"โออิชิ-อิชิตัน" ศึกนี้ยอมไม่ได้ วัดพลังแบรนด์ "ตัน" VS "โออิชิ" (2012)
166

"โออิชิ-อิชิตัน" ศึกนี้ยอมไม่ได้ วัดพลังแบรนด์ "ตัน" VS "โออิชิ" (2012)

"โออิชิ-อิชิตัน" ศึกนี้ยอมไม่ได้ วัดพลังแบรนด์ "ตัน" VS "โออิชิ"
การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่ม ขณะนี้รุนแรงขึ้นถึงขั้น "ห้ามกะพริบตา" โดยเฉพาะกรณีคู่แค้น คู่ตุนาหงันระหว่าง "โออิชิ" และ "อิชิตัน" ที่วันนี้กลายเป็นอดีตคนเคยรักระหว่าง "ตัน ภาสกรนที" กับ "ไทยเบฟเวอเรจ" ไปเสียแล้ว ยามเมื่อต้องเผชิญหน้ากันตรง ๆ ในตลาดชาเขียวแบบฟาดฟันกันในทุกเรื่อง

ไม่เว้นแม้กระทั่ง "ชื่อ" ที่ยามออกเสียงก็ดูใกล้เคียงกันจนเหมือนแบรนด์พี่แบรนด์น้อง

เช่นเดียวกับราคาที่วันนี้พร้อมชนกัน จัง ๆ ที่ "16 บาท" โดยเป็นโออิชิที่ ยอมหั่นมาร์จิ้นตัวเองลง เพื่อหวังสกัดดาวรุ่งพุ่งแรงรายนี้ ข่าวล่าสุดแว่วมาจากเซเว่นอีเลฟเว่นช่องทางขายหลักของเครื่องดื่มชาเขียวว่า "สงครามราคา" นี้จะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในเดือนหน้า

บ่งบอกได้อย่างดีว่าศึกครั้งนี้นอกจากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังเป็นศึกที่ "ยอมไม่ได้" อีกด้วย

ฝ่ายหนึ่งแบกศักดิ์ศรีความเป็น เจ้าตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ที่โลดแล่นอยู่ในตลาดมากว่า 7 ปีด้วยส่วนแบ่ง 60% จากมูลค่าตลาดเกือบ 8 พันล้านบาท ขณะที่อีกฝ่ายแบกศักดิ์ศรีผู้ท้าชิง ที่เคยสร้างผลงานชิ้นโบแดงคว่ำ "ยูนิฟ กรีนที" ผู้นำในอดีตมาแล้ว

ถึงวันนี้แม้ "อิชิตัน" จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่สำหรับ "ตัน ภาสกรนที" แล้ว เรียกว่าเปี่ยมด้วยประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ การรู้ซึ้งถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแบรนด์ "โออิชิ" แทบทุกอณู

วันนี้ "ตัน" เปรียบเสมือนแบรนด์ ที่ทรงพลังในเชิงธุรกิจ สิ่งนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนจากโฆษณา "อิชิตัน" ชุดใหม่ที่เขาเลือกจะ "เล่นเอง ชงเอง" พร้อมกับวาทะเด็ด "ผมปลูกเองกับมือ" เพื่อขายความเป็น "ตัน" อย่างเต็มที่ โดยหวัง ให้ตัวเขาเป็นจุดที่เชื่อมโยงไปถึงผู้บริโภคได้อย่างง่าย ๆ แบบไม่ต้องเปลืองแรงไป เปลืองเงินไปกับพรีเซ็นเตอร์ชื่อดังคนไหน

งานนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของเขาต่อ "TAN Brand" เป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งวันนี้เมื่อเขาเลือกที่จะผนึกกำลังกับ "โน้ส อุดม" เจ้าพ่อทอล์กโชว์ บุคคลผู้มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง กลายเป็น "แพ็กคู่" ทางธุรกิจที่ทรงพลังที่ช่วยขยายฐาน แฟนคลับของเขาให้กว้างขึ้นไปอีก

ขณะที่ "ตัน" เดินกลยุทธ์ "ข้าม เซ็กเมนต์" (cross segment) ผ่านการนำตัวตนของ "ตัน" ไปลิงก์กับตัวตนของ "โน้ส อุดม" ด้านโออิชิก็เลือกข้ามเซ็กเมนต์ไปสู่ตลาดเครื่องดื่มอื่น ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าของตัวเองเช่นกัน

