เรื่องของ เช็ค..เช็ค..เช็ค
185
เรื่องของ เช็ค..เช็ค..เช็ค
เรื่องของ เช็ค..เช็ค..เช็ค
พูดถึงเรื่องเช็ค แล้วเรื่องมันยาว เพราะเรื่องเช็ค นี่มีการดำเนินคดีกับเจ้าของเช็ค (คนสั่งจ่ายเช็ค) ได้ทั้ง คดีแพ่ง-คดีอาญา ด้วย เอาเป็นว่ามาคุยกันในทางปฎิบัติดีกว่าว่า ถ้าคุณได้รับเช็คมา จากการรับชำระหนี้หรือจากอะไรก็แล้วแต่ คุณจะดูยังไงว่า เช็คนั้นคุณสามารถจะนำไป ขึ้นเงินหรือเบิกเงิน ที่ธนาคารได้ หรือเปล่า และ ถ้าเช็คเด้งขึ้นมา คุณจะทำยังไงกับเช็คนั้นดี ?
มูลหนี้
เบื้องต้น ดูก่อนเลยว่า เช็คนั้น คุณได้รับมาจากเรื่องอะไร เช่น รับชำระหนี้มา เก็บได้ หรือ...อะไรก็แล้วแต่.....เพราะเช็คนั้นจะใช้บังคับกันได้ อันดับแรกเลย เช็คนั้นจะต้องมีมูลหนี้ ถ้าเช็คไม่มีมูลหนี้ จะใช้บังคับไม่ได้ เช่น ถ้าคุณเก็บเช็คได้ แล้วคุณนำไปเบิกเงินที่ธนาคาร ถ้าเกิดเช็คนั้นเด้ง (ไม่มีเงิน) คุณจะฟ้องร้องเจ้าของเช็คไม่ได้ แล้วคุณอาจมีความผิดอาญา ฐานยักยอกทรัพย์หรือลักทรัพย์ได้อีก ตามแต่พฤติการณ์ หรือ เช่น มีคนสั่งจ่ายเช็คให้คุณ แต่ก่อนที่คุณจะเอาไปเบิกเงิน เขาก็เอาเงินตามเช็คมาจ่ายให้คุณก่อน แต่คุณก็ไม่ยอมคืนเช็คให้เขาไป กลับเอาเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ถ้าเช็คเด้ง คุณจะฟ้องร้องเจ้าของเช็คไม่ได้เช่นกัน เพราะหนี้ระหว่างคุณกับเขาไม่มีแล้ว ครับนี่คือเรื่องมูลหนี้ในเช็ค
ข้อมูลในเช็ค
เช็คที่ได้รับ คนสั่งจ่ายเขากรอก ข้อมูลครบถ้วน หรือไม่ ข้อมูลที่ต้องกรอกในเช็ค ก็มี วันที่สั่งจ่าย จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวหนังสือ และ ลายมือชื่อในเช็ค ครับทั้งสี่ประการนี่ สำคัญมาก..ก..เพราะอะไรหรือ ก็เพราะว่า...
1. วันที่ เรื่องวันที่สั่งจ่ายเช็คนั้น ความจริงแล้ว ถ้าเขาไม่ได้ลงวันที่มา ตัวคุณหรือคนที่รับเช็คมานั้น ก็สามารถจะลงวันที่ไปเองได้ แต่ ความสำคัญของมันอยู่ที่ เวลาเช็คเด้ง เพราะ ถ้ามีการลงวันที่ และองค์ประกอบอื่นครบถ้วน เจ้าของเช็คอาจต้องรับผิดเป็นคดีอาญา เพราะถือว่า มีวันที่กระทำความผิด แต่ถ้าไม่มีการลงวันที่หรือมีการลงวันที่แต่ลงวันที่โดยคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของคนสั่งจ่ายเช็ค คุณจะดำเนินคดีกับเจ้าของเช็คนั้นได้เฉพาะ คดีแพ่ง เท่านั้น
2. ดูว่าเช็คนั้น สั่งจ่ายให้ใคร ถ้าไม่มีชื่อว่าสั่งจ่ายให้ใคร อย่างน้อยก็ต้องไม่มีการขีดฆ่า คำว่า "ผู้ถือ" ออก เพราะแม้ไม่มีการลงชื่อว่าสั่งจ่ายให้ใคร แต่ถ้ายังมีคำว่า " ผู้ถือ" อยู่ ผู้ที่ถือเช็คไปที่ธนาคารเจ้าของเช็ค ก็สามารถเบิกเงินได้ เพราะเป็น "ผู้ถือ" เช็คไป (ส่วนใหญ่ที่เห็นมา มีการเขียนคำว่า "สด"หรือ"เงินสด" ในช่องสั่งจ่าย นั่นไม่ใช่เป็นการสั่งให้จ่ายกับคนที่ชื่อ "สด" นะครับ และถือว่าไม่มีการระบุชื่อผู้รับเงิน) ซึ่งถ้าเขียนว่า "สด" และขีดฆ่าผู้ถือออก ห้ามรับเลยครับ เช็คแบบนี้ ธนาคารไม่จ่ายเงินแน่นอน เพราะถือว่าไม่มีการสั่งจ่ายเงินให้ใครเลย
3. จำนวนเงิน ต้องกรอกทั้งตัวหนังสือและตัวเลขเพราะไม่กรอกแล้วจะรู้ได้ไงล่ะครับ ว่าตกลงจะให้ธนาคารจ่ายเงินเท่าไร และถือว่าเช็คนั้นไม่สมบูรณ์ด้วย
4. ลายมือชื่อ เช็คต้องมี ลายมือชื่อ ของผู้สั่งจ่าย มิเช่นนั้น ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินให้คุณแน่..แน่ แล้วคุณจะฟ้องร้องเรื่องเช็คก็ไม่ได้ด้วย
เมื่อมูลหนี้มีอยู่จริง และ ข้อความในเช็คก็ครบถ้วน เมื่อถึงวันที่สั่งจ่าย ก็ไปธนาคารเจ้าของเช็คเลยครับ อย่าให้เกิน 6 เดือนนับแต่วันออกเช็คนะครับ เพราะธนาคารอาจปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้คุณก็ได้ เมื่อไปถึงธนาคาร ก็ยี่นเช็คเพื่อเบิกเงินเลยครับ แต่..ถ้าเช็คนั้น เป็น เช็คขีดคร่อม ธนาคารจะไม่จ่ายเงินสดให้คุณแต่จะนำเช็คเข้าบัญชีของคุณ หรือถ้าคุณไม่มีบัญชีที่ธนาคารนั้น ธนาคารก็จะให้คุณเปิดบัญชี เพื่อนำเงินเข้าบัญชีของคุณแล้วจึงค่อยให้คุณเบิกเงินออกมาอีกทีหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อได้รับเช็คขีดคร่อม เราก็ควรนำเช็คเข้าบัญชีของเรา ที่ธนาคารเจ้าของบัญชีของเราเอง เพื่อให้ธนาคารเจ้าของบัญชีเรา เรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของเช็คเอง ใช้เวลาประมาณ วันสองวันแหละครับ เราก็เบิกออกมาได้แล้ว
แต่ ถ้าเช็คเด้ง จะเป็นเพราะ เจ้าของเช็คสั่งอายัดเช็ค หรือเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย หรือเหตุใดก็ตาม ธนาคารจะมีใบคืนเช็คแนบมาให้คุณด้วย เก็นไว้ให้ดีนะครับ เช็คกับใบคืนเช็ค มีความสำคัญมากในการดำเนินคดี
ทีนี้มาดูกันว่า คุณจะทำไงต่อ เมื่อเช็คเด้ง ถ้าเช็คนั้น มีมูลหนี้ มีการลงวันที่โดยผู้สั่งจ่าย(เจ้าของเช็ค) และ มีรายละเอียดครบถ้วน คุณอาจฟ้องร้องดำเนินคดี ผู้สั่งจ่ายได้ทั้งคดีแพ่ง-คดีอาญา (ต้องดูรายละเอียดปลีกย่อย และข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องอีก)
ซึ่งถ้าเช็คนั้น คุณสามารถดำเนินคดีอาญาได้ คุณจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน(ตำรวจ) ณ.ท้องที่ ที่ธนาคารเจ้าของเช็คนั้นๆตั้งอยู่ (ดูจากในตัวเช็คเลยว่า อยู่แขวง เขต อะไร) โดยจะต้องแจ้งความหรือให้ทนายความฟ้องร้องต่อศาล ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่เช็คเด้ง (วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็ดูจากในใบคืนเช็คนั่นแหละครับ) มิเช่นนั้น คดีคุณขาดอายุความ จะดำเนินคดีอาญาไม่ได้อีก แล้วการแจ้งความต้องบอกกับตำรวจไปเลยว่า ต้องการให้ดำเนินคดี ไม่ใช่ แจ้งความเป็นหลักฐานเท่านั้น (เพราะมีรายละเอียดแตกต่างกันมาก) หลังจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะตามจับผู้สั่งจ่ายมาดำเนินคดี
แต่ถ้าคุณไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ คุณสงสารคนสั่งจ่าย กลัวว่าเขาจะติดคุก หรือ เช็คไม่ได้ลงวันที่ หรือ ขาดอายุความในทางอาญาแล้ว ก็ตาม คุณก็ยังสามารถดำเนินคดีแพ่ง ได้อยู่อีก โดยคุณจะต้องให้ทนายความฟ้องร้องต่อศาล ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ลงในเช็ค มิเช่นนั้น คดีแพ่งคุณก็จะขาดอายุความด้วย ซึ่งถ้าคดีขาดอายุความ ทั้งแพ่ง-อาญา แล้ว คุณก็ต้องมาฟ้องร้องกันตามมูลหนี้เดิม ที่มีการสั่งจ่ายเช็คนั้นๆ (ถ้ามูลหนี้เดิมยังไม่ขาดอายุความ) แต่ถ้ามูลหนี้เดิมคุณก็ขาดอายุความแล้วก็...สวัสดี...ความเศร้า
ช็คถือเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง ที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินแก่ผู้รับเงิน ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ในวงการธุรกิจการค้า นิยมใช้เช็ค กันเป็นอย่างมาก แต่ตรงกันข้าม กับจำนวนบุคคลที่จะรู้ถึงสาระสำคัญและรายละเอียด ในยามที่มีปัญหา “เช็คเด้ง”
ปัญหาที่ผมในฐานะทนายความที่ได้รับทราบจากผู้ที่มาปรึกษาเมื่อ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ หรือเมื่อตนเองถูกฟ้องไม่ว่าทางแพ่ง หรือ อาญา
คำแนะนำในด้านของผู้ที่ได้รับเช็คมาไว้ในความครอบครอง
1. คุณควรจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินให้ตรงตามวันที่ ซึ่งลงในเช็ค เหตุผลเพราะว่า การที่คุณนำเช็คไปเรียกเก็บเงินไม่ตรงตามวันที่ลงในเช็ค โดยเฉพาะ การเรียกเก็บภายหลังวันที่ลงในเช็ค (สาเหตุไม่ว่าจะมาจากด้วยความลงลืมของคุณเอง หรือ การขอผัดผ่อนของผู้สั่งจ่าย) หากว่าวันที่ลงในเช็คเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายเขามีเงินพอที่จะจ่ายตามเช็ค แต่คุณไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันนั้น คนที่จะเป็นผ่ายเสียหายนั้นคือคุณ ไม่ว่าจะเป็นในด้านคดีอาญา ถึงกับยกฟ้องกันไปเลย ส่วนในทางแพ่งไม่ถือว่าเสียหายมากนักเพราะอย่างไรเสียผู้สั่งจ่ายยังคงไม่หลุดพ้นที่จะต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ในเช็ค แต่ถ้าหากถามว่า ถ้าเช็คฉบับใดไม่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษอะไรดีๆเพียงแค่ใบเดียว
ทำอย่างไรเมื่อ เช็คเด้ง
1.ก่อนอื่นคุณควรสอบถามไปยังผู้สั่งจ่ายว่าเขาจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร
2.หากว่าผู้สั่งจ่ายผัดผ่อนอย่างไม่มีเหตุผล ( ท่าทางว่าจะไม่จ่าย) ทางออกของคุณสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
(1) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา ( กรณีที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ) ซึ่ง วิธีนี้ ดีตรงที่ประหยัดไม่ต้องเสียค่าจ้างทนาย แต่ข้อเสียคือ พนักงานสอบสวนจะทำงานล่าช้า
(2) จ้างทนายฟ้องคดี อาญา ( กรณีที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ) หรือ แพ่ง
หมายเหตุ – เนื่องจากความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม มาตรา 5 ดังนั้น กรณีที่ท่านประสงค์จะดำเนินคดีอาญาท่านต้องร้องทุกข์ หรือ ฟ้องคดี ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
INSURANCETHAI.NET