ประกันมีปัญหา แค่ประกาศผ่านเว็บ คงไม่พอ!
61

ประกันมีปัญหา แค่ประกาศผ่านเว็บ คงไม่พอ!

ประกันมีปัญหา แค่ประกาศผ่านเวบ คงไม่พอ!

ต้องมีระบบการเเจ้งข่าวสารประกาศเตือนอย่างจริงจังเพื่อ ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับ ประชาชน ผู้บริโภค ที่ไม่รู้เเล้วไปซื้อประกันกับค่ายประกันที่มีปัญหาเหล่านี้

ตัวอย่างกรณีการถูกสั่งระงับขยายธุรกิจจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย ของ 2 ค่ายประกันอย่าง “ฟินันซ่าประกันชีวิต” และ “ลิเบอร์ตี้ประกันภัย” ซึ่งเชื่อว่าเกิดคำถามในใจขึ้นทันทีว่า ทำไมผู้กำกับดูแลอย่าง “คปภ.” หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ถึงเพิ่งออกมาประกาศห้ามขยายธุรกิจในตอนนี้ ทั้งๆ ที่รู้กันดีแล้วว่าเงินกองทุนขาดมานานแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการ “แก้ไข” เร่งเติมเงินกองทุนก็ตาม

และแม้ว่าคปภ.จะชี้แจงว่า เป็นเพราะประกาศของ คปภ. ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามกฎหมายประกันชีวิต ประกันวินาศภัยเพิ่งมีผลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 และเนื่องจากเป็น “กฎใหม่” ขั้นตอนในทางปฏิบัติจำต้องรอรายงานฐานะการเงินประจำเดือนของบริษัทที่กว่าจะ ออกมาก็ล่วงเลย มาเกือบสิ้นปี และกว่าจะประกาศก็ลากยาวมาจนป่านนี้

แต่นั่นคงไม่ทำให้คำถามหมดไป เพราะเมื่อรู้อยู่แล้วว่า ไม่วันใดวันหนึ่งจะต้องมีการออกประกาศ แล้วทำไมไม่ “ส่งสัญญาณ” ให้ลูกค้าได้มี “ทางเลือก” ได้มากกว่านี้ เพราะข่าวทำนองนี้ใครได้ยินก็ “จิตตก” แม้ว่าในความเป็นจริงทั้ง 2 บริษัทจะไม่ได้ย่ำแย่จนถึงขั้นต้องปิดกิจการ และยังสามารถที่จะดำเนินธุรกรรมต่างๆ ให้กับลูกค้าได้เป็นปกติ อาทิ การเรียกร้องสินไหม การรับ-จ่ายเบี้ยสำหรับลูกค้าเดิมที่ทำประกันไว้เดิมก็ตาม

แต่ในแง่ของ “ลูกค้าใหม่” หรือผู้ที่จะซื้อประกันกับบริษัทเหล่า นั้น ในห้วงเวลาที่รู้อยู่แล้วว่า บริษัทมีปัญหาเรื่องเงินกองทุนจนชักจะ “มาราธอน” เกินไป ทำไมจึงไม่มีการเตือน “ล่วงหน้า” ให้กับลูกค้าได้ทราบก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้าง แม้จะมีการแจ้งข่าวสารเรื่อง “ฐานะการเงิน” ของบริษัทประกันให้ทราบในเว็บไซต์ของคปภ. หรือกระทั่งเว็บไซต์ของบริษัทประกันเองก็ตาม แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตราวกับเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจำวัน

มีทางใดหรือไม่ที่เราจะสามารถ “ชี้แนะ” ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่ายกว่าการต้องเข้าไปดูที่เว็บไซต์ นับเป็นเรื่องที่ทั้งคปภ. และภาคธุรกิจคงต้องมาช่วยกันหาคำตอบ และตั้งรับ ซึ่งโชคดีว่าลูกค้าปัจจุบันเริ่ม “มีประสบการณ์” กับปัญหาของบริษัทประกันภัยอยู่บ้างแล้ว จากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2551 ก็ดี หรือการปิดกิจการของบางบริษัทในหลายปีก่อนก็ดี จึงทำให้ไม่เกิด “วิกฤติศรัทธา” ขึ้นในรอบนี้

แต่หากว่ามี “ระบบเตือนภัย” ให้ลูกค้าได้รับรู้บ้าง ก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือ? ขนาดบริษัทประกันทางคปภ.ยังมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ “Early Warning System” แล้วทำไมจึงไม่มีสำหรับลูกค้าบ้าง ทุกวันนี้ก็ได้แต่บอกอย่า “ตื่นตูม” แต่ถ้ามัน “ตูม” ขึ้นมาแล้ว ควรทำอย่างไร งานนี้แค่แจ้งในเว็บไซต์คงไม่พอ มีทางไหนหรือไม่ที่ประชาชนจะได้รู้จักสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้ตัวเองได้บ้าง?
   
ที่มา : สยามธุรกิจ



INSURANCETHAI.NET
Line+