มิจฉาชีพใช้ไม้จิ้มฟันเสียบช่องสอดบัตรตู้เอทีเอ็ม ล้วงข้อมูล
236

มิจฉาชีพใช้ไม้จิ้มฟันเสียบช่องสอดบัตรตู้เอทีเอ็ม ล้วงข้อมูล

ระวังแก๊งหลอกตุ๋นเงิน ใช้มุกเดิมแอบเอาไม้จิ้มฟันเสียบช่องสอดบัตรตู้เอทีเอ็ม เล่นบทเป็นพลเมืองดี ทำทีเข้าช่วย แอบดูรหัสผ่าน ระบุถ้าเผลอเจอดีแอบไปกดแน่ ลูกค้าต้องแจ้งคอลเซ็นเตอร์อายัดบัตรด่วน

ช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่จะเป็นช่วงที่การจับจ่ายใช้สอยสะพัด และจะมีประชาชนมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้กลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสนี้ก่อเหตุหลอกล่อผู้บริโภคในทุกวิถี ทางเพื่อฉ้อโกง

วิธีการที่กลุ่มมิจฉาชีพนี้นำมาใช้จะเป็นวิธีการเดิมที่เคยทำมาแล้วในอดีต คือการนำไม้จิ้มฟันหรือวัตถุชิ้นเล็กๆ เข้าไปเสียบไว้ข้างๆ ที่สอดบัตรเอทีเอ็ม ส่งผลให้บัตรติดค้างอยู่ข้างใน และหลังจากนั้นจะมีมิจฉาชีพ 1-2 ราย ซึ่งเข้ามาแสดงตนเป็นบุคคลที่สองทำทีมาให้ความช่วยเหลือ แต่แท้จริงนั้นเป็นการแผนลวงเพื่อต้องการรหัสบัตรของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายเผลอกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะทำการหยิบไม้จิ้มฟันออก แล้วดึงบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายนำไปกดเงินต่อไป หรือคัดลอกข้อมูลจากเครื่องคัดลอกข้อมูลขนาดเล็กที่ติดไว้ในมือ (Handing Skimming) แล้วทำการคัดลอกข้อมูลเพื่อปลอมบัตรและนำไปกดเงินในภายหลัง

การที่กลุ่มมิจฉาชีพหันกลับไปใช้วิธีการแบบดั้งเดิมนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์มีการติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูล (Handing Skimming) ไว้ที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลของลูกค้า ซึ่งถือว่าประสพผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยจากสถิติความเสียหายทั้งปี 2552 ได้รับรายงานว่ามีผู้เสียหายจากการโดนคัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็มทั้งระบบ ธนาคารเพียง 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่าเพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้น จากก่อนหน้านี้ในปี 2551 ที่มีสถิติเกือบ 100% ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่าหลาย 10 ล้านบาท

"วิธีการป้องกันความเสี่ยงโดยเบื้องต้นต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเอง ซึ่งไม่ควรไว้ใจบุคคลที่สองไม่ว่าจะเป็นญาติ พี่น้อง หรือใครก็ตาม ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสมาคมธนาคาร ธนาคารพาณิชย์ ชมรมธุรกิจเอทีเอ็ม ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่าควรที่จะต้องระวัง เพราะกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะมีเครื่องคัดลอกข้อมูลเล็กๆ ไว้ในมือที่สามารถคัดลอกข้อมูลเราได้ภายในไม่กี่วินาที แล้วนำไปทำบัตรเอทีเอ็มปลอมในภายหลัง และหาจังหวะล้วงเอารหัสบัตรจากเราอยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ก็จะคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อหลอกล่อผู้บริโภคอยู่เสมอ"

กลุ่มมิจฉาชีพจะไม่สามารถทำอะไรกับบัตรเอทีเอ็มของเราได้เลยหากไม่ทราบรหัส
บัตรเอทีเอ็ม แม้จะสามารถคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของผู้บริโภคได้แล้วก็ตาม
ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรระวังคือการป้องกันรหัสบัตรให้ดีที่สุด ควรเปลี่ยนรหัสบัตรเอทีเอ็มเสมออย่างน้อยก็เดือนละ ครั้ง หรือไม่เกิน 3 เดือนเปลี่ยนหนึ่งครั้ง
หากเกิดกรณีบัตรค้างอยู่กับตู้เอทีเอ็มให้ผู้บริโภคโทรศัพท์ไปยัง call center ของธนาคารนั้นๆ ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ติดอยู่ตรงหน้าเครื่อง อย่าเดินหรือละสายตาจากตู้เด็ดขาด
ถ้าเป็นระบบการป้องกันของธนาคารกสิกรไทยจะทำการตัดระบบไฟของตู้นั้นๆ ทันที ซึ่งธนาคารยอมขาดรายได้แทนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้า



INSURANCETHAI.NET
Line+