แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส
162
แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส
แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส
แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส กับ ซับไพร์ม คืออะไร? (SubPrime)
แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
คล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย เมื่อปี 2540
อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ ล้มลงได้
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของอเมริกาเกิดจากอะไร? เกิดจากซับไพร์ม
ซับไพร์ม (Sub-Prime) คืออะไร?
Sub = ต่ำกว่า
Prime = มาจาก Prime Rate คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี
Sub-Prime เป็นคำวิเศษณ์ (คำนำหน้าที่ใช้ขยายคำอื่น) แปลว่าคุณภาพเป็นรอง ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปขยายความอะไร เช่น
หากเป็นสินเชื่อที่คุณภาพรองลงไปก็เรียกว่า Sub-Prime Loan
หากเป็นสินเชื่อคุณภาพรองที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เรียกกันว่า Sub-Prime Mortgage
ในสหรัฐอเมริกา Sub-Prime Loan เป็นหนี้ที่ผู้ให้กู้ปล่อยให้กับผู้กู้ที่โดยทั่วไปไม่สามารถขอสินเชื่อจาก สถาบันการเงินปกติได้ ผู้ปล่อยกู้เหล่านี้บางแห่งก็เป็นบริษัทอิสระ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน โดยผู้ให้กู้เหล่านี้ จะปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่หากไปขอสินเชื่อตามปกติก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนของกระแสเงินสด ที่จะนำมาชำระคืนหนี้ต่ำเกินไป อันอาจเกิดจากรายจ่ายสูง รายได้จึงไม่เหลือมากพอที่จะผ่อนจ่ายคืนหนี้ในสัดส่วนที่ผู้ให้กู้พอใจ
ผู้ให้กู้ในกลุ่ม Sub-Prime Loan นี้ ก็จะให้กู้โดยมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายกว่า แต่ก็ชดเชยความเสี่ยงด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และอาจจะให้กู้ได้เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหลักประกัน นอกจากนี้ หากผู้กู้ชำระคืนก่อนกำหนดก็จะเสียค่าปรับสูงกว่าด้วย ผู้ให้กู้กลุ่มนี้มักจะให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็น Sub-Prime Loan เป็นส่วนใหญ่ เพราะมองเห็นว่า คนมักจะไม่ค่อยทิ้งบ้าน หากกู้แล้วก็มักจะต้องพยายามผ่อนส่ง และหลักประกันก็คุ้มวงเงินให้กู้ ซึ่งก็ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ปล่อยกู้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก
การเกิด Sub-Prime
มนุษย์ต้องการมีบ้าน(ปัจจัยที่ 1) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ปกติจะไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาซื้อบ้าน แต่เนื่องจากบ้านมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ มีผู้ขอกู้จำนวนมากไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อนำไป ซื้อบ้านได้ แม้ว่าจะมีหลักประกันเป็นบ้านหรือที่ดิน เนื่องจากธนาคารวิเคราะห์แล้วว่ารายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายของผู้ขอกู้ในแต่ ละเดือนไม่เพียงพอที่จะมาจ่ายหนี้ได้
ผู้ขอกู้จะทำอย่างไร
สถาบันการเงินทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา ที่มีบริษัทลูก สบโอกาส (มองเห็นโอกาส) จึงมีนวัตกรรมแบบวิศวกรรมการเงิน หรือ Financial Engineering ประดิษฐ์ตราสารหนี้แบบใหม่ขึ้นมา (ตราสารหนี้ก็เหมือนใบสัญญาเงินกู้ที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ ต่อปี) ที่ออกมารองรับช่องว่างนี้ โดยการเป็นคนกลางขายตราสารหนี้ ให้กับคนที่มีเงินเหลือใช้ หรือสถาบันการเงิน หรือคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ (หรือโลภ)
