2011 ยุคบูม ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ ลูกค้าฟันเละ ประกันจ่ายหน้ามืด
155
2011 ยุคบูม ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ ลูกค้าฟันเละ ประกันจ่ายหน้ามืด
2011 ยุคบูม ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ ลูกค้าฟันเละ ประกันจ่ายหน้ามืด
นับเป็นยุคทองของตลาดประกันภัยรายย่อยจริงๆ สำหรับแผนประกันสุขภาพ แผนประกันโรคร้ายแรง แผนประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และแผนประกันชดเชยรายได้ แต่ละบริษัทเข็นออกมาประชันขันแข่งกันในท้องตลาด แทบจะมืดฟ้ามัวดิน ไม่ว่าจะเป็นค่ายประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันเหล่านี้แนบท้ายอยู่ในสัญญาประกันหลัก ปีหนึ่งกวาดรายได้เข้าเซฟรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่ายวินาศภัยนั้นกวาดเบี้ยเหล่านี้รวมกันปีหนึ่งๆได้ไม่ถึงครึ่งของประกันชีวิต
แผนประกันเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆทั้งจากลูกค้าผู้เอาประกันภัยและประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะซื้อ บริษัทประกันน้อยใหญ่จึงพยายามสรรหาแบบประกันที่หลากหลาย และเสนอราคาเบี้ยประกันให้ลูกค้าได้เลือกทั้งแบบจ่ายรายเดือนผ่านบัตรเครดิต หรือจ่ายแบบรายปี มีทั้งขายตรงผ่านเทเลมาร์เก็ตติ้ง แบงก์แอสชัวรันส์ ตัวแทน นายหน้า เว็บไซต์ และทีวีไดเร็กต์ แทบจะครบถ้วนทุกช่องทางจำหน่าย
เรียกได้ว่าสภาพตลาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทไหนไม่มีผลิตภัณฑ์นำเสนอขายให้ลูกค้า หรืออยู่บนชั้นวาง ถือว่าเชยระเบิดนาปาล์ม
ตลาดประกันภัยสุขภาพปีหนึ่งๆเบี้ยรวมทั้งประเทศกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนั้นเป็นของธุรกิจประกันชีวิตกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เจ้าตลาดใหญ่สุดตามยอดขาย คือ เอไอเอ ที่เหลือเป็นของธุรกิจประกันวินาศภัยประมาณ 2 พันล้านบาท รายใหญ่สุดในตลาด คือ บูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) ที่ขายเฉพาะประกันสุขภาพเป็นหลัก เพราะเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เหนือคู่แข่งในตลาดด้วยกัน แต่ปีที่แล้วทำเบี้ยประกันรวมได้ 1.2 พันล้านบาท กำไรยังไม่ถึงหลัก 100 ล้านบาท เพราะตลาดนี้ทำยาก ถ้าวอลุ่มไม่สูงพอ โอกาสกำไรน้อยมาก ที่เหลืออีก 800 ล้านบาทกระจายกันไป
ส่วนเบี้ยประกันแผนชดเชยรายได้จากการนอนรักษาในโรงพยาบาลและประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น อยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด ปีก่อนทั้งระบบกวาดเบี้ยรวมกันเบาะๆไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาททีเดียว
ทว่า ในท่ามกลางความมันส์ของการขายดีเทน้ำเทท่านั้น ผู้ประกอบธุรกิจกลับต้องหันมาทบทวนแผนการตลาดสำหรับสินค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะแทนที่จะขายได้มาก กำไรมาก แต่กลับเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เฉพาะอย่างยิ่งการเคลมที่ไม่สุจริตของผู้เอาประกันภัย (moral hazard) ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นจนจะหลุดกรอบการควบคุม
แหล่งข่าวในคณะกรรมการประกันภัยเบ็ดเตล็ด อุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัย ระบุว่าบริษัทประกันหลายแห่งเริ่มหันหน้าเข้าหากันว่าจะทำอย่างไรกับอัตราการเคลมสินไหมที่มีแนวโน้มผิดปกติสำหรับแบบประกัน 3 ชนิด คือ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันสุขภาพ และแผนชดเชยรายได้
ความผิดปกติของประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 80% พบว่าเป็นกรณีซื้อกรมธรรม์หลายฉบับในเวลาไล่เลี่ยกัน หรือมิฉะนั้นก็เป็นการเสียชีวิตของผู้เอาประกันแบบมีนัยน่าสงสัย เช่น ทำให้เป็นอุบัติเหตุ ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ใช่ หรือนำคนเสียชีวิตมาสวมสิทธิรับผลประโยชน์ ซึ่งบริษัทประกันตรวจสอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นลักษณะของการทำประกันกลุ่ม
ส่วนประกันสุขภาพที่มีอัตราเคลมสินไหม (loss ratio) รวมเฉลี่ยทั้งระบบ 70-75% นั้น มีปัญหาสะสมมานานตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะรูปแบบการรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) สอดคล้องกับราคาค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์สูงมาก ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเฟื่องฟู แต่ธุรกิจประกันที่เป็นคู่ค้าด้วยนั้น กำลังจะสำลักต้นทุนการจัดการเคลมสินไหม บางบริษัทต้องเลิกขายแบบ OPD ไป
“เช่นเดียวกับ แผนประกันโรคร้ายแรง อัตราการเคลมของลูกค้าหลายรายภายหลังพ้นระยะเวลารอคอย (waiting period) ได้ไม่กี่วัน ซึ่งสันนิษฐานว่ารู้ว่าจะเป็นมาก่อน แต่อาจไม่ไปตรวจ และไม่แถลงข้อมูลสุขภาพ ขณะที่บริษัทประกันส่วนใหญ่เน้นทำยอดขายให้ได้ไว้ก่อน โดยลืมนึกไปว่าแผนกขายกับแผนกเคลมเป็นคนละส่วนกัน”
สำหรับเคลมของแผนประกันชดเชยรายได้ ซึ่งจัดว่าเป็นแผนประกันที่ซื้อง่ายขายคล่องไม่แพ้ประกันอุบัติเหตุ แต่กำลังเป็นปัญหาใหม่และใหญ่สำหรับบริษัทประกันหลายแห่งที่ทำตลาดนี้ เพราะปรากฎว่าขายไปขายมา ลูกค้ากลุ่มหนึ่งกลับกำไร เพราะไม่โปร่งใสในการเปิดเคลม ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องจ่ายชดเชยสูงมาก จึงเป็นประเด็นถกกันในคณะทำงานชุดที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขได้ นอกจากเพิ่มมาตรการระมัดระวัง และลิ้งค์รายชื่อข้อมูลลูกค้าในกลุ่มเคลมถี่ด้วยกันในแต่ละบริษัท
ยกตัวอย่าง การระบุอาชีพส่วนตัว มีจำนวนมากสำหรับลูกค้าที่ซื้อแผนประกันชดเชยรายได้ เปิดเคลมเร็วมาก เพียงครบ waiting period ไม่ถึง 1-2 เดือน ป่วยเป็นไข้หวัดเล็กน้อย แต่นอนนานเกิน 7 วัน ทั้งที่ปัจจุบันไข้หวัด 2009 ตามหลักการแพทย์จะให้นอนรอดูอาการอย่างมาก 2-3 วัน ก็ให้กลับบ้านได้ แม้กระทั่งกรณีอุบัติเหตุระดับปานกลาง แต่กลับนอนนาน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งผิดปกติมาก
แหล่งข่าวอีกรายระบุว่าเอซ อินชัวรันซ์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดประกันอุบัติเหตุและแผนชดเชยรายได้ เคยเน้นขายแผนชดเชยรายได้ผ่านเทสโก้โลตัสทั่วประเทศ โดยไม่มี waiting period ซึ่งขายดีมาก เบี้ยถล่มทลาย แต่ไม่ถึง 1 ปี ต้องกลับมาทบทวนให้เพิ่มเงื่อนไขให้มีระยะเวลารอคอย 30 วัน เป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆที่ทำตลาดตามหลังต้องใส่เข้าไปด้วย
นอกจากนั้น บรรดาลูกค้าประกันกลุ่มองค์กรชั้นนำทั้งหลาย ก็เป็นพอร์ตที่ขาดทุนสูงมากสำหรับบริษัทประกันหลายแห่งที่แห่กันเข้าไปประมูล เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทประกันหลายแห่งหันไปเน้นทำตลาดลูกค้ารายเดี่ยว เพราะขาดทุนน้อยกว่า เว้นแต่ว่าวอลุ่มจะไม่สูงมากพอ
ปัจจุบัน บริษัทประกันภัยหลายแห่งที่ไม่เคยทำตลาดประกันสุขภาพมาก่อน ก็หันมาเริ่มรุกมากขึ้น เช่น ประกันตามฟิตของสินมั่นคงประกันภัย หรือไทยวิวัฒน์ ประกันใจป้ำ รูดจ่ายเหมือนบัตรเครดิต ในคอนเซ็ปท์ “ป่วยมา เราจ่ายให้” ของประกันภัยไทยวิวัฒน์ ฯลฯ ซึ่งกำลงโหมโฆษณาผ่านทีวี
นายแอนดริว วอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทบูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) บอกว่าปีนี้ได้ออกแผนประกันสุขภาพใหม่มาเสริมตลาด โดยเป็นลักษณะเพิ่มเงื่อนไขให้ลูกค้ารับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) มีให้เลือกตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
แต่ถ้าไม่ต้องการเลือกแบบนี้ ก็จะมีแบบร่วมจ่ายค่ารักษาตามสัดส่วน เช่น บริษัทรับ 80% ลูกค้ารับ 20% ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายเบี้ยของลูกค้าลงส่วนหนึ่ง และเป็นอีกทางเลือกใหม่ๆให้ลูกค้าในยุคที่แนวโน้มค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นทุกปี เหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสินค้าประกันใหม่ๆตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ได้ออกแผนประกันอินคัมโพรเทคเตอร์ สำหรับผู้เอาประกันที่ต้องการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รับผลประโยชน์รายวันสูงสุด 8,000 บาท รับเบี้ยประกันคืน 30% ของเบี้ยประกันรวมทุกรอบ 3 ปีกรมธรรม์ และคุ้มครองชีวิตถึง 10 เท่าของประโยชน์รายวัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ เพราะการจ่ายชดเชยรายได้นั้น ลูกค้าสามารถเคลมสินไหมได้แบบไม่ยุ่งยาก เพิ่มประโยชน์และความสบายใจให้กับลูกค้า
นายนริศ อจละนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต กล่าวเพิ่มว่าตลาดประกันปีนี้ มีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลาย แทบจะครบถ้วนทุกกลุ่ม หลักๆที่แต่ละบริษัทนำเสนอออกมา ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุรายเดี่ยว ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ และประกันชดเชยรายได้ เหล่านี้เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก เหมาะสำหรับทำตลาดลูกค้ารายย่อย ในทุกช่องทางขาย
นายอังกูร ศรีกัลยาณบุตร ผู้อำนวยการฝ่าย สายงานส่งเสริมการตลาด บริษัทไทยประกันชีวิต กล่าวว่าได้ออกกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล “พี.เอ.รีฟันด์” โดยมีการจ่ายคืนเบี้ยประกันให้ลูกค้าประวัติดี ไม่มีการเคลมสินไหมช่วง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งก้อนที่ลูกค้าได้ซื้อไป เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่า ได้ประโยชน์ ไม่ได้ซื้อเบี้ยทิ้ง ถือเป็นการฉีกตลาดประกันภัยแนวใหม่
นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ผู้อำนวยการธุรกิจลูกค้ารายย่อย บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่าตลาดประกันสุขภาพและแผนประกันชดเชยรายได้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เริ่มมีอัตราความเสียหายเพิ่มตามไปด้วยเช่นกัน
เฉพาะอย่างยิ่งประกันสุขภาพแบบ OPD ที่มีเคลมเฉลี่ยรวมในท้องตลาดสูงถึง 70% ผลจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น คนตระหนักเรื่องการระมัดระวังป้องกันการเจ็บป่วย ที่สำคัญ ในท้องตลาด มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้ต้นทุนการขายสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะระบบขายผ่านเทเลมาร์เก็ตติ้ง ทำให้ต้องปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นในบางแบบโรคร้ายแรง
ที่ผ่านมา กรุงเทพประกันภัยขายประกันทางเทเลมาร์เก็ตติ้งผ่านบริษัททีคิวเอ็มโบรกเกอร์ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของทีคิวเอ็ม โดยกรุงเทพประกันภัยลงทุนวางระบบโปรแกรมขายทุกแบบให้ทีคิวเอ็ม แต่พบว่ายอดขายบางแบบไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องนำไปปรับปรุงเข้ามาใหม่
ส่วนแผนประกัน 4 โรคคลาสสิคที่ต้องเลิกขายไป เพราะมียอดขายต่ำมาก ไม่คุ้มต้นทุน เพราะใช้งบโฆษณาทางการตลาดสูงถึง 80 ล้านบาท.
INSURANCETHAI.NET