"ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ" กับการหลอกทำประกัน / Mikie
15
"ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ" กับการหลอกทำประกัน / Mikie
Mikie เจอเลยนำมาฝากค่ะ
“ไม่ถามเรื่องสุขภาพสักคำ!!!” เป็นสโลแกนยอดฮิตในปัจจุบันและเคยสังเกตกันหรือไม่ว่าในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่จะรับทำสัญญาประกันชีวิต มักจะใช้โฆษณาที่บอกว่าทำสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพเพื่อใช้ในการจูงใจผู้บริโภคให้มาทำสัญญากับบริษัท แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นถึงผลในทางกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ต้องตรวจสุขภาพในการทำสัญญาประกันชีวิต โดยในมาตรา 865 และมาตรา 893 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงในเวลาทำสัญญาประกันดังกล่าวไว้ดังนี้
ประการแรก ผู้เอาประกันชีวิต (ผู้ทำสัญญา) รวมถึงผู้ที่ใช้ความตายของตนเป็นเงื่อนไขการใช้เงิน จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่มีผลจูงใจให้บริษัทผู้รับประกันชีวิตนั้นเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรืออาจบอกปัดไม่ทำสัญญา เนื่องจากในกฎหมายระบุให้ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องใช้ความสุจริตอย่างยิ่ง โดยมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงให้บริษัทผู้รับประกันภัยได้ทราบ
ประการต่อมา กรณีผู้ที่ใช้ความตายของเขาเป็นเงื่อนไขการใช้เงิน ก็มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เช่นนี้จะเห็นได้ว่านอกจากผู้เอาประกันชีวิตแล้ว ผู้ที่ใช้ความตายของเขาเป็นเงื่อนไขการใช้เงินก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่จะต้องบอกข้อเท็จจริงว่าตนมีโรคประจำตัวอย่างไรบ้าง หรือบอกปัจจัยอย่างอื่นที่มีผลทำให้ผู้รับประกันเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรืออาจบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาถ้าได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะกฎหมายระบุให้ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องใช้ความสุจริตอย่างยิ่งในการที่จะต้องบอกข้อเท็จจริงดังกล่าวให้กับบริษัทประกันชีวิต ถ้าผู้ที่มีหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว บริษัทผู้รับประกันมีสิทธิที่จะลดจำนวนเงินที่ผู้รับประกันจะต้องจ่ายหรือบอกล้างสัญญา และไม่ยอมใช้เงินประกันตามสัญญาได้ แต่ถ้าเป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิตที่ไม่ใช่ผู้เอาประกันชีวิตก็ไม่มีหน้าที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้รู้แต่ไม่บอกก็ไม่มีผลใดๆ ต่อสัญญาประกันชีวิต
ดังนั้น แม้ไม่ถามเรื่องสุขภาพก็ต้องตอบเรื่องสุขภาพอยู่นั่นเอง มิฉะนั้นบริษัทประกันก็อาจอ้างเหตุที่ปกปิดไม่แจ้งข้อเท็จจริงไม่จ่ายเงินได้อยู่ดี ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 2397/2536 วินิจฉัยว่า การที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันก่อนเป็นการละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยที่ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด (ปัจจุบันอยู่ในอำนาจกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันเป็นสำคัญเมื่อรู้เช่นนี้แล้วในเวลาทำสัญญาประกันชีวิตผู้บริโภคจะต้องใช้ความระมัดระวังแจ้งข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาที่เอาความสะดวกมานำเสนอและหาประโยชน์กับความไม่รู้ของผู้บริโภค
ที่มา : บทความโดย นางสาวธัญลักษณ์ สะตางาม
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
INSURANCETHAI.NET