว่า กฎกระทรวงที่ออกและมีผลบังคับใช้ 26 ก.ค.นี้กะทันหันเกินไป ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเตรียมตัวมากกว่านี้ เห็นว่าควรเลื่อนการบังคับใช้ไปถึงช่วงต้นปี 2554 ซึ่งจะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงมาแก้ไขเงื่อนเวลาของกฎกระทรวงฉบับก่อนหน้า
นอกจากนี้ทางสหกรณ์บริการพัฒนานักบัญชีไทยได้พยายามหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี โดยได้ขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีจาก บมจ.เมืองไทยประกันภัย ซึ่งจะต้องออกเป็นกรมธรรม์พิเศษให้ครอบคลุมสมาชิกในสหกรณ์ไปด้วย ซึ่งขณะนี้ได้พยายามติดต่อสำนักงานบัญชีต่าง ๆ ราว 400-500 แห่ง ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อเป็นหนึ่งในทางแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้น
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 พ.ค. 2553 มีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน นับจากวันประกาศ ขณะที่สภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศชี้แจงหลักปฏิบัติกรณีดังกล่าวในวันที่ 7 ก.ค. และนัดชี้แจงต่อสมาชิกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
@เร่งออกแพ็กเกจประกันภัยรองรับ
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวว่า บริษัทกำลังออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นแพ็กเกจความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการทำบัญชีหรือสอบบัญชีผิดพลาดโดยไม่เจตนา โดยรวมความรับผิดชอบทั้งค่าต่อสู้คดีและการชดใช้ค่าเสียหายตามทุนประกันที่ได้เลือกซื้อเอาไว้ โดยเริ่มต้นทุนประกันที่ 500,000 บาท เบี้ยประกันเริ่มต้นประมาณ 3,000 บาท
"ขณะนี้รูปแบบกรมธรรม์ออกแบบเสร็จแล้ว พร้อมจะยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน กว่าจะได้รับอนุมัติและเริ่มทำตลาดได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ไม่ต้องการใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกันจำนวนมาก เพราะหลักเกณฑ์อัตรา 3% ของทุน หรือรายได้ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้น แต่เจ้าทุกข์อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากกว่านั้นก็ได้" แหล่งข่าวกล่าว
@บ.บัญชีร้อง "เวลากระชั้นชิด-ไม่มีสภาพคล่อง"
แหล่งข่าวจากบริษัทรับทำบัญชีขนาดเล็กกล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องแล้วที่กระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 โดยให้วางหลักประกันไม่น้อยกว่า 3% ของทุน หรือรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน เนื่องจากสภาวิชาชีพบัญชีได้จัดสัมมนาอบรมเรื่องดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 26 ก.ค.นี้
"ในงานสัมมนาดังกล่าวมีบริษัทบัญชีมาร่วมฟังการสัมมนาจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก เนื่องจากกฎกระทรวงนี้ทุกบริษัทจะได้รับผลกระทบเหมือนกันในการต้องวางเงินหลักประกันซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่มีสภาพคล่องหมุนเวียนน้อย โดยหากทุน 1 ล้านบาท ต้องวางประกันถึง 3 หมื่นบาท หากทุน 5 ล้านบาท ก็ต้องวางประกันถึง 1.5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย ทำให้การประชุมในวันนั้นมีบริษัทบัญชีหลายรายลุกขึ้นสอบถามและแสดงความไม่เห็นด้วยจำนวนมาก และไม่เข้าใจกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกระทรวงพาณิชย์ทำอะไรกันอยู่"
แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ว่าจะทราบเรื่องจากการสัมมนาเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ไม่สามารถทำตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ทัน เนื่องจากเวลากระชั้นชิดมาก และการที่จะนำเงินมาฝากธนาคารพาณิชย์หรือนำพันธบัตรวางเป็นหลักประกันก็ไม่สามารถทำได้ภายในเวลารวดเร็ว เพราะจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติและจัดทำหนังสือรับรองการประชุม เพื่อนำไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปี ตามเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่พันธบัตรหรือบัตรเงินฝากก็ไม่สามารถหาซื้อได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีในปัจจุบันก็ยังไม่มีบริษัทประกันภัยใดออกขายเลย
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับการต้องวางหลักประกัน คิดว่าบริษัทบัญชีหลายแห่งคงเลือกที่จะฝากประจำ 1 ปีมากกว่า เพราะยังได้ดอกเบี้ยและเงินต้นยังอยู่ แต่หากต้องไปซื้อกรมธรรม์ความรับผิดก็จะต้องเสียค่าเบี้ยประกันไปฟรี ๆ และค่าเบี้ยประกันไม่ใช่น้อย
"แต่ปัญหาตอนนี้คือ บริษัทขนาดเล็กที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่กว่า 4 พันบริษัท ไม่มีเงินมากพอที่จะนำไปวางเป็นหลักประกัน เพราะเงินที่มีอยู่ในบริษัทก็ต้องใช้หมุนเวียนธุรกิจ ฉะนั้นกฎกระทรวงที่ออกมาดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับบริษัทบัญชี ขณะที่ระยะเวลาบังคับใช้ก็กระชั้นชิดเกินไป ไม่มีเวลาให้บริษัทบัญชีตั้งตัว" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้สอบถามในประเด็นดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ไม่ได้รับการชี้แจงใด ๆ ก่อนที่จะออกจดหมายข่าวชี้แจงส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ
cr.https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1280030092
Re: ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
1443
Re: ประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๓
ถาม-ตอบ เรื่องกำหนดหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
<13 กันยายน 2553 13:33 น.>จำนวนผู้เข้าชม 10218 คน
คำถามและคำตอบเกี่ยวกับกฎกระทรวง
เรื่อง กำหนดหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
1. คำถาม ผู้ใดต้องจัดให้มีหลักประกัน
คำตอบ เฉพาะนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี ให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 เท่านั้น คือ
1. นิติบุคคลรายใหม่ ที่จะยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกัน
2. นิติบุคคลที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้ว ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ (27 พฤษภาคม 2553)ให้จัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ (ภายใน 27 กรกฎาคม 2553)
กรณีที่นิติบุคคลให้บริการด้านการทำบัญชีหรือด้านการสอบบัญชีให้กับบริษัทในเครือ โดยทำในนามของนิติบุคคลนั้นมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าว เช่นนี้ถือว่าเข้าเครือข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 11 ด้วย
2. คำถาม ประโยชน์ของการจัดให้มีหลักประกัน
คำตอบ 1.เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
2.เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บุคคลผู้ใช้บริการวิชาชีพบัญชี
3.เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
3. คำถาม นิติบุคคลจะแจ้งหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีด้วยวิธีการใด
คำตอบ ใช้แบบคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม (แบบสวบช. 5.3) พร้อมแนบหลักฐานดังต่อไปนี้
1.สำเนาหลักประกัน
2.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์ไม่เกิน 1 เดือน
3.หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล
(เฉพาะกรณีที่กรรมการไม่สามารถลงนามในแนบ สวบช. 5.3 ได้)
4.สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ถ้ามี)
เตรียมแบบสวบช. 5.3 พร้อมหลักฐาน จำนวน 2 ชุด และชำรพค่าดำเนินการ จำนวน 400 บาทและยื่นแบบสวบช. 5.3 และหลักฐาน ได้ที่ ที่ทำการสภาวิชาชีพบัญชีฯ ถนนสุขุมวิท21(อโศก) หรือ ส่งทางไปรษณีย์
มายังสภาวิชาชีพบัญชีฯ เลขที่ 133 ถนนสุขุมวิท21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 หรือ ส่งที่สำนักงานสาขาสภาวิชาชีพบัญชีฯ
สำหรับการจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีครั้งแรกนิติบุคคลต้องจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 นี้ ส่วนการ จัด ให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน ครั้งต่อไป ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชีทุกปีของแต่ละนิติบุคคล
4. คำถาม หน่วยลงทุนในกองทุน หุ้น หรือตราสารต่างๆ ใช้เป็นหลักประกันได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวง ข้อ 3
5. คำถาม ทุน ในความหมายตามข้อ 2 ของกระทรวงฉบับนี้ หมายถึง ทุน ของบริษัทที่ให้บริการทำบัญชีหรือสอบบัญชีใช่หรือไม่
คำตอบ 1.ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ที่บริษัทจำกัดยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของบริษัทจำกัดที่ให้บริการทำบัญชีหรือสอบบัญชี
2.ทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชน
6. คำถาม กรณีเปลี่ยนแปลงประเภทหลักประกัน นิติบุคคลต้องดำเนินการอย่างใด
คำตอบ กรณี เปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้นิติบุคคลแจ้งการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้แนบ สวบช. 5.4 คำขอแจ้งเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม พร้อมแนบหลักฐานดังต่อไปนี้
1.สำเนาหลักประกัน
2.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์ไม่เกิน 1 เดือน
3.หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล (ถ้ามี)
4.สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ถ้ามี)
เตรียมแบบสวบช. 5.3 พร้อมหลักฐาน จำนวน 2 ชุด และชำรพค่าดำเนินการ จำนวน 400 บาทและยื่นแบบสวบช. 5.3 และหลักฐาน ได้ที่ ที่ทำการสภาวิชาชีพบัญชีฯ ถนนสุขุมวิท21(อโศก) หรือ ส่งทางไปรษณีย์ มายังสภาวิชาชีพบัญชีฯ เลขที่ 133 ถนนสุขุมวิท21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 หรือ ส่งที่สำนักงานสาขาสภาวิชาชีพบัญชีฯ
7. คำถาม วิธีการแสดงรายการในงบการเงินเกี่ยวกับหลักประกันต้องแสดงอย่างไร นิติบุคคลต้องเปิดเผยในงบการเงินหรือไม่
คำตอบ การแสดงรายการงบการเกี่ยวกับหลักประกันให้แสดงไว้ในส่วนของรายการสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนภายใต้หัวข้อ
สินทรัพย์ที่มีภาระผูกพัน ซึ่งจะต้องอ้างอิงกับหมายเหตุประกอบงบการเงินที่จะต้องอธิบายรายละเอียดของ หลักประกันตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
8. คำถาม กรณีเพิ่มหรือลดของทุนหรือรายได้ในระหว่างรอบปีบัญชีต้องแจ้งหลักประกันใหม่หรือไม่
คำตอบ การเพิ่มทุนหรือลดทุนของนิติบุคคลในระหว่างรอบบัญชีที่ไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่นิติบุคคลได้จัดให้มี
แล้วปีบัญชีนั้น โดยไม่ต้องแจ้งต่อสภาฯ
9. คำถาม กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชี ที่จะนำมาเป็นหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่ 3 มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมที่จะต้องนำมาพิจารณา เช่น ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้เท่านั้น หรือไม่
คำตอบ ใช่ ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้จาก สำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับบริการดังกล่าว
10. คำถาม กรณีบริษัทมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดชอบทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี หากบริษัทมีรายได้จากสอบบัญชีและทำบัญชีทั้งสิ้น 10 ล้านบาท หลักประกันร้อยละ 3 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ถ้าบริษัทจ่ายเบี้ยประกัน 100,000 บาท จำนวนเงินทุนประกันตามกรมธรรม์ 8 ล้านบาท ถือว่าหลักประกันเพียงพอตามข้อ4 ของกฎกระทรวง ใช่หรือไม่
คำตอบ ใช่ ถือว่าเพียงพอตามข้อ4 ของกฎกระทรวง
11. คำถาม กรณีที่มีการต่ออายุกรรมธรรม์ในระหว่างรอบปีบัญชีต้องทำอย่างไร
คำตอบ กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนประเภทหลักประกัน ให้นิติบุคคลแจ้งการเปลี่ยนแปลงของหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
12. คำถาม การให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 คืออะไร
คำตอบ ขณะนี้ยังไม่มีพระราชฎีกากำหนดวิชาชีพอื่น มีเพียงวิชาชีพการทำบัญชีและสอบบัญชีเท่านั้น
13. คำถาม รายได้ค่าที่ปรึกษาภาษีอากร ที่ปรึกษากฎหมาย ถือเป็นรายได้จากการทำบัญชีหรือสอบบัญชีหรือไม่
คำตอบ ไม่ใช่
14. คำถาม นิติบุคคลมีธุรกิจหลายประเภท เช่น ผลิตสินค้า ให้บริการ และรับทำบัญชีด้วย ต้องจดทะเบียนหรือไม่
คำตอบ หากนิติบุคคลมีรายละเอียดวัตถุในการประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชีตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นิติบุคคลนั้นก็ต้องจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีด้วยตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 และจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน
15. คำถาม นิติบุคคลที่ให้บริการทั้งทำบัญชีและสอบบัญชี ต้องคำนวณหลักประกันอย่างไร
คำตอบ ต้องนำรายได้ทั้งทำบัญชีและสอบบัญชีมารวมกันและพิจารณาว่ารายได้หรือทุนมากกว่า จึงคำนวณร้อยละ3 จากรายการนั้น
16. คำถาม หากใช้การคำนวณหลักประกันจากรายได้ของรอบปีที่ผ่านมา แต่นิติบุคคลจะจัดทำหลักประกันมากกว่าร้อยละ3 ได้หรือไม่
คำตอบ ได้
17. คำถาม หากรายได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี บัญชีเงินฝากที่ใช้เป็นหลักประกันสามารถใช้บัญชีเงินฝากเดิม แต่เพิ่มจำนวนเงิน หรือลดจำนวนเงินได้หรือไม่ หรือต้องเปิดบัญชีใหม่
คำตอบ ใช้บัญชีเงินฝากเดิม หรือจะเปิดบัญชีใหม่ก็ได้
18. คำถาม หากนิติบุคคลปิดงบไม่ทันภายใน 60 วัน จะต้องนำหลักฐานใดสำหรับการจัดให้มีหลักประกัน
คำตอบ บริษัทต้องรวบรวมรายได้ จากใบเสร็จ หรือรายการรับชำระที่ได้จากการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านการสอนบัญชี
หรือด้านการทำบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันปิดงบ
19. คำถาม ประเภทของหลักประกันของบัตรเงินฝากเป็นของบุคคล หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ ต้องเป็นชื่อของนิติบุคคลเท่านั้น
20. คำถาม มีหลักเกณฑ์การลดหลักประกันหรือไม่
คำตอบ การลดหรือเพิ่มหลักประกันต้องพิจารณาถึงรายได้หรือทุนหลังจากวันสิ้นรอบปีบัญชีของทุกปี
21. คำถาม หนังสือค้ำประกันของธนาคาร (Bank Guarantee) ถือเป็นหลักประกันได้หรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้รับผลประโยชน์
คำตอบ ไม่ถือเป็นหลักค้ำประกัน ตามประเภทที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
22. คำถาม นิติบุคคลจะถอนหลักประกันที่แจ้งไว้ต่อสภาฯ ได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เพราะนิติบุคคลต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาประกอบกิจการ
ตามกฎกระทรวง ข้อ5 หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดตามมาตรา 66
23. คำถาม นิติบุคคลได้ทำประกันไว้กับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศอยู่แล้ว จะใช้ได้หรือไม่
คำตอบ กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับบริษัทประกันภัยไว้ แต่ควรเลือกทำประกันกับบริษัทในประเทศจะได้รับความคุ้มครองมากกว่า เพราะสำนักงาน คปภ. เป็นผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัยในประเทศ หากเป็นบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ หากเกิดความเสียหายอาจเกิดปัญหาในการเรียกร้องสินไหมทดแทน
24. คำถาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการขยายเวลายื่นงบการเงินได้ สภาวิชาชีพบัญชีจะขยายเวลาผ่อนผันการแจ้งหลักประกันหรือไม่
คำตอบ การขยายเวลาการยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพิจารณาสั่งให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้ตาม 11 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ส่วนกฎกระทรวงกำหนดความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2553 ประกอบพระราชบัญญัติวิชาชีพพ.ศ.2547 ไม่ได้กำหนดให้วิชาชีพบัญชี หรือกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจพิจารณาขยายเวลาผ่อนผันการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันได้
25. คำถาม การจัดให้มีหลักประกันร้อยละ3 นั้น จะต้องจัดสะสมไว้แต่ละปี หรือ เป็นการคงหลักประกันไว้ที่ร้อยละ3 ของทุนหรือรายได้ในรอบปีที่ผ่านมาเท่านั้น
คำตอบ ไม่มีการสะสมหลักประกันในแต่ละวันสิ้นรอบปีบัญชี แต่ต้องคำนวณใหม่เพื่อจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันใหม่ หากมีการเพิ่มทุนหรือลดทุน หรือรายได้เพิ่มขึ้นหรือรายได้ลดลง ในแต่ละวันสิ้นรอบปีบัญชี
26. คำถาม นิติบุคคลมีรายได้ลดลงจากปีก่อน ต้องจัดให้มีหลักประกันร้อยละ3 จากทุนจดทะเบียนใช่หรือไม่
คำตอบ หากรายได้ลดลงจนน้อยกว่าทุนจดทะเบียน ให้คำนวณร้อยละ3 ของทุนจดทะเบียน
27. คำถาม นิติบุคคลมีเงินฝากประจำไม่เพียงพอ จะใช้หลักประกันประเภทอื่นร่วมด้วยได้หรือไม่
คำตอบ ได้ ตามกฎกระทรวงข้อ3
28. คำถาม นิติบุคคลมีเงินฝากประจำประเภท 1 ปีอยู่แล้ว สามารถนำบัญชีที่มีอยู่มาใช้เป็นหลักประกันได้หรือไม่หรือต้องเปิดบัญชีใหม่แยกอีก1 บัญชี
คำตอบ ได้ หากบัญชีเงินฝากดังกล่าวเปิดบัญชีในนามของนิติบุคคลนั้นๆ
29. คำถาม ในกรณีวงเงินในบัตรเงินฝากสูงกว่าวงเงินหลักประกัน จะมีวิธีการแยกเฉพาะส่วน หรือ กำหนดวงเงินประกันสำหรับบัตรเงินฝากแยกต่างหากออกจากกันอย่างไร
คำตอบ ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงข้อ4 กล่าวคือ จำนวนของหลักประกันตามข้อ3(2)(3)และ(4)ให้ถือตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ 2(5) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
INSURANCETHAI.NET