โลกอิสระของนักธุรกิจบนเตียง
255
โลกอิสระของนักธุรกิจบนเตียง
โลกอิสระของนักธุรกิจบนเตียง http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/04/14/images/news_img_386662_1.jpg"> โลกอิสระของนักธุรกิจบนเตียง ด้วยโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่องกับความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ชีวิตบน “เตียงทำงาน” จึงไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ แม้จะต้องแบกภาระหนี้หลายล้าน แต่เมื่อคนๆหนึ่งใช้ทุกศักยภาพที่มีอยู่ ขยับปาก ขยับความคิด ในคนๆ เดียวที่ชื่อ ปรีดา ลิ้มนนทกุล จึงสามารถจะ“เป็น”และ“ทำ”อะไรได้มากมายในชีวิต ตั้งแต่เป็นนักขาย นักการตลาด นักบริหาร ตัวแทนประกัน นักธุรกิจขายตรง บล็อกเกอร์มืออาชีพ ศิลปินวาดภาพด้วยกาแฟเพื่อการกุศล หรือแม้แต่อาสาช่วยน้ำท่วม ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในบ้านซึ่งเป็นทั้งที่กินอยู่หลับนอนและทำงาน ที่นี่ไม่เคยขาดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ถึงจะเป็นวันหยุดแต่เสียงมือถือจากปลายทางที่โทรมาพูดคุยธุระกับปรีดายังคงดังเป็นระยะๆ นอกจากเรื่องงานที่ทำอยู่ ช่วงนั้นยังมีภารกิจอาสาช่วยภัยน้ำท่วมที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกับเครือข่ายอาสาภาคประชาชนอย่าง Thaiflood.com คอยประสานงานจัดหาชูชีพและเรือ รวมถึงช่วยทำบัญชีรับบริจาคออนไลน์ขึ้นหน้าจอตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งแรกเมื่อปีก่อน เห็นตารางชีวิตที่เจ้าของเตียงอัพเดทผ่านบล็อกว่าในแต่ละวันว่าทำอะไรบ้าง ทำให้ต้องกระดากอายกับทัศนคติความเชื่อเดิมๆ ที่มักจะตีกรอบคำว่า“พิการ”กับ“ปัญหา”ในการดำเนินชีวิตแบบคนปกติทั่วไป หลายครั้งที่นั่งแท๊กซี่ออกไปดีลธุรกิจบนวีลแชร์ เมื่อต้องเจอกับคำถามในทำนองว่าจะมาทำงานสะดวกไหม? ปรีดาเล่าว่าเขามักจะตอบเสมอว่า“ถ้าคุณเลือกผม นั่นคือหน้าที่ผม” สมัยยังเดินตัวปลิวไปสัมภาษณ์งาน โดนถามว่าบ้านอยู่บ้านบัวทองจะมาทำงานที่สุขุมวิท 42 สะดวกไหม? จำได้ว่าเขาก็เคยตอบไปแบบเดียวกันนี้ ดังนั้น สำหรับปรีดาแล้วไม่ว่าจะคุณจะเป็นคนปกติ หรือคนพิการ เราทุกคนล้วนมีข้อจำกัดในชีวิตกันทั้งนั้น เพียงแต่เหตุผลอาจต่างกันออกไป จะลุกขึ้นจากเตียงได้หรือเปล่า จึงขึ้นอยู่ที่“แนวคิด”มากกว่า ถ้าคิดได้ คิดเป็น และมีความคิดที่เป็นอิสระแล้ว ทุกข้อจำกัดในชีวิต ไม่ว่าจะใหญ่จะเล็กก็จะก้าวข้ามผ่านมันไปได้หมด 10 ปีที่แล้วหลังจากรู้ชะตากรรมในชุดคนไข้ว่าจะต้องเดินไม่ได้ กลายเป็นคนทุพพลภาพถาวรไปตลอดชีวิต หลังประสบอุบัติเหตุรถคว่ำจนเกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงที่ไขสันหลัง ร่างกายตั้งแต่หน้าอกลงไปถึงปลายเท้าของปรีดาไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกใดๆ อีกต่อไป มรสุมที่ใครๆ มองว่าเป็นฝันร้ายในชีวิตคนหนุ่มอนาคตไกลวัย 29 กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้คนๆหนึ่ง เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองจากลูกจ้างตำแหน่งวิศวรฝ่ายขาย มาเป็นนักธุรกิจบนเตียงครั้งแรก เขาให้เหตุผลว่าทำใจได้เร็วเพราะรู้สึกว่าไม่อยากเสียเวลากับเรื่องที่ผ่านไปแล้วซึ่งเป็นอดีตที่แก้ไขไม่ได้ คนเราต้องมองไปข้างหน้า และถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำงานอาจทำให้ต้องรู้สึกว่าเป็นคนทุพพลภาพถาวรจริงๆ “คืนแรกที่รู้ ผมขอให้แม่กอดผม ตื่นขึ้นมาก็คิดว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต นิ่งๆ ไป 2 วัน พอวันที่ 3 ตั้งแต่ยังไม่กลับบ้าน ผมก็เริ่มงานเลย..” ปรีดา เล่าว่า ธุรกิจแรกในชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนพิการเลย ช่วงแรกๆ แทบจะปิดเป็นความลับด้วยว่าผู้บริหารตัวจริงกำลังทำงานตัวเป็นเกลียวอยู่บนเตียง เพราะกลัวว่าถ้าบอกไปแล้วจะไม่ได้งาน ยุคนั้นงานรับติดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณมือถือและการสื่อสารโทรคมนาคมกำลังบูมมาก เลยมองเห็นดีมานด์ บวกกับพอจะมีพื้นฐานทางบ้านค้าขายอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่แล้ว เลยเริ่มต้นตั้งบริษัทเข้าไปเป็นซับคอนแทรครับช่วงเหมางานติดตั้งจากบริษัทใหญ่ๆ ปรีดาส่งน้องสาวเป็นตัวแทนออกไปพบลูกค้า ดึงญาติพี่น้องมาช่วยคุมงาน ส่วนตัวเองคอยทำหน้าที่เป็นเซ็นเตอร์บริหารจัดการ คิดวางแผน เขียน Proposal เสนองาน ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ รวมไปถึงตรวจตราและแก้ปัญหาไซต์งานติดตั้งที่ลูกน้องส่งอีเมล์ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ช่วงปี 2547-2548 เป็น 3 ปีที่พีคสุดๆ ของธุรกิจ งานเยอะมากจนปรีดาต้องมีเลขาฯ 2 คน เคยมีลูกน้องมากสุดถึง 45 คน ทำเงินได้ปีละหลายสิบล้าน เข้าไปติดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณมือถือนับร้อยอาคารทุพพลภาพมืออาชีพ แต่ความสำเร็จรวดเร็วมักจะอยู่ได้ไม่นาน ธุรกิจที่เคยคิดว่าจะไปรุ่งจึงจบลงในอีกไม่กี่ปีต่อมา เพราะมัวแต่ลุยงานไปข้างหน้า กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนขยายงาน จนลืมความเสี่ยงทางธุรกิจ โดนเบี้ยวไม่จ่ายตังค์ ตลาดเริ่มชะลอตัว กลายเป็นบทเรียนธุรกิจราคาแพงที่ลงเอยด้วยหนี้สินพัลวันร่วมๆสิบล้าน รถทั้งหมด 5 คันโดยยึด “ตอนนั้นไม่ท้อ แต่คิดอย่างเดียวจะเอายังไงจะแก้ปัญหายังไง มีเจ้าหนี้มาทวงหนี้ทุกวัน ยอมทนโดนด่า ใครอารมณ์เสียอยากโทรมาด่าผมรับสายหมด ไม่หนี อันดับแรกเลยที่ผมทำคือจัดสรรหนี้ก่อน ทำหนังสือชี้แจงผ่อนผันขอพักชำระหนี้กับเจ้าหนี้ว่าเรามีมูลหนี้เท่าไหร่แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องพักงานจะขอโอกาสหาเงินมาทยอยคืนวันหลัง” ถึงจะต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้งแบบ“ทุนติดลบ”แต่ใจเกินร้อย เขาเลือกมองโลกในด้านดีว่า คนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านจุดต่ำสุดไปให้ได้ก่อน ไม่มีใครให้กำลังใจได้ดีที่สุดเท่ากับตัวของเราเอง ปรีดามองว่าพื้นฐานความเป็นคนชอบแก้ปัญหามาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขาไม่ได้มองปัญหาว่ามีไว้ให้ทุกข์ แต่มีไว้ให้แก้ บทเรียนหนี้ราคาแพงทั้งหนี้ธนาคาร หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ทำให้โจทย์การเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่ของผู้ประกอบการบนเตียงจะต้องไม่ใช้เงินลงทุนสูง เน้นใช้ทุนความคิด และเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องมีลูกน้อง “เมื่อ 5 ปีผมต้องกลับนั่งคิดว่าจะทำอาชีพอะไรดี ยึดหลักว่าเราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่มีดีมานด์สูงๆ ซึ่งหนีไม่พ้นไอทีกับอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นผมฝึกวิทยายุทธ์เหมือนหนังจีนเลย ไปเข้าคอร์สอบรมที่ต่างๆ 8 เดือนเต็ม ไปแบบบ้าเลย อยากรู้เรื่องบล็อก เรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ค เรื่องอะไรผมไปเรียนหมด เป็นคนพิการที่นั่งเรียนร่วมกับคนทั่วไป กลับบ้านมาก็นั่งเล่นอินเตอร์เน็ต ศึกษาจากเมืองนอกบ้าง ระหว่างนั้นก็เริ่มเขียนบล็อกด้วยเป็นหลัก” วิธีเข้าถึงโลกออนไลน์ของเจ้าของนิ้วที่ไร้เรี่ยวแรงทั้งสิบ และมือขวาที่มีแรงน้อยๆ ไม่ได้มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษอะไร แค่โน้ตบุ๊คธรรมดาๆ 1 เครื่องที่เจ้าตัวใช้วิธีส่งข้อมือเลื่อนบนแป้นแล้วใช้จิ้มดีดทีละตัวอย่างว่องไว เริ่มฝึกด้วยการเขียนบล็อกทุกวัน บล็อกแรกเขียนแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์และแง่คิดการดำเนินชีวิตของหนุ่มพิการกายแต่ไม่พิการใจ เป็นงานที่ไม่เกิดรายได้ แต่เจ้าตัวบอกว่าแค่ทำให้คนๆ เดียวมาอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจนั่นก็คุ้มค่าแล้ว ถึงตอนนี้เลยพิมพ์มาเรื่อยๆ 82 ตอนติดต่อกันแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอื่นๆให้ติดตามมากมายถึง 70 บล็อค หลายเรื่องราวอ่านแล้วสร้างกำลังใจ ชวนให้อมยิ้ม ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในอดีต ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกคน ,ความรู้เล็กๆ น้อยๆ เรื่อง "แก้ไขเครดิตบูโร" , Mailbox จดหมายที่ปรีดาอยากส่งถึง , บล็อก Preeda Prayer แบ่งปันบทสวดมนต์ ,เทคนิคสร้างบล็อคเขียนบล็อคด้วยตัวเอง,ความรู้และสิทธิของคนพิการ เข้าไปดูกันได้ที่ http://preedastation.blogspot.com ขณะที่ไอเดียความเป็นนักคิดนักขายและความถนัดในการเขียนและนำงานโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ปรีดาสนใจหันมาจับด้านการตลาดออนไลน์ และเริ่มเข้าสู่การทำงานในแวดวงผู้พิการ ทั้งบทบาทงานด้านธุรกิจ งานด้านสังคม งานการกุศลมากมาย ตัวอย่างเช่น โครงการดาวน์โหลดภาพวาดฝีมือคนพิการ สร้างรายได้ , โครงการฝึกอบรมด้านไอทีร่วมกับ TK Park ให้กับคนพิการ และนักเรียน นักศึกษา, โครงการ “Disability Status Map for Thailand” หรือแผนที่ประชากรคนพิการทั่วประเทศ ร่วมกับอ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์,โครงการจัดแสดงผลงานภาพวาดกาแฟโดยคนพิการเพื่อการกุศล และอื่นอีกๆ มากมาย อีกหนึ่งโปรเจคด้านธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักเขา น่าจะเป็นโครงการเทเลเซลส์โดยคนพิการที่ร่วมกับฮัทช์เมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดคือร่วมกับเครือเนชั่น โดยมีผู้พิการเป็นเทเลเซลส์ขายบริการรับข้อมูลข่าวผ่านระบบมือถือ นอกจากภาพลักษณ์ด้านซีเอสอาร์ คือ อัตราเปอร์เซ็นต์ผลลัพธ์ตอบกลับที่น่าพอใจ หากจะถามว่ามองอย่างไรกับการใช้ความพิการมาเป็นจุดขาย ก็ต้องยอมรับว่าใช่ สำหรับก้าวของการเริ่มต้นเพื่อเปิดพื้นที่ทางโอกาส และสร้างการยอมรับในความสามารถของคนพิการ ถึงตอนนี้นักขายทางโทรศัพท์คนพิการบางคนเริ่มจะเป็น“มืออาชีพ”จนมั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องใช้ความพิการเพื่อจุดขายเรียกความสงสารเห็นใจ เขาก็ทำได้ ขายได้ เหมือนกัน ขณะที่บางคนก็พอใจที่ใช้ความพิการเป็นจุดขายอยู่ เพราะพอใจกับเปอร์เซ็นต์ตอบรับที่มีผลต่อรายได้ “ผมว่าในช่วงเริ่มต้น ความพิการมีส่วนในการทำการตลาด เพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ พัฒนาไปสู่ช่วงที่สอง คือ ยอมรับว่าคนพิการก็มีความสามารถ พัฒนาไปสู่ช่วงที่ 3 คือ ความสามารถของคนพิการไม่ได้ด้อยไปกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นคุณควรให้โอกาสจ้างงานเขาเหมือนคนปกติเช่นกัน” ปัจจุบัน ปรีดาเลือกที่จะทำธุรกิจในรูปแบบรวมกันเฉพาะกิจเป็นโปรเจคๆ ไม่ต้องมีออฟฟิศ ไม่มีพนักงานประจำ ต่างคนต่างทำงานที่บ้านตัวเอง ใช้การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ และจ่ายค่าตอบแทนแบบคอมมิชชั่น มุมมองในการทำธุรกิจของปรีดา ยังเปลี่ยนมาสู่การทำธุรกิจแบบ Social Enterpise หรือผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว ผ่านบริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเขามีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นธุรกิจโดยคนพิการเพื่อคนพิการที่ได้ไม่เน้นหวังผลที่กำไรสูงสุด แต่เป็นสนามสำหรับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสใหม่ๆผลิตบุคลากรคนพิการ “มืออาชีพ” หลายคนเมื่อผ่านงานเทเลเซลส์ที่นี่จนเป็นมืออาชีพแล้ว ก็สามารถออกไปทำงานกับบริษัทที่มีความมั่นคง มีเงินเดือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทนี้ยังทำธุรกิจด้านดาวน์โหลดภาพวาดคนพิการด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกบริษัทที่ทำร่วมกับหุ้นส่วนชื่อ“พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย”ทำด้านการตลาดทุกรูปแบบให้กับสินค้าหัตถกรรม และศิลปะของคนพิการ เช่น ป็อปอัพการ์ด 3 มิติ , งานปั้นดอกไม้จากดินญี่ปุ่นติดตู้เย็น ภายใต้แบรนด์ By Heart “ สมัยก่อนผมเคยคิดว่าต้องรวยก่อนถึงจะช่วยคนอื่นได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ต้องรอให้รวยก็ทำได้ ทำให้สนใจอยากทำธุรกิจแบบ Social Enterpise ผมเห็นคนพิการหลายคนที่มีความมุ่งมั่น มีศักยภาพ กระหายที่อยากจะทำงาน อยากมีรายได้ที่ดีขึ้น ที่มาของชื่อบริษัทพีดับบลิวดี เป็นตัวย่อมาจากคำว่า Person With Disabilities โลโก้ของเราคือคนนั่งทำงานกับโน้ตบุ๊คบนรถเข็น อยากสื่อให้สังคมว่าสมัยนี้แค่มีโน้ตบุ๊ค ก็ทำงานได้” วันนี้ถึงจะเริ่มพอตั้งหลักชีวิตได้แล้ว แต่ยังไม่พอสำหรับปลดหนี้ หากเป็นไปได้มืออาชีพธุรกิจบนเตียงคนนี้ตั้งใจไว้ว่าอยากจะเคลียร์หนี้สินอีก 7 ล้านให้หมดเร็วที่สุดในอีก 2 ปี เพื่อจะได้ออกไปเดินทางท่องเที่ยวหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อีกหนึ่งเป้าหมายของชีวิตที่วางไว้ ปรีดาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีถามเขาว่า ถ้ามีเรื่องวิเศษเกิดขึ้นในชีวิตอยากขอให้ตัวเองเดินได้ไหม “ผมคิดว่าความพิการรุนแรงที่ผมได้รับ มันทำให้ผมได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่และน่าจะเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จที่ทำให้ผมมีโอกาสได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆด้วย จะว่าไปแล้ว จริงๆ ผมไม่เคยคิดว่าผมพิการเลย อาจเพราะงานเยอะมากจนไม่มีเวลามานั่งคิดทุกข์ใจเรื่องเหล่านี้ ” เป็น 10 ปีของชีวิตบนเตียงที่ไม่หยุดนิ่งเพราะความคิดอิสระที่ไร้ข้อจำกัดของหนุ่มทุพพลภาพมืออาชีพที่ชื่อปรีดาbangkokbiznews.com/...tyle/20110418/386662/news.html
INSURANCETHAI.NET