ผ่าตัดคลอดอย่างไรให้แผลสวย
454

ผ่าตัดคลอดอย่างไรให้แผลสวย

ผ่าตัดคลอดอย่างไรให้แผลสวย
  “เวลาผ่าตัดซ้ำ คุณหมอจะผ่าที่แผลเดิมหรือแผลใหม่ค่ะ”
    “คุณหมอใช้ใหมละลายในการเย็บแผลหรือเปล่าค่ะถ้าใช้ไหมไม่ละลายหนูกลัวแผลไม่สวย”
    “คุณหมอช่วยเย็บแผลให้สวยๆ นะคะคุณหมอช่วยเย็บแผลให้สวยๆ นะคะ”
    “หนูกลัวเจ็บและแผลไม่สวย”

    เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่ผมมักจะพบเจอตลอดช่วงระยะเวลาที่ผม ทำงานเป็นสูติแพทย์ดูแลคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มานาน ผมได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณแม่จำนวนไม่น้อยเลยครับ ในการผ่าตัดคลอดนั้นผมได้รับทั้งคำถามและคำขอร้องที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด คลอดมากมายซึ่งคำถามประเภทหนึ่งที่ผมถูกถามหรือขอร้องไม่น้อยเลย ก็คือคำถามหรือคำขอร้องเกี่ยวกับแผลผ่าตัดดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเพียง ส่วนหนึ่งเท่านั้น

    สารพัดของคำถามและคำร้องขอเหล่านี้บอกถึงความเชื่อและความเข้าใจ บางประการของคุณแม่ที่ต้องรับการผ่าตัดคลอด ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลมาจากเพื่อน ญาติ หรือสื่อต่างๆ ก็เป็นได้

    วันนี้ผมงอยากจะชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องแผลผ่าตัดกันหน่อยครับว่าทำ อย่างไรจึงจะทำให้แผลผ่าตัดคลอดมีความสวยงามตามที่ต้องการและความสวยงามที่ ว่าจะทำได้ในคุณแม่ทุกรายหรือไม่


    แผลผ่านตัดคลอดที่สวย

    ในการผ่าตัดคลอดนั้น ในความเป็นจริงคุณหมอจะต้องลงมีดผ่าตัดที่ผนังหน้าท้องก่อน แล้วผ่าลึกลงไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนังชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อบุช่องท้อง เข้าไปในช่องท้อง แล้วผ่าเปิดมดลูกเข้าไปเอาทารกและรกที่อยู่ในมดลูกออกมา เป็นไปตามลำดับและขั้นตอน หลังจากนั้นคุณหมอก็จะเย็บปิดแผล โดยการเย็บปิดมดลูกก่อน ตามมาด้วยการเย็บปิดเยื่อบุช่องท้อง ชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นไขมัน และสุดท้ายคือ การเย็บปิดแผลที่ผิวหนัง

    การเย็บแผลแต่ละชั้นต้องทำถูกต้องตามลำดับขั้นตอนแต่แผลที่คุณมา สามารถมองเห็นได้มีเพียงแผลเดียว ซึ่งก็คือแผลที่ผนังหน้าท้องนั่นเอง คำว่าแผลสวยแผลไม่สวยในความต้องการของคุณแม่ก็คือแผลที่หน้าท้องนี่แหละครับ ส่วนแผลชั้นข้างในจะไม่สวยมีพังผืดมาติด คุณแม่นึกไม่ออกหรอกครับว่าเป็นอย่างไร เพราะมองไม่เห็นและไม่มีโอกาสเห็น ดังนั้นในการบอกเล่าครั้งนี้จึงขอเน้นเฉพาะแผลที่ผนังหน้าท้องที่มองเห็นได้ เท่านั้นครับ


    ปัจจัยที่ทำให้แผลผ่าตัดคลอดสวย

    แผลผ่าตัดคลอดจะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ครับ

            * เนื้อเยื่อของตัวคุณแม่เอง

                  คุณแม่เคยสังเกตไหมครับว่า คุณแม่บางคนหลังผ่าตัดคลอดแผลหน้าท้องที่เกิดจากการผ่าตัดเป็นเพียงเส้น เล็กๆ บางคนก็เล็กมากจนแทบมองไม่เห็นเลยก็มี ในขณะที่แผลผ่าตัดของคุณแม่บางคนกลับนูนแข็งขึ้นมา บางคนก็นูนไม่มาก ในขณะที่บางคนนูนมากจนเหมือนกับมีกิ้งกือหรือตะขาบเกาะที่หน้าท้องก็มี ซึ่งนอกจากจะดูไม่สวยแล้ว ในคุณแม่บางคนแผลที่นูนยังทำให้เจ็บได้ด้วย โดยเฉพาะเวลานั่งหรือบิดตัว แผลที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) บางคนซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนที่ต้นแขนแล้วเป็นก้อนปูดขึ้นมา ก็มักจะเป็นไอ้เจ้าคีลอยด์ที่ว่านี้แหละครับ

                  ทำไมคนเราบางคนถึงเป็นคีลอยด์หรือแผลนูนได้ง่าย ในขณะที่คนอื่นมีแผลเหมือนกันแต่แผลกับไม่นูน คำตอบก็คือไม่ทราบครับน่าจะเป็นจากคุณภาพของเนื้อเยื่อของแต่ละบุคคลในการ ตอบสนองต่อการการหายของแผลที่ต่างกัน พูดง่ายๆ ว่าเป็นบุญกรรมก็น่าจะได้

                * โรคประจำตัว

                  คุณแม่ที่ตั้งท้องบางรายมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดใต้ผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ตัวเอง(เช่น โรค SLE) โรคเหล่านี้เจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณแผลผ่าตัดได้ไม่ดีพอ เมื่อมีการผ่าตัดที่บริเวณหน้าท้อง แผลก็จะติดไม่ดี ทำให้ขอบแผลไม่เรียบ บางรายโชคไม่ดีแผลติดเชื้อหรือแผลเน่าก็มี ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษานาน หลังการรักษาแผลก็จะไม่สวยได้ บางคนนอจากแผลจะไม่สวยแล้ว ยังอาจผิดรูปร่างดูน่าเกลียดทำห้ำใจมากขึ้นไปอีกก็มี

                  ดังนั้นก่อนจะผ่าตัดคลอด ส่วนมากแล้วคุณหมอจะต้องพยายามควบคุมโรคเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เช่น ถ้าเป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติด เชื้อโรคเสียก่อนแล้วจึงผ่าตัด การเตรียมผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ให้ดีก่อนผ่าตัด ช่วยทำให้แผลติดดีขึ้นและมีความสวยงามมากขึ้นได้

                * ลักษณะของแผลผ่าตัด

                  เวลาผ่าตัดคลอด แพทย์สามารถลงมีดที่ผนังหน้าท้องได้ใน 2 ลักษณะ อย่างแรกคือการลงมีดในแนวตั้งจากใต้สะดือลงมาถึงหัวหน่าว ในทางการแพทย์เรียกการลงมีดแบบนี้ว่า “การลงมีดเปิดแผลตามยาว” (Midline Incision) ซึ่งภายหลังการเย็บปิดแผลจะเห็นเป็นเส้นตรงที่หน้าท้องชัดเจน เป็นเส้นใหญ่หรือเส้นเล็กก็แล้วแต่เนื้อเยื่อของแต่ละคนครับ อย่างไรก็ตามผลแบบนี้มองอย่างไรมักจะไม่สวยครับ

                  การลงมีดกรีดแผลอีกแบบ คือ การลงมีดในแนวขวางเพื่อให้ขนานกับรอยย่นที่หน้าท้องที่คุณแม่มีอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจนเวลาแขม่วท้อง คนที่คิดกรีดแผลบนหน้าท้องแบบนี้เป็นแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ เฮอร์แมน โจฮันเนส แฟนเนสสตีล (Dr.Hermann Johannes Pfannestiel) เราจึงเรียกการลงมีดกรีดแผลแบบนี้ว่า “การลงมีดกรีดแผลแบบแฟนเนนสตีล” (Pfannestiel Incision) แผลแบบนี้จะเป็นรอยกลมกลืนไปกับรอยย่นของผนังหน้าท้อง ถ้าเป็นเส้นเล็กๆ จะมองแทบไม่เห็นทำให้แผลสวยกว่าการลงผลตามยาว และถ้าคุณหมอลงแผลแบบนี้ที่บริเวณสูงกว่าหัวหน่าวเพียงเล็กน้อย เวลาใส่กางเกงในอาจมองไม่เห็นแผลเลย หลายคนจึงเรียกการผ่าตัดแบบนี้ว่า Bikini Surgery (การลงมีดผ่าตัดที่มองไม่เห็นแผลผ่าตัดเมื่อใส่กางเกงในแบบบิกินี่)

                * วัสดุที่ใช้เย็บแผลหรือยึดติดแผล

                  การเย็บแผลที่ถูกผ่าตัดให้กลับมาติดกันใหม่ จำเป็นต้องใช้วัสดุเย็บแผลมาดึงรั้งให้แผลที่ถูกผ่าตัดให้กลับมาติดกันใหม่ วัสดุที่ใช้เย็บแผลมีหลายชนิด เช่น ไหมเย็บแผลทั้งชนิดที่ละลายได้ และไม่ละลาย ซึ่งทำมาจากสิ่งต่างๆ หลายชนิด เช่น สารเคมีบางชนิดเนื้อเยื่อและลำใส้แกะ และไนลอน เป็นต้น วัสดุที่ใช้เย็บแผลต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ชนิดที่ไม่ละลายจะทำให้การติดของแผลแข็งแรงกว่า โอกาสแผลแยกน้อยกว่าชนิดที่ละลายหายกลมกลืนไปกับเนื้อเยื่อ แต่มีข้อเสียคือต้องตัดไหมภายหลังและรอยแผลจากการใช้วัสดุเหล่านี้ก็อาจมอง เห็นได้ชัด

                  ในปัจจุบันเริ่มมีการนำวัสดุปิดแผลชนิดใหม่มาใช้ โดยภายหลังที่เย็บใต้ผิวหนังให้มาเกือบชิดกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผลที่ผิวหนังอีก เพียงแค่ดึงให้ขอบแผลทั้ง 2 ข้างมาชิดกันแล้วใช้กาวทาแผลยึดให้ขอบแผลทั้งข้างแนบสนิทติดกัน

                  การทาแผลที่ว่าทำมาจากสารเคมีบางชนิด ซึ่งไม่มีอันตรายต่อร่างกายคนเราและมีความเหนียวคล้ายกับกาวตราช้างที่เรา ใช้ติดยึดของอย่างอื่น การใช้กาวทาปิดแผลมีประโยชน์ตรงไม่ต้องตัดไหมไม่ต้องติดพลาสเตอร์หรือผ้าปิด แผลอีก ทำให้ไม่รู้สึกเหนอะหนะที่แผล เพราะบ้านเราอากาศร้อนถึงร้อนมาก การปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผลจึงสร้างความรำคาญได้มาก บางรายมีอาการคันร่วมด้วย บางรายมีอาการแพ้พลาสเตอร์ ทำให้เป็นแผลแดงคันใต้พลาสเตอร์ ยิ่งเซงหนักเข้าไปอีก

                  ประโยชน์อีกอย่างของกาวปิดแผลก็คือ คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ทันทีหลังปิดแผลเพราะกาวกันน้ำได้ และยังไม่ต้องตัดไหมเพราะไม่ได้ใช้ไหมเย็บแผล และกาวยังลอกออกมาได้เองในวันที่ 7-10 ภายหลังการทากาว ซึ่งช่วงเวลานี้แผลก็มักจะติดสนิทดีแล้ว

                  การจะเลือกใช้วัสดุปิดแผลชนิดใดขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลที่จะเย็บหรือปิด รวมทั้งยังขึ้นกับความถนัด คุ้นเคยของคุณหมอที่ใช้ด้วย

                  ความสวยงามของแผลขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุปิดแผล การเย็บแผลด้วยไนลอนจะทำให้แผลสวยกว่าการใช้ไหมที่คล้ายกับเส้นด้ายเย็บแผล ขนาดของไหมเย็บแผลก็มีความสำคัญ ยิ่งมีขนาดเล็กแผลก็จะยิ่งเล็กและสวยงาม ต่อความแข็งแรงอาจจะไม่ดีสำหรับใช้กาวทาปิดแผล ถ้าปลายแผลชนสนิทดีภายหลังการทากาวแผลก็จะสวยงามไม่ต่างกับการเย็บแผลด้วย เส้นไหมขนาดเล็ก

                * การเย็บแผลของคุณหมอ

                  ผมคิดว่าฝีมือในการเย็บปิดแผลของคุณหมอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ความสวยงามของแผล การเย็บแผลผ่าตัด ถ้าคิดดูให้ดี จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยต่างจากงานเย็บปักถักร้อยของคุณผู้หญิงสักเท่าไหร่ คุณหมอที่เย็บแผลอย่างประณีต ก็ย่อมทำให้แผลสวยกว่าคุณหมอที่เย็บแผลแบบรีบๆ หรือลวกๆ การเย็บแผลเป็นเข็มๆ ทีละเข็ม เพื่อให้แผลมาชนกัน จำเป็นต้องตัดไหม และลงท้ายมักได้แผลที่ไม่สวยมีรอยคล้ายตีนตะขาบคู่ขนานกันไปกับแผล คุณหมอบางคนเย็บแผลแบบสอยที่ขอบแผลเหมือนการสอยผ้า แผลที่ได้ก็จะสวยงามกว่า แต่มีข้อต้องระวังว่าการเย็บแผลแบบนี้ ความแข็งแรงของแผลที่ได้จะน้อยกว่าแบบเย็บทีละเข็ม โอกาสแผลแยกจึงพบได้มากกว่า

    ความสวยงามของแผลผ่าตัดคลอด จะมีได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้าง ต้นครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะฝากข้อคิดไว้ในฐานะที่เป็นหมอว่า ความสวยงามของแผลเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่หมอนำมาคิด เมื่อเปรียบเทียบกับความจำเป็นอื่นที่จะต้องคิดในการผ่าตัดคลอด เช่น ในคุณแม่ที่กำลังผ่าตัดคลอดแล้วมีการเสียเลือดมาก การเย็บปิดแผลอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาชีวิตแม่เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำโดยไม่คิด ถึงเรื่องความสวยงามของแผล หรือในการผ่าตัดคลอดที่ทารกมีขนาดใหญ่มากหรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ อาจจำเป็นต้องลงแผลที่หน้าท้องในแนวยาวแทนที่จะเป็นแนวขวางตามรอยย่นของหน้า ท้องแม่ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นอาจจะทำให้คลอดทารกไม่ได้ แผลจะสวยหรือไม่สวยก็ต้องยอมกันหละครับ



INSURANCETHAI.NET
Line+