ตั้งแต่ "ฟรุตโตะ" ชาเขียวผสมน้ำ ผลไม้ไปจนถึง "ชาคูลล์ซ่า" ชาเขียวผสมโซดาซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายาม "ฉีกกฎ" ตลาดชาเขียวเพื่อเข้าไปกินในกลุ่มลูกค้า "น้ำผลไม้" และ "น้ำอัดลม" ซึ่งเป็นตลาดหลักในกลุ่มเครื่องดื่ม

โออิชิยังเดินหน้า "กลยุทธ์ผู้นำ" กับการเซ็กเมนเตชั่น หรือแตกเซ็กเมนต์ย่อยเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุม ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยวางชาเขียวยูเอชที เจาะกลุ่มเด็ก, ฟรุตโตะ 12-15 ปี ขณะที่ชาคูลล์ซ่าจับกลุ่มวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย และโออิชิ กรีนที ออริจินัล สำหรับคนอายุ 25 ปีขึ้นไป

ทั้งหมดเพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้า ทิ้งห่างคู่แข่งแทนการย่ำอยู่กับการ แข่งขันแบบเดิม ๆ

"ตลาดชาเขียวที่ผ่านมาก็จะแข่งขันกันในตลาดเดิม ไม่มีการแตกแคทิกอรี่ใหม่ ๆ แต่หน้าที่ของผู้นำคือสร้างตลาดใหม่ เราไม่ใช่ผู้ตาม เพื่อเข้าไปเจาะ กลุ่มลูกค้าใหม่หรือกลุ่มที่ไม่เคยดื่มชาเขียวมาก่อน กรณีชาคูลล์ซ่าเป็นตัวอย่างการฉีกกฎชาเขียว ตั้งแต่บรรจุกระป๋องและเข้าไปแข่งในตลาดน้ำอัดลมอย่างเต็มที่ จากนี้โออิชิยังมีแผนอีกหลายอย่าง ต้องบอกว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น"

สำหรับกลยุทธ์ของอิชิตันเพื่อหวังแจ้งเกิดและเบียดยักษ์อย่างไทยเบฟเวอเรจได้นั้น ถึงได้มีการศึกษาทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

ตั้งแต่การเลือกเข้ามาในช่องว่างของราคาที่ 16 บาท ในไซซ์ 420 ม.ล. ซึ่ง ถือเป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาด ชาเขียว ซึ่ง "ตัน" ให้เหตุผลว่ามาจากการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการดื่ม 1 ครั้ง คือไม่มากและไม่น้อยเกินไป

ที่สำคัญเป็นช่องว่างทางการตลาดที่เขาเห็นแล้วว่า สามารถเจาะได้ทั้งกลุ่ม ผู้หญิงและผู้ชาย เหนืออื่นใดคือการวางราคาที่ต่ำกว่าโออิชิ 4 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับสินค้าแมส และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในทันที

ไม่เพียงแค่เรื่องขนาดและราคา เขายังเลือกชูเมสเซจ "ชาออร์แกนิก" มาเป็นธีมหลักของแบรนด์ ที่จุดนี้เองถือเป็นช่องโหว่สำคัญที่ยังไม่เคยมีแบรนด์ไหนหยิบยกขึ้นพูดมาก่อน งานนี้นับว่าเป็น "ความเก๋า" ของตันที่มองเกมขาด เพราะนอกจากจะทำให้อิชิตันสามารถเดินทางลัดในการลิงก์แบรนด์กับสุขภาพได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นการเกาะกระแส "ออร์แกนิก-สิ่งแวดล้อม" ที่ฮอตฮิตในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นจุดต่างที่ทำให้คู่แข่งทั้งหลายตกอยู่ในสภาพ "เอาต์" ในทันที

