มอร์ฟีน (Morphine) แบบน้ำ , มอร์ฟีน (Morphine) แบบเม็ด , การใช้มอร์ฟีนบรรเทาปวด
430
มอร์ฟีน (Morphine) แบบน้ำ , มอร์ฟีน (Morphine) แบบเม็ด , การใช้มอร์ฟีนบรรเทาปวด
Morphine tablet หรือ Morphine oral solution / Morphine syrup
มอร์ฟีนชนิดเม็ด หรือยาน้ำมอร์ฟีน/มอร์ฟีนไซรัป
คุณสมบัติทางเภสัชวิทยา
เภสัชพลศาสตร์
morphine เป็นยาในกลุ่ม opioid agonist ออกฤทธิ์โดยจับกับ mu (µ) receptors เป็นหลัก ที่บริเวณสมองและไขสันหลัง มีผลบรรเทาอาการปวด และ ทำให้เกิดอารมณ์เคลิ้มสุขได้
เภสัชจลนศาสตร์
ยาถูกดูดซึมได้ในทางเดินอาหาร ความเข้มข้นของยาในพลาสมาจะสูงสุดหลังรับประทานยาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ยา morphine จับกับโปรตีนในพลาสมาประมาณ ร้อยละ 20-35 มีค่า half-life ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ยาถูกแปลงสภาพที่ตับผ่านกระบวนการ glucuronidation ได้ metabolite คือ morphine-6-glucuronide ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่า morphine และขับออกทางไต
สรรพคุณหรือข้อบ่งใช้
บรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง
ขนาดการใช้และวิธีการใช้
ผู้ใหญ่
ใช้ยาตามแพทย์สั่งโดยปรับขนาดยาตามความรุนแรงของอาการปวดและตามการตอบสนองของผู้ป่วย โดยเริ่มต้นด้วยขนาด 10-30 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง
เด็ก
ใช้ยาตามแพทย์สั่งโดยปรับขนาดยาตามความรุนแรงของอาการปวดหรือขึ้นกับอายุและขนาดตัวของเด็ก ควรมีการปรับขนาดยาอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการได้รับยาเกินขนาดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
คำเตือนและข้อควรระวัง การใช้มอร์ฟีน
1. ระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ ในกรณี
1.1 สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร ทารก เด็ก ผู้สูงอายุ
1.2 ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคที่ระบบทางเดินหายใจทำงานบกพร่อง โรคต่อมไทรอยด์ โรคต่อมหมวกไต โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคลมชัก โรคทางจิตเวช เช่น โรคจิต โรคอารมณ์ซึมเศร้า เป็นต้น
1.3 ผู้มีประวัติการติดยาหรือสารเสพติด
2. ระมัดระวังการใช้ ในกรณี
2.1 ผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม opioids
2.2 ใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง
3. อาจทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย
4. อาจทำให้ความดันเลือดต่ำ กดการหายใจ หัวใจเต้นช้าลง หรือหัวใจหยุดเต้น (asystole)
5. อาจทำให้เกิดผื่น คัน ซึมเศร้า อารมณ์ละเหี่ย (dysphoria)
6. หากใช้ติดต่อกันนานอาจทำให้ดื้อยาและเสพติดได้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน นอกจากแพทย์สั่ง หากใช้เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้
7. อาจเพิ่มความดันของน้ำไขสันหลัง
8. อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็งผิดปกติได้
ข้อห้ามใช้
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
2. ห้ามดื่มสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ในระหว่างการใช้ยานี้
3. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะกดการหายใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจบกพร่องอย่างรุนแรง หืดหลอดลม (bronchial asthma)
4. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะ และ/หรือ ในช่องไขสันหลังสูง
5. ห้ามใช้ในผู้ป่วยลำไส้ไม่ทำงาน (paralytic ileus)
6. ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่มีสาเหตุจากโรคปอดเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
7. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการสั่นเพ้อเหตุขาดสุรา (delirium tremens)
8. ห้ามใช้ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดระบบทางเดินน้ำดี หรือผู้ป่วยที่คาดว่าจะต้องได้รับการผ่าตัดช่องท้อง
หมายเหตุ : ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา หากให้ยานี้ร่วมกับ
1. แอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น barbiturates, benzodiazepines, antipsychotics, antidepressants และ sedating antihistamines เพราะจะเสริมฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง กดการหายใจ และความดันเลือดลดต่ำลงได้
2. ยากลุ่ม anticholinergics หรือยาอื่นที่มีฤทธิ์ anticholinergic เช่น belladonna, scopolamine, disopyramide และ orphenadrine เป็นต้น เนื่องจากอาการข้างเคียงจากยา morphine จะเพิ่มขึ้น เกิดอาการท้องผูกรุนแรงขึ้น ลำไส้ไม่ทำงาน และเกิดปัสสาวะคั่งได้
3. ยาลดความดันเลือด เช่น กลุ่ม diuretics เป็นต้น เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดภาวะ orthostatic hypotension ได้
4. prokinetic drugs เพราะ morphine อาจทำให้เกิดการต้านฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ ในการเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้
5. ยาแก้ปวดตัวอื่นในกลุ่ม opioid agonists หรือ opioid partial agonists ร่วมกันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เพราะอาจส่งผลทำให้กดระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น กดการหายใจ และความดันเลือดลดต่ำลงได้
7. ยาแก้ปวดในกลุ่ม mixed agonist-antagonists เช่น pentazocine, nalbuphine เนื่องจากยากลุ่มนี้จะต้านฤทธิ์แก้ปวดของ morphine
8. zidovudine เนื่องจาก morphine จะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการ glucuronidation ที่ตับ และลดการกำจัดออกของ zidovudine จึงอาจทำให้เกิดพิษของยา zidovudine ได้
9. lidocaine เพราะอาจเสริมฤทธิ์กดการหายใจหรือสูญเสียการรับรู้ของ morphine
10. enzyme inducers เช่น rifampin, phenytoin เพราะทำให้ฤทธิ์แก้ปวดลดลง
อาการไม่พึงประสงค์ การใช้มอร์ฟีน
ระบบประสาท
ง่วงซึม เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง สับสน สงบระงับ สั่น ภาวะวิตกกังวล อารมณ์เปลี่ยนแปลง เกิดความฝันผิดปกติ ความคิดผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ท่าเดินผิดปกติ กระวนกระวาย ภาวะเสียความจำ ภาวะเคลิ้มสุข เห็นภาพหลอน ชัก โคม่า ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น อาจเกิดภาวะ hyperalgesia ถ้าใช้ยาในขนาดสูง
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาจเกิดอาการหน้าแดง แน่นหน้าอก อ่อนเพลียจนรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้า
ระบบหายใจ
สะอึก เสียงเปลี่ยน กล่องเสียงหดเกร็ง อาการหายใจลำบาก ภาวะกดการหายใจ หยุดหายใจ
ระบบทางเดินอาหาร
กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง ไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท่อน้ำดีหดเกร็ง
การเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น ลำไส้อุดตัน (pseudo-obstruction) ผลทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานของตับผิดปกติ
ระบบทางเดินปัสสาวะ
ปัสสาวะคั่ง ถ่ายปัสสาวะลำบาก ภาวะปัสสาวะน้อย หูรูดกระเพาะปัสสาวะหดเกร็ง ท่อไตหดเกร็ง ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
กล้ามเนื้อหดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก
ผิวหนังและปฏิกิริยาแพ้
ผิวหนังแห้ง ผื่นขึ้น มีอาการคัน ลมพิษ มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
ตา
อาการตากระตุก รูม่านตาหด การเห็นภาพซ้อน
อาการแสดง
ง่วงซึม รูม่านตาหดเล็ก เวียนศีรษะ มึนงง สับสน กังวล ชัก ไม่รู้สึกตัว ผิวหนังเย็นชื้น เป็นไข้ ความดันเลือดต่ำ จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลง หายใจช้าและลึกหรือหยุดหายใจ
การรักษา
ลดการดูดซึมยา โดยทำให้อาเจียน หรือให้การล้างท้อง
ให้การรักษาตามอาการร่วมกับให้ specific antidote โดยให้สารต้านฤทธิ์ opioid ได้แก่ naloxone ทางหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเนื่องจาก naloxone มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้น ควรเฝ้าระวังการหายใจ ชีพจร และความดันเลือดของผู้ป่วย
INSURANCETHAI.NET