ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยับยั้งได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
594
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยับยั้งได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
นักวิจัยพบว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ถูกยับยั้งได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
ทีมวิจัยสหรัฐฯ เจอจุดอ่อนเชื้อไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ พบโปรตีนไวรัสนำเชื้อเข้าทำลายเซลล์ปอด แต่หยุดยั้งได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ปอดถูกทำลายได้ อนาคตหวังใช้เป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยหลังติดเชื้อหวัดใหญ่
ไซน์เดลีรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอลาบามาที่เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) มลรัฐอลาบามา สหรัฐฯ ค้นพบจุดอ่อนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ที่ทำให้มันต้องพ่ายแพ้แก่สารต้านอนุมูลอิสระหรือแอนติออกซิแดนต์ (antioxidant) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงในวารสารสหภาพสมาคมอเมริกันเพื่อการทดลองทางชีววิทยา (FASEB Journal) ฉบับเดือน พ.ย. 52
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่ พบในพืชและอาหารทั่วไปที่เราบริโภคกัน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่ให้ทำลายปอดของผู้ ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
"การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เอช1เอ็น1 (H1N1) และ การแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็วไปทั่วโลก สิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจมากขึ้นคือเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด ของผู้ติดเชื้อได้อย่างไร และค้นหาวิธีการรักษาใหม่ที่ได้ผล และที่มากกว่านั้นคืองานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระอาจมีส่วนช่วยในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่ได้ผลดียิ่งขึ้น" แซดิส มาตาลอน (Sadis Matalon) ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยอลาบามา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเผย
นักวิจัยศึกษาพบว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าทำลายปอดของผู้ติดเชื้อด้วยโปรตีนเอ็ม 2 (M2 โปรตีน) ของมันเอง โดยใช้เป็นตัวนำทางบุกรุกเข้าสู่เซลล์เชื่อบุผิวปอดชั้นในหรืออิพิเทอเลียลเซลล์ (epithelial cells) ซึ่งโปรตีนเอ็ม 2 จะ ไปรบกวนการทำงานของเซลล์เชื่อบุผิวปอดชั้นใน ในการกำจัดของเหลวที่อยู่ข้างในปอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบและปัญหาอื่นๆในปอดตามมา
ในการศึกษาวิจัยจนค้นพบข้อมูลดังกล่าว นักวิจัยทำการทดลอง 3 ขั้นตอน ขั้นแรกฉีดโปรตีนในปอดที่ถูกทำลายเข้าไปในไข่กบ เพื่อตรวจสอบการทำงานของโปรตีนดังกล่าว ขั้นที่ 2 นักวิจัยฉีดโปรตีนเอ็ม 2 และโปรตีนจากปอดเข้าไปในไข่กบพร้อมกัน และพบว่าการทำงานของโปรตีนปอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากนั้นนักวิจัยใช้เทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุลทดลองแยกเอาส่วนของโปรตีนเอ็ม 2 ที่ เชื่อว่าเป็นส่วนที่ทำลายโปรตีนปอดออกมา แล้วทดลองฉีดเข้าไปในไข่กบเหมือนเดิม พบว่าโปรตีนปอดยังคงทำงานได้เหมือนเดิมและไม่ถูกทำลาย
ขั้นสุดท้าย นักวิจัยทดลองฉีดโปรตีนเอ็ม 2 ที่สมบูรณ์ พร้อมกับโปรตีนปอดเข้าไปในไข่กบด้วยกัน โดยฉีดยาที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระเข้าไปด้วย พบว่าช่วยป้องกันไม่ให้โปรตีนเอ็ม 2 ทำลายโปรตีนปอดได้ และเมื่อนำไปทดลองซ้ำโดยใช้เซลล์ปอดของมนุษย์ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน
"แม้ ว่าวัคซีนจะยังคงเป็นหนทางแรกในการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่ในระยะยาวที่จะมา ถึง ทว่างานวิจัยนี้เปิดทางสู่การรักษาแบบใหม่โดยสิ้นเชิงด้วยการใส่เกียร์เดิน หน้าหยุดยั้งเชื้อไวรัสหลังจากที่คุณมีอาการป่วยแล้ว และต้องขอบคุณงานวิจัยนี้ ที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งให้เราดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ" เจรัลด์ เวสส์แมนน์ (Gerald Weissmann) หัวหน้าบรรณาธิการวารสาร FASEB Journal กล่าว
ทั้งนี้ สารต้านอนุมูลอิสระ คือสารที่มีคุณสมบัติป้องกันและยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของอนุมูลอิสระ ซึ่งเมื่อร่างกายใช้ออกซิเจนในกระบวนการเผาผลาญอาหาร จะมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระใน ร่างกายได้ เช่น ควันบุหรี่ รังสียูวี และมลพิษในอากาศ อนุมูลอิสระเหล่านี้สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีน ไขมัน และดีเอ็นเอในร่างกาย ทำให้โมเลกุลดังกล่าวเสียหายและเกิดโรคต่างๆ ตามมา
การที่ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประจำ จะช่วยป้องกันความเสียหายในร่างกายที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระได้ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีหลายชนิด เช่น วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, เบตาแคโรทีน, ซีลีเนียม และสารประกอบฟีนอลลิก เป็นต้น ซึ่งพบได้ทั่วไปในอาหาร ผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมทั้งชาสมุนไพรต่างๆ
INSURANCETHAI.NET