ถึงขนาดที่นักการตลาดทางฝั่งของ "ยูนิฟ กรีนที" เอ่ยปากชมในไอเดียดังกล่าว

แต่ที่ดูจะไม่สบอารมณ์ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นผู้นำตลาดชาเขียว เมื่อ "แมทธิว" หลุดวาทะเด็ดออกมาในงานแถลงข่าวเปิดตัว "ชาคูลล์ซ่า" ว่า
"ชาออร์แกนิกไม่ใช่นวัตกรรม และโออิชิก็ไม่ได้ขายใบชาพลาสติกแต่อย่างใด"

งานนี้แม้บรรดาผู้บริหารของโออิชิต่างพากันย้ำแล้วย้ำอีกว่า "ไม่หนักใจ" กับการเข้ามาของ "อิชิตัน" แต่ดูจากแผนงาน "รับน้องใหม่" ที่ยักษ์ใหญ่รายนี้เตรียมไว้ บอกได้คำเดียวว่า "ไม่ธรรมดา"

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในวันนี้คือ ทั้งในฐานะคู่แข่งและอดีตพันธมิตรที่รู้จักตื้นลึกหนาบาง และสไตล์การทำตลาดกันอย่างดี "โออิชิ" จะสกัดกั้นการแจ้งเกิดของ "อิชิตัน" ได้อย่างไร

ตัน โออิชิ ชื่อนี้สำหรับคอชาเขียวก็ไม่มีใครไม่รู้จัก โดยประวัติการทำธุรกิจของชายคนนี้น่าสนใจมากทีเดียว เพราะดูเหมือนจะจับต้องธุรกิจใดก็ต้องมีอันต้องดังเป็นพรุแตกทุกครั้งไป จนวันนี้มาถึงธุรกิจล่าสุด ของ อิชิตัน ลองมาอ่านและศึกษาการแข่งขันในธุรกิจ ทั้งอดีตและปัจจุบัน น่าสนใจทีเดียวเชียว


จุดแข็งโออิชิ

พลังเครือข่าย
การมีเครือข่ายการจัดส่งและร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มหลากหลายภายใต้บริษัทเดียวกันของไทยเบฟฯ ทำให้กระจายสินค้าได้กว้างและทั่วถึง และมีอำนาจต่อรองกับร้านค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการผลักดันยอดขายโออิชิ

โดยเฉพาะช่องทางการขายผ่าน Traditional Trade ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของโออิชิที่กระจายผ่านช่องทางเครือข่ายของไทยเบฟฯ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ขายผ่านเอเย่นต์ต่างๆ ที่ส่งต่อให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊วทั่วประเทศ อีกส่วนคือ ขายผ่านคู่ค้าแต่ละจังหวัดของไทยเบฟฯ ที่รับทำหน้าที่กระจายสินค้าทั้งหมดในเครือ ไปสู่ร้านค้าโชห่วยอีกต่อ คล้ายกับระบบตั้งตัวแทนของยูนิลีเวอร์ ขณะที่อีกช่องทางหนึ่งคือ เสริมสุข ที่เป็นช่องทางจำหน่ายหลัก เข้าไปในร้านค้า ตู้แช่ ที่ไทยเบฟฯ ไม่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งหมดนี้ สามารถครอบคลุมร้านค้า เกือบ 1.5 -2 แสนร้านค้าทั่วประเทศ

สำหรับช่องทางขาย เซเว่นอีเลฟเว่น หรือ โมเดิร์นเทรด ด้วยเครือข่ายที่มีอยู่จำนวนมากของเครือข่ายเหล่านี้ ยากต่อการที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะควบคุมได้ ขึ้นอยู่กับสินค้าเป็นหลักว่าจะทำตลาดได้ดีแค่ไหน


ความหลากหลาย
ข้อได้เปรียบของการเป็นเบอร์ 1 ในตลาดที่อยู่มาก่อน ทำให้โออิชิมีจุดเด่นเรื่องความหลากหลายของสินค้า รสชาติ ขนาดแพ็กเกจจิ้ง และราคา ที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มให้เลือกมากกว่า


พลังทุนเงินทุน
เครือข่ายอาณาจักรธุรกิจของไทยเบฟฯ ที่ครอบคลุมทั้งเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ประกันชีวิต เป็นหลักประกันความพร้อมเรื่องเงินทุน ซึ่งทุกสินค้าต้องการ เพื่อสามารถทดลองออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น การออกชาคูลล์ซ่า ซึ่งถือเป็นสินค้าที่นวัตกรรมอย่างแท้จริง ส่วนรสชาติและยอดขายจะเป็นที่ตอบรับของตลาดหรือไม่ต้องวัดผลกันอีกที