โดยให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อตราสารหนี้ (Risk Premium) และนำเงินที่ขายได้ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่ต้องการเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง แล้วสถาบันการเงินเหล่านี้ก็กินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย
ทำไมสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาถึงกล้าทำเช่นนี้ ไม่กลัวความเสี่ยงหรือ ทั้งที่วิเคราะห์แล้วว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญญาเอาเงินมาใช้หนี้ได้
คำตอบก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้พู่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเก็งกำไร และการขยายตัวของครอบครัวเดี่ยว (ซึ่งต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง) จึงเป็นคำตอบว่ายังไงก็ตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นนี้จะมาชดเชย ความเสี่ยงได้อย่างสบาย เพราะราคายังไงก็มากกว่าวงเงินกู้อยู่แล้ว และชะล่าใจว่ายังไงคนเราคงไม่ทิ้งบ้าน ไม่มีเงินก็ต้องกัดฟันผ่อนไป
จากนวัตกรรมการเงินแบบ Financial Engineering หลังจากที่ออกตราสารหนี้ประเภทซับไพร์มนี้แล้ว ก็มีสถาบันการเงินดังๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และต่างประเทศ ต่างลงทุนซื้อตราสาร ที่มีหนี้เกรดสองเหล่านี้เป็นหลักประกันกันจำนวนมาก ตราสารเหล่านี้เรียกว่า ซีดีโอ หรือ Collateralized Debt Obligation (CDO)
ทำให้บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ หนี้เกรดสองเหล่านี้ ออกตราสารมาขายโดยมีหนี้ซับไพร์มเป็นหลักประกัน (ในวงเงินไม่เต็มหลักประกัน) ที่มีดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก เพื่อให้มีเงินไปปล่อยกู้เพิ่มอีก และทำแบบนี้เป็นวงจรไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นซับไพร์มของซับไพร์มไปเป็นทอดๆ ซึ่งทำให้ซับไพร์มออกดอกออกผลแตกลูกหลานเหลนโหลนอย่างรวดเร็ว
ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถาบันการเงินเหล่านี้ก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้ขอกู้ทั้งหลาย ทั้งผู้กู้เดิม และผู้กู้รายใหม่มาใช้บริการกับตนเอง ด้วยการเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เดิมกู้ในวงเงิน 2 ล้านบาท เพื่อซื้อบ้านราคา 2.5 ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.8 ล้านบาท วันดีคืนดี ผู้ให้กู้ใจดีเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 3 ล้านบาท ตามราคาประเมินใหม่ผู้กู้ก็ไม่รังเกียจอยู่แล้วครับ เพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1.2 ล้านบาท ก็ไป Refinance (ไปกู้รายใหม่มาโปะรายเดิม) มีเงินเหลืออีก หลังจากหักค่าปรับที่คืนเงินกู้ก่อนเวลา อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคต ก็นำเงินสินเชื่ออีก 1.2 ล้านบาทที่ได้เพิ่มนั้นมาใช้จ่าย ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีจอแบนเครื่องใหม่ เครื่องเสียงสุดหรู รถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
การเก็งกำไร ย่อมมีผู้ได้กำไร และขาดทุน
ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้มาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อปลายปี 2549 – 2550 และราคาต้องร่วงตามวัฏจักร บวกกับเศรษฐกิจอเมริกาที่เริ่มชะลอตัว เนื่องจากคนอเมริกันเป็นชนชาติที่ฟุ่มเฟือย บริโภคอะไรทิ้งๆ ขว้างๆ เปิดไฟทิ้งไว้ไม่เคยปิด หรือบริโภคเกินตัวด้วยการเอาเงินอนาคตมาใช้อยู่ประจำ ด้วยการซื้อของที่ผลิตในต่างประเทศ (เนื่องจากราคาถูกกว่า) เช่น จากประเทศจีน และประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมไปถึงการนำเงินงบประมาณไปทำสงคราม จนดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศติดลบ ซึ่งแก้ปัญหาไม่ยากด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลให้กับประเทศคู่ค้าของอเมริกา ต่างๆ เช่น จีน หรือญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ก็ซื้อ เพราะไม่งั้นแล้วหากเศรษฐกิจอเมริกาล่ม จะพาลแย่ไปทั้งหมด เนื่องจากจะขายของไม่ได้ เพราะพี่ใหญ่อเมริกาไม่มีเงิน
แต่ก็สายเกินไป จากเหตุผลที่เศรษฐกิจอเมริกันถึงคราวชอกช้ำ เงินในระบบเริ่มชอร์ต เนื่องมาจากเอาเงินในอนาคตมาใช้หมด(ด้วยอิทธิฤทธิ์บัตรเครดิต และเงินกู้) คนเริ่มไม่มีเงินผ่อนบ้านและที่ดิน แถมราคาที่ดินก็ร่วงอีก ทำให้สถาบันการเงินเริ่มรู้แล้วว่าวงเงินปล่อยกู้มันได้สูงกว่าราคาประเมิน แล้ว (แปลง่ายๆ ว่าความเสี่ยงสูงกว่าผลตอบแทน) โดนไปสองเด้งสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปล่อยกู้มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นแบบแทบ ไม่ทันกระพริบตา ก็ต้องตั้งสำรองเงินไว้ (ตามกฎที่ต้องปกป้องส่วนของเงินฝากไว้) และเข้มงวดกับการปล่อยกู้มากขึ้น (แบบวัวหายล้อมคอก) ทำให้เงินในระบบฝืดลงไปอีก จนคาดว่าจะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจอเมริกาล่มสลาย เพราะว่าหมดตัวจริงๆ แถมหนี้ท่วมหัว ที่แย่อีกประการก็คือสถาบันการเงิน หรือคนซื้อตราสารหนี้ประเภทซับไพร์มทั้งแบบปู่ และแบบแตกลูกหลาน อยู่ในภาวะมืดมน มูลค่าตราสารหนี้หดลง เพราะว่ามันกำลังจะกลายเป็นเศษกระดาษในอีกไม่ช้า ทำให้ต้องกันสำรองส่วนนี้เพิ่มนอกจากขาดทุนแบบปกติแล้ว เนื่องจากเป็นการขาดทุนแบบไม่ปกติ
วิกฤติซับไพร์มรอบนี้ มีผลกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งไทย อย่างแรกที่ใกล้ตัวเรา ก็คือค่าเงินบาท ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งเป็นหินในรอบ 10 ปี หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ประมาณ 33 บาทกว่าๆ
คนเดือดร้อน ก็คือผู้ผลิต และผู้ส่งออกที่ไม่ได้อาศัยต้นทุนการผลิตที่เป็นสินค้า หรือวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ (เพราะว่าผู้ผลิตบางรายที่ใช้ต้นทุนวัตถุดิบจากต่างประเทศจะได้อานิสงฆ์จาก ค่าเงินบาทแข็ง คือ ซื้อของได้ถูกลง) แถมสหรัฐอเมริกาก็เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของเราซะด้วย เมื่อราคาของแพงขึ้น (เมื่อเทียบเป็นเงินดอลล่าสหรัฐ) และคนอเมริกันมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เราก็ลำบาก เพราะว่าขายของไม่ออก ก็ไม่มีเงินเข้าประเทศ ผู้ผลิตก็ไม่กล้าขยายกำลังการผลิต หรือลดกำลังการผลิตลงไปอีก (ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาการเมืองที่คอยซ้ำเติมอีกนะครับ) ทีนี้การจ้างงานก็ลด คนก็ขาดความเชื่อมั่น กำลังการจับจ่ายใช้สอยก็หด เศรษฐกิจก็ถอยครับ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือสถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศไทย แพลมออกมาว่า ข้าพเจ้าก็กำตราสารหนี้ประเภทซับไพร์ม ซีดีโอ ไว้หลายใบเหมือนกัน แบบนี้ก็แปลว่าสถาบันการเงินจะขาดทุน ต้องกันสำรอง และทำให้ปล่อยกู้ได้ไม่มากในภาวะที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้
ปัญหาแบบเดียวกับไทยนี้ กำลังลามไปหลายประเทศที่เป็นคู่ค้า และเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา เช่น จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ อาจจะต่างกันที่ปัญหาค่าเงิน เพราะว่าบางประเทศเช่น จีน ผูกค่าเงินหยวนกับเงินดอลล่าห์สหรัฐ ทีนี้ถ้าเป็นดังที่คาดการณ์ไว้ แปลว่าทุกประเทศต้องชะลอกำลังการผลิต เพราะว่าพี่ใหญ่ใจดี ไม่มีเงินแล้ว ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศแบบวงจรข้างต้น เว้นแต่ว่าประเทศนั้นจะมีฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งก็จะได้รับผล กระทบน้อยกว่า ผลกระทบนี้อาจจะทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว เศรษฐกิจโลกก็ชะงัก
วิเคราะห์"แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส"
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกับ 3 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ
เลห์แมน บราเธอร์ส
เมอร์ริล ลินช์
อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG)
การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด
กรณีเลห์แมน บราเธอร์ส เฟดตัดสินใจเด็ดขาดไม่กระโดดเข้าไปอุ้มกิจการ ปล่อยให้ล้มละลายไปตามสภาพ
เฟดอุ้มแบร์ สเติร์น ธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ด้วยการช่วยขายให้แก่ เจพี มอร์แกน และต่อมาก็ใช้เงินภาษีอากรของชาวอเมริกัน ไปอุ้มสถาบันสินเชื่อบ้านรายใหญ่อย่างแฟนนี่ เมย์ และเฟรดดี้ แมค อีกทั้งยังอัดฉัดเม็ดเงินอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่สำนักงานการเคหะเพื่อดูแลสถาบันการเงินที่มีปัญหา
ล่าสุดก็ใจอ่อนยอมปล่อยเม็ดเงิน 8 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกมาอุ้ม AIG
เพียงวันเดียวหลังจากเฟดปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย วันถัดมาเฟดกลับยอมอุ้มเอไอจี อะไรคือมาตรวัดว่า สถาบันการเงินไหนควรอยู่และสถาบันการเงินไหนควรไป
เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง สหรัฐออกโรงวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านการที่รัฐบาลจะกระโดดเข้าไปอุ้มสถาบัน การเงินที่มีปัญหา แต่เมื่อกลับต้องเผชิญปัญหาหนักอกเสียเอง คราวนี้ สหรัฐกลับยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ยอมทุ่มเงินเกือบ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปอุ้มและพยุงสถาบันการเงินที่มีปัญหาเหล่านั้น สวนทางกับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ทั้งสหรัฐและ IMF แนะนำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ปล่อยให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาล้มละลายไปตามสภาพ แต่เมื่อสถาบันการเงินสหรัฐประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หุ้นร่วงลงอย่างหนัก จากการเทขายทำกำไรระยะสั้น จนส่อเค้าว่าจะล้มละลาย สหรัฐกลับบอกว่าจะปล่อยให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ล้มลงไม่ได้
เมื่อครั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปล่อยเงินกู้ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐให้เกาหลีใต้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เงินกู้ก้อนนี้ผูกติดมากับเงื่อนไขที่ว่า เกาหลีใต้ต้องปล่อยให้ธนาคารและบริษัทการเงินที่ประสบปัญหา ล้มละลายไปตามสภาพ ห้ามรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์กับวิกฤติต้มยำกุ้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ขณะที่วิกฤติต้มยำกุ้งจำกัดวงแคบอยู่เฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น การฉีดยารักษาอาการจึงแตกต่างกัน วิกฤติการเงินสหรัฐเกิดจากการล้มละลายของ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ของเอเชียครั้งนั้นเกิดจากการล่มสลายของ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐก็ไม่ได้ตัดสินใจอุ้มทุกสถาบันการเงินที่มีปัญหา เห็นได้จากการที่สหรัฐปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ ล้มละลายไป
แม้จะถูกมองว่า ดำเนินนโยบาย 2 มาตรฐาน แต่สหรัฐก็ยืนยันว่า พยายามแก้ไขวิกฤติการเงินที่ใหญ่หลวงคราวนี้อย่างดีทีสุดแล้ว ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ภาคการเงินของประเทศ ซึ่งว่ากันว่าจนถึงขณะนี้ ตัวเลขเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ภาคการเงินเพื่อหวังเสริมสภาพคล่องนั้น พุ่งสูงทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว รวมถึงมาตรการล่าสุด ที่หวังจะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยช่วยเหลือธนาคารที่กำลังมีปัญหาหนี้เสียใน ภาคอสังหาริมทรัพย์หรือซัพไพร์ม ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับกองทุนเรสโซลูชั่น ทรัสต์ คอร์ป ที่เคยตั้งขึ้นเพื่อสะสางหนี้เสียของสหรัฐที่มีถึง 4 แสนล้านดอลลาร์หรือกว่า 13 ล้าน 6 แสนล้านบาทในช่วงปลายทศวรรษ 1980
การล่มสลายของเลแมน บราเดอร์สและเอไอจี
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การล้มละลายของ วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐ เลแมน บราเดอร์ส พร้อมกับการเข้ายึดกิจการของอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) โดยรัฐบาลสหรัฐ และความเสี่ยงที่บริษัทเงินทุนวอชิงตันมิวชวล อาจจะถูกปิดตัวลง ล้วนแต่เป็นการสะท้อนว่า ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐนั้นมีความรุนแรงและแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางเกิน ความคาดหมายของทางการสหรัฐเป็นอย่างมาก ทำให้เชื่อได้ว่าจะยังมีปัญหาในอนาคตอีกมากไปจนถึงกลางปีหน้า และจะเป็นภาระที่ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อย่างมาก แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบโดยตรงจะไม่มีมากนัก เพราะมีสถาบันการเงินที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินสหรัฐน้อย มาก อาทิเช่น กรณีเลแมนนั้นมีธุรกรรมร่วมกับสถาบันการเงินไทยเพียง 4,000 ล้านบาท และแม้จะมีการลงทุนและปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอีก 50,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่น่าจะหาผู้ซื้อมาทดแทนได้โดยง่าย
ในส่วนของเอไอจี สหรัฐกับบริษัทประกันภัยเอไอเอในประเทศไทย ก็เป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเอไอจีถือหุ้นเอไอเอส่วนหนึ่งจึงมีส่วนเพียงการได้รับเงินปันผลจากเอไอเอ และในส่วนของธุรกิจการประกันภัยในประเทศไทยก็เป็นธุรกิจที่มั่นคงและมีเงิน ทุนเกินกว่าเกณฑ์ของทางการอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ยอมปล่อยกู้ให้กับเอไอจีแล้ว 85,000 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 2 ปี และรัฐบาลได้เข้าไปควบคุมกิจการเอไอจี เพื่อขายสินทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชดใช้หนี้สินและความเสียหาย จึงจะทำให้ธุรกิจหลัก คือ การประกันภัยไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนแต่อย่างใด
แต่ประเทศไทย ย่อมจะได้รับผลกระทบในทางอ้อมใน 2 ด้าน คือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังลามมาที่เศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจเอเชียโดยรวม โดย เมอร์ริล ลินช์ เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวประมาณ 2% ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และไตรมาส 1 ของปีหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นอาจขยายตัวเพียง 1.0-1.5% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สำหรับเอเชียนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 7-8% โดยมีจีนเป็นแกนนำ แต่เศรษฐกิจจีนเองก็เสี่ยงที่อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดเอาไว้เดิมที่ 9-10% (โดยอาจขยายตัว 8-9%) ทำให้ธนาคารกลางของจีนรีบลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไป 0.27% ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนมิได้คาดการณ์มาก่อน การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกย่อมจะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกของไทย ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวสูงถึง 23% (เมื่อคำนวณเป็นเงินดอลลาร์) แต่ในปีหน้า คงจะขยายตัวได้เพียง 10-15%
ผลกระทบทางอ้อม อีกด้านหนึ่ง คือ การปรับลดลงของสภาพคล่องทางการเงินของโลก ทั้งนี้ เพราะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินต่างๆ พัฒนาตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยมิได้ควบคุมความเสี่ยง เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินและนักลงทุนสามารถดูแลและกระจายความเสี่ยงกันเอง ได้ การเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ และหลายประเทศในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ (อาทิเช่น อังกฤษ สเปน อิตาลี ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้) เป็นพื้นฐานให้สถาบันการเงินออกตราสารและอนุพันธ์ประเภทต่างๆ มามากมาย คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ แต่เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง (ราคาบ้านในสหรัฐลดลง 15%) ก็ทำให้ตราสารและอนุพันธ์ต่างๆ ที่อาศัยอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและประเมินว่าเป็นตราสารและ อนุพันธ์ที่มีคุณภาพสูงระดับเอ 3 ตัว หรือเทียบเท่ากับตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐกลายเป็นตราสารและอนุพันธ์ด้อย คุณภาพ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ เนื่องจากไม่มีผู้ต้องการซื้อ
ดังนั้น สถาบันการเงินต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารและอนุพันธ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เลแมนและเอไอจีจึงมีปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทำให้สถาบันการเงินอื่นๆ ไม่กล้าทำธุรกรรมร่วมหรือปล่อยกู้ให้ จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทุนไม่พอจนบางบริษัทต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย หรือบางบริษัทก็ต้องหาผู้มาซื้อกิจการ อาทิเช่น เมอร์ริล ลินช์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำเช่นเดียวกับเลแมน ซึ่งไหวตัวทัน รีบเจรจากับแบงก์ออฟอเมริกาให้เข้าควบรวมกิจการของเมอร์ริล ลินช์ ทั้งหมดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ซึ่งปัญหาการลดลงของสภาพคล่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องร่วมกันอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินโลกเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
ปัญหาสถาบันการ เงินของสหรัฐนั้นจะยังปะทุขึ้นมาอีกในอนาคต และจะเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงกับธนาคารกลางสหรัฐและรัฐบาลสหรัฐ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ การจะต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้กับแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สถาบันปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ปล่อยกู้และค้ำประกัน เงินกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์มากถึง 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะเมื่อราคาบ้านในสหรัฐปรับลดลง 15% (และอาจปรับลดลงอีก 10%) ก็เชื่อได้ว่าแฟนนีและเฟรดดีจะต้องได้รับความเสียหายจากปัญหาหนี้เสียอีกมาก สมมติว่าทรัพย์สินของสถาบันการเงินทั้งสองเสียหาย 5% ก็หมายความว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มทุนเพื่อชดใช้ความเสียหายกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ เพราะทุนของแฟนนีกับเฟรดดีนั้น ขณะนี้ อาจลดลงเหลือไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์
สรุปได้ว่าปัญหา หลักของสถาบันการเงินที่เผชิญกับวิกฤติทางการเงิน ทำให้ต้องล้มละลายเป็นเพราะสถาบันการเงินดังกล่าว ดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง โดยลงทุนอย่างขาดความระมัดระวังและกู้เงินมาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมีทุนของตนอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะมั่นใจเกินไปและอยากได้กำไรสูง จะเห็นได้ว่าบริษัทแบร์สเติร์นส์ เลแมน เอไอจี และเมอร์ริล ลินช์นั้น ล้วนแต่มีสินทรัพย์ต่อทุนประมาณ 20-30 เท่า หรือลงทุน 1 บาท และกู้เงินมา 29 บาท เพื่อใช้ในการลงทุน ทำให้เมื่อมีปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทุนก็จะหมดลงได้อย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาสภาพคล่องได้โดยง่าย ยังมีสถาบันการเงินของสหรัฐที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่อีก จึงไม่ควรแปลกใจหากมีสถาบันการเงินของสหรัฐล้มละลายอีกหลายแห่งใน 6-12 เดือนข้างหน้า
INSURANCETHAI.NET