มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์
449

มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์

มหิดลพบวิธีกำจัดแผลคีลอยด์

บัณฑิตปริญญาโทมหิดล พบเทคนิคใหม่กำจัดแผลเป็นชนิดปูดโปน หรือที่เรียกกันว่าแผลคีลอยด์ได้สำเร็จ ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุกรรม

นส.พันธกานต์ ทิศอุ่น บัณฑิตปริญญาโท สาขาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พัฒนาเทคนิคใหม่รักษาแผลเป็นรอยนูน (คีลอยด์) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ โดยรอยแผลเป็นดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขด้วยการผ่าตัด และยิ่งผ่าตัดยิ่งขยายรอยแผลให้ใหญ่ขึ้น

แผลคีลอยด์ คือแผลเป็นที่มีเนื้อมาปิดบาดแผลมากเกินไป ทำให้แผลเป็นมีลักษณะปูดโปนเป็นก้อนนูนแข็งขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นทั่วไป เป็นผลจากคลอลาเจนสร้างเซลล์เส้นใยมากผิดปกติ การเกิดแผลลักษณะ ดังกล่าวได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ตลอดจนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมักพบภายหลังการผ่าตัด เช่น หลังผ่าตัดไส้ติ่ง หลังผ่าตัดคลอดลูก หลังผ่าตัดช่องท้อง ผู้ที่เป็นแผลคีลอยด์จะเกิดอาการเจ็บๆ คันๆ

"วิธีการรักษาแผลคีลอยด์โดยทั่วไป แพทย์จะผ่าตัดบาดแผลเอาชิ้นเนื้อคีลอยด์ออก แต่ยิ่งตัดก็ยิ่งปูดโปนออกมา จึงไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต้นตอ ส่วนการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์อาจส่งผลอันตรายต่ออวัยวะอื่น" นักวิจัยกล่าว

ทีมวิจัยได้ประยุกต์เทคนิคการแทรกแซงอาร์เอ็นเอ (RNAi) ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมการแสดงออก หรือยับยั้งความผิดปกติของเซลล์ในระดับยีน โดยสร้างอาร์เอ็นเอสายคู่นำเข้าสู่เซลล์ เพื่อทำปฏิกิริยาชักนำให้เกิดการสลาย หรือยับยั้งการแสดงออกของยีนที่ผิดปกติ โดยมุ่งเป้าไปที่โปรตีนผลิตคอลลาเจนที่ผิดปกติ จนสร้างให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์

จากการทดลองร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ โดยนำชิ้นเนื้อแผลคีลอยด์มา เพาะเลี้ยงจนเกิดการสร้างเส้นใย แล้วสร้างอาร์เอ็นเอสายคู่ที่มีความจำเพาะกับคอลลาเจนนำไปทดสอบ พบสามารถสลายยีนได้จำเพาะเจาะจง โดยระดับการอยู่รอดของเซลล์สร้างเส้นใยคอลลาเจน ลดต่ำลง 70-80% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เทคนิคแทรกแซงอาร์เอ็นเอ

"เทคนิคดังกล่าวสามารถทำให้เซลล์ตาย และลดความรุนแรงของแผลปูดโปนได้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคเพื่อใช้รักษาแผลคีลอยด์ หรือ Fibrotic disease ที่เกิดจากการสร้างคอลลาเจน หรือพังผืดมากผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด และไต"

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่ายังต้องศึกษาวิจัยระดับลึกมากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้ เทคโนโลยีแทรกแซงอาร์เอ็นเอยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ยับยั้งยีนที่ไม่ต้อง การ อาทิเช่น ยีนผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง และยีนของเชื้อก่อโรคอื่นด้วย

ผลงานวิจัยเรื่องการยับยั้งการผลิตคอลลาเจนในเซลล์สร้างเส้นใยจากแผลคีลอยด์ โดยใช้การแทรกแซงอาร์เอ็นเอ ผ่านการพิจารณาให้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาชีวภาพความพร้อมของการดูดซึมและนำไปใช้ และผลในการยับยั้งการอักเสบและภาวะดื้อต่ออินซูลินของสารแซนโธนจากมังคุดใน เซลล์ไขมันมนุษย์ โดย ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต โภชนศาสตร์



INSURANCETHAI.NET
Line+