ส่วนตันเอง การดำเนินธุรกิจของอิชิตัน จะว่าไปแล้วก็คือการนำกำไรจากการขายโออิชิมาเป็นทุนเริ่มต้น ซึ่งเป็นเพียงแค่เงินลงทุนเพียงส่วนเดียว หากประสบความสำเร็จก็เท่ากับสามารถทำกำไรจากกำไรได้ แต่หากธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คิดตันก็ไม่เสียหายอะไร และสามารถกลับไปทบทวน และเริ่มต้นธุรกิจอื่นได้จากทรัพย์สินที่สะสมไว้อีกมากมาย โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทที่ดิน ที่อยู่ในทำเลและสามารถแปลงทรัพย์สินมาเป็นทุนไม่ยาก

แต่ทุกธุรกิจก็เหมือนกัน แม้ว่าจะมีเงินทุนมากมายเพียงใด ก็ต้องคิดถึงกำไรขาดทุน หากแข่งขันจนไม่มีกำไร สุดท้ายก็ยากจะอยู่ได้


จุดแข็งอิชิตัน

มากกว่าลูกจ้าง
การเป็นบริษัทใหม่ มีขนาดเล็กกว่า ตันจึงต้องซื้อใจทีมงาน กับการให้สิทธิ์เหนือกว่าการเป็นลูกจ้างธรรมดา ด้วยการสร้างเพื่อนร่วมธุรกิจที่เป็นทั้งลูกจ้างและหุ้นส่วน ทำให้ตันมีคนที่พร้อมจะทุ่มเททั้งสมองและแรงกายแรงใจ ทำงานให้กับเขาอย่างเต็มที่

ตันเลือกใช้วิธีรับสมัครที่แปลกแหวกแนว ชนิดที่ว่า NHK เดินทางมาถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ในเชิงเรียลลิตี้ถึง 5 วัน ด้วยการส่งคลิปยาว 2 นาที แนะนำตัวและบอกเหตุผลว่า ทำไมตันถึงต้องเลือกเขาเข้าทำงานกับบริษัทฯ ผ่านแคมเปญ The 9 Challengers ผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 9 คน จะได้ทำงานพร้อมกับได้รับหุ้นบริษัท ไม่ตัน จำกัด มูลค่า 300,000 บาท เมื่อทำงานครบ 3 ปี

ต่อมา ตันเปิดรับสมัครทีมงาน 20 Challengers Food Business ทั้ง 20 คนที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับหุ้นมูลค่า 150,000 บาท เมื่อทำงานครบ 3 ปี ส่วนพนักงานอื่นๆ ตันเปิดให้ซื้อหุ้นมูลค่า 10 เท่าของเงินเดือน ผ่อนจ่าย 5 ปีไม่มีดอกเบี้ย


มี Public เป็นพวก
ในขณะที่ไทยเบฟฯ ที่ต้องมีระบบแบบธุรกิจทั่วไป แต่ตันสร้างแตกต่างในเรื่องของความเป็นคนเปิดเผย กล้าแสดงออกทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวให้สาธารณชนรับรู้ ใช้สาธารณชนหรือพับบลิกเป็นเพื่อน จึงเหมือนมีสาธารณชนเป็นพวกด้วย คนกลุ่มนี้นอกจากเป็นผู้รับรู้ข่าวสาร อีกด้านหนึ่งก็เป็นลูกค้าที่พร้อมจะซัพพอร์ตเขาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าตันเป็นคนเปิดเผยและจริงใจ ซึ่งหาดูได้ยากจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่จะมีลูกลุยและสร้างประสบการณ์สนุกสนานให้กับพวกเขาได้แบบตัน


พลังแบรนด์ตัน
ทุกคนจดจำโออิชิได้ทั้งชื่อและรสชาติ โดยจำได้ว่านั่นคือความเป็นตัน เพราะตันคือผู้สร้างโออิชิ แล้วการทำตลาดสไตล์ตัน ทำให้ผู้บริโภคผูกพันกับแบรนด์ และรู้สึกเป็นกันเองกับแบรนด์ได้มากกว่า จึงมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากการดื่มโออิชิ มาดื่มอิชิตัน เมื่อนึกถึงชาเขียว เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็เชื่อว่า ไม่ว่ารสชาติจะแตกต่างจากเดิมหรือไม่ แต่รสชาติของอิชิตันก็ไม่น่าจะแย่กว่าโออิชิ


พลังสาวกใน Social Media
ตันเรียนรู้การใช้พลังของโซเชี่ยลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กในการเชื่อมโยงตัวเขาและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่มาตลอด นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัท ไม่ตัน ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของการต่อสู้ของเข ที่ยังคงเป็นเนื้อหาที่คนยุคนี้ยังคงให้ความสนใจอยู่เสมอ

เขายังใช้เครือข่ายนี้ในการเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์มาสู่ออฟไลน์ ในการทำกิจกรรมเพื่อโปรโมตสินค้าที่เขาทำตลาดอยู่อย่างได้ผล เช่น งานดับเบิ้ล ดริ้งค์ มีท แอนด์ กรีท ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ หลังจากแคมเปญลึกซึ้งคอนเทสต์ (การประกวดคลิปวิดีโอแสดงไอเดียการดื่มดับเบิ้ลดริ้งค์ในรูปแบบต่างๆ) ได้รับการตัดสินแล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดทั้ง 99 คลิปและผู้ร่วมโหวตอีก 13,969 คน

สินค้าราเมน แชมเปี้ยน คือ ตัวอย่างการใช้ Facebook เป็นสื่อในการโปรโมตผ่านกลุ่มเป้าหมายจนประสบความสำเร็จ โดยไม่ได้พึ่งพาสื่อ Above the line

บี้ Fan page กันมันหยด
OISHI News Station (Food&Beverage)  383,394
ตัน ภาสกรนที (Public Figure)  380,880

ตันเลือกที่จะสร้างแบรนด์อิชิตัน ผ่าน Fanpage ของเขา ซึ่งโดยหลักการทั้ง 2 Fanpage ข้างต้น จะจัดอยู่ในคนละกลุ่มกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว Food&Beverage ของโออิชิ และการเป็น Public Figure ของตัน คือคู่ชกตัวจริง แถมมีตัวเลขใกล้เคียงกันอีกต่างหาก แต่ถ้าพูดถึงอัตราการเติบโตแล้ว Fanpage ของตันมาแรงกว่า เพราะเปิดหลัง Oishi News Station นานนับปี

ขณะที่ Fan page ของอิชิตันเอง มีแฟนเพียง 46,071 ราย ขณะนี้ใช้ทำหน้าที่โปรโมตกิจกรรมของดับเบิ้ล ดริ้งค์ เท่านั้น

ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2554

โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่  จำนวน  สัดส่วน
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  167,360,199  89.26%
UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED  8,692,600  4.64%
นาย ตัน ภาสกรนที  6,562,500  3.50%
บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด  1,616,700  0.86%
CITIBANK NOMINEES SINGAPORE  1,000,000  0.53%
PTE LTD-UBS AG LONDON BRANCH-NRB       

กำไร (ล้านบาท)
2553  2552  2551  2550
1,009.48  751.33  592.47  558.37
กำไรสุทธิ (ล้านบาท)
ไตรมาส 1/2554  ไตรมาส 1/2553
337  192
กำไรไตรมาส 1/2554 เทียบกับไตรมาส1/2553 เติบโต 75.5%

การเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทใหม่หลังการลาออกของตัน
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2554 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ปณต สิริวัฒนภักดี ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท แทน สุนิสา สุขพันธ์ถาวร (ภรรยาของตัน) ตามการพิจารณาเสนอแนะของคณะกรรมการสรรหา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554

(ณรงค์ ศรีสอ้าน ประธานกรรมการบริหาร และนายโช เอวี่ย จิ้น กรรมการบริหาร ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554)

ฐาปน สิริวัฒนภักดี  ประธานกรรมการบริหาร
โดยก่อนหน้าเขาเป็นรองประธาน
กรรมการบริหาร
อวยชัย ตันทโอภาส  รองประธานกรรมการบริหาร
สิทธิชัย ชัยเกรียงไกร  รองประธานกรรมการบริหาร
แมทธิว กิจโอธาน  กรรมการผู้จัดการ
พิษณุ วิเชียรสรรค์  กรรมการบริหาร
สุรีย์พร ประดิษฐ์ทัศนีย์  กรรมการบริหาร
ไพบูลย์ คุจารีวณิช  กรรมการบริหาร
ไพศาล อ่าวสถาพร  กรรมการบริหาร
อนิรุทธิ์ มหธร  กรรมการบริหาร
ส่วนใหญ่เป็นคนของไทยเบฟฯ มี ไพศาล อ่าวสถาพร ที่เป็นคนเก่าของตันที่ยังคงอยู่ในบอร์ด

Timeline
2542  • ตัน ภาสกรนที เปิดบริการร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ทองหล่อ ภายใต้ชื่อ “โออิชิ”
2544  • เปิดบริการ โออิชิ ราเมน และอิน แอนด์ เอาท์ เบเกอรี่
2545  • ปรับโครงสร้างการดำเนินงานเพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายรูปแบบรวมทั้งร้านเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ ส่งผลให้บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 300 ล้านบาท
• เข้าสู่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ “โออิชิ” โดยว่าจ้าง OEM
• เปิดบริการ ชาบูชิ
2546  • ผลิตและจำหน่ายชาเขียวเอง
2547  • แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
• เปิดบริการ โออิชิ แกรนด์ บุฟเฟ่ต์ ณ สยามดิสคัฟเวอรี่
2548  • เผชิญปัญหาความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพในการผลิต
• ออกแคมเปญรวยฟ้าผ่า 30 ฝา 30 ล้าน เป็นต้นเหตุให้ Instant Win กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
• ผลิตและจำหน่ายFunctional Drink ภายใต้แบรนด์ อะมิโน โอเค
2549  • ผลิตและจำหน่ายน้ำส้ม ภายใต้แบรนด์ เซกิ
• ไทยเบฟเวอเรจเข้าซื้อหุ้นโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
2551  • 30 กันยายน ตันขายหุ้นจำนวน 103.125 ล้านหุ้น หรือ 43.9% ในราคา 32.50 บาท รวมเป็นมูลค่า 3,352 ล้านบาทให้กับไทยเบฟฯ
• ผลิตและจำหน่ายกาแฟคอฟฟีโอ
• เปิดบริการร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ A lar carte ชื่อไมโดะ โอคินิ โชกุโดะ
2552  • เปิดบริการร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์อุด้ง โซบะ ชื่อ คาโซกูเตะ
• รีแบรนด์ อะมิโน โอเค เป็น อะมิโน พลัส
2553  • 28 กรกฎาคม ตัน ยื่นใบลาออกจากโออิชิ กรุ๊ป
• 9 กันยายน การลาออกจากโออิชิ กรุ๊ป ของตันมีผลอย่างเป็นทางการ และเปิดตัวบริษัท ไม่ตัน จำกัด
2554  • กุมภาพันธ์ ไม่ตัน เปิดตัวน้ำสมุนไพรดับเบิ้ล ดริ้งค์
• มีนาคม โออิชิ เปิดตัวน้ำชาเขียวผสมน้ำผลไม้ ฟรุตโตะ
• พฤษภาคม เปิดตัวชาเขียวออร์แกนิก อิชิตัน จำหน่ายราคาขวดละ 16 บาท โออิชิทำโปรโมชั่นลดราคาเหลือขวดละ 16 บาท จากปกติ 20 บาท
• 13 มิถุนายน โออิชิเปิดตัวชาคูลล์ซ่า ชาเขียวอัดลม
• 27 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม อิชิตัน ออกแคมเปญลดสุดแรงร่วมกับ 7-Eleven ซื้อดับเบิ้ล ดริ้งค์ 1 ขวด แลกซื้ออิชิตัน 1 บาท

โออิชิเข้าตลาดในราคาเริ่มต้นที่ 19 บาท จากนั้นก็สูงขึ้นเป็นลำดับ หลังพ้นมือตัน ดูเหมือนราคาหุ้นของโออิชิยังคงรักษาระดับได้ดี โดยเคยขึ้นไปถึง 109 บาท



INSURANCETHAI.NET
Line+