เครียดงาน (Work stress)
405

เครียดงาน (Work stress)

เครียดงาน (Work stress) !! เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในเวชปฏิบัติครอบครัว แต่เมื่อแพทย์บอกผู้ป่วยว่าอาการต่างๆนั้นมีสาเหตุมาจากความเครียด มีน้อยคนมากที่จะยอมรับว่าเกิดขึ้นกับตนและรีบบอกปัดว่า "เปล่านะ ฉันไม่ได้คิดไปเอง" ทั้งนี้เพราะความหมายเชิงลบ นัยว่าเป็นความอ่อนแอที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำงานของตนเองได้ ผู้ป่วยหลายคนจึงบอกว่าตนไม่เครียด มีการศึกษามากมายที่พบว่าเครียดจากงานมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกายและใจ อาการทางกายต่างๆ ได้แก่ ปวดเกร็งตามกล้ามเนื้อ ตั้งแต่ศีรษะ คอ ไหล่ หลัง ใจสั่น แน่นแปลบที่หน้าอก ปวดไปทั้งตัว ปวดแสบร้อนท้อง ลมในท้อง รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สดชื่น มึนงง เบื่อหน่าย ถอนหายใจหรือเรอบ่อยๆ ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้

กรณีศึกษา
ชายอายุ 45 ปี โสด อาชีพวิศวกร ตำแหน่งผู้บริหารองค์กร.
อาการสำคัญ
มึนศีรษะมานาน 4 เดือน เป็นมากขึ้นใน 1 สัปดาห์.
ประวัติปัจจุบัน
4 เดือนก่อน มึนศีรษะช่วงตอนเย็น ไม่ปวด สายตาปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ถ้านอนแล้วอาการดีขึ้น. ช่วง 4 เดือนมานี้นอนไม่หลับเพราะคิดเรื่องงาน ทำงานเป็นวิศวกรมา 20 ปี แต่ 2 ปีก่อนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารขององค์กร และถูกส่งให้ไปเรียนเพิ่มเติมทางบริหาร ซึ่งผลการเรียนออกมาอยู่ในระดับดีมาก

เมื่อมาทำงานจริงกลับมีปัญหา เพราะปริมาณงานที่มากขึ้น และแต่ละงานต้องเร่งรัดให้ทันกำหนด แม้กระนั้นงานก็ยังเสร็จไม่ทันทั้งหมด รู้สึกกดดันและรู้สึกว่าตนทำไม่ได้ คิดว่าไม่ถนัดกับงานนี้ แม้ว่าผลงานที่ทำทันจะสำเร็จด้วยดีก็ตาม อยากกลับไปทำงาน ด้านวิศวกรรมเหมือนเดิม แต่เจ้านายเห็นว่าตนมีความสามารถ จึงต้องทำงานบริหารต่อทั้งๆ ที่ใจไม่อยากทำ.

การตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจร่างกายทุกระบบรวมทั้งระบบประสาทไม่พบความผิดปกติ สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมึนศีรษะ (Dizziness) ได้มากที่สุดจึงน่าจะเป็นความเครียดจากงาน และการนอนไม่หลับเรื้อรัง.
การรักษาทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักจบลง ด้วยการสั่งยาคลายเครียด ยาแก้อาการมึนงง ยา นอนหลับ ซึ่งอาจได้ผลชั่วคราว เมื่อยาหมดซอง ผู้ป่วยก็มักจะกลับมาใหม่.

แนวทางการรักษาโรคเครียดจากงาน (Work stress)
แบ่งออกเป็น 2 วิธีได้แก่
1. หาวิธีคลายเครียด (Supportive) การแก้ความเครียดชั่วคราว แก้อาการประเดี๋ยวประด๋าว ได้แก่ การเบี่ยงเบนความสนใจตนเองด้วยการกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ กินอาหารอร่อยๆ ไปนวด ออกกำลังกาย หรือใช้สารเสพติด เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ วิธีเหล่านี้ทำได้ง่าย ได้ผลค่อนข้างเร็ว แต่กลับมาเครียดใหม่ได้บ่อยๆ เพราะเป็นการหลีกหนีปัญหาไปชั่วคราว.

2. หาจุดกำเนิดความเครียด (Specific) การแก้ความเครียดที่สาเหตุ ด้วยการทำความเข้าใจต้นตอแห่งความเครียด คือ ความคิดต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้เครียดเพราะความคิดของตนเอง ว่าตนไม่อยากทำงานที่กำลังถูกบังคับ จึงทำงานแบบไม่เต็มใจ ต่อต้านในใจ และระแวดระวังความผิดพลาดจนไม่มีความสุขในงาน. บางคนต้องย้ายงานหรือเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพื่อหลีกหนีความเครียดเหล่านี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา.

การเริ่มต้นช่วยเหลือผู้ป่วย
หลังจากซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าไม่มีสาเหตุโรคร้ายแรงทางกายอื่นแอบแฝงอยู่ด้วย ควรใช้เวลาพูดคุยเพื่อทำให้ผู้ป่วยค่อยๆนึกทบทวนถึงเหตุการณ์รายละเอียดต่างๆก่อนเกิดอาการ ไม่สบาย (ให้ใช้คำตรงๆว่า "ไม่สบาย" มากกว่าคำว่า "เครียด" เพราะผู้ป่วยจะไม่ต่อต้านมากนักว่าหมอสรุปสาเหตุความเจ็บป่วยไปแล้ว).

ผู้ป่วยเริ่มเล่าและวิเคราะห์สถานการณ์ของตนเอง โดยคิดเหมือนกันว่าอาการต่างๆอาจเป็นเพราะเครียดจากงาน เนื่องจากสังเกตว่าอาการมึนศีรษะมักเป็นระหว่างหรือหลังการทำงาน แต่ถ้าได้พักผ่อนมักจะดีขึ้น ตื่นนอนตอนเช้าจะไม่มีอาการ แต่พอเริ่มทำงาน หรือหลังทำงานเสร็จมักจะมีอาการ ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันพักผ่อนมักจะไม่มีอาการ บวกกับเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้นจากที่แข็งแรงดีมาตลอด จึงเกิดความ กลัวว่าจะเป็นอันตรายร้ายแรง กลัวมากจนกระทั่งนอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายแย่ลงไปอีก (ผู้ป่วยค่อยๆลำดับเหตุการณ์ ความคิด และพยานหลักฐานในความคิดนั้นๆออกมาเอง เป็นการบอกเล่าให้หมอและตนเองฟังด้วย ซึ่งจะดีกว่าการที่หมอพยายามบีบบังคับให้เขาเชื่อว่าเขาเป็นโรคเครียด).

การเจาะใจด้วยจิตบำบัดแบบซาเทียรŒ
หลังจากเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยลำดับเหตุการณ์และคิดดังๆให้แพทย์ฟังแล้วถึงสมมติฐานการเกิดโรคในตัวเขา ให้ผู้ป่วยมีโอกาสคิดที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดรอบๆตัวตนเองก่อน แล้วจึงช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าใจที่รากเหง้าของความเครียดของตนเองที่ว่าเกิดจากงาน ซึ่งเกิดมาจากความคิด ความต้องการ และความปรารถนาลึกๆของตนเองในงานนั้นๆ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะขอแนะนำวิธีแบบเจาะลึก เจาะใจ ที่เรียกว่า จิตบำบัดแบบซาเทีย (Satir model of psychotherapy).

หลักการจิตบำบัดแบบซาเทียร์
Virginia Satir เป็นนักจิตบำบัดที่มีชื่อเสียงของอเมริกา ได้เปรียบเทียบว่า พฤติกรรมคน (Behaviour) เหมือนกับยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ (Tip of Iceberg) แสดงออกให้คนอื่นเห็น มีที่มาจากชั้นต่างๆของจิตใจที่มีรากเหง้ามหึมาหลบซ่อนอยู่ใต้ท้องน้ำ ซึ่งเรียงกันลงไปจากส่วนตื้นที่สุด (ผิวน้ำ) สู่ส่วนที่ลึกที่สุด (ใต้น้ำ) มี 6 ชั้น
ดังภาพ The Personal Iceberg Metaphor (ภาพที่ 1)1 ได้แก่
1. การปรับตัว (Coping or stance).
2. ความรู้สึก (Feelings).
3. การรับรู้ หรือ การให้ความหมายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Perceptions).
4. ความคาดหวัง (Expectations).
5. ความปรารถนาลึกๆ (Yearnings).
6. ตัวตนที่แท้จริง (the Self).


แพทย์พูดคุยชักชวนให้ผู้ป่วยคิดลึกลงไปเรื่อยๆ ถึงเรื่องที่เขาคิดว่าเป็นปัญหามากที่สุด ไล่ลงตามลำดับชั้นส่วนต่างๆของจิตใจ เช่น

"ที่คุณต้องทำงานเยอะแยะมากมายไปหมดจนทำไม่ทัน (Behaviour) มันเกิดเพราะอะไร (Coping)
และทำให้คุณรู้สึกยังไง (Feeling)
ทำไมคุณถึงรู้สึกอย่างนั้น (Perception)
คุณคิดว่าคุณไม่ถนัดเรื่องนี้ อยากทำอย่างอื่น มากกว่า คุณอยากทำอะไร ทำไมอยากทำอย่างนั้น (Expectation)
จริงๆแล้วลึกๆลงไปคุณอยากได้อะไรกันแน่ (Yearning)
ตัวตนของคุณที่แท้จริงเป็นคนอย่างไร (Self)".

ภาพที่ 1. The Personal Iceberg Metaphor.
http://doctor.or.th/sites/default/files/1_130.jpg">
การวิเคราะห์ผู้ป่วยรายนี้ด้วย Satir model
Behavior : - พยายามเร่งทำงานตามที่นายมอบหมาย แต่งานเยอะจนดูเหมือนทำอะไรไม่ทัน จึงออกอาการหงุดหงิดง่าย โกรธ ดุด่าว่ากล่าวลูกน้อง.

Coping, stance : ใช้วิธีการว่าไปที่คนอื่น (blame) เช่น ดุด่าลูกน้อง, โทษเจ้านายว่าโยนงานที่ไม่ชอบมาให้

Feelings : เครียด กดดัน โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจอารมณ์เหล่านี้ของตนเอง.

Perceptions :
- ต่อตนเอง คิดว่าตนเป็นคนเก่งเฉพาะงานด้านวิศวกรรม ไม่ใช่งานบริหาร.
คิดว่าเป็นคนละเอียด สมบูรณ์แบบ ทำอะไรต้องไม่มีผิดพลาด.
คิดว่าการต้องทำงานให้สมบูรณ์แบบ ทำให้งานล่าช้ากว่าปกติ.
คิดว่าตนจะยิ่งรู้สึกกดดันมากขึ้นหากนายมาเร่งงานให้เสร็จไวๆ.
- ต่อคนอื่น คิดว่านายไม่เข้าใจ บีบบังคับ.
คิดว่าลูกน้องทำงานไม่รอบคอบ มีข้อผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ.

Expectations :
- ต่อตนเอง อยากให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ.
อยากทำงานเป็นวิศวกรเหมือนเดิม จะได้ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม.
- ต่อคนอื่น ไม่อยากให้มาเร่งงาน เพราะถ้ารีบมากอาจจะมีข้อผิดพลาดที่ตนรับไม่ได้.
อยากให้คนอื่นชื่นชมว่างานของตนออกมาดี.
อยากให้ลดปริมาณงานที่ไม่ถนัดลง ทำแต่งานที่ตนชำนาญ จะได้ไม่พลาด.

Yearnings : ต้องการการยอมรับ ความชื่นชม ความสำเร็จในงาน ความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ต่างๆรอบตัวได้.

Self : ตัวตนของตัวเองขึ้นอยู่กับการยอมรับจากคนอื่น เมื่อมีคนไม่ยอมรับ self ของตนจึงอ่อนแอลง เพราะตนไม่ได้ยอมรับตนเองจากภายใน แต่รอการยอมรับจากภายนอก (คนอื่น).

เป้าหมายหลักของจิตบำบัดแบบซาเทียรŒ
1. ให้ผู้ป่วยยอมรับและภูมิใจในตนเองมากขึ้น ในรากเหง้าของความเครียดที่เริ่มมาจากต้นตอของความคิดดี ความคาดหวังในสิ่งดี ความปรารถนาในการทำดีของตนเอง.
2. ให้ผู้ป่วยตระหนักว่าไม่ได้มีทางเลือกแค่ทางเดียวสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ "ความปรารถนาลึกๆ" ของตนเอง เมื่อมีสติ คิดเป็น จึงจะเห็นทางเลือกอื่นให้กับตัวเองได้.
3. ให้ผู้ป่วยรับผิดชอบต่ออารมณ์ของตัวเอง เช่น หมกมุ่นอยู่กับความไม่พอใจ ความโกรธ เพราะตัวเอง เป็นคนอนุญาตให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาเอง และยังยอมจมอยู่กับมัน เพราะอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ คาดหวังในสิ่งที่อาจจะหวังไม่ได้ แล้วก็พาลมาโกรธโทษโน่นโทษนี่ คิดเองเออเอง ให้ใจไม่เป็นสุขเอง ถ้ายังอยากจะคิดอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่าจะจมอยู่ในห้วงความรู้สึกแบบนั้น.
4. ให้ผู้ป่วยมองภาพต่างๆรอบตัวสอดคล้อง เป็นเรื่องเดียวกันมากขึ้น ว่ามนุษย์มีความปรารถนาลึกๆบางอย่างที่ก่อให้เกิดความอยากได้ ความคาดหวัง ก่อให้เกิดการตีความเมื่อไม่ได้หรือผิดจากที่หวังไว้ จากนั้นจึงเกิดทุกข์ ความรู้สึกที่ไม่สุขสบาย แล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมให้คนอื่นเห็นในที่สุด.

บทสรุป
งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในงาน จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย จนเกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เมื่อมีอาการผิดปกติทางกาย ก็จะทำให้เกิดความกลัวป่วย ไม่กล้าทำงานเต็มที่ เช่น ไม่กล้าเดินทางไปต่างจังหวัด เกิดผลกระทบต่องานและสังคมต่อไปเรื่อยๆ เกิดเป็นวงจรของความเครียดจากงาน เมื่อพูดว่าเครียดจาก งาน หลายคนอาจถอนใจว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะถึง อย่างไรก็ต้อง "ทน" เครียดต่อไป เพราะต้องทำงาน.

ในเมื่อสุขภาพเป็นสภาวะที่สัมพันธ์กันไปหมด ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม การงาน สิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ การมีสุขภาพดีจึงขึ้นอยู่กับมนุษย์ว่าจะใช้ชีวิตและตีความกับการใช้ชีวิตนั้นๆอย่างไร ในสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะรอบตัวมนุษย์แต่เกิดกับจิตใจชั้นต่างๆของมนุษย์ด้วย มนุษย์จึงต้องมีสติในการปรับกระบวนการคิด และการกระทำอยู่เสมอๆ เพื่อให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ.

ความเครียดจากงานจึงเป็นสิ่งที่แก้ไขได้หากมีสติ การแก้ไขไม่ใช่ "ไม่คิด" แต่กลับต้อง "คิดให้ลึกขึ้น" ให้เข้าใจถ่องแท้ว่า จริงๆแล้วเราเครียดเรื่องอะไรและทำไมถึงเครียด เราอยากได้อะไรกันแน่ เมื่อเข้าใจก็จะหายเครียดและปรับตัวได้ใหม่กับชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไป งานเป็นเพียงตัวกระตุ้น ไม่ใช่สาเหตุของความเครียด แต่เครียดที่แท้เกิดจากใจเราเองที่...คิดไม่เป็น.



INSURANCETHAI.NET
Line+