ยุคทองแบงก์แอสชัวรันส์ ยุคมืดตัวแทนประกันชีวิต (2011)
145
ยุคทองแบงก์แอสชัวรันส์ ยุคมืดตัวแทนประกันชีวิต (2011)
ยุคทองแบงก์แอสชัวรันส์ ยุคมืดตัวแทนประกันชีวิต
ไม่เป็นที่ปฏิเสธกันว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แบงก์ขายประกันภัย-ประกันชีวิต หรือแบงก์แอสชัวรันส์ เฟื่องฟูสุดๆ ประชาชนเดินเข้าไปทำธุรกรรมในสาขาธนาคารไหนๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ล้วนจะต้องถูกเชิญชวนหรือโน้มน้าวให้ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง เสมือนหนึ่งเป็นปัจจัยที่ 6 ของชีวิตประจำวันกันไปแล้วเรียบร้อย ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์รวมเฉลี่ยต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 60% เย้ายวนชวนให้ธนาคารเร่งมือขายประกันหาค่าธรรมเนียมนายหน้ากันมือระวิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายค่า KPI สุดท้าทายของแต่ละสาขาธนาคาร
สิ่งสำคัญที่บาดตาบาดใจระบบตัวแทนขายประกันชีวิตทั่วไปกว่า 2.8 แสนคน มาจากธนาคารที่ขายประกันแบบปกติทั่วไป ก็คงไม่เท่าไร แต่ผลจากการแข่งเดือดทะลักทะล้น ย่อมเลี่ยงไม่พ้นแคมเปญโปรโมชั่นอัดแหลกกันกระจุยกระจาย ทั้งลด แลก แจก แถม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทองคำ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ นอกเหนือแจกของชำร่วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
บางธนาคารและบริษัทประกันชีวิตที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ ให้เหตุผลว่าเป็นงบส่งเสริมการขายที่แยกส่วนกันระหว่างธนาคารและบริษัท ประกัน ไม่นำพาว่าผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่ให้ธนาคารและตัวแทนขายเหมือนกัน แต่แรงอัดฉีดทางการตลาดต่างกัน ตัวแทนขายรับแต่คอมมิชชั่นปกติ แต่ธนาคารมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า
บรรดานักขายประกันในระดับตั้งแต่ธรรมดาขึ้นไปถึงระบบท็อปๆทั้งหลาย จึงมองเหมือนกันหมดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความเหลื่อมล้ำ และลักลั่นทางธุรกิจ เกิดการปฏิบัติสองมาตรฐาน หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ ซึ่ง หน่วยงานควบคุมอย่างคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไม่เคยมีคำตอบให้กระจ่าง
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่วงการตัวแทนประกันชีวิตไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องลุกขึ้นมาทำ อะไรสักอย่างเพื่อเรียกร้องหาความชอบธรรมบ้าง ดีกว่าปล่อยให้ระบบตัวแทนขายประกันชีวิตที่เปรียบเสมือนน้ำซึมบ่อทรายต้อง ถูกพังทลายกัดเซาะไปเรื่อยๆ ซึ่งมีสัญญาณไม่ดีมา 2-3 ปีแล้ว
มิหนำซ้ำ ผลจากการบีบรัดของกฎกติกาใหม่ๆทางธุรกิจ โดยเฉพาะ คปภ. ที่เล่นบทคุมเข้มระบบเข้า-ออกของตัวแทนชนิดแทบกระดิกตัวไม่ได้นั้น ยิ่งเป็นแรงส่งให้ตัวแทนใหม่ๆเข้าระบบลดลงเรื่อยๆทุกปี โดยปีที่ผ่านมา สมาคมประกันชีวิตไทยระบุว่ามีผู้สมัครสอบเป็นตัวแทนประกันชีวิตทั่วประเทศลด ลง 1.31 แสนคน ลดลง 8.21% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า เดือน ม.ค.2554 มีคนสมัครสอบ 8.26 พันคน ลดลง 7.39% สำหรับปีนี้ สมาคมฯ คาดว่าจะมีผู้สมัครสอบประมาณ 1.38 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 5% ของผู้เข้าสอบ
ในโอกาสครบรอบ 11 ปีของบริษัทสำเร็จดอทคอม ได้จัดเสวนา หัวข้อ “รวมพลคนประกันฯ” และ “ปลดแอกภาษีนักขาย VAT 7% - แข่งขันแบงก์แอสชัวรันส์เป็นธรรมหรือไม่?” มีบรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันชีวิตไทยมาร่วมระดมความคิดเห็นกันหลายคน ได้แก่ นายสมโพชน์ เกียรติไกลวัล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายตัวแทนประกันชีวิต บริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย), นายบรรณยง นราสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานตัวแทนประกันชีวิต บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต, นายสรรค์ชัย ลาภสัมปันน์ชัย ประธานสายงานบริหารตัวแทน บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต, นายชัชวาล เอื้อวิศาลสิน ผู้อำนวยการภาค-ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายขายทัพธรณี 6 เอไอเอ ประเทศไทย, นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมตัวแทนประกันชีวิต, นายสุรเทพ โลหิตกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาตัวแทน บริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดการและเจ้าของสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต และนายชินภัทร วิสุทธิแพทย์ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทที่ปรึกษา เอชเอ็น
ประเด็นทางภาษี VAT 7% สำหรับตัวแทนที่มีรายได้รวมเกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท ถูกเรียกร้องมานานกว่า 10 ปี เพราะถือเป็นการเสียซ้ำซ้อนกับภาษีรายได้บุคคลธรรรมดา 37% อยู่แล้ว ทำให้เป็นภาระหนัก ซึ่งระบบขายของตัวแทนประกันชีวิตในปัจจุบันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมากพออยู่ แล้ว
ทว่า ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง แต่อย่างใด เพราะทางสรรพากรให้เหตุผลว่าถ้ายกเว้นให้ตัวแทนประกันชีวิต วิชาชีพอิสระอื่นๆก็ต้องได้รับยกเว้นด้วย
ประเด็นแบงก์แอสชัวรันส์ ทุกคนแสดงความไม่เห็นด้วย บรรดา CAO ที่นั่งในวงเสวนา อยู่ในบริษัทต้นสังกัดที่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ออกตัวว่าอึดอัดพอสมควร เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรในสิ่งที่เป็นอยู่ แม้บริษัทจะมีนโยบายไม่ทอดทิ้งช่องทางขายตัวแทนก็ตาม แต่ทางปฏิบัติกลับให้น้ำหนักแบงก์แอสชัวรันส์เต็มที่
เหล่านี้ ถือว่าเป็นการทำลายระบบตัวแทนประกันชีวิตทั่วไป เกิดมาตรฐานความเหลื่อมล้ำ มองว่าหน่วยงานควบคุมอิสระอย่าง คปภ. ไม่กล้าแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบ เพราะเกรงใจนายแบงก์ที่ส่วนใหญ่มีอิทธิพลทางการเงินและเป็นกลุ่มทุนการ เมืองอยู่เบื้องหลัง
“สงสัยว่าธนาคารจะเป็นพ่อ คปภ. เพราะไม่เห็นทำอะไรเลย ปล่อยให้จัดแคมเปญโปรโมชั่นกันอย่างเอิกเกริก ในขณะที่ห้ามให้ตัวแทนพูดว่าเป็นการเสนอขายฝากเงิน แต่ธนาคารทำกันเป็นล่ำเป็นสัน เพราะรู้ระบบฐานข้อมูลบัญชีลูกค้าหมด” ความเห็นของตัวแทนรายหนึ่ง
แม้กระทั่งกฎเกณฑ์ระบบนายหน้าประกันชีวิต-ประกันภัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับความเห็นชอบจาก คปภ. แต่ทางปฏิบัติ ธนาคารพาณิชย์อยู่ภายใต้กฎของ ธปท. ดังนั้น การทำตลาดจัดแคมเปญโปรโมชั่นทั้งหลาย ไม่อยู่ในการควบคุมของ คปภ. จึงทำได้ตามสะดวก
เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์ที่ระบุให้พนักงานในสาขาธนาคารอย่างน้อย 2 คนต้องมีใบอนุญาตขายประกัน แต่ทางปฏิบัติพบว่าทั้งสาขาขายได้หมดทุกคน ขึ้นอยู่กับโอกาสในการเสนอขาย
สมาคมประกันชีวิตไทย ระบุตัวเลขเบี้ยประกันรับรวมของ 23 บริษัทในปี 2553 ที่ผ่านมาพบว่ามีทั้งสิ้น 2.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% แยกเป็นเบี้ยรับใหม่ หรือเบี้ยปีแรก 9.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% เบี้ยปีต่อไป 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 89% โดยรวมแล้ว ถือว่าน่าพอใจแม้จะตั้งเป้าหมายโตเฉลี่ยทั้งปี 15% ก็ตาม
ปีนี้ สมาคมฯ คาดว่าธุรกิจประกันชีวิต ยังจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ประมาณ 15% หรือคิดเป็นเบี้ยประกันชีวิตรวมไม่ต่ำกว่า 3.4 แสนล้านบาท ปัจจัยบวกที่บริษัทประกันชีวิตยังคงมีการแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ออกมา เพื่อสนองความต้องการของประชาชน และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอย่างแพร่หลายอย่างไม่หยุดหยั้ง
ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี โดยเพิ่มค่าลดหย่อนจากการประกันชีวิตแบบบำนาญอีก 2 แสนบาท รวมเป็น 3 แสนบาท ที่สำคัญ จะมีการแข่งขันกันพัฒนาด้านการขายผ่านช่องทางธนาคาร และตัวแทนกันมากขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางนี้ จะช่วยผลักดันให้เบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้น
ในจำนวนเบี้ยรับใหม่รวมกับเบี้ยซิงเกิลพรีเมียมบางส่วนนั้น พบว่ามีทั้งสิ้น 9.38 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนั้นเป็นการขายผ่านแบงก์แอสชัวรันส์ 4.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ขณะที่ช่องทางตัวแทนมีเบี้ยใหม่รวมทั้งสิ้น 3.79 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40.47% ติดลบ 1%
เฉพาะ 5 บริษัทแรกที่ขายผ่านแบงก์แอสชัวรันส์มากที่สุด ได้แก่ 1.เมืองไทยประกันชีวิต 1.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% 2.กรุงเทพประกันชีวิต 7.38 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% 3.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต 7.31 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% 4.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต 5.07 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% และ 5.ธนชาตประกันชีวิต 4.7 พันล้านบาท ติดลบ 15%
ขณะที่ช่องทางตัวแทนในปีก่อนของ 5 บริษัทแรกที่มีเบี้ยใหม่สูงสุด ได้แก่ 1. เอไอเอ 1.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% 2.ไทยประกันชีวิต 7.75 พันล้านบาท ติดลบ 20% 3.ไทยสมุทรประกันชีวิต 2.77 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% 4.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต 2.46 พันล้านบาท ติดลบ 5% และ 5.เมืองไทยประกันชีวิต 2.39 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%
ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิตระดับมือทองและมือธรรมดาทั้งหลาย จึงฟันธงว่าปีนี้จะเป็นปีที่แย่ลงไปอีกของระบบช่องทางตัวแทน ตราบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำอย่างสูงจากระบบแบงก์แอสชัวรันส์ ให้เป็นรูปธรรม มิฉะนั้นวงการประกันชีวิตจะต้องสั่นสะเทือน ขวัญหนีดีฝ่อกันต่อไป
INSURANCETHAI